The One & Only ถอดบทเรียนตามรอย “นายกศักดิ์ชัย” สำเร็จได้เพราะคิดเร็ว พร้อมทำเลย

The One & Only ถอดบทเรียนตามรอย “นายกศักดิ์ชัย” สำเร็จได้เพราะคิดเร็ว พร้อมทำเลย


ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ดีแก่สายตาของผู้ที่กลับมาเยี่ยมเยือนคณะ ด้วยสภาพภูมิทัศน์กลางดงปราสาทแดงที่สดใส มีชีวิตชีวาขึ้นของตึก 1 ตึก 2 ตึก 3 และอาคารอรุณ สรเทศน์ พรั่งพร้อมไปด้วยสาธารณูปโภคใหม่ อันมีหอประชุมคณะและลานเกียร์ ที่วันนี้ได้รีแบรนด์ใหม่ให้เป็น “Hall of Intania” และ“ลานอินทาเนีย” ไฮไลต์สำคัญที่ปลุกพลังให้เบ้าหลอมนายช่างชั้นแนวหน้าของชาติไทยแห่งนี้คึกคักขึ้นทันตา สวนทางกับอายุอานามที่ผ่านพ้นล่วงมากว่า 110 ปี วันนี้พร้อมนับถอยหลังเข้าสู่ปีที่ 111 แห่งการสถาปนาที่กำลังจะมาถึงในช่วงกลาง พ.ศ. 2567 นี้แล้ว

เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือที่ผสานพลังกันอย่างแนบแน่นระหว่างคณะกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) ภายใต้การนำของ “คุณศักดิ์ชัย ยอดวานิชนายกสมาคมจากรุ่น วศ.2524 ที่ผุดไอเดียใหม่ คิดเร็ว พร้อมทำเลย แบบ “The One & Only”  จนทำให้ภารกิจพลิกโฉมวิศวจุฬาฯ ครั้งนี้สำเร็จเสร็จกิจจบได้ไวในวาระเดียวเกินความคาดหมาย กลายเป็นโมเดลต้นแบบให้ใครหลายคนในประชาคมจุฬาฯ ต้องห้ามพลาดมาขอทราบสูตรเด็ดเคล็ดลับตามรอย สวจ. ชุดนี้ที่กำลังจะครบเทอมในอีกไม่กี่เดือนนี้ แต่ก่อนจะครบวาระเราจึงไม่รอช้าขอมาพูดคุยส่งท้ายกับนายกศักดิ์ชัยช่วยเผยแรงบันดาลใจที่ปลุกใจให้บันดาลแรงลุกขึ้นมาเนรมิตวิศวจุฬาฯ ในมิติการบริหารครบเครื่องทั้ง “4M” นั่นคือ Man Money Material และ Management กับบทสัมภาษณ์พิเศษเปิดปูมคิดและเทคนิคการบริหารของ The One & Only” ถอดบทเรียน ตามรอย “นายกศักดิ์ชัย” : สำเร็จได้เพราะคิดเร็ว พร้อมทำเลย

ศักดิ์ชัย ยอดวานิช
ศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) วาระ พ.ศ. 2565-2566

“ผมเข้ารับตำแหน่งนายก สวจ. ต่อจากพี่หมู อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ วศ.2522 ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ก็จริง แต่พี่น้องในประชาคมจุฬาฯ ของเราคงจะคุ้นหน้าคร่าตาผมอยู่บ้าง เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PTA) มา 6 วาระต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2547-2559 ทำให้มีโอกาสได้กลับมาตอบแทนบุญคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีส่วนช่วยโรงเรียนให้เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งด้านกายภาพ ภูมิทัศน์ อาคารเรียน ตลอดจนกิจกรรมสนับสนุนนักเรียน และกิจกรรมสานสัมพันธ์เชื่อมร้อยให้เหล่าผู้ปกครองได้ใกล้ชิดกับโรงเรียนและคณาจารย์ได้อย่างแนบแน่น รวมไปถึงสวัสดิการครูและบุคลากร และอาจจะด้วยเพราะผมมีเวลาทำตรงนั้นอย่างต่อเนื่องนับรวมแล้วประมาณ 12 ปี จึงทำงานครอบคลุมหลายมิติได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าบริบทมันแตกต่างกันกับการมารับตำแหน่งนายกสมาคม สวจ. เพราะที่วิศวจุฬาฯ เรามีธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามของพี่ ๆ สืบต่อกันมาว่า นายกแต่ละรุ่นเมื่อขันอาสาเข้ามาทำแล้วจะอยู่ในตำแหน่งนี้กันเพียงคนละ 2 ปี เรายึดหลัก Seniority ไล่รุ่นเรียงกันมาและจะส่งต่อภารกิจนี้จากรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อย ๆ แต่ก็จะไถ่ถามกันก่อนหาก รุ่นไหนติดขัดไม่พร้อมก็จะขอข้ามไปรุ่นต่อ ๆ ไป จนทำให้หลายคนมองว่า ตรงนี้อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เรื่องใหม่ ๆ ของคณะเกิดขึ้นได้ยากในหนึ่งวาระของ สวจ. แต่คำว่าธรรมเนียมปฏิบัติมันก็ไม่ถือเป็นกฎระเบียบข้อบังคับของสมาคมนิสิตเก่านะครับ อยากจะให้ข้อมูลแก่พวกเราว่า หากนายกรุ่นใดพร้อมจะอุทิศตนทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าหนึ่งวาระก็สามารถปวารณาตัวทำงานตรงนี้ได้ต่อเช่นกัน ก็เพียงมาเสนอตัวให้สมาชิกเขาเลือกหรือรับรองต่อนั่นก็ทำได้นะครับ”

“และเมื่อโอกาสมาถึงรุ่น วศ.2524 แล้ว พวกเราก็ยินดีและได้แสดงความพร้อมที่จะดูแลคณะอย่างเต็มที่ เพื่อน ๆ ในรุ่นผมเขาได้มอบหมายให้ผมมาเป็นตัวแทนรุ่นเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคม ผมจึงได้ชักชวนเพื่อนในรุ่นที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นกรรมการด้วย โดยมีเงื่อนไขสำคัญเลยนั่นคือ “ต้องมีเวลา” เข้ามาทำงานให้แก่คณะจริง ๆ เพราะเราจะทำกันอย่างเต็มที่จนถึงนาทีสุดท้ายในวาระ 2 ปีนี้ และจะส่งไม้ต่อให้น้องรุ่นต่อไป คือ วศ.2525 แต่หากเขายังไม่พร้อมรับก็คงต้องเปิดโอกาสให้รุ่นถัด ๆ ไปเข้ามาทำ นี่ถือเป็นมารยาท เป็นสปิริตที่สวยงามของเราชาววิศวจุฬาฯ ซึ่งก่อนจะมาถึงรุ่นผม พี่หมู อดิศักดิ์ นายกรุ่น วศ.2522 ก็เคยได้สอบถามผ่านไปยังรุ่น วศ.2523 ก่อนแล้ว แต่ไม่มีใครอาสารับเป็นนายก สวจ. ไม่ใช่รุ่นพี่เขาไม่มีคนเก่งนะครับอย่าได้เข้าใจผิด แต่ต้องยิ่งภูมิใจแทนมากกว่าด้วยซ้ำที่พี่รุ่นเขามีตัวแทนพวกเราเข้าไปดูแลภาพรวมของมหาวิทยาลัยในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) คือ พี่จิ๊ อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย อดีตปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ โอกาสจึงตกมาถึงรุ่นผม ซึ่งพวกเราทุกคนทราบดีว่า จะมีภารกิจใหญ่ส่งต่อมาจากรุ่นก่อนด้วย นั่นคือ งานปรับปรุงหอประชุมคณะครั้งใหญ่ในรอบ 57 ปี”

นายกศักดิ์ชัยเปิดบทสนทนากับเราเล่าเท้าความให้เห็นถึงบรรยากาศความอบอุ่นฉันพี่น้องภายในสมาคมนิสิตเก่าแห่งนี้ที่ยังยึดมั่นและศรัทธาในธรรมเนียมปฏิบัติและค่านิยมอันดีงามตามแนวคำขวัญทั้ง 5 “SOTUS” ไว้อย่างงดงาม และเมื่อได้เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมแล้ว สิ่งแรกที่คุณศักดิ์ชัยใส่ใจให้ความสำคัญและทำอย่างพิถีพิถันคือเรื่องการจัดทัพก่อนลงสนามสู้ศึกใหญ่ในการปรับปรุงหอประชุมคณะมูลค่าโครงการกว่า 120 ล้านบาท

M1: Man เฟ้นหาคนที่ใช่ ในเวลาที่เหมาะสม

M1: Man เฟ้นหาคนที่ใช่ ในเวลาที่เหมาะสม

“เพราะสมาคมเราเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเล็ก ๆ ไม่ได้มีทุนรอนสะสมสำรองเอาไว้ก่อนหน้านี้มากมายนัก ตอนผมเข้ามารับตำแหน่ง สวจ. มีเงินอยู่ราว 20 ล้านบาทเศษเห็นจะได้ ถือเป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งหากจะทำโครงการปรับปรุงหอประชุมคณะตามที่คณะกรรมการชุดก่อนเคยประเมินมูลค่าโครงการไว้ราว 120 ล้านบาท แต่ในสถานการณ์เดียวกันนี้ผมว่ามันก็อยู่ที่วิธีคิดของเราด้วยนะครับ คิดลบไปก็ดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัดติดขัดไปหมด และก็จะทำไม่ได้ด้วย แต่หากเราลองปรับวิธีคิดใหม่ให้บวก และเริ่มจากการวางตัวบุคคลก่อน นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ชวนเพื่อนเราให้เข้ามาช่วยกันทำเพื่อคณะ และเป็นคำตอบว่าทำไมผมถึงต้องเลือกทีมงานที่มีศักยภาพ มีใจ และต้องมีเวลา โดยตำแหน่งสำคัญไม่แพ้นายกเลยนั่นคือ “เลขาธิการสมาคม” ถือเป็นแม่บ้านของสมาคม ปกติแล้วนายกมักจะเลือกเพื่อนที่รู้ใจในรุ่นเดียวกันมาเป็นเลขา แต่ผมคิดอีกอย่างหนึ่งว่า เราอยากให้ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานสมาคมในรุ่นเรากระจายไปยังน้องรุ่นถัดไปหลาย ๆ รุ่นด้วย ไม่ใช่จบที่รุ่นเราแล้วจบเลย จึงได้ชวน ดร.อ๊อด “ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร วศ.2527” เข้ามารับหน้าที่นี้ เพราะเคยได้เห็นฝีไม้ลายมือ คุ้นเคยกันมานานถึง 17 ปี ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นกรรมการสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ด้วยกัน นอกจากนี้ ดร.วุฒิพงศ์ ยังเคยได้รับความไว้วางใจจาก PTA ให้เป็นทั้งเลขาธิการและนายกสมาคมผู้ปกครองและครูต่อจากผมด้วย ยิ่งการันตีความครบเครื่องมากคุณสมบัติพร้อมมาลุยงาน สวจ.ในยุคนี้ให้ไปตลอดรอดฝั่งได้จริง”

