Happy Trip

ในบรรดาสถานที่ท่องเที่ยวไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ หากจะจัดแยกเป็นประเภทก็คงได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ หนึ่งนั้นคือ ทะเล อีกหนึ่งนั้นคือ ภูเขา อย่างบ้านเราหากไปทะเลก็มี พัทยา หัวหิน ภูเก็ต ฯลฯ หากไปภูเขาก็มี เขาใหญ่ เขาค้อ ดอยอินทนนท์ ฯลฯ แต่หากเป็นของโลก ตัวเลือกก็จะเพิ่มขึ้น อย่างทะเลก็จะมี มัลดีฟ ฮาวาย แคริเบียน (รวมถึงหาดงาม ๆ อันบริสุทธิ์ของไทยเราด้วยที่ต้องถือว่าเป็นหาดระดับโลกเช่นกัน)

ขณะที่ภูเขา ดอยต่าง ๆ ของเราอาจไม่ค่อยติดอันดับนัก ไม่ใช่ไม่สวย แต่ด้วยเพราะภูมิประเทศไม่ได้สงเคราะห์แต่ต้น เมื่อพูดถึงเขา นักท่องเที่ยวย่อมอยากที่จะไปเขาที่สูงแบบสุด ๆ สูงสุดขั้วกันจริง ๆ เพราะมันหมายถึงอากาศที่หนาว ความกดอากาศที่เบาบาง หิมะที่ปกคลุมยอด สิ่งเหล่านี้ถึงจะรวมกันเป็นเสน่ห์แห่งขุนเขา ซึ่งเขาในบ้านเราไม่อาจให้ได้ด้วยความสูง เต็มที่ก็เพียงพื้นดอยของเขาสูงระดับโลกเท่านั้น

อย่างดอยอินทนนท์ที่เราว่าสูงนั้น ยอดดอยก็เพียง 2,000 กว่าเมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนเขาที่ติดอันดับโลกนั้นเริ่มขึ้นก็ร่วม 3,000-4,000 เมตร แล้ว ขึ้นไปยอดเขาก็มี 6,000-8,000 เมตรหรือมากกว่า ส่วนอุณหภูมิหรือหิมะก็ไม่ต้องพูดถึง มีปกคลุมให้ตื่นตากันทั้งปี

หากระบุชื่อเขาที่คนนิยม นอกจากฟูจิที่เหมือนเป็นตำนานของญี่ปุ่นแล้ว ที่เหลือก็มักจะเป็นในส่วนกลางทวีปเอเชียที่เรียกว่าเทือกเขาหิมาลัย ที่ทอดตัวยาวไปในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศตั้งแต่เนปาล จีน อินเดีย ทิเบต และภูฏาน ส่วนยอดเขาที่สูงสุดอันดับหนึ่งของโลกเป็นที่หมายปองของนักไต่เขาทั้งโลกที่ต้องขึ้นไปพิชิตให้ได้ก็คือยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ที่สูงถึง 8,848 เมตร ท้าทายให้มนุษย์ผู้มีความมุ่งมั่นได้ปีนขึ้นไปพิชิตกัน

แม้ปัจจุบันดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องไม่ลำบากมากในการไปถึงยอดเสียแล้ว จนถึงขนาดบางช่วงเขาว่าเกิดการจราจรติดขัดบนยอดเขาจากนักไต่เขาที่ขึ้นไปกันหลายคณะ ไม่รวมถึงปัญหามลพิษจากของเสีย จากขยะที่ทิ้งกันไว้ระหว่างทางขึ้นเขา แต่อย่างไร
เอเวอร์เรสต์ก็คือเอเวอร์เรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุด ที่ใครขึ้นไปปักธงได้ถึงก็สามารถภาคภูมิใจ และคุยได้เต็มปากว่าได้ยืนณ จุดที่สูงที่สุดในโลกแล้ว

หรือจะขยายให้ฟังดูวิจิตร ว่าได้อยู่ใกล้พระจันทร์ที่สุดบนขาของตัวเองก็สามารถพูดได้โดยไม่ต้องเขินอายแต่ประการใด

แต่ในขณะที่ความสูงกว่า 8,000 เมตรของเอเวอร์เรสต์มีผู้พิชิตได้จำนวนไม่น้อยนั้น กลับมียอดเขาที่ความสูงน้อยกว่านับพันเมตรที่ไม่เคยมีใครขึ้นไปถึง และจะไม่มีใครได้ไปถึง! นั่นคือยอดเขาที่ชื่อ จูโมลฮารี ในประเทศภูฏาน ประเทศที่คนไทยจำนวนมากใฝ่ฝันอยากไป Slow Life ไปใช้ชีวิตเรียบง่าย พักผ่อนช้า ๆ ชิล ๆ กันสักครั้งในชีวิต

