เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา “ชมรมนิสิตเก่าค่ายยุววิศวกรบพิธ” ได้จัด “งานระลึก 50 ปีค่ายยุววิศวกรบพิธ” ขึ้น วัตถุประสงค์ของการจัดงานก็ตามชื่องานเลยคือ เพื่อระลึกถึงกิจกรรม “ค่ายยุววิศวกรพิธ” ที่ได้ดำเนินสืบทอดกันมาถึง 50 ปีในปีนี้
คำว่า “ยุววิศวกรพิธ” มีที่มาที่ไปอย่างไร จะขอนำมาเล่าคร่าว ๆ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2512 นิสิตชมรมอาสาพัฒนา คณะวิศวฯ ได้มีโครงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม โดยจะสร้างสะพานที่ตำบลอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่งบประมาณไม่เพียงพอจึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาส่วนหนึ่ง และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งมายังนิสิตมีใจความสั้นๆ ว่า “จงทำตนให้เป็นผู้ใหญ่ และรอบคอบ ทำอะไรอย่าให้บานปลาย” ซึ่งนิสิตก็รับใส่เกล้าและปฏิบัติตามมาโดยตลอด
ต่อมาใน พ.ศ. 2514 นิสิตได้ออกค่ายอาสาพัฒนาสร้างสะพานแขวนขึ้นที่บ้านม่วงชุม ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชทานนามสะพานว่า “สะพานยุววิศวกรบพิธ” รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี มาประกอบพิธีเปิดสะพานแห่งนี้
ใน พ.ศ. 2519 ค่ายอาสาพัฒนาได้สร้างฝายน้ำล้น ณ บ้านโห้ง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด “ฝายน้ำล้นยุววิศวกรบพิธ 5” ด้วยพระองค์เอง ในโอกาสนี้ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณาจารย์และนิสิตได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่บรรดาอาจารย์และนิสิตเป็นล้นพ้น
ปัจจุบันค่ายยุววิศวกรบพิธได้ดำเนินกิจกรรมมา 47 ค่ายแล้ว ซึ่งค่ายล่าสุดได้ทำพิธีส่งมอบระบบประปาขนาดกลางให้แก่หมู่บ้านโนนคำ ตำบลหนองแวงอำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นับเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและสร้างความภาคภูมิใจให้กับเหล่านายช่าง ที่ได้อาสาร่วมแรงร่วมใจในการสร้างสาธารณะประโยชน์นี้ขึ้น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาค่ายยุววิศวกรบพิธเป็นค่ายอาสาพัฒนาที่นิสิตให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะถือเป็นประสบการณ์ในการทำงานจริง ได้ใช้ความรู้ในเชิงปฏิบัติจริง ที่สำคัญคือความผูกพันกับเพื่อน ๆ ที่ต้องทำงานด้วยกัน ต้องกิน นอนอยู่ด้วยกันนานนับเดือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากบทเรียนในตำรา
ด้วยความภาคภูมิใจต่อคำว่า “ค่ายยุววิศวกรบพิธ” และความผูกพันกับเพื่อน ๆ ชาวค่ายจึงได้ร่วมกันจัดงาน “งานระลึก 50 ปี ค่ายยุววิศวกรบพิธ” ขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ บริเวณลานเกียร์ คณะวิศวฯ จุฬาฯ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากพี่ ๆ น้องชาวค่ายเป็นอย่างมาก มีคนมาร่วมงานเต็มลานเกียร์เลยทีเดียว