สมาคมอบอุ่นด้วยน้องพี่อินทาเนีย

“ขณะเดียวกัน ผมก็เล็งเห็นคุณค่าของพี่รุ่นก่อน จึงได้เชิญรุ่นพี่เข้ามาเป็นกรรมการกลุ่มหลัก 10 ท่านแรกด้วย เพราะยังจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ของพี่ ๆ มาช่วยประคับประคอง สวจ. อย่างน้อยถ้าสงสัยอะไรก็จะได้ไถ่ถามที่มาที่ไปกันประกอบการตัดสินใจได้เลย จึงได้ชวนพี่จิ๋ม “ศศิธร โชควัฒนา วศ.2523”  พี่ที่น่ารัก ดูแลกิจกรรมในสมาคมมาโดยตลอด ซึ่งก็ต้องขอบพระคุณที่ตอบรับให้เกียรติเข้ามาช่วยกัน จากนั้นก็มาถึงการเฟ้นหากรรมการอำนวยการเข้ามาเพิ่มเติมอีก 10 ท่าน ส่วนนี้เราต้องคัดกันให้ดี เพราะผมเคยเจอปัญหาใหญ่สมัยที่เป็นนายก PTA มาแล้ว เพราะมีหลายคนมากอยากเข้ามาเป็นกรรมการสมาคม แต่เขาแค่อยากเป็นเฉย ๆ นะ (หัวเราะ) ไม่ได้อยากช่วยทำอะไรเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ สวจ. เองก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย ทำงานสมาคมนี่เราจะทำเป็นเล่นไม่ได้นะครับ คนที่อยากมาเป็นกรรมการพอได้เป็นแล้วก็ไม่มา แม้แต่ประชุมก็ยังไม่มา ผลลัพธ์คือก็ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม พอองค์ประชุมไม่ครบมันเลยประชุมไม่ได้ ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับการทำงานให้ส่วนรวม เมื่อไรที่เราขันอาสารับมาเป็นธุระแล้ว อย่างน้อยเดือนละครั้งคุณต้องสละเวลามา แม้ในวาระการประชุมจะไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหรืองานที่คุณได้รับมอบหมายเลย แต่คนทำงานเขาต้องการองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของคุณที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหน้าที่การงาน จึงต้องมาช่วยกันให้ความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางด้วย ในส่วนประสมนี้ของเราจึงได้เชิญรุ่นพี่เข้ามา อย่าง “พี่เปิ้ล พงษ์เดช เสรีเชษฐพงษ์ วศ.2523  มาเป็นประชาสัมพันธ์และสาราณียกร ซึ่งรู้จักและดูแลกันมาตั้งแต่สมัยผมเรียนปี 1 ก็ได้ไปขอแรงให้เขามาช่วยด้วยเป็นต้น สำหรับรุ่นน้อง ๆ ที่เคยเป็นกำลังสำคัญให้ สวจ. รอบนี้เราก็ชวนให้กลับมาช่วยกันทำงานในตำแหน่งอนุกรรมการด้วยเช่นกันนะครับ”

สมาคมอบอุ่นด้วยน้องพี่อินทาเนีย

สร้างเซอร์ไพรส์ ดึงมือดีเฉพาะทาง เสริมใยเหล็ก สวจ.

“ยังมีมิติใหม่เรื่องคนที่ สวจ. ชุดนี้ได้ริเริ่มทำไว้นั่นคือ การเชิญคนนอกที่ไม่ใช่วิศวจุฬาฯ ให้เกียรติเข้ามาช่วยงานสมาคม ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถตั้งเขาให้เป็นกรรมการอำนวยการได้อยู่แล้ว แต่เราก็เล็งเห็นถึงศักยภาพของเขาและดึงเข้ามาเสริมสมรรถนะการทำงานช่วยพวกเราในสถานการณ์ที่ต้องทำงานใหญ่ได้ เชิญเขามาเป็นที่ปรึกษา เชิญมาเป็นอนุกรรมการช่วยงานในด้านที่วิศวกรอย่างเราไม่ถนัด ซึ่งผมก็เช็คข้อบังคับสมาคมแล้วสามารถทำได้ไม่ขัดระเบียบใด ๆ เราต้องยอมรับนะครับว่าพวกเราไม่ได้เก่งไปเสียทุกเรื่อง วิศวฯ คงไม่ได้เก่งเรื่องการประชาสัมพันธ์ เรื่องการเงิน อย่างมากเราคงได้แค่ดูแล้วให้คนอื่นเขาทำอยู่ดี ผมจึงได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาร่วมงานกับ สวจ. ด้วย 2 ท่าน ท่านแรกชวนเข้ามาเป็นที่ปรึกษา “คุณปิง เกียรติพร ศิริชัยสกุล” มือการเงินที่เก่งมากคนหนึ่งและทำงานเพื่อสังคมมานานร่วม 20 ปี ซึ่งผมคุ้นเคยเป็นอย่างดีสมัยที่ทำงานด้วยกันใน PTA ก็ได้อาศัยให้คุณปิงเข้ามาวางระบบบัญชีการเงินของสมาคมใหม่ให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น เพราะการบริจาคเงินทุกรายการมากน้อยต้องถูกบันทึกทางคอมพิวเตอร์นะครับ ในอดีตเราไม่ได้ลงบัญชีลักษณะนี้จึงตรวจสอบได้ช้าและยาก วันนี้เราสามารถเช็คได้หมดว่าใครบริจาคหรือสนับสนุนโครงการใดบ้าง มากน้อยทวนสอบได้รอบคอบครบหมด อีกท่านชวนเข้ามาเป็นอนุกรรมการคือ น้องแมค อธิศีล ธัญญ์ ณ ป้อมเพชร” จากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เรารู้จักกันช่วงที่ผมไปช่วยทำงานปิยมหาราชานุสรณ์ให้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) ซึ่งน้องแมคเป็นกรรมการดูแลงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์ทั้งหมดตรงนั้นอยู่ ประสานงานได้กว้างขวาง แคล่วคล่องว่องไว ซึ่งพวกเราหลายคนอาจมองข้ามความสำคัญของการประชาสัมพันธ์ ผมอยากจะบอกว่า จริง ๆ แล้วการทำงานที่ดี เราต้อง PR ออกไปให้คนอื่นได้เห็นถึงความตั้งใจทำจริงของเราด้วย จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเข้ามาทำตามและต่อยอดจากเรา หลายอย่างเลยนะครับที่เราทำได้ดีแต่ไม่ได้สื่อสารบอกอะไรใครออกไปเลย มันเลยไม่มีใครรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร น่าเสียดาย ในช่วง 2 ปีนี้ สวจ. จึงได้เล่าเรื่องความดีงามของวิศวจุฬาฯ ให้คนในประชาคมจุฬาฯ ได้รู้จักและเข้าใจพวกเรามากขึ้น ทีมประชาสัมพันธ์กับน้องแมคก็ทำได้ดี ทำให้เกิดงานปิดหอประชุมที่ประทับใจหลาย ๆ คน เรื่อยมาถึงงานเปิด Hall of Intania และ Intania Music Fest ที่มีคนมาร่วมงาน 6,000-7,000 คน กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของคณะเราไปแล้ว จึงอยากฝากทุกคนว่า การทำงานบางครั้งเราจะเอาแต่พวกเราวิศวะอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเรียนรู้ว่าเราจะทำงานอย่างไรกับคนที่มีความสามารถแล้วดึงเขามาช่วยเราทำงานให้ได้ เพราะเวลาไปทำงานข้างนอกเราก็ต้องทำงานร่วมกับคนคณะอื่นอยู่ดี”

นอกจากการจัดทีมงานเข้ามารับหน้าที่กรรมการอำนวยการ ที่ปรึกษา และอนุกรรมการแล้ว สวจ. ชุดนี้ยังดึงพันธมิตรภาคีเครือข่ายจากขุมพลังในสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PTA) เข้ามาผนึกกำลังช่วยขับเคลื่อนภารกิจน้อยใหญ่ภายใต้การนำของนายกศักดิ์ชัย  ยอดวานิช

“คนที่ PTA ถือเป็นพี่เป็นน้องกับผมเลยนะครับ พอเขาเห็นเรารับอาสาทำงานให้ สวจ. เขาก็พร้อมสนับสนุน ถ้าเขารู้เขารีบยื่นมือเข้ามาขอช่วยก่อนเลย ไม่ได้มาในนามสมาคมนะครับ แต่มาช่วยกันส่วนตัวนี่แหละ อย่าง “คุณสุพจน์ เศรษฐวงศ์” เขาก็นำทีมมาช่วยจัดเวที แสง สี เสียง ดูระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ตลอดจนเรื่องตกแต่งสถานที่เวลาเรามีงานคืนสู่เหย้า เปิดลานอินทาเนีย งานวิ่ง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่สมาคมทางฝั่ง PTA เขาก็จะมาช่วยเราเป็นมือเป็นไม้เตรียมอาหารการกินเลี้ยงดูผู้คนแขกเหรื่อให้ได้กินอิ่มอร่อย จนงานประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชมของพี่  ๆ น้อง ๆ เรา ซึ่งข้อดีของการมาช่วยงานสังคมคือเมื่อไรที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะทำอะไรมันก็ราบรื่นทั้งนั้นนะครับ”

นอกจากเครือข่ายภายนอกแล้ว นายกศักดิ์ชัยยังใส่ใจให้ความสำคัญกับการผสานพลังทำงานร่วมกับบุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในทุกระดับอย่างใกล้ชิด