ยอดเขาจูโมลฮารีนี้ถือเป็น 1 ใน 8 ยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ด้วยความสูงประมาณ 7,000 เมตร ทอดตัวกั้นระหว่างประเทศภูฏานกับทิเบต และด้วยความสูงที่เตี้ยกว่าเอเวอร์เรสต์เป็นพันเมตรเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่าทำไมถึงเป็นยอดเขาที่ไม่มีใครสามารถขึ้นเหยียบบนยอดได้

คำตอบ ในอดีตอาจเป็นเพราะความทุรกันดาร หรือความโหดของเขา แต่ผมมั่นใจว่าด้วยเทคโนโลยี เครื่องไม้ เครื่องมือปีนเขาในปัจจุบันไม่น่าจะเกินความสามารถของมนุษย์ที่ต้องการเอาชนะไปได้

แต่สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเหยียบยอดได้เพราะเจ้าของเขาไม่ให้เหยียบครับ !

รัฐบาลภูฏานเขาห้ามขาดครับ ขึ้นบัญชียอดเขานี้เป็น “Protected Peak” ห้ามใครขึ้นเหยียบยอด เพราะเขา เชื่อว่ายอดเขานี้เป็นที่สถิตของเทพธิดาโจโม (Goddess Chomol) 1 ใน 5 เทพธิดาแห่งเทือกเขาหิมาลัย

เขาถือว่ายอดเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทพเจ้าอารักษ์ ที่มีความยิ่งใหญ่เกินที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ จะขึ้นไปอยู่เหนือได้ จึงไม่อนุญาตให้ใครขึ้นไปเหยียบย่ำลบหลู่

ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรครับ ใครจะหาว่าคร่ำครึหรือเชยก็ว่าไป แต่สำหรับผมแล้วถือว่านี่เป็นค่านิยมที่ยอดมาก หากมนุษย์ทุกคนให้ความเคารพธรรมชาติ มีสิ่งคอยเตือนใจไม่ให้เหิมเกริมว่าตัวอันแสนจ้อยนี้ยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติ ซึ่งพิสูจน์มาหลายต่อหลายครั้งแล้วว่าเป็นความเชื่อที่ผิด และไม่มีทางเป็นจริงได้ อย่างไรมนุษย์ก็ไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติได้

หากมนุษย์มีความตระหนักเช่นนี้ เงยหน้ามองยอดเขาพร้อมระลึกถึงความจริงว่าเราไม่อาจอยู่เหนือธรรมชาติได้ เมื่อนั้นความเคารพธรรมชาติย่อมจะมีมากขึ้น การใช้ชีวิตก็จะกลมกลืนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือไม่ทำลายทรัพยากรอย่างมากมายจนโดนธรรมชาติเอาคืนจากภัยพิบัติต่าง ๆ เหมือนเช่นที่ประสบกันอยู่ทุกวันนี้

Happy Trip จะสุขได้จริง จึงมิใช่เพียงการได้ไปเห็น ตื่นตา ตื่นใจกับสถานที่แปลกใหม่ มิใช่เพียงไปเก็บภาพแสนคมชัดมาขยายแขวนเป็นที่ระลึกในบ้าน มิใช่เพียงการไปชอปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมรุ่นล่า ราคาถูก หรือมิใช่ไปเพื่อกลับมาบอกกล่าวแก่เพื่อนฝูงว่าเราได้ไปมาแล้ว

Happy Trip จะสุขได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อไปแล้วได้ย้อนกลับมาท่องเที่ยวภายในจิตใจของตนเอง ได้เห็นใจตนเองยามตาภายนอกเห็นวิวทิวทัศน์อันแสนอภิรมย์ว่าเป็นเช่นไร ได้เห็นใจตนเองยามกายได้ยืนอยู่ในบรรยากาศอันแสนโรแมนติก ว่ามีสภาวะแบบไหน ได้เห็นใจตนเองยามลิ้นได้สัมผัสรสอาหารพื้นถิ่นที่ไม่เคยกินมาก่อนว่าหลงเพลินเพียงใด เฝ้าเห็นใจตนในหลากสภาวะนั้นจนใจเห็นทุกสรรพสิ่งเป็นธรรมดา

เป็นธรรมชาติที่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ต่างกัน นั่นล่ะครับถึงจะสุขคุ้มค่าการเดินทางจริงและยิ่งจะสุขสูงสุดจนเกินคุ้ม เมื่อการเที่ยวนอกเพื่อย้อนมาเที่ยวในนั้นทำให้เส้นแบ่งระหว่างนอกกับในสลายไป ตัวเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างแท้จริง

ธรรมชาติก็คือเรา เราก็คือธรรมชาติครับ !


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2562 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา วศ.28

ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา : ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร MIT Sloan Executive Education Program ในหัวข้อ Blockchain Technologies: Business Innovation and Application ติดตามได้ที่ wmw.Kid-mai.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save