งานได้แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเริ่มเวลาบ่าย ๆ เรียกว่าเป็นช่วง “พี่เก่าเล่าความหลัง” พี่ๆ ในช่วงแรกเป็นยุคบุกเบิก คือ ตั้งแต่ค่ายที่ 1 ถึงค่ายที่ 10 มีพี่สหัสชัย วศ.09 อาจารย์ทัศนะ วศ.09 พี่พงษ์ศักดิ์หรือพี่เพ้ง วศ.12 อาจารย์บุญสม วศ.13 พี่จิรศักดิ์ วศ.13 และพี่เอกชัย วศ.15
พี่ ๆ ช่วงนี้เล่าว่า ในช่วง พ.ศ. 2512 ภาคใต้เกิดน้ำท่วมใหญ่ นิสิตคณะวิศวฯ ต้องการสร้างสะพานเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ส่วนหนึ่งมาให้เพื่อทำค่ายที่ประจวบคีรีขันธ์ ค่ายแรกของเรามีคนเข้าร่วมประมาณ 50 คน ส่วนค่ายที่ 2 เป็นการสร้างสะพานที่อำเภอฝาง การก่อสร้างต้องใช้งบประมาณสูง เงินสนับสนุนไม่พอก็ต้องจัดละครเวทีเพื่อหารายได้เพิ่ม ส่วนแบบสะพานก็ได้อาจารย์ช่วยออกแบบ นิสิตก็อยู่แผนกใช้แรงงานอย่างเดียว
แล้วการออกค่ายก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในช่วงแรก ๆ ระเบียบวินัยเข้มงวด หน้างานกับที่พักอยู่คนละที่ เมื่อถึงเวลานอนก็ต้องนอน ทำงานก็ทำเต็มที่ ต่อมาที่พักกับหน้างานอยู่ที่เดียวกัน ทำให้สะดวกขึ้น อุปกรณ์ในการทำงานก็เช่นกัน เมื่อก่อนต้องใช้แรงงานทำกันเอง แต่ต่อมาก็มีอุปกรณ์มาช่วยทำให้การทำงานง่ายขึ้น
บางค่ายไปทำค่ายในเขตที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ก็ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานมั่นคงบ้าง การเดินทางเข้าออกพื้นที่ยากลำบากแต่ชาวค่ายก็รู้อยู่แล้วว่าการทำค่ายไม่ได้ต้องการความสบาย มองที่เป้าหมายว่าต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้เดินทางสะดวกปลอดภัย จึงทุ่มเทแรงกายแรงใจทำให้ออกมาดีที่สุด ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น แทบทุกค่ายจะต้องทานกะหล่ำปลีทุกวัน ซึ่งพี่สหัสชัยได้บอกความลับว่า… ตอนทำค่ายปีแรก ๆ ตอนออกมาซื้อหาอาหารก็เจอกองกระหล่ำปลีของชาวบ้านที่เอามาวางขายข้างทาง เลยเหมามาทั้งกองเพราะราคาถูก แ ละแล้วกระหล่ำปลีจึงกลายเป็นอาหารหลักของชาวค่ายตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน… ความลับของผัดกระหล่ำปลีอันลือลั่นมาาเปิดเผยวันนี้เอง ฮา….
พี่เอกชัย ได้เล่าถึงค่ายยุววิศวกรบพิธ 5 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเปิดค่ายด้วยพระองค์เอง… พี่เอกชัยเล่าว่า เป็นครั้งที่พวกเราตื่นเต้นกันมาก สะพานใช้เงินประมาณ 8000,000 บาท อุปสรรค์ก็มีมากเช่นกัน เพราะมีน้ำป่าไหลหลากพัดงานที่ทำกันไว้พังหมดก็ต้องเริ่มกันใหม่ ในวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเปิดนั้น พวกเราตื่นเต้นกันมาก แต่ช่วงที่ตกใจมากคือ ตอนที่ท่านโน้มตัวลงมาเพื่อกางแผนที่และสอบถามพวกเราอย่างใกล้ชิด… ได้เห็นพระเสโทของพระองค์ท่านเต็มไปหมด…
จากนั้นเป็นการเสวนาใน ช่วงที่ 2 เป็นยุคกลาง คือค่ายที่ 11 ถึงค่าย 20 ตัวแทนที่ขึ้นมาเล่าเป็นพี่ ๆ จากค่าย 14 ค่ายก่อสร้างสะพานที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นสะพานขึงเพราะวางตอม่อกลางแม่น้ำไม่ได้ เพราะมีน้ำตลอดทั้งปี การะพานยาวประมาณ 100 เมตร ค่อนข้างยาว ก็ต้องก่อสร้างจากฝั่งซ้ายกับฝั่งขวาไปพร้อม ๆ กันแล้วมาบรรจบตรงกลาง ตอนก่อสร้างก็ลุ้นกันมากว่าจะบรรจบกันพอดีไหม แต่ในที่สุดก็สำเร็จด้วยดี
