สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “INTANIA Dinner Talk 2023: The Futurist INTANIA Forum มองอนาคตอย่างรู้ทันกับอินทาเนีย” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้บริหารชั้นแนวหน้าของประเทศมาร่วมเสวนานำโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ วศ.2527 ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ วศ.2527 กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ วศ.2529 กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึง มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ วศ.2539 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Sea (ประเทศไทย) การจัดงานในครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก
ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ วศ.2524 อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในการจัดงาน INTANIA Dinner Talk 2023 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า INTANIA Dinner Talk ไม่ใช่เรื่องของการหาทุน แต่เป็นเรื่องของการที่เรามีนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้นำทั้งในองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน จึงมีความคิดตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันว่า จะทำอย่างไรที่จะให้บุคลากรที่เป็นนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ มาแบ่งปันถ่ายทอดความรู้หรือถ่ายทอดความคิดเห็นให้แก่ชาวอินทาเนียเพื่อนำไปเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการบริหารกิจการ การบริหารองค์กร ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศและในโลกเรานั้นมีการเกิดเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องของโรคระบาด สงคราม ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหัวข้อ The Futurist INTANIA Forum มองอนาคตอย่างรู้ทันกับอินทาเนีย”
เมื่อได้เวลาอันเหมาะสม ศักดิ์ชัย ยอดวานิช วศ.2524 นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ในการทำงานมีภารกิจมากมายที่ได้จัดทำ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงหอประชุม หรือภาระงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ต้องบอกว่าตลอดระยะเวลาได้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาร่วมช่วยกันทำงานอย่างมากมาย ภารกิจที่เราได้รับสำเร็จลุล่วงไปอย่างมาก เพราะได้กำลังใจและได้รับแรงสนับสนุนจากพวกเราชาวอินทาเนียทั้งหมด ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ได้เห็นหอประชุม Hall of INTANIA และลานอินทาเนีย รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้มีการปรับปรุง อยากจะบอกว่าโชคดีที่ครั้งหนึ่งผมได้มาเป็นนายกสมาคมฯ เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง และได้สานต่อสิ่งที่พี่ ๆ ได้ทำไว้ ซึ่งในวันนี้การจัดงานจะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก Sponsor
“Climate Change และการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์” ความท้าทายที่ประเทศไทยต้องรับมือ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า โลกร้อน-โลกรวน หรือที่เลขาสหประชาชาติเรียกว่า “โลกเดือด” เมื่อเราดูจากสถานการณ์ของปีนี้สามารถบอกเหตุการณ์ในอนาคตได้หลายอย่าง ปีนี้เป็นปีที่น้ำทะเลร้อนเป็นประวัติการณ์ น้ำแข็งขั้วโลกอาจละลายหมดในฤดูร้อน ใบไม้บางชนิดจะไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้เนื่องจากอุณหภูมิสูงเกินไป หรือฮาวายเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี และเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่ฉงฉิ่ง นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั้งโลกรู้ว่า โลกร้อน-โลกรวน ซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับโลกร้อนมี 2 รูปแบบ คือ Mitigation ลดการปลดปล่อยคาร์บอนเพื่อทำให้โลกร้อนช้าลง และ Adaptation ต่อให้เราจะปรับตัวอย่างไรโลกก็จะร้อนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นต้องทำทั้ง 2 อย่าง ไปพร้อม ๆ กัน
Imagine The Future Thailand มองอนาคตอย่างรู้ทันกับอินทาเนีย
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
ปตท. เรื่องใกล้ตัวที่จะเกิดจะเห็นได้ในการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ตลาดรถ EV เพิ่มขึ้นแสดงว่ามีความนิยม นโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจน ข้อดีก็คือจะเป็นการสร้าง Eco System ของธุรกิจใหม่ ๆ ปตท. ก็ทำด้วยเช่นกัน
ปตท. ประกาศเจตนารมณ์ กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายใน ค.ศ. 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยมีกลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการรองรับ พร้อมผนึกความร่วมมือจุดแข็งธุรกิจกลุ่ม ปตท. โดยการจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจ
ความพร้อมของโครงสร้างที่จะผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในประเทศ
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยโอกาสที่ได้ทำงานในอุตสาหกรรม นี้ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่าน วันนี้เลยอยากจะมาเล่าให้พี่ ๆ ได้ฟังว่า สิ่งที่กำลังจะเห็นตั้งแต่วันนี้จนไปถึง 3-5 ปีข้างหน้านั้น บางอย่างกำลังจะเกิดขึ้นให้เห็นได้ชัดเจน บางอย่างได้มีสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่แล้วในแต่ละประเทศ บางอย่างจะช้าจะเร็วไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎหมาย เรื่องของโครงสร้างและสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายที่จะมาเป็นองค์ประกอบเพื่อให้การดำเนินงานเหล่านั้นสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้
3 เทร็นด์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ชีวิตการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะโควิด-19 บังคับให้เราหัดใช้ดิจิทัล และช่วงระยะเวลาที่เกิดโควิด-19 ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถาวร เริ่มเห็นประโยชน์ของ Digital Product และ Digital Service มากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์ที่จะสามารถ Capture ลูกค้าที่มีความเข้าใจและยอมลองใช้ Product เหล่านี้ในช่องทางออนไลน์ให้เพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมเหล่านี้ต้องมาพร้อมกับความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกันจากผู้บริโภค จึงมี 3 เทร็นด์สำคัญที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มเกิดขึ้นแล้วและอีก 3 ปีข้างหน้า แนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
- Q-Commerce คือ รูปแบบใหม่ของ E-Commerce ที่เน้นเรื่องความเร็ว สำหรับธุรกิจที่ทุกคนคุ้น
- Tailor to me นอกจากเรื่องของความเร็วแล้ว ผู้บริโภคยังต้องการเรื่องประสบการณ์เฉพาะบุคคลมากขึ้น ถ้าบริษัทไหนสามารถใช้ AI อย่างถูกวิธี ทำให้แบรนด์นั้น ๆ รู้ใจลูกค้าและสามารถนำเสนอบริการที่เหมาะสมและพึงพอใจได้
- Seamless Experience การมอบประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้แก่ลูกค้า เมื่อลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับเราบนโลกออนไลน์ เวลาเขาเดินมาใช้บริการที่หน้าร้าน พนักงานสามารถรู้ว่าลูกค้าชื่นชอบสินค้าชิ้นไหน และสามารถหยิบสินค้าชิ้นนั้นให้แก่ลูกค้าได้เลย
สุดท้ายอยากฝากเรื่องของเทร็นด์และกระแสมีความไม่แน่นอน เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน และพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตลอดเวลา เชื่อว่า “Customer Journey Orchestration” เป็นคีย์สำคัญที่สามารถช่วยโฟกัสในขณะที่เราทำงานได้ คือ กระบวนการที่เรานำเทคโนโลยีและดาต้ามาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสบการณ์ที่ดี ที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล ซึ่งหากเราทำตรงนี้ได้จะเป็นการตอบสนองและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภคของเรา และทำให้แบรนด์ของเราเป็นแบรนด์ที่ลูกค้านึกถึงเป็นแบรนด์แรก และสร้างเรื่อง Customer Royalty ในระยะยาว