“ผมเข้ามาทำภารกิจปรับปรุงคณะครั้งใหญ่ จึงได้สัมผัสกับคนในคณะเยอะมาก ยิ่งตำแหน่งนายก สวจ. ต้องเข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการคณะด้วยแล้ว ผมจะเข้าประชุมด้วยตนเอง ไม่ส่งอุปนายก สวจ. ฝ่ายวิชาการไปเป็นผู้แทนเหมือนที่เคยทำกันมา ทำให้เราได้ทราบความเป็นไปภายในคณะมากขึ้น ใกล้ชิดกันขึ้น และทราบปัญหาและความต้องการของคณะอย่างตรงจุด เพื่อให้ได้ข้อมูลมาให้กรรมการ สวจ. พิจารณาตัดสินใจสนับสนุนช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทั้งที่เมื่อก่อนเราจะได้รู้เรื่องกันก็เมื่อมีตัวแทนคณะขึ้นมาเล่า มาบอกกล่าวกันในที่ประชุม สวจ. เท่านั้น นี่จึงเป็นเรื่องดีที่สมาคมนิสิตเก่ากับคณะได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง หลายเรื่องเราจึงคุยกันง่าย อีกอย่างเราโชคดีด้วยที่  “ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล” คณบดีเป็นรุ่นน้องรุ่นใกล้ ๆ กันคือ วศ.2526 ของเราเอง มีอะไรก็จะได้ไถ่ถามกันก่อนเลยว่าเรื่องที่สมาคมอยากทำ คณะต้องการหรือไม่ หากตอบว่าไม่เราก็จะได้ไม่ทำ มันดีตรงไม่ต้องไปเสียเวลาคิดต่อให้เหนื่อย แต่ถ้าคณบดีตอบว่าต้องการเราจะรีบดำเนินการทำให้ในทันที หลายเรื่องมันจึงสำเร็จได้เร็ว ระหว่างนายก สวจ. กับคณบดีเราคุยกันทุกเรื่องเลย หารือกันแล้วให้คณบดีชี้ลงมาเลยว่าจะเดินอย่างไร เราก็จะได้ไปทางนั้น มันจึงไว จากนั้นเราก็ได้ทำงานกับ “อ.หนำ รศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล” รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ซึ่งเป็นกรรมการ สวจ. ของเราด้วย ช่วยเชื่อมต่อไปยังน้องนิสิตร่วมกันทำกิจกรรมใหม่ ๆ มากมาย และยังมีผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกายภาพ ดูเรื่องอาคารสถานที่ต่าง ๆ คือ “อ.บอล รศ. ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์” ทำให้เราได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากคณะ ในทางกลับกัน  สิ่งที่คณะได้รับไปนั้น หากไม่ได้ความร่วมมือที่ดีจาก สวจ. คือ พี่ ๆ ไม่ให้ความร่วมมือที่ดีมากพอ คณะก็ยากจะเกิดสิ่งใหม่เหล่านี้ขึ้นมา นี่จึงเป็น Good Combination ที่ลงตัวมากจากทั้ง 2 ภาคส่วน”

M2 – Money เงินน่ะมีไหม

เมื่อคิดการใหญ่จะปรับปรุงหอประชุมมูลค่า 120 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ไม่แพ้เรื่องคน นั่นคือเรื่องเงิน จากเงินก้นถุงราว 20 ล้านบาท นายกศักดิ์ชัยคิดลุยไฟและพลิกแพลงอย่างไรจึงเพิ่มพูนมาได้จนทะลุร้อยล้าน

“วันแรก ๆ ที่ผมรับตำแหน่งนี้ ผมแอบท้อเล็ก ๆ นะครับ (ยิ้มแกมหัวเราะ) เชื่อไหมครับว่า ทั้งสมาคมมีเงินที่ส่งต่อมาถึงรุ่นผมอยู่ราว ๆ 20 กว่าล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าโครงการใหญ่ที่เรากำลังจะต้องทำแล้ว ตัวเลขยังห่างไกล ทั้งเพื่อนกรรมการและหลายคนข้างนอกก็มองว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่โดยส่วนตัวผมกลับไม่ได้ห่วงอะไรมากมายนะครับ เพราะเมื่อนึกย้อนไปสมัยวันแรก ๆ ที่ผมเข้าไปเป็นกรรมการ PTA เมื่อเกือบ 20 ปี มาแล้ว ขณะนั้นทั้งสมาคมมีเงินอยู่เพียง 3 ล้านบาทเท่านั้นเอง แต่เมื่อไม่มีก็แค่ต้องหา ในช่วง 12 ปี หลังจากนั้น เราก็ช่วยกันหาเงินมาพัฒนาโรงเรียนได้ 1,000 กว่าล้านบาท มันคล้ายกันแต่ก็ไม่ได้เหมือนเสียทีเดียว เพราะที่ สวจ. เรามีเวลาสั้น ๆ เพียง 2 ปี ต้องคิดและวางแผนกับคนเก่งที่เลือกเข้ามาแล้วว่าเราจะทำกันออกมาในรูปแบบใดดี ยิ่งเงินน้อยยิ่งต้องเริ่มจากลงไปดูเจาะลึกในรายละเอียดให้เราเข้าใจถึงที่มาของรายรับ รายจ่ายของ สวจ. กันเสียก่อน จึงทำให้เราได้เห็นรูปแบบวิธีการระดมทุนของสมาคมที่เคยทำกันมา หลัก ๆ แล้ว สวจ. มีกิจกรรมหารายได้อยู่ 2 งาน ได้แก่

กอล์ฟการกุศลของวิศวจุฬาฯ จะมีรายได้เข้ามาครั้งหนึ่งประมาณ 3 ล้านบาท และ

Intania Dinner Talk จะมีเงินเข้ามาอีกประมาณ​ 5-6 ล้านบาท

ฉะนั้นแต่ละปี สวจ. จะมีเงินเข้ามารวม 9-10 ล้านบาท วาระหนึ่งอยู่เพียง 2 ปี ก็น่าจะได้เงินเข้ามาประมาณ 18 ล้านบาท ขณะเดียวกัน สวจ. มีค่าใช้จ่ายประจำคือค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่สมาคม ซึ่งมีอยู่หลายคน มีเงินเดือน มีโบนัส และยังมีค่าใช้จ่ายสำนักงานต่าง ๆ อีกรวมแล้ว 3 ล้านบาท จึงเหลือเงินอยู่อีก 15 ล้านบาท ส่วนนี้ถึงจะได้นำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมนิสิตที่ทำโครงการเข้ามาขอพี่ ๆ กัน ซึ่งในอดีตน้องเขาก็ไม่ค่อยได้เข้ามาขอกันมากเท่ากับช่วงหลัง ๆ นี้ และยังมีเรื่องให้การสนับสนุนกิจกรรมของ สนจ. ทั้งงานปิยมหาราชานุสรณ์ คืนสู่เหย้าจุฬาฯ ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ งานกีฬาและกิจกรรมต่าง ๆ

ซึ่งกลายเป็นว่าเงินก้อนนี้ถูกนำมาใช้จ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ไม่มีโฟกัสที่จะพัฒนาคณะแบบมุ่งเป้าอย่างจริงจัง ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดเราจึงไม่ได้เห็น สวจ. ช่วยคณะทำอะไรใหม่ ๆ ได้สักเท่าไร เพราะเราไม่เหลือเงินเลยนี่เอง พอไม่มีเงิน เราก็ทำอะไรยากแล้ว นี่คือปัญหาใหญ่ที่สุดครับ ดังนั้นเราจะเห็นว่าในสมัยของผมพอมีเรื่องขอรับการสนับสนุนเงินเข้ามาให้กรรมการพิจารณา หลายครั้งจึงถูก สวจ. ปฏิเสธไป ก็ขออย่าได้โกรธเคืองกันเลยนะครับ เราไม่มีเงินครับ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่า แล้วจะทำอย่างไรให้เราหาเงินมาได้ เพราะการระดมทุนแต่ละครั้งหากทำแบบเดิมมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาเงินมาได้เท่าเดิม”

เมื่อโจทย์ใหม่ทั้งใหญ่และท้าทาย กรอบแนวคิดการบริหารการเงินแบบเดิม ๆ จึงจำเป็นต้องถูกทลายไป และเริ่มเสาะแสวงหาแนวทางวางกรอบวิธีคิดและทำกันใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สวจ.

“กิจกรรมหารายได้หลักที่เคยเป็น Cash Cow ของเรา 2 งาน กรรมการก็ต้องหาทางปรับรูปแบบการจัดงานกันใหม่ เราต้องขยันขึ้น ออกแรงให้มากขึ้น ขยายฐานผู้ร่วมกิจกรรมออกไปชวนกันเข้ามาร่วมให้กว้างขวางออกไปอีก ซึ่งเราก็ทำได้นะครับจากเดิมที่เราเคยหาได้ 3 ล้านบาท พอปรับวิธีเราก็ได้เงินเพิ่มขึ้นมาเป็น 8-9 ล้านบาทได้ไม่ยากเลย แค่เราพลิกเกมเล่นทุกอย่างก็เปลี่ยนตามเลย ส่วนงาน Intania Dinner Talk เป็นงานใหญ่ที่เรายังคงยึดติดอยู่กับกรอบเดิม ๆ ที่ต้องให้นิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ ที่ประสบความสำเร็จสุด ๆ แล้วเท่านั้นมาเป็นแม่เหล็กชูโรง แต่พี่เบอร์ใหญ่ ๆ ของเราที่คนอยากฟัง เราก็เคยเชิญเขามาแทบจะครบแล้ว จนมันวนเวียนหมุนอยู่แค่ในคนกลุ่มเดิม ๆ ตรงนี้ถ้าทลายกรอบได้ ความน่าสนใจจะเกิดขึ้นกับ​ Dinner Talk อีกมาก ส่วนเรื่องสปอนเซอร์ถ้ายังจะขอรับการสนับสนุนจากคนกันเองอยู่เพียงไม่กี่คนแบบเดิม ผมว่าเขาก็คงมองดูพวกเราอยู่เหมือนกันแหละว่า แต่ละปีจะมีอะไรที่แปลกใหม่มานำเสนอเขา ควรค่ากับการมาสนับสนุนหรือไม่ อย่างไร เอาเป็นว่า Intania Dinner Talk ถ้าจัดให้ดี ๆ ปีหนึ่งเราควรจะหาเงินได้ดีกว่านี้ ขยายเพดานให้ทะลุ 10 ล้านบาทไปให้ได้ มันก็ท้าทายอยู่ไม่น้อยใช่ไหมล่ะครับ”

ผุดแผนระดมทุนใหม่รับเมกะโปรเจ็กต์ซ่อมหอประชุมหลักร้อยล้าน

“สำหรับผมเองมีภารกิจเข้ามาสานต่อดำริของพี่ ๆ ที่อยากปรับปรุงหอประชุมคณะให้พร้อมใช้ได้จริง ซึ่งก็คิดกันมาหลายครั้ง ทำท่าจะเริ่มกันหลายหน แต่มันติดตรงเวลาของแต่ละรุ่นมันสั้นเกินไปจึงไม่ได้ทำ และพอเริ่มทำมันก็เลยไม่เสร็จในสมัยเขา พอเราเข้ามารับช่วงต่อก็ตั้งใจจะสานต่อทำให้จบในรุ่นเราให้ได้ ทั้งเรื่องหาเงินและต้องทำกันให้แล้วเสร็จด้วย เมื่อคิดและตัดสินใจดังนั้นแล้วเราก็เริ่มลุยกันเลย ทั้งที่รู้ดีแก่ใจว่าโครงการนี้อาจต้องใช้เงินมากเป็นประวัติการณ์ถึง 120 ล้านบาท สิ่งแรกที่ผมทำเลยนั่นคือการกลับไปหาพันธมิตรเก่าคือ เพื่อน พี่ น้อง ฝั่งโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก็ได้บอกข่าวเล่าให้พวกเขาฟังกันไป วิศวจุฬาฯ จะมีโครงการปรับปรุงหอประชุมคณะ พวกเราไปบริจาคเงินช่วยเขากันหน่อยดีกว่า ก็ต้องบอกกันตรงนี้ว่า ที่ ​PTA เองก็มีนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ มากอยู่เหมือนกัน เชื่อไหมครับว่า พอผมบอกเขาไป เขาก็ช่วยลงขันกันมาเลย เราจึงได้เงินตั้งต้นมาก้อนหนึ่ง  4 ล้านบาท ถือเป็น Seed Money ให้กับโครงการเราจริง ๆ พอใช้เป็นค่าออกแบบหอประชุมได้เลย จากนั้นพอได้แบบจึงได้คำนวณกันต่อว่าจะต้องใช้เงินจริง ๆ อีกเท่าไร โดยเราตั้งใจจะปรับลดงบประมาณลง โดยตัดส่วนประกอบเรื่องระบบ Metaverse ออกไปทั้งหมดก่อน จึงช่วยให้ตัวเลขเบาลงได้ 30 ล้านบาท แต่ก็มาเพิ่มให้กับระบบแสงเสียงและจอ LED แทน ทำให้งบประมาณอยู่ราว ๆ 90-110 ล้านบาทครับ”

“จากนั้น เมื่อประเมินราคากันใหม่แล้ว เราก็รีบนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม สวจ. หารือแนวทางการหาเงินจำนวนนี้มาให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งก็มีกรรมการหลายท่านเสนอวิธีสุดคลาสสิคมา นั่นคือให้เชิญชวนบริจาคเงินเข้าคณะเพื่อออกใบเสร็จลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่จากประสบการณ์ของผมทราบดีว่า หากทำแบบนั้นโครงการนี้มีโอกาสที่จะไม่ได้ทำสูงมาก เผลอ ๆ สวจ. ครบวาระ 2 ปีแล้ว ยังไม่ได้เริ่มซ่อมแซมอะไรเลย จึงได้หารือกับคณบดีว่าโครงการนี้ขอให้สมาคมนิสิตเก่าเป็นผู้ดำเนินการระดมทุนและดำเนินการเอง เมื่อแล้วเสร็จจึงยกให้แก่คณะ ข้อดีส่วนนี้คือเราสามารถกำหนดแบบที่เหมาะสมกับยุคสมัยได้เอง และคล่องตัวกว่าด้วยในเรื่องการดำเนินงาน ทั้งเรื่องการเบิกจ่ายและการควบคุมงานผู้รับเหมา เพราะโชคดีที่พี่ ๆ เราเป็นนายช่างย่อมเข้าใจกันอยู่แล้วว่า หน้างานปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเก่าแบบ นี้เวลาทำจริงมันต้องเจอสิ่งที่เราไม่คาดคิดไว้มากมายแน่นอน แต่แม้ผู้บริจาคจะไม่สามารถนำใบเสร็จสมาคมไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่เราก็ยังสามารถตอบแทนเขาได้ในรูปแบบอื่นได้อยู่นะครับ นี่จึงเป็นที่มาของการขออนุญาตคณบดีนำโลโก้ผู้บริจาครายใหญ่มาติดในหอประชุม โดยเราตั้งใจให้ผู้บริจาค 10 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 5 ราย มีโลโก้ติดไว้ภายในหอประชุม และผู้บริจาค 1 ล้านบาทขึ้นไปอีก 40 ราย จะได้จารึกชื่อเขาไว้ที่หน้าหอประชุมด้วย รวม 2 ส่วนนี้ เราก็ได้เงินทำหอประชุมแล้ว 90 ล้านบาท ซึ่ง ดร.วุฒิพงศ์ ก็ได้เสนอเพิ่มเติมเข้ามาว่า ให้นำชื่อผู้บริจาครายละ 50,000 บาท มาติดที่หลังเก้าอี้ในหอประชุมอีก 414 ตัว ทำให้ผมปิ๊งไอเดียเสริมเพิ่มให้อีก คือ แถวที่ 1-3 ก็เตรียมไว้ให้ผู้บริจาครายละ 200,000 บาท แถวที่ 4-6 สำหรับผู้บริจาครายละ 100,000 บาท ถ้าเราโชคดีได้ผู้บริจาคครบตามนี้จะมีเงินเข้ามาสมทบอีกกว่า 30 ล้านบาทเลยทีเดียว และจะขอตั้งชื่อหอประชุมแห่งนี้ใหม่ว่า ‘Hall of Intania’ ด้วยเหตุที่ว่าเราจะสงวนสิทธิการบริจาคนี้จำกัดวงไว้ให้อยู่เพียงในหมู่พี่น้องนิสิตเก่าชาวอินทาเนียของเราเท่านั้น เมื่อคิดวิธีได้แล้วประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เราก็ไม่รอช้า เริ่มลุยกันต่อเลย”

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.)

ใจชื้น ! แคมเปญใหญ่เสียงตอบรับดี

“เบื้องต้นเรื่องนี้เราทราบกันอยู่เพียงในหมู่กรรมการ สวจ. เท่านั้นก่อน แต่ทันทีที่ความนี้แว่วดังไปเข้าหูเพื่อน ๆ เราฝั่งสาธิตจุฬาฯ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 เขาก็สนใจติดต่อมาช่วยด้วยอีกแรง โดยจะขอมาจัดกิจกรรมระดมทุนหาเงินให้แก่หอประชุมเราเลยดีกว่า และเสนอจัดกอล์ฟการกุศลร่วมกันสามเส้าระหว่าง​คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  สวจ. และสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ นี่ถือเป็นกิจกรรมใหม่นะครับ เขาไม่ได้ไปเอาเงินเด็กน้อยที่โรงเรียนมาให้เราอย่างที่หลายคนแซว (หัวเราะ) ซึ่งแค่งานนี้งานเดียวเขาก็หาเงินมาช่วยเราได้อีก 8 ล้านกว่าบาท รวมกับ Seed Money ก้อนแรก 4 ล้านบาท นับรวมแล้วเป็น 12 ล้านบาทเศษ และเขาก็ยังได้ไปขอให้ช่วยกันลงขันตบท้ายเพิ่มเติมมาให้เราอีกจนตัวเลขไหลไป 16 ล้านบาทเศษ ยิ่งทำให้เราใจชื้นเพราะนี่คือโลโก้แรกที่จะได้ติดในหอประชุมแน่นอนแล้ว จากนั้นช่วงปลายเดือนสิงหาคม  2565 เราถึงได้เริ่มทำ Project Launching อย่างเป็นทางการกลางที่ประชุมประธานรุ่น ผมก็ได้ประกาศระดมทุนให้ได้รับทราบทั่วกัน ตอนแรกเราก็ฝันหวานเลย คาดกันไว้ว่าทันทีที่ประกาศออกไปคงจะระดมทุนได้ครบเลย แต่ผลปรากฏว่าผิดคาดครับ มีคนบริจาคมามากก็จริงอยู่ แต่มันกระจุกตัวอยู่ในสายของกรรมการ สวจ. ด้วยกันเอง ทั้งแบบที่ไปชักชวนเพื่อน ๆ ในรุ่นหรือให้กันมาส่วนตัวโดยรวบรวมจากคนในครอบครัวเขาที่เป็นวิศวจุฬาฯ ส่วนนี้ก็ได้มาเกือบครึ่งหอประชุมอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ทางสายฝั่งประธานรุ่นเองตอนนั้นเรายังได้กลับเข้ามาไม่มากนัก โดยเฉพาะโลโก้ในหอประชุมกลับไม่มีเข้ามาเลย เงียบสนิท จนมีเพื่อนกรรมการ สวจ. ท่านหนึ่ง คือ “คุณตึ๋ง ธิติ โตวิวัฒน์ วศ.2524” เจ้าของ DOS บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด  โทรเข้ามาหาผมไถ่ถามพอทราบสถานการณ์ก็ตัดสินใจบริจาคให้พวกเรามาเลยอีก 10 ล้านบาท มันก็เลยเดินต่อได้ สวจ. เองก็บริจาคลงมาต่ออีก 10 ล้านบาท จนโมเมนตั้มมันมา เงินก็ค่อย ๆ ไหลเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ก่อนปิดปรับปรุง เราก็จัดพิธีอำลาหอประชุมขึ้น ซึ่งวันนั้นเราได้เงินบริจาคเข้ามาแล้วเกือบ 100 ล้านบาท จึงได้ประกาศกลางงานนั้นให้ทราบทั่วกันว่าเงินบริจาคที่เราระดมได้ สวจ. จะขอใช้ให้หมดไปกับการปรับปรุงหอประชุมคณะและภูมิทัศน์โดยรอบ จะไม่เก็บเอาไว้ ไม่ให้ซ้ำรอยตอนคณะระดมทุนสร้างตึกวิศว 100 ปี และเราก็จะทำตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย”

เมื่อได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาคมไว้เช่นนั้นแล้ว ช่วงเดือนธันวาคม 2565 นายกศักดิ์ชัยจึงได้ประสานพลังกับคณบดีสำรวจความจำเป็นเร่งด่วนภายในคณะเพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงต่อเนื่อง และพบว่าห้องน้ำตึก 3 ทุกชั้น รวมถึงลานเกียร์ทรุดโทรมมากแล้ว สมควรแก่เวลา รวมถึงภูมิทัศน์คณะอีกหลายจุด จึงได้เปิดหน้างานทำคู่ขนานแข่งกับเวลาเพื่อให้แล้วเสร็จไล่เลี่ยทันกันทุกจุดในคณะ

“เราทราบแล้วว่ามีเงินบริจาคเข้ามาประมาณ 135 ล้านบาท ก็ช่วงเดือนมีนาคม 2566  จึงมีดำริจะทาสีตึก 1 ตึก 2 ปรับปรุงระเบียงชั้น 2 ของตึก 3 และห้อง Intania Club บนอาคารอรุณ สรเทศน์ แต่แน่นอนว่างานปรับปรุงเหล่านี้ย่อมมีงานงอกขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั้งงานตกแต่งภายใน ติดผ้าม่านในหอประชุม เปลี่ยนสเป็กผ้าบุเก้าอี้เป็นผ้ากันไฟ ทำระบบถ่ายทอดสัญญาน LIVE สด ทำกันสาดหน้าตึก 3 วางระบบเสียงตามสายในคณะ ทำห้องประชุมอาคารอรุณ สรเทศน์ ชั้น 1 ใหม่ นอกจากนี้คณะยังขอให้ทาสีอาคาร 3 ทั้งอาคารด้วย ซึ่งรายการเหล่านี้เป็นงานงอกขึ้นมาหลังจากที่เราปิดรับบริจาคไปแล้ว นับรวมได้ 20 กว่าล้านบาท รวมกับตัวเลขเดิมแล้วเป็น 155 ล้านบาท ผมจึงได้หารือกับกรรมการ สวจ. ว่า ขอนำเงินที่เหลืออยู่ในสมาคมอีก 20 ล้านบาท มาสมทบส่วนที่เกินมานี้ทั้งหมดไปเลย จึงทำให้เงินหมดสมาคม ผมจึงได้นำงานศิลปะที่สะสมไว้ 2 ชิ้น ออกมาทำกิจกรรมประมูลในงานเปิด Hall of Intania ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ได้เงินมาอีก 3 ล้านบาท ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการเงินไปได้ และเริ่มสะสมกันใหม่ไว้เป็นเงินกันถุงส่งต่อให้น้องรุ่นหน้าได้”

M3 – Material เจาะลึกเมกะโปรเจ็กต์ซ่อมแซมหอประชุม

“พอเรามาเริ่มลงมือทำโครงการจริง ๆ หลังจากที่เปิดประมูลได้ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมางานโครงสร้างและผู้รับเหมางานระบบต่าง ๆ ของหอประชุมแล้ว จากที่เคยประเมินกันไว้ร้อยกว่าล้านบาทนั้น เอาเข้าจริงเราสามารถบริหารจัดการให้กระชับอยู่ในกรอบวงเงิน 85 ล้านบาทได้ด้วยความเก่งของคณะกรรมการดำเนินงานชุดนี้ ภายใต้การนำของท่านเลขาธิการ ดร.อ๊อด วุฒิพงศ์ ต้องชื่นชมทุกความทุ่มเทจริง ๆ เก็บทุกเม็ดตั้งแต่ต้นจนจบเลย เราเชิญบริษัทผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งนั้นนะครับที่มาร่วมประกวดแบบ ประกวดราคากัน ค่าออกแบบของบริษัทที่เราเลือกมาราคาสูงที่สุดเลยคือ 8.5 ล้านบาท แบบสวยถูกใจเหมาะกับการรองรับอนาคตมาก ๆ แต่ท้ายที่สุดเราก็มีวิธีเจรจาพูดคุยกับเขาจนทำให้ราคาจบได้ที่ 4 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วด้วย ส่วนค่าทีมคุมงานก่อสร้างจากเดิมมีผู้เสนอตัวมาทำให้ 4 ล้านบาท เราเลยลองหาคนใหม่เทียบกันซึ่งอีกรายเขาคิดเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนการก่อสร้างหอประชุมเราแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคืองานโครงสร้าง ส่วนที่ 2 คืองานระบบแสง สี เสียง พอเปิดประมูลใจจริงเราอยากได้บริษัทของพี่ ๆ น้อง ๆ เรามาทำเพื่อไว้ลายสร้างชื่อนี่แหละ แต่ผลปรากฏว่าผู้ที่เสนอราคาถูกที่สุดกลับเป็นบริษัทที่เขาจบจากสถาบันอื่นแต่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทำหอประชุมโดยตรงจริง ๆ ยื่นมาที่ราคา 57 ล้านบาท ไม่รวม Vat ส่วนบริษัทของรุ่นพี่เรายื่นมาที่ 81 ล้านบาท ราคาต่างกันอยู่ถึง 24 ล้านบาทเลย ซึ่งเราก็ต้องเรียกผู้ชนะมาคุยและเจรจาต่อรองลงไปอีกเบ็ดเสร็จแล้วเหลือ 55 ล้านบาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ถือว่ากรรมการทำหน้าที่เต็มมาก ต่อรองลงมาได้อีกหลายล้านเลยครับ ส่วนที่ 2 คืองานระบบแสง สี เสียง และจอ LED P.2 ตามสเป็กที่กำหนดนี้มีผู้ยื่นประมูลราคาต่ำสุดมาที่ 19.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นเจ้าเดียวกันกับผู้ชนะในงานส่วนแรก และแน่นอนว่าเราก็ต่อรองราคาเขาตามธรรมเนียม เขาก็ลดให้เหลือ 19 ล้านบาทถ้วน ดังนั้นส่วนที่เราแยกกันประมูลนี้รวมกันใช้งบเพียง 74 ล้านบาท เท่านั้น”

แจงเหตุแยกประมูลงานโครงสร้างกับงานระบบ

“สาเหตุที่เราต้องแยกประมูลงาน 2 ส่วนนี้ทั้งที่ปกติไม่ค่อยมีใครเขาทำกันเพราะเราฟังเสียงจากกรรมการ สวจ. ของเรานะครับ ที่เสนอมาว่าควรจะแยกงานส่วนระบบแสง สี เสียง ออกมา เพราะมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญงานด้านนี้พี่เก่าเราเองมีฝีมืออยู่ แต่เขาอาจไม่ถนัดงานก่อสร้าง เราก็ดำเนินการให้ตามที่ได้กรุณาแนะนำมา ซึ่ง ดร.วุฒิพงศ์ ประธานงานนี้ก็ไม่ได้เห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะอาจทำให้เกิดความลักลั่นเกี่ยงงานกันของทีมงานผู้รับเหมา 2 ชุด จนเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้ากระทบกับเดดไลน์ของโครงการ แต่ท้ายที่สุดเมื่อเราเปิดประมูลแยกกัน ผลปรากฏว่าบริษัทพี่เราเสนอราคามาสูงสุดเลย ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดกลับเป็นบริษัทเดียวกันกับงานโครงสร้าง  ทั้ง 2 สัญญาที่มาทำงานให้เราจึงเป็นบริษัทเดียวกัน กรรมการเลยได้คลายความกังวลใจในประเด็นนี้ลงไป พร้อมกับเขาเองก็ภูมิใจด้วยว่าได้บริหารโครงการด้วยความโปร่งใสไร้ข้อครหา”

เมกะโปรเจ็กต์ซ่อมแซมหอประชุม

ลุยยกเครื่องซ่อมใหญ่หอประชุมแข่งกับเวลา

“เมื่อถึงวันที่เราต้องเริ่มลงมือทำกันจริง ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2565 ในส่วนของงานปรับปรุงหอประชุมนั้นราบรื่นดีเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ จะว่าไปต้องบอกว่าค่อนข้างง่ายเพราะเป็นที่ปิดอยู่ภายในอาคาร เลยไม่ค่อยกระทบกับคนในคณะมากนัก เสียงวิจารณ์จึงไม่ค่อยมี จะมีบ้างช่วงท้าย ๆ ที่เราใกล้จะเปิดให้ทดสอบระบบแล้ว มีผู้ห่วงใยแอบแวะเวียนเข้ามาเลียบ ๆ เคียง ๆ ดูโดยพลการ แล้วนำออกไปวิพากษ์วิจารณ์กันถึงหน้างานบางส่วนที่ยังไม่เรียบร้อย ซึ่งกรรมการตรวจรับเขาเข้าใจขั้นตอนและความก้าวหน้าของงานในแต่ละเฟสดีอยู่แล้ว เพราะตรวจงานกันละเอียดยิบ เจาะจุดบกพร่องก็ให้แก้ไขไปตามเนื้อผ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คณะนะครับ โดยส่วนตัวผมคิดว่าการแอบย่องเข้ามาในสถานที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้วนะครับ แล้วยิ่งเอาออกไปขยายต่อกันในทางไม่สร้างสรรค์บนโลกโซเชียลนี่ยิ่งไม่ควรทำ ถ้าเห็นปัญหาติดขัดตรงไหนก็แค่มาบอกคนรับผิดชอบ เขาก็ทำให้อยู่แล้ว เพราะเราก็บอกให้ผู้รับเหมาปรับหน้างานหลายจุดเช่นกัน อย่างงานระเบียงกระจกชั้น 2 งานติดตั้งโลโก้ต่าง ๆ นี้ก็เปลี่ยนจากแบบเดิมให้สวยขึ้นกว่าเดิมมากเลยครับ ก็ไม่อาจจะกล่าวคำอื่นได้นอกจากคำขอบคุณคณะกรรมการชุดนี้จริง ๆ หลายคนมาช่วยกันควบคุมงาน ทั้ง ดร.อ๊อด วุฒิพงษ์ วศ.2527 เลขาธิการสมาคม พี่เปิ้ล พงษ์เดช วศ.2523 เพื่อนหนู ณรงชัย วศ.2524 อ.บอล เสวกชัย ผู้ช่วยคณบดี คนนี้เข้ามาช่วยดูแลเราอย่างเต็มที่เลย หอประชุมเราจึงแล้วเสร็จช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 แต่มันก็ยังมีระบบไอทีต่าง ๆ ที่จุฬาฯ ขอให้เราติดตั้งเพิ่ม เราก็ให้ผู้รับเหมาทำต่อให้สมบูรณ์ขึ้น จนสามารถเปิดให้ทดลองใช้ได้ทันในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ต้อนรับน้องนิสิตใหม่ วศ.2566 รุ่น 107 ก็ดีใจแทนน้อง ๆ รุ่นนี้ด้วยนะครับที่ได้ของขวัญชิ้นใหญ่จากพี่ ๆ นายช่างไปเต็ม ๆ”

สร้างตำนานบทใหม่ ปรับใหญ่ห้องน้ำตึก 3

“เมื่อเราทราบแล้วว่าเงินที่ได้จากการระดมทุนหลังจากทำหอประชุมแล้วจะมีเหลืออยู่อีกราว ๆ 50 กว่าล้านบาท เราก็ไม่รอช้าทำตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาคมในวันอำลาหอประชุม เดินหน้าสำรวจความต้องการจากคณะว่าต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ส่วนไหนอีกบ้าง ไล่เรียงลงมาเลย และให้ผู้ออกแบบทำแบบไว้รอเลย ที่แน่ ๆ คืองานซ่อมแซมห้องน้ำตึก 3 ครับ พวกเราก็ตั้งโจทย์กันว่ารอบนี้จะทำให้ดีเลย แพงนิดแพงหน่อยไม่เป็นไร เดี๋ยวเรามาบริหารงานก่อสร้างกันเอาได้ จนหลายคนกล่าวขวัญถึงเรื่องการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำว่า มันเกินความจำเป็นไปหรือเปล่า ก็อยากจะบอกว่า ห้องน้ำสมัยใหม่มันก็ควรจะเป็นแบบนี้แหละครับ ยิ่งเป็นห้องน้ำสาธารณะด้วยแล้วมันยิ่งต้องทนทานและทำความสะอาดง่าย แต่แน่นอนว่ามันคงไม่เหมือนห้องน้ำตามบ้านเราหรอกนะครับ ทางผู้ออกแบบและกรรมการเขาก็พิจารณากันดีแล้ว โดยส่วนตัวผมว่างานห้องน้ำนี่เป็นที่น่าพอใจมาก ถึงขนาดที่มีน้อง ๆ นิสิตสาวอักษรที่เป็นดาว TikTok ยังต้องแวะมารีวิวความล้ำทั้งสุขภัณฑ์ อ่างล้างมือ และก๊อกน้ำ จนกล่าวขวัญกันไปทั่วจุฬาฯ เลยครับ”

ลานอินทาเนีย

ลานอินทาเนียเจ้าปัญหา

“จากนั้นเมื่อเราได้แบบลานอินทาเนีย ระเบียงชั้น 2 ตึก 3 และห้อง INTANIA Club ออกมาแล้ว เราก็เริ่มเปิดประมูลให้ผู้รับเหมาเข้ามาแข่งขันประกวดราคากัน ตอนแรกเราคาดว่าจะได้บริษัทเดิมที่ทำหอประชุมให้แก่เราใน 2 สัญญาแรก คือ ATC เพราะเขาทำราคาได้ดีมากเลย แต่รอบนี้ผลกลับไม่ออกมาเป็นเช่นนั้น เพราะเราได้บริษัทผู้ชนะรายใหม่คือ EROS ที่เสนอราคามาต่ำที่สุดและยังต่ำกว่าบริษัทเดิมที่เราเคยใช้อยู่โดยรวมเกือบ 20 ล้านบาทเลยครับ ลำพังแค่ส่วนลานอินทาเนียอย่างเดียวเขาก็ยื่นมาถูกกว่าคนอื่นไปร่วม 10 ล้านบาทแล้ว ซึ่งดูจากผลงานเขาแล้วเขาถนัดงานตกแต่งภายในและงานตกแต่งภายนอกอาคารสถานที่ ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะกรรมการของเราก็ต่อรองราคาจนเป็นที่น่าพอใจแล้วจึงได้เริ่มทำสัญญากันตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 แต่เขาก็ยังเข้าไปทำงานไม่ได้ เพราะคณะยังจัดการเรียนการสอนอยู่ กว่าจะได้เริ่มทำกันจริง ๆ ก็เข้าเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ไปแล้ว ระหว่างนั้นก็ต้องให้เขาทำส่วนอื่นไปพลางก่อน สำหรับผู้รับเหมารายนี้เขาจะเจอปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งครับด้วยงานส่วนนี้อยู่ในพื้นที่เปิดโล่งและงานหน้ากว้างมากจึงกระทบกับหลายกิจกรรมของคณะและน้องนิสิตที่ต้องใช้สถานที่ร่วมด้วยอยู่ทุกวัน มันจะไม่เหมือนงานปรับปรุงหอประชุมที่ทำกันอยู่ในพื้นที่ปิดจึงทำได้ต่อเนื่อง ฉะนั้นทำอะไรในที่แจ้งคนก็จะเห็นหมด จึงมีเสียงบ่นกันเข้ามาว่าหนวกหูบ้าง บางคนก็มาสั่งให้หยุดทำชั่วคราวบ้าง ตรงนี้ก็น่าเห็นใจเขาอยู่เหมือนกันเพราะคณะเราก็เป็นนายช่างกันทั้งนั้น แต่ละวันก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเดินเข้าไปไถ่ถามบ้าง ช่วยตรวจงานเขาให้บ้าง เขาก็รับฟังไว้ จริง ๆ อยากจะบอกนะครับว่า ตรงนั้นมันเป็นพื้นที่ก่อสร้าง คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ควรเข้ามาหรอก ให้คนที่เกี่ยวข้องเขาได้ทำงานให้เต็มที่ ถ้าติดขัดส่วนไหนก็มาบอกที่คนคุม คนทำงานเขารับฟังอยู่แล้ว แต่ทุกฝ่ายก็จูนกันจนเข้าใจแล้ว เราก็ผ่านกันมาได้ด้วยความอดทน ส่วนนี้เองสมาคมก็ต้องขออภัยที่ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกสบายในช่วงนั้นด้วยนะครับ ผู้รับเหมาเขาก็เร่งทำสุดฝีมือเลย จนมาถึงช่วงท้ายสัญญาราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ลานเราใกล้เสร็จแล้วแต่เราได้ประเมินแล้ว ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ทันงานพระราชทานปริญญาบัตรที่ก่อนถึงวันงาน เหล่าบัณฑิตจะต้องซ้อมและมาถ่ายรูปกันก่อนถึงวันจริงยิ่งคณะเรามีบัณฑิตหลักพันคนนับรวมพ่อแม่ผู้ปกครองและเพื่อน ๆ ที่มาร่วมแสดงความยินดีอีกก็หลายพันเลยครับถ้าไม่เปิดลานเขาจะไปอยู่ตรงไหนกัน ยิ่งช่วงนี้จุฬาฯ เองก็กำลังปิดปรับปรุงอาคารเทวาลัยด้วย พื้นที่รองรับคนตรงนั้นจะยิ่งน้อยลง”

“สวจ. เราคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ประกอบกันเข้ามาจึงยอมเปิดลานชั่วคราว รวมถึงยินดีให้บ่นด้วย ก็มีคนวิจารณ์ว่าพื้นลานลื่นมากบ้าง ที่ชมมาก็มีบอกว่าลานสวยสมกับที่รอคอย มีคละเคล้ากันไป และก็เอาไปแชร์กันในโลกโซเชียลตามที่เราได้เห็นกัน ซึ่งทุกคนที่มาเขาก็น่าจะทราบกันอยู่แล้วว่างานเรายังไม่เสร็จสมบูรณ์ เขายอมเปิดให้ใช้ก่อนก็อย่าเพิ่งไปวิจารณ์อะไรเขามาก มันอาจจะเป็นเพราะพวกเราเองนี่แหละที่ละเอียดกันมาก ทำไป แก้ไป รื้อออกปรับใหม่กันอยู่อย่างนั้น เขาก็เร่งทำเพื่อให้เราทันเปิดใช้งานนี่ก็เก่งมากแล้วล่ะ (หัวเราะ)”

ลุยปรับอาคารอรุณ สรเทศน์ แหล่งรวมพลแห่งใหม่ของพี่นายช่าง

“มาถึงห้อง INTANIA Club กันบ้าง ต้องบอกว่าไม่ได้อยู่ในแผนงานของเราแต่แรกเลย แต่พอมาทำ สวจ. จึงรู้ว่าพี่ ๆ นิสิตเก่าเราขาดจุดศูนย์กลางที่ใช้รวมตัวกันพบปะพูดคุยสังสรรค์เพื่อก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ให้แก่คณะและจุฬาฯ รวมถึงสังคมด้วย ผมจึงได้ปรึกษากับคณบดีและได้เลือกชั้นล่างของอาคารอรุณ สรเทศน์ ปรับปรุงห้องพักรับประทานอาหารของอาจารย์และห้องทำงานของมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ แต่เดิมนำมาทำใหม่ให้เป็นห้อง INTANIA Club เพื่อให้พี่ ๆ ได้กลับมาใช้กัน ซึ่งภายในนั้นจะมีส่วนที่เป็น Hall of Fame ประกาศเกียรติคุณของวิศวจุฬาดีเด่นทุกท่านรวมอยู่ด้วย ส่วนอีกปีกหนึ่งของอาคารชั้นล่างเราได้ทำห้องอเนกประสงค์อีก 2 ห้อง และทำห้องทำงานใหม่ให้มูลนิธิฯ ด้วย ขณะเดียวกันเราได้ทาสีตึก 1 และตึก 2 ให้คณะดูเหมือนใหม่ ทางคณะคงเห็นว่ามันดูสวยเจริญหูเจริญตาดีก็เลยมาขอให้ สวจ. ช่วยทาสีภายนอกตึก 3 ทั้งหมดให้ด้วย ซึ่งพวกเราก็ยินดีรับมานะครับ แต่พอคำนวณพื้นที่แล้วประมาณ 15,000 ตารางเมตร เห็นจะได้ ก็เป็นเงินอีกหลายล้านบาทอยู่ จนต้องบอกว่า สวจ. ในยุคของพวกเรานี้ เราปวารณาตัวจะเป็นขุมกำลังสำคัญให้คณะเร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยไม่ให้คณะต้องใช้งบประมาณของคณะแม้แต่บาทเดียวเลย ตรงนี้ถือเป็นน้ำใจจากพี่ ๆ นายช่างชาวอินทาเนียนะครับที่หลั่งไหลให้กันมา สวจ. เราได้นำกลับมาดูแลคณะอย่างเต็มที่แล้วครับ ”

M4 – Management ชวนคิดและบริหารแบบมองมุมกลับ ปรับมุมมอง

“การมาเป็นกรรมการบริหารสมาคมในวาระสั้น ๆ เพียง 2 ปี นี่เป็นอะไรที่ค่อนข้างยากอยู่เหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะกับงาน จะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนอะไรใหญ่โตนี่ยิ่งยากเลย เพราะมันอาจไม่เสร็จในสมัย และจะขาดความต่อเนื่อง ยิ่งกรรมการที่เราเชิญเขามาแต่ละท่านล้วนเป็นเบอร์หนึ่งในองค์กรของเขาแทบทั้งนั้น เขาก็มีภาระหน้าที่หลักกันมากอยู่แล้ว ซึ่งค่าตัวแต่ละคนใช่น้อย ๆ เสียที่ไหน ถ้าต้องให้ สวจ.ไปจ้างพี่เหล่านี้มาทำงานให้เหมือนบริษัทเราคงไม่มีปัญญาแน่ ๆ แต่ทุกคนก็ยินดีมา นอกจากจะไม่ได้เงินแล้วเรายังมาเพื่อจ่ายให้ด้วย งานการกุศลมันเป็นอะไรที่บังคับใครไม่ได้หรอกครับ มันอยู่ที่ใจล้วน ๆ เป็นงานขอความร่วมมือ เป็นงานขอความช่วยเหลือในหมู่พี่ ๆ น้อง ๆ การบริหารสมาคมมีทั้งเรื่องยากและเรื่องง่ายผสมกันอยู่ ที่ผมว่าง่ายก็ตรงที่เรามีน้อง ๆ ที่รู้ใจกันอยู่แล้ว พอจะฝากผีฝากไข้ได้ พอจะทำอะไรมันก็เลยง่าย แต่ที่ยากคือการไปรบกวนขอแบ่งเวลาจากกรรมการให้มาประชุมกันนี่ยากกว่า การประชุมของเราแต่ละครั้งจึงต้องกำหนดไว้ไม่ให้ประชุมเกิน 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเราจะตัดจบเลยและยกยอดไปครั้งต่อไป เชื่อไหมครับว่ามีบางคนเขาคิดว่าการฝ่ารถติดมาประชุมแล้วไม่ได้พูดอะไรเลยทำให้เขารู้สึกไม่อยากจะมาประชุม เพราะมันเสียเวลา ยิ่งไม่มีเรื่องของเขาด้วยแล้วเขาก็ยิ่งจะไม่ได้มีบทพูดเลย ไม่มาดีกว่า แต่ผมกลับคิดอีกอย่างนะครับ คือการที่เรามาประชุมกันนี่คือมานั่งฟังคนอื่นบ้าง ช่วยออกความเห็นกันบ้าง ไม่ต้องมากหรอก แค่นั้นมันก็เป็นประโยชน์กับส่วนรวมแล้ว ด้วยเวลาที่น้อยและเรามีเรื่องให้ต้องตัดสินใจมาก มันก็ต้องเคาะออกมาเลยนั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น คนมาเป็นนายกนี่สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือต้องกล้าตัดสินใจ พร้อมกับต้องกล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจทำไปแล้ว มันก็อาจจะไม่ถูกใจใครไปเสียทั้งหมด บางอย่างเขาเคยทำกันอยู่แบบเดิม พอมาถึงสมัยเราอะไรที่ทำแล้วมันเสียเวลาเราเกินไป เราก็ไม่ทำ เพราะเราจะคิดหาวิธีที่ดีกว่านั้นมาแทน อะไรเปลี่ยนได้แล้วดีกว่า มันก็น่าจะเปลี่ยน ตรงนี้คือหัวใจของการบริหารจัดการ สวจ. ในสมัยของผมเลยนะ เพราะผมมีประสบการณ์ทำงานให้ส่วนรวมมามากกว่า 20 ปี ฉะนั้นทุกการตัดสินใจคงไม่สามารถรอฟังทุกคนได้ คุณจึงต้องมาประชุม เพราะผมอยากให้กรรมการร่วมกันตัดสินใจ แล้วเราจะเดินตามนั้นเลย แต่หลายครั้งต้องขอบคุณที่ประชุมนะครับที่กรุณาให้เกียรตินายกเป็นผู้ฟันธงให้”

Hall of INTANIA

ผุดกิจกรรมใหม่ ฟื้นฟูประเพณีเก่า

“สมัยของเรามีงานใหม่ที่เราไม่เคยทำกันมาก่อน อย่างงานอำลาหอประชุม งานเปิด Hall of INTANIA งาน INTANIA Music Fest ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมใหม่ แต่ทุกงานล้วนมีคนสนใจมาร่วมงานกันล้นหลามทุกงาน เมื่อดำริไว้แล้วว่าอยากดึงความร่วมมือจากคนในคณะกลับมามันก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่ทำนะครับ มันแค่ต้องลุย และมันไม่ใช่เรื่องไม่มีเงินหรอกนะครับ เพราะไม่ว่าจะมากจะน้อยอย่างไรเราก็ต้องหา ตลอด 2 ปีมานี้มันก็คุ้มค่ากับการมาทำงานนะครับ เพราะเราสามารถฟื้นฟูประเพณีที่ดีงามของชาวอินทาเนียที่สูญหายไปสิบกว่าปีให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง น้อง ๆ กลับมาซ้อมร้องเพลงเชียร์คณะกัน และเขาก็ทำได้ดีในแบบของเขาทั้งที่เขาไม่มีโอกาสได้เข้าแสตนด์เชียร์เหมือนพี่ ๆ ด้วยซ้ำ พอรู้ว่าเขาอยากร้องเพลงได้เหมือนเรา สวจ. ก็ทำทุกวิถีทางให้สมความตั้งใจนี้ทันที ต้องขอบคุณ พี่เปิ้ล พงษ์เดช อีกครั้งหนึ่งที่รับไปประสานพี่ ๆ ให้กลับมาร่วมมือกันช่วยสอนน้อง จนเขามาแสดงให้เราได้ชมกันในวันเปิด Hall of INTANIA ผมเชื่อว่าทุกคนที่มางานในวันนั้นใจฟูแน่นอน อีกงานหนึ่งที่เรากลับมาจัดกันอีกครั้งนั่นคืองานคืนสู่เหย้าที่ ห่างหายไปหลายปีเหมือนกัน”

“ซึ่งสถานการณ์ดูเหมือนว่าจะทำให้เราไม่ได้จัดอีกแล้ว แต่เราก็กล้าที่จะประกาศให้กลับมาจัดงานออกมา แล้วถ้ามีเหตุอันควรให้ไม่สามารถจัดได้ค่อยว่ากันอีกที แต่นาทีนั้นเราต้องกล้าตัดสินใจที่จะจัดงานให้ได้ก่อน ต้องบอกว่าใครที่จะมาเป็นนายก สวจ. ต้องมาทำหน้าที่ตัดสินใจนะครับ ถ้าจะทำก็ทำเลย แต่ถ้าจะไม่ทำก็ต้องคิดหาวิธีจัดการให้มันดีด้วยครับ นอกจากนี้เรายังมีงานใหม่ที่เราทำไปให้แก่น้องรุ่น 103 นั่นคือ งานบายเนียร์ ซึ่งที่ผ่านมา สวจ. ไม่เคยทำเลย งานนี้เราได้รับการประสานงานมาจากท่านคณบดีให้ช่วยจัดหาศิลปินมาสร้างความบันเทิงให้น้อง ๆ สมาคมก็ทำให้ตามประสงค์นั้นทันที เราติดต่อศิลปินขวัญใจน้อง ๆ คือ “ส้ม มารี” มาแสดงในงาน ซึ่งก็ใช้เงินพอสมควร และมีเสียงทักท้วงมาว่าไม่อยากให้เราสนับสนุนเพราะเกรงว่าหากปีนี้มีศิลปินมาแล้ว ปีหน้าไม่มีแล้วคณะจะทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้ผมก็ได้ให้ความเห็นไปว่า อย่าไปกังวลเลยทำไปเถอะ เพราะถ้าเราไม่ทำในปีนี้ ปีหน้าก็คงไม่มี เพราะไม่ได้เริ่มกันสักที แต่ถ้าปีนี้มันดี เดี๋ยวปีหน้าก็มีเองนั่นแหละ อะไรที่รุ่นเราทำให้ได้เราก็จะทำไปเลย  เดี๋ยวรุ่นหน้าเขาหาวิธีของเขาเองจนได้”

งานพระราชทานปริญญาบัตร

แจกความประทับใจให้ประชาคมจุฬาฯ

“ในงานพระราชทานปริญญาบัตร เราก็กังวลกันว่า คนมาร่วมงานแสดงความยินดีแก่บัณฑิตเราเป็นพันคน น้อง ๆ เขาจะกินอะไรกัน เราจึงได้ไปจัดเตรียมเครื่องดื่มมา ซึ่งผมก็ได้ ประสานกับ Black Canyon ขอให้เขาคิดราคาพิเศษมาให้น้องเราหน่อย สวจ. จะขอซื้อเพื่อนำมาบริการแจกให้ฟรี ซึ่งเราก็ได้รับความอนุเคราะห์จากเขามาในราคาเพียงแก้วละ 15 บาท ทำให้ที่วิศวจุฬาฯ แจกเครื่องดื่มให้ผู้มาในงานได้ถึงวันละ 5,000-6,000 แก้ว โดยไม่ได้แบ่งแยกเลยว่าจะเป็นคนของเราหรือไม่ ขอแค่ให้มาแสดงความยินดีกับน้องเราเถอะ แน่นอนว่าเรานับทุกคนเป็นคนในประชาคมจุฬาฯ เราจึงพร้อมดูทุกคนเช่นกัน ถือเป็นน้ำใจที่เรามอบให้แก่ประชาคม”

ความเป็นอินทาเนียจะติดตัวไปจนวันตาย

“เมื่อครั้งที่ น้องชัชชาติ ชนะเลือกตั้งถล่มทลายได้เป็นผู้ว่า กทม. หลายคนสงสัยมาถามผมว่า ทำไม สวจ. กล้าจัดงานให้น้องชัชชาติ ทั้งที่ที่ผ่านมาเราไม่เคยจัดงานลักษณะนี้ให้ใครมาก่อนเลย โดยส่วนตัวผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า แล้วทำไมที่ผ่านมา สวจ. ถึงไม่จัดงานแสดงความยินดีให้พี่ ๆ ของเรากันนะ ถ้าเป็นสมัยผม ผมจะจัด เพราะเราให้ความสำคัญกับการมีตัวแทนของเราได้มีโอกาสไปอยู่ตรงนั้น และงานในวันนั้นมันเป็นสิ่งที่เราจัดได้ประทับใจและอบอุ่นมาก พี่ ๆ น้อง ๆ มากันเนืองแน่นคณะไปหมดเลย  เอาดอกกุหลาบมามอบให้ผู้ว่า กทม. คนใหม่และทีมบริหารที่เป็นเชื้อสายวิศวจุฬาฯ โดยแท้ ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปคาดหวังให้เขาต้องมาให้อะไรเรามากนัก ขอแค่หันกลับมามองดูคณะเราบ้าง อะไรที่สนับสนุนส่งเสริมพวกเราได้มาอยู่ตรงนี้แล้วผมก็อยากให้ทำ ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเกิดมาเป็นอินทาเนียแล้วมันจะติดตัวเราไปจนวันตาย”

อินทาเนีย

รักจะเป็นอินทาเนีย ต้องให้ใจ

“โจทย์ของงาน ILN ที่เราตั้งไว้นั่นคือจะจัดอย่างไรไม่ให้ขาดทุน แต่ยังให้พี่ของเราอยากมาฟังและยังได้ทานอาหารดี ๆ ด้วย ซึ่งเราก็ปรับเปลี่ยนได้สำเร็จ จากเดิมที่ต้องไปจัดที่โรงแรม ขายบัตรแพง ๆ ILN ครั้งที่เป็นเรื่องราวของ ดร.อ๊อด วุฒิพงศ์ เราจึงตัดสินใจย้ายมาจัดกันที่ Hall of INTANIA แทนถือเป็นกิจกรรมแรกของ Hall เรา เราเปิดให้พี่ ๆ เข้าฟังฟรี แต่ใช้วิธีไปหาสปอนเซอร์เข้ามาอุดหนุนแทน นอกจากนี้กิจกรรมในงานยังจัดกิจกรรมประมูลผลงานศิลปะ 2 ชิ้น ซึ่งเป็นของสะสมจากผมและดร.อ๊อด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อนำเงินที่ได้มาสมทบกองทุนสนับสนุนกิจกรรมนิสิต เราได้เงินมาจากกิจกรรมนี้ถึง 1.75 ล้านบาท สำหรับวิศวจุฬาฯ แล้ว ผมว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหามันอยู่ที่เอาใจเขามาได้ไหม และที่แย่กว่านั้นคือมีเงินนะแต่ไม่มีใจ อันนี้ทำอย่างไรเขาก็ไม่มาหรอก นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องเอาใจเขามาให้ได้ก่อน บางคนมีใจแต่ไม่มีเงินก็ไม่เป็นไร ขอให้เข้ามาช่วยกันก่อน บางคนมีทั้งเงินมีทั้งใจ อันนี้สบายเลยแต่ละรุ่นขอเพียงมีกลุ่มนี้อยู่สัก 2-3 คน แค่นั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องหาคนมีเป็นหมื่นล้านแสนล้านหรอก มีเงินสักหน่อยก็เอามาบริจาคแบ่งปันให้คณะกันทุกปี ไม่ต้องมากหรอก ถ้าพวกเราบริจาคให้คณะเพื่อประโยชน์ทางภาษี คุณบริจาคให้คณะ 1,000,000 บาท มันเท่ากับคุณบริจาคจริงเพียง 300,000 บาท เท่านั้นเอง แต่เราได้ชื่อว่าบริจาคเงินล้านช่วยคณะ ทำไมจะทำไม่ได้ เราไปกินไวน์ขวดนึงเป็นแสนเป็นล้านหรือแพงกว่านั้นยังทำกันได้ปกติเลย ผมว่าเราต้องพยายามทำให้ได้ใจก่อน ใจถึงจะมา ฉะนั้นถ้าจะบอกใครว่าเป็นอินทาเนีย แต่ไม่มีใจก็อย่าไปบอกใครว่าเป็นอินทาเนียเลยครับ มันอายเขา จะมาก็เอาใจมาช่วยกันด้วย”

ชวนมองมุมกลับ ปรับมุมมองใหม่เรื่องระดมทุน

“อยากชวนพวกเราคิดเรื่องการหารายได้จากการทำกิจกรรมการกุศลเหมือนกันนะครับ อย่างจัดกอล์ฟ สวจ. จัดเองได้มา 3-4 ล้านบาท ในขณะที่เพื่อนจากสาธิตจุฬาฯ เขาจัดกิจกรรมเหมือนเราเป๊ะเลย ทำไมเขาหาได้ 8-9 ล้านบาท ก็น่าคิดใช่ไหมล่ะครับ ผมไม่อยากให้พี่ ๆ เราเข้าใจผิดคิดว่า สวจ. รวยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเข้ามาช่วยอะไรมากมาย ตรงนี้เลยกลายเป็นจุดบอด จริงอยู่ฟังดูเหมือนเราจะเป็นสมาคมใหญ่ แต่ละคนที่ผ่านตรงนี้ไปก็เป็นบิ๊กเนมทั้งนั้น แต่อยากย้ำว่า จริง ๆ เราไม่มีเงินหรอกนะครับ ใครจะเข้ามาเป็นกรรมการ สวจ. อยากเป็นอย่างเดียวไม่ได้นะครับ อยากให้ต้องขยันออกแรงกันด้วย  ชุดนี้ก็ต้องเรียนตรง ๆ จากใจและอยากจะขอบคุณมาก ๆ ด้วยที่กรรมการช่วยกันออกแรงไปหาเงินมา ถือว่าเก่งมาก เพราะผู้บริจาครายใหญ่ ๆ ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นพี่ ๆ เราเองทั้งนั้น อย่างหอประชุมที่ต้องเปลี่ยนชื่อมาใช้ Hall of INTANIA เพราะมันน่าภูมิใจนะ ว่าเราไม่ได้ขอเงินคนนอกเลย ใครไม่เกี่ยวข้องกับวิศวจุฬาฯ เราไม่ขอเลย จนผู้บริจาครายใหญ่ของประเทศนี้ที่ชอบให้ติดต่อมาถามผมเองว่าสนใจอยากจะให้ ผมต้องขอบคุณเขาและพร้อมตอบปฏิเสธไปว่า โครงการนี้เราสงวนไว้ให้แต่เฉพาะอินทาเนียด้วยกันเท่านั้น ต้องขออภัยด้วย คณะเราเอง ใช้เงินแค่นี้เอง เราขอทำกันเองให้ได้ยังไม่จำเป็นต้องพึ่งเขา ฟังดูเหมือนจะหยิ่งแบบไม่เข้าท่านะ แต่เชื่อผมเถอะว่า สุดท้ายแล้วเราจะภูมิใจ”

ขอเพียงบริสุทธิ์ใจ ได้อะไรมากกว่าที่คิด

“ตอนที่เราจะทาสีตึก 1 ตึก 2 ผู้รับเหมาตีราคาออกมาปรากฏว่าแพงมาก จึงปรึกษาหารือในหมู่กรรมการว่าเช่นนั้นเราให้ทีมพวกพี่ ๆ เรานี่แหละมาทำกันเอง จ่ายกันแต่เฉพาะค่าแรง แล้วเอาวัตถุดิบของพี่ ๆ พวกเรามาใช้เลย ช่วยให้ราคาถูกลงมากกว่าไปจ้างเขาทำได้ถึงครึ่งหนึ่งเลย เรื่องนี้ก็เป็นอุทาหรณ์นะครับว่า เวลาทำงานเพื่อส่วนรวมก็อย่าไปห่วงว่าเราเป็นกรรมการสมาคมแล้วเราจะลงไปรับงานเองไม่ได้ ขอให้ทำด้วยใจบริสุทธิ์เป็นที่ตั้ง ทำไมจะทำไม่ได้ อย่างของราคา 100 บาท ถ้าเราทำกันเองได้ราคา 50 บาท ทำไมเราจะไม่ซื้อล่ะครับ ทำไมเราต้องไปซื้อของแพงเพียงเพราะกลัวคำคนครหา ของพี่เรานี่เชื่อไหมว่าหลายอย่างเลยคุณภาพดีกว่าอีกนะครับ ไม่มีใครกล้าเอาของไม่ดีมาให้คณะหรอกนะ แบบนั้นมันบาปตายเลย (ยิ้ม)”

ทิ้งท้ายถึงอินทาเนีย

“ผมขอฝากนายก สวจ. คนต่อไปไว้ว่า เมื่อไรที่ได้เข้ามาเป็นกรรมการแล้ว แต่ละกิจกรรมต้องเลือกคนที่เขามีใจเข้ามาทำ คนไหนที่ไม่มีใจอย่าเอาเขามา จะเสียโควต้ากรรมการเราที่มีจำกัด เลือกเอาแต่คนทำงานมาเถอะครับ สามัคคีมันคือพลัง ก็ช่วยกันทำงานให้เต็มที่ เราไม่อยากเห็นการทำงานที่ต้องปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องทำงานอยู่คนเดียว ทำแบบ One Man Show อยากฝากถึงน้อง ๆ นิสิตด้วยว่า ในรอบปีที่ผ่านมาถ้าน้อง ๆ เห็นการทำงานของพี่ สวจ. ว่าเราช่วยดูแลคณะขนาดไหน ช่วยน้อง ๆ มากมายหลายเรื่อง ถ้ามีอะไรจะขอให้พี่เขาช่วยก็ขอให้เดินมาบอกพี่เขาโดยตรงว่า ผมอยากจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าพี่เขาฟังแล้วเข้าทีเห็นดีด้วย เขาก็ยอมให้ทำและสนับสนุนกันเต็มที่ แต่ถ้าเขาไม่เห็นด้วยเขาจะชี้แนะให้เองเลย อยากฝากถึงพี่ ๆ ที่ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จแล้วหรือยังไม่ประสบความสำเร็จดั่งใจหวังก็ขอให้กลับมาช่วยคณะได้ทั้งนั้น มาช่วยดูน้อง ๆ เรากันนะครับ กลับมาตอบแทนบุญคุณคณะที่เรารัก หลาย ๆ เรื่อง เราไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน แต่ต้องไม่ทำให้แตกแยก เห็นไม่ตรงกันก็แค่คุยกันเดี๋ยวมันก็จะผ่านไปได้ ผมว่าวิศวจุฬาฯ อย่างไรเราก็ยังเป็นเสาหลักของประเทศอยู่นะครับ  เรามาร่วมกันทำเรื่องดี ๆ ให้แก่สังคม อย่ามองว่าจุฬาฯ มีเงิน อย่ามองว่าวิศวจุฬาฯ เป็นคณะที่มีแต่คนรวย ผมลงมาดูเองแล้ว จริง ๆ สมