สะดุดฟันเฟือง รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15 |
ย่ำรุ่งของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เกิดการระเบิดและเพลิงลุกไหม้รุนแรงที่โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกของบริษัทหมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ที่ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพลิงลุกไหม้หนักเนื่องจากเป็นสารเคมีที่ไวไฟ ต้นเพลิงเกิดจากบ่อเก็บโซลเวนท์ ทินเนอร์ และสารไวไฟอื่น ๆ ถังเก็บวัตถุดิบประเภทสไตรีนโมโนเมอร์ขนาด 2000 ลิตรระเบิดเสียหาย
ไฟไหม้ลุกลามกว่า 15 ชั่วโมง กว่าจะควบคุมไว้ได้ โดยสูญเสียชีวิตอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ไป 1 คน
เหตุการณ์พิบัติภัยจากสารเคมีในบ้านเราเคยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ยังพอจำกันได้คือ เหตุการณ์รถบรรทุกแก๊สหุงต้ม LPG พลิกคว่ำเกิดระเบิดที่บริเวณทางลงทางด่วนถนนเพชรบุรีตัดใหม่เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. คืนวันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2533 เกิดเปลวไฟลุกท่วมตึกสูงสามชั้น มีผู้เสียชีวิต 88 ราย บาดเจ็บ 36 คน ทรัพย์สินเสียหายกว่า 200 ล้านบาท
ตามมาด้วยอุบัติภัยสารเคมีครั้งร้ายแรงเมื่อช่วงบ่ายโมงเศษของวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 ที่คลังเก็บสารเคมีหมายเลข 3 การท่าเรือแห่งประเทศไทย คลองเตยเสียชีวิต 43 คน เจ็บป่วยเกือบ 2000 คน เป็นเหตุเกิดห่างจากรถแก๊สระเบิดเพียง 5 เดือนเศษ
วิบัติภัยคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แทบทุกครั้งเกิดการสูญเสียชีวิตขึ้น โดยสิ่งที่สรุปได้คือ….เราคนไทยไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์…..
และสิ่งที่เราไม่เคยเรียนรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด คือ การไม่มีทีมฉุกเฉินในการจัดการตอบสนองกับสารเคมีหรือวัสดุอันตรายหรือ Emergency Hazardous Materials Response Team เพื่อให้สามารถจัดการตอบสนองเมื่อเกิดพิบัติภัยได้อย่างฉับพลันทันเหตุการณ์
แต่ทราบหรือไม่ว่าเราเคยมีทีมที่ว่านี้ซึ่งผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นจากสหรัฐอเมริกาจนพร้อมที่จะทำงานได้ทันทีที่เกิดเหตุ?
จากเหตุวิบัติภัยที่ท่าเรือคลองเตยและที่ถนนเพชรบุรีที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ กัน ทำให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ประเทศไทยจะต้องมีทีมฉุกเฉินในการตอบสนองวิบัติภัยดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา (วศ. 15) แห่ง New Jersey Institute of Technology สหรัฐอเมริกา อดีตนายกสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาหรือ ATPAC เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการฝึกอบรมและสร้างทีมคนไทยที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า Thai HazMat Team ขึ้น โดยได้เล่าให้ฟังว่า การฝึกอบรม Thai HazMat Team เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงศูนย์ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี (Center for Technology Transfer- CETTAD) ระหว่างประเทศไทยกับรัฐนิวเจอร์ซีที่ลงนามโดย ฯพณฯเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ท่านทูตนิตย์ พิบูลสงคราม ร่วมกับ Dr. Robert Shinn , Commissioner of The Department of Environmental Protection รัฐนิวเจอร์ซี เมื่อวันที่ 29 เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1997 หรือ พ.ศ. 2540 คือตั้งแต่ 24 ปีที่แล้ว
ศ. ดร.เมธี เวชารัตนา วศ.2515 รับรางวัลวิศวจุฬาดีเด่น ประจำปี 2562
ศ.ดร.เมธี เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้เพราะเป็นอาจารย์ประจำที่ New Jersey Institute of Technology ที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย (Industry-University Cooperative Research Center – IUCRC) ที่เกี่ยวกับการจัดการของเสียอันตรายชื่อ ศูนย์วิจัยการจัดการของเสียอันตราย (U.S. Center for Hazardous Waste Management Research Center – HSMRC) โดยได้อาศัยสายสัมพันธุ์ที่แนบแน่นกับเพื่อนร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ US-EPA, U.S. Department of Defense, U.S. Department of Energy, Environmental Departments of the States’ governments (NJ-DEP), และเพื่อนคณาจารย์ตลอดจนนักวิจัยในสถาบันการศึกษา ผลักดันให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำอีก 10 สถาบันที่ร่วมอยู่ใน HSMRC ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation-NSF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยช่วยประเทศไทยให้สามารถจัดการตอบสนองต่อวิบัติภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มความถี่มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิบัติภัยทางด้านของเสียและวัสดุอันตรายต่าง ๆ
โครงการภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวเน้นในด้านการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่ประเทศไทยเพื่อช่วยลดและขจัดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โครงการที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เช่น การฝึกอบรมกระบวนการวิเคราะห์สำหรับห้องปฏิบัติการมาตรฐาน การฝึกอบรมการตรวจพบการรั่วไหลของท่อแก๊สและน้ำมัน การฝึกทีมตอบสนองวัสดุอันตรายของไทยและการตั้งศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวที่ประเทศไทย
โดยรวมมีบุคลากรเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมชาวไทย 2 ชุด รวม 18 คนที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแบบ On the Job Training โดยตรงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐอเมริกา
ผู้รับการฝึกอบรมชุดแรก 4 คนเป็นข้าราชการไทยเพศชาย 2 คน เพศหญิง 2 คนจากกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย เข้ารับการฝึกอบรมวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการเหตุวิบัติภัยของเสียอันตรายโดยองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US-EPA) โดยเป็นการฝึกอบรมภาคทฤษฎี 6 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 5 เดือนต่อมาให้ฝ่ายชาย 2 คนได้ไปประจำที่ศูนย์ฝึกอบรมการตอบสนองวิบัติภัยวัสดุอันตราย และฝ่ายหญิงไปประจำที่สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเรียนรู้ระบบการจัดทำเอกสารการติดตามของเสีย
ในรุ่นที่ 2 เป็นการฝึกอบรมบุคลากรช่างเทคนิคจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวม 14 คน ซึ่งได้กลับมาที่ประเทศไทยแล้วจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรขึ้นที่กรมควบคุมมลพิษ โดยได้รับวิดิทัศน์ สไลด์การฝึกอบรม ตลอดจนอุปกรณ์ช่วยในการฝึกการตอบสนองวัสดุอันตรายอีก 10 ลังใหญ่จากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรของไทยได้ทำงานเป็นเวลากว่า 1 ปีและได้เริ่มฝึกอบรมทีมช่างเทคนิค Thai Haz-Mat ของภาคอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกรมควบคุมมลพิษของไทยร่วมกับ US-AEP, NJIT ( US$ 100,000) และ US-EPA ที่เอดิสัน
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันทีคือความสามารถในการตอบสนองอย่างเฉียบพลันของทีม Thai Haz-Mat ในการควบคุมวิบัติภัยจากสารพิษสุดอันตราย Agent Orange ที่สนามบินบ่อฝ้าย หัวหิน ซึ่งตรวจพบเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2542 หลายคนคงจำได้ว่านี่คือสารพิษฆ่าวัชพืชที่กองทัพสหรัฐใช้ระหว่างสงครามเวียดนาม พ.ศ. 2504-2514 เพื่อขจัดต้นไม้ใบพืชในป่าที่เป็นที่ซ่อนตัวของเวียดกง และยังมีผลตกค้างอยู่ในบางพื้นที่ของเวียดนามจนปัจจุบันนี้ ทีมตอบสนองวัสดุอันตรายที่ผ่านการฝึกอบรมของไทยร่วมกับทีมจาก Edison สหรัฐอเมริกาได้จัดการตอบสนองและควบคุมสารดังกล่าวได้โดยไม่เกิดความเสียหายใด ๆ แก่ชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม
ถามว่าทีมที่ผ่านการฝึกอบรม ศูนย์ฝึกอบรม อุปกรณ์เครื่องมือในการฝึกอบรมที่กล่าวมาทั้งหมดปัจจุบันอยู่ที่ไหน?
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่บางพลีเมื่อเร็ว ๆ นี้ทำไมไม่ออกมาช่วยล่ะ?
คำตอบ คือ……..
โปรแกรมและศูนย์ฝึกอบรมนี้มีอายุแสนสั้นเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้นครับ ก็ถูกยุบเลิกโดยท่านผู้บริหารท่านหนึ่งที่ระบุเหตุผลในการยุบเลิกว่าหน่วยงานที่ดูแลศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวไม่มีพันธกิจในการตอบสนองต่อวิบัติภัยจากวัสดุอันตราย….
และนี่คือจุดจบของความพยายามในการสร้าง “ทีมเสือ” เพื่อเข้าจัดการวัสดุอันตรายได้อย่างทันท่วงทีและถูกวิธี ป้องกันการเสียชีวิตและทรัพย์สิน
และชีวิตหนึ่งของอาสาสมัครก็ต้องเสียไปโดยไม่สมควรในวิบัติภัยที่บางพลี……
เราคนไทยไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ครับ!!!