สะพานแห่งนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการทำงานหนักและความผูกพันธ์ของชาวค่าย ในช่วง พ.ศ. 2554 ที่เกิดน้ำท่วมหนัก สะพานในเขตนั้นเสียหายเกือบทั้งหมด ยกเว้นสะพานยุววิศวกรบพิธของพวกเรา หนังสือพิมพ์ถึงกับเอาไปลงข่าวว่าสะพานที่ก่อสร้างโดยนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ที่ก่อสร้างมา 25 ปีแล้ว แต่แข็งแรงทนทานมาก สิ่งนี้ทำให้ภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ทำกันมา จากนั้นพวกเราจึงช่วยกันกลับไปซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม
จากนั้นเป็นการพูดคุยใน ช่วงที่ 3 ค่ายที่ 21 ถึงค่ายที่ 40 ตัวแทนคือ เอก ค่าย 24 กับ ต้น ค่าย 33 เอก ทำค่าย 4 ปี คือ ค่าย 21 22 23 และ 24 ก่อนทำค่ายก็ช่วยกันจัดกิจกรรมหาทุนสร้างสะพาน ที่เลือกสร้างสะพานเพราะรุ่นพี่ ๆ ก็สร้งสะพานทำให้มีประสบการณ์การสร้างสะพานอยู่แล้ว เหมือนการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนความสัมพันธ์กับชาวบ้านนั้นมีชาวบ้านมาช่วยทำงานบ้างแต่ก็น้อยกว่าที่รุ่นพี่ผูกพันธ์กับชาวบ้าน ส่วนค่าย 33 นั้น ต้น เล่าว่า ทางค่ายได้ทำ Project ของสมเด็จพระเทพฯ เป็นโครงการก่อสร้างสะพานที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นเขตห่างไกลรถไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องเดินเท้าจากฝากหนึ่งของภูเขาเพื่อไปขึ้นรถอีกต่อหนึ่ง แต่ปัจจุบันหมู่บ้านในแถบนั้นเจริญขึ้นแล้วการเดินทางสะดวกสบายขึ้นมาก
สิ่งที่อยากฝากถึงน้อง ๆ คือ หากน้อง ๆ มีปัญหา พี่ ๆ ทุกคนพร้อมช่วยเหลือ สามารถมาปรึกษาหารือได้เสมอ ล่าสุดน้อง ๆ บอกว่าเดี๋ยวนี้ค่ายยุววิศวกรบพิธไม่ได้สร้างสะพานหรือฝายน้ำล้นแล้ว แต่จะเปลี่ยนไปตามความต้องการของชาวบ้าน ครั้งแรกก็ตกใจบ้าง แต่พอมาคิด ๆ ดูแล้วก็เห็นด้วยเพราะเมื่ออะไรเปลี่ยนไปการสร้างสะพานหรือฝายน้ำล้นก็อาจจะไม่จำเป็นแล้วก็ได้ หรืออนาคตค่ายก็อาจจะเปลี่ยนเป็นกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การก่อสร้างสิ่งเหล่านี้ แต่อาจจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านเพื่อเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน
ในช่วงที่ 4 เป็นค่ายที่ 41 ถึงปัจจุบัน มีน้อง ๆ มาเล่าเรื่องการทำค่ายให้ฟัง ประกอบด้วย มิว หัวหน้าค่าย 41 อูฐ หัวหน้าค่าย 42 เคน Project Managers ค่าย 44 และม่อน หัวหน้าค่าย 44 น้อง ๆ ค่าย 41 ถือเป็นค่ายแรกที่เปลี่ยนจากสร้างสะพานมาสร้างระบบประปาหมู่บ้าน อาจารย์บุญสมท่านให้แนวทางว่าลองสร้างอะไรอื่นดูไหม ก็มีการสำรวจความต้องการของชาวบ้านโดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นอะไร ในที่สุดก็สรุปว่าจะสร้างประปาหมู่บ้านที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย การก่อสร้างก็มีอุปสรรคบ้างเพราะเราไม่มีองค์ความรู้จากรุ่นก่อน ๆ ต้องเริ่มใหม่หมด
อูฐ ค่าย 42 เล่าสั้น ๆ ว่า ค่าย 44 ได้กลับมาก่อสร้างสะพานซึ่งปัญหาการก่อสร้างมีไม่มากนักเพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยแบ่งเบาได้มาก ในส่วน ม่อน กับเคน จากค่าย 44 เล่าว่า ค่าย 42 กับ 43 ค่ายกลับไปสร้างสะพานอีกครั้ง จนถึงค่าย 44 ก็ตัดสินใจสร้างระบบประปาหมู่บ้าน เพราะปัญหาเรื่องประโยชน์การใช้งาน ระยะเวลาปิดเทอมที่ตรงกับช่วงฝนตกชุกการก่อสร้างสะพานทำได้ยาก ก่อนตัดสินใจก็ออกสำรวจ 15 จังหวัด ต้องสำรวจทั้งพื้นที่และงบประมาณที่พอเหมาะ ค่าย 44 โชคดีที่ค่าย 41 ได้ทำมาก่อนทำให้มีองค์ความรู้อยู่บ้าง ได้รู้ว่าพี่ ๆ ต้องเจอกับปัญหาอะไรมาแล้ว พวกเราพยายามทำอย่างดีที่สุด สะสมองค์ความรู้ให้แก่รุ่นน้องเพื่อจะได้ทำงานกันง่ายขึ้น ส่วนการแบ่งกันทำงานก็คล้าย ๆ รุ่นพี่ที่แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ปัจจุบันมีคนมาร่วมประมาณ 70-80 คนต่อพลัด ต้องลงชื่อว่าใครทำอะไรบ้าง เพื่อให้การบริหารจัดการลงตัว พยายามหมุนเวียนให้ทุกคนได้ทำหลาย ๆ หน้าที่ เพื่อให้ทุกคนได้มีความรู้รอบตัวและรู้จักคนอื่น ๆ มากขึ้น แล้วตอนนี้เราเปิดรับนิสิตคณะ
อื่นที่อยากมีประสบการณ์การทำค่ายเข้าร่วมด้วย บางปีก็มีนิสิตต่างชาติเข้าร่วมด้วย และยังคงผูกพันธ์ติดต่อกันอยู่เสมอ
สุดท้าย ผศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ชาวค่ายได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองดี ๆ รวมทั้งมาอัพเดทว่าปัจจุบันค่ายมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ค่ายยุววิศวกรบพิธได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมมายาวนาน และจะยังคงดำเนินต่อไป และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพี่ ๆ เช่นเดิม
หลังกิจกรรม “พี่เก่าเล่าให้ฟัง” ก็เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์บริเวณลานเกียร์ บรรยากาศงานก็สนุกสนานรื่นเริงตามสไตล์ชาวค่าย โดยเฉพาะพิธีกรบนเวทีที่สร้างสีสันให้เฮฮากันตลอดงาน จุดที่ได้รับความสนใจมากจุดหนึ่งคือ บริเวณป้ายหน้างาน แต่ละรุ่นก็มาแอคชั่นหน้าป้ายกันสนุกสนาน อาหารมากมายที่เตรียมไว้ รวมทั้งอาหารที่ชาวค่ายทุกคนคุ้นเคยด้วย ทั้งกระหล่ำปลีผัด อาหารเกษตร ขนมขาไก่ ฯลฯ
เมื่อได้เวลาที่เหมาะสมพิธีกรเชิญ พี่ทัศนะ พิทักษ์อรรนพ ขึ้นกล่าวเปิดงานและร่วมร้องเพลงชาวค่ายด้วยกัน แต่ยังไม่ทันจะร้องเพลงจนจบก็มีอุปสรรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ ฝนตก!!! … ฝนกระหน่ำลงมาหนักมาก หลาย ๆ คนก็ต้องหลบลี้เข้าใต้เต้นท์… แต่มีชาวค่ายกลุ่มหนึ่งที่ขอยืนหยัดต่อสู้ฝนอย่างไม่เกรงกลัว… ตอนทำค่ายฝนหนักกว่านี้ก็เจอมาแล้ว … ขอปรับมือให้ชาวค่ายกลุ่มนี้ด้วยครับ!! …
พอฝนเริ่มซาชาวค่ายก็กลับมาเริงร่าเช่นเดิม… กิจกรรมบนเวทีมีทั้งการร้องเพลง จับฉลากชิงรางวัล และเกมส์การละเล่นสนุก ๆ …
“งานระลึก 50 ปี ค่ายยุววิศวกรบพิธ” ทุกอย่างสำเร็จลงด้วยดีเพราะความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ดังเช่นค่ายแต่ละค่ายที่สำเร็จลงได้ก็เพราะความร่วมมือของทุกฝ่ายเช่นกัน…