Intania Dinner Talk 2020… เดินหน้าฝ่าวิกฤตพลิกเศรษฐกิจไทย

Intania Dinner Talk 2020… เดินหน้าฝ่าวิกฤตพลิกเศรษฐกิจไทย


ในช่วงปลายปีของทุก ๆ ปี สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดงานเสวนาโดยเชิญนิสิตเก่าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมาร่วมให้ความคิดเห็นถึงเศรษฐกิจในปีต่อไปแนวโน้ม และทิศทางการเติบโตเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และเดินหน้าฝ่าวิกฤตเพื่อเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น

Intania Dinner Talk 2020 : เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย

ปีนี้ทางคณะทำงานได้กำหนดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ในหัวข้อ “Intania Dinner Talk 2020 : เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย” โดย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นนิสิตเก่าและอดีตนายกสมาคมฯ ได้ให้เกียรติมาร่วมงานและปาถกฐาพิเศษ ส่วนผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส วศ.24 กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สารัชถ์ รัตนาวะดี วศ.26 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ วศ.27 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปิติ ตัณฑเกษม วศ.31 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) และ ดนุชา พิชยนันท์ วศ.32 เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ วศ.27 ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ทำให้บรรยากาศการเสวนาเต็มไปด้วยความเป็นกันเองและได้ความรู้ไปพร้อมกัน

สกล เหล่าสุวรรณ
สกล เหล่าสุวรรณ

เมื่อได้เวลาเหมาะสม สกล เหล่าสุวรรณ ประธานคณะกรรมการจัดงาน และอุปนายก ได้ขึ้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า การจัดงานเสวนาด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นงานสำคัญของสมาคมฯ ที่สืบทอดกันมานานหลายปี เป็นงานที่พี่น้องชาวอินทาเนียจะได้มาเสนอแนวคิด แลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อให้ทุกท่านนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ อีกด้วย

อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์
อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์

อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ วศ.22 นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณผู้มาร่วมงานและผู้สนับสนุนการจัดงาน โดยกล่าวว่า เวทีแห่งนี้จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดชี้นำแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลจากปัจจัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งส่งผลอย่างรุนแรงไปทั่วโลก

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

จากนั้นเป็นปาฐกถาพิเศษโดย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวว่ารู้สึกอบอุ่นใจเมื่อได้มาอยู่ท่ามกลางชาววิศวจุฬาฯ ต่างกับช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในตอนนั้นรู้สึกเย็นเฉียบ…

กล่าวถึงวิกฤตที่ประเทศเผชิญว่า เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ทุกคนต้องไม่ลืมว่า ณ ตอนนั้นพวกเราสิ้นหวังไม่รู้จะเดินหน้าอย่างไร ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร เราต้องหยุดอยู่บ้าน แต่ด้วยความร่วมมือของพวกเราทุกคนหลังจากเดือนพฤษภาคมสถานการณ์จึงค่อย ๆ มีการผ่อนคลายต้องบอกว่าเป็นความสามารถของพวกเราที่ทำให้ผ่านวิกฤตมาได้ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังแก้ปัญหากันไม่ตก

ช่วงที่รับตำแหน่งใหม่ ๆ ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า การพักชำระหนี้ก็ใกล้จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม แต่ถึงวันนี้แล้วอบอุ่น ที่อบอุ่นได้ก็ด้วยวิศวจุฬาฯ ทั้งน้อง ๆ เพื่อน ๆ มาช่วยกันให้ข้อคิดและสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้ดีที่สุด เพื่อจะได้มีภาพจำที่จะไปบอกลูกหลานว่าเราทำอย่างไรจึงพ้นวิกฤตนี้ไปได้ วันได้รับตำแหน่งยอมรับว่าขาสั่น แต่ด้วยความร่วมมือที่อบอุ่นที่หลั่งไหลเข้ามาจากพวกเรา เช่นจาก ปิติ รุ่งโรจน์ และเลขาดนุชาที่มาช่วยร่วมคิด ในส่วนท่านผู้ว่าอรรถพลก็ช่วยในเรื่องการสร้างงาน เพราะช่วงเวลาวิกฤตนี้ งานหายาก ปตท. ทั้งกลุ่มจึงอาสารับเด็กจบใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีงานทำในช่วงเวลาวิกฤตนี้ พลังความอบอุ่นทำให้โครงการดี ๆ เกิดขึ้นหลายโครงการ เช่น การสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง โครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการช็อปดีมีคืน การเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและที่สำคัญการเติมเต็มช่องว่างระหว่างช็อปดีมีคืนกับสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่ง ปิติ และ สมคิด มาร่วมกันคิดออกแบบโครงการไปที่คนตัวเล็กกับคนตัวเล็กด้วยกัน จึงเกิดโครงการคนละครึ่งและต้องยอมรับว่าจะทำสำเร็จได้ต้องอาศัยแพลตฟอร์ม ออนไลน์ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มเหล่านี้คือ สมคิด ในยามวิกฤตนี้พี่น้องวิศวจุฬาฯ มาร่วมกันแก้ปัญหาของชาติได้อย่างดี ในช่วงเดือนเมษายนกูรูทั้งหลายคาดหมายว่าด้วยวิกฤตนี้ประเทศไทยที่พึ่งการท่องเที่ยวและการส่งออก เศรษฐกิจเป็นหลัก จีดีพีจะต้องถดถอยด้วยตัวเลข 2 หลักแน่นอน แต่ตัวเลขในวันนี้จากดนุชาเราจะเห็นตัวเลขติดลบเพียง 6 เปอร์เซ็นต์และเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวใน 12-18 เดือน

นอกจากนั้น คุณสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อว่าคนที่ร่วมฟังในวันนี้ และที่นั่งอยู่ในห้องนี้มีศักยภาพในการเปลี่ยนประเทศได้การท่องเที่ยวของเราจะพึ่งพานักท่องเที่ยว 40 ล้านคนมาสร้าง GDP เพียง 2 ล้านล้านบาทไม่ได้ เราต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น ต้องปรับโครงสร้างผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น และต้องนำภาคเอกชน ตอนนี้ประเทศไทยเตรียมแพลตฟอร์ม e-Commerce ไว้โดยเน้นสนับสนุน SMEs เราจะต้องให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน การใช้พลังงานทางเลือกรถไฟฟ้า และ Amart Device เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้วิศวจุฬาฯ จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เวลานี้เราเดินมาครึ่งทางแล้ว ต้องร่วมกันทำต่อ รัฐบาลจะร่วมกับเอกชนไทยผลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

ท้ายที่สุดท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวขอบคุณสำหรับความอบอุ่นที่พี่ ๆ น้อง ๆ มอบให้

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

ในส่วนของการเสวนาซึ่งดำเนินรายการโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ วศ.27 ประธาน TDRI นั้น มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากมาย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาสกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจของทั่วทุกมุมโลกมีการหยุดชะงัก SCG มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่มีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เป็นอย่างมาก เชื่อมั่นว่าในช่วงต้นปีถึงกลางปี 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดอย่างแน่นอน และจะทำให้การเปิดประเทศสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักท่องเที่ยวไม่ต้องเป็นกังวลและคนในประเทศจะอยู่อย่างปลอดภัย

“ทั้งนี้ กลาง พ.ศ. 2564 คาดว่าฝั่ง สหรัฐฯ และยุโรปจะมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30-40% ดังนั้น สิ่งที่ไทยทำได้คือการเตรียมตัวรับมือ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทั้งการให้ความรู้และอื่น ๆ เพื่อให้อย่างน้อยการท่องเที่ยวภาคการบริการจะกลับเข้ามาที่ไทยได้ และส่งผลดีกับเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของภาคเอกชน และการลงทุนในวันนี้เช่น กัน สำหรับอนาคต ยังคงมองว่าโควิด-19 เป็นความท้าทายที่วิกฤติรุนแรง ไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน ซึมลึกแค่ไหน แต่ในวิกฤติก็มีโอกาสหลายเรื่อง ต้องช่วงชิงความได้เปรียบนี้ไว้ให้ได้”

สารัชถ์ รัตนาวะดี
สารัชถ์ รัตนาวะดี

ด้าน สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีกไม่นานประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ อาจจะมีการเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น แต่จะต้องเป็นการเปิดแบบรัดกุม ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย แต่ฟื้นตัวได้เร็วด้วยตัวช่วยหลายอย่างทั้งเรื่องของราคาสินค้าเกษตรที่ค่อนข้างดี มาตรการภาครัฐที่มีการเข้าไปช่วยเหลือทำให้การทำงานของเกษตรกรดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ดีขึ้น แต่เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้อง กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปีหน้าอย่างแน่นอน

“ปัจจุบันโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น การทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับต่างประเทศต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ส่วนในประเทศนั้นเสถียรภาพทางการเมืองก็มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจลงทุน แนวโน้มเศรษฐกิจ พ.ศ. 2564 ต้องติดตามเรื่องวัคซีนว่ามีการกระจายและส่งผลต่อการฟื้นตัวในต่างประเทศได้เร็วอย่างที่คิดหรือไม่ เพราะจะส่งผลต่อการส่งออกที่เป็นภาคส่วนหลักของไทย แต่ปีหน้าประเทศไทยน่าจะพร้อมที่จะรับความเสี่ยงในการเปิดประเทศได้แล้ว หากยังปิดประเทศต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบมากขึ้น ในด้านการท่องเที่ยวนั้นในช่วงที่เปิดประเทศทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีการฟื้น ตัวมากขึ้น สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีอำนาจจับจ่ายเพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศมากขึ้น”

ในส่วนธุรกิจพลังงาน Gulf มีการลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างมาก และ พ.ศ. 2564 บริษัทยังคงมีการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเน้นลงทุนทางด้านพลังงานสีเขียวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วหรือไม่อยู่ที่การค้นพบและแจกจ่ายวัคซีน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องติดตามต่อคือ การเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ของสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งการเมืองในประเทศ และอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช. ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ -6% น้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เป็นเพราะการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมบางสาขา เช่น อุตสาหกรรมนํ้ามันอุตสาหกรรมขนส่ง ปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตัวเลขโดยรวมดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เศรษฐกิจไทยใน พ.ศ. 2564 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของ พ.ศ. 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ ควบคู่กับแรงสนับสนุนจากมาตรการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐที่ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้วยังช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกและภาคการผลิตของไทย ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศที่ยังมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

“ในปีหน้าคงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก แต่สิ่งที่น่าห่วงคือการจ้างงานที่มีน้อย ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงทำให้กระทบกำลังซื้อ และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงเรื่องไวรัสที่อาจกลับมาระบาดในประเทศอีกครั้งก่อนที่จะมีวัคซีน หากมีการระบาดอีกครั้งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแน่นอน”

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไทยอาจไม่ฟื้นตัวมากสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การจ้างงานระยะสั้น

“ตลอด 10 เดือนที่ผ่าน ผลการดำเนินงานของ ปตท. เป็นไปตามเป้าหมายและแนวโน้มรายได้ของกลุ่ม ปตท. ใน พ.ศ. 2564 ยังมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเฉลี่ยปีนี้ประมาณ 41-42 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนปริมาณการขายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก หากมีวัคซีนต้านโควิด-19ก็จะส่งผลดียิ่งขึ้น กอปรกับหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทางสหรัฐอเมริกาน่า จะมีมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจออกมา คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย”

อรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่จะลงทุนในอนาคตต้องประเมินให้สอดคล้องและพร้อมปรับรูปแบบของพลังงานให้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลก ปีหน้า ปตท. จะพยายามทำให้ดีและให้ได้มากที่สุดตามภาวะที่เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ ปตท. จะลงทุนตามนโยบายสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน และอีกเรื่องที่เครือ ปตท. ให้ความสำคัญและสนับสนุนมาโดยตลอดคือ การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ประเทศไทยผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

ปิติ ตัณฑเกษม
ปิติ ตัณฑเกษม

ด้าน ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยก่อนวิกฤตมีปัญหาโครงสร้างหลัก ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีปัญหาทางด้านการเงิน ดังนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นควรเป็นจุดเปลี่ยนให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในหลากหลายด้าน

“ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อนข้างที่จะเด่นชัดในเรื่องของการส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออกไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องจับมือกับต่างประเทศเพื่อเข้ามาลงทุนในไทย ต้องสนับสนุนให้นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาช่วย SMEs เป็นการช่วยรายเล็กให้ยังทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจ ต้องพึ่งพากันและกัน เพื่อที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

ปิติ กล่าวเสริมว่า ในช่วงปลาย พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 จึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่สองภายในประเทศและการดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนรวมถึงการดูแลและการช่วยเหลือแรงงานในสาขาและพื้นที่เศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และให้ความสำคัญในเรื่องของการรณรงค์การท่องเที่ยว เดินทาง และการจัดประชุมอบรมสัมมนาในประเทศ รวมทั้งการรณรงค์ให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทยมากขึ้น

ในช่วงสุดท้าย อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย วศ.23 ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงความสำคัญของ Digittal Transformation ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้น ซึ่งกระทรวงดีอีได้พยายามพัฒนาระบบสื่อสารพื้นฐานเพื่อรองรับการตื่นตัวในการใช้ดิจิทัลของภาคประชาชนให้ดีที่สุด ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการเพื่อต่อยอดจากโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ สายสัมพันธ์อินทาเนีย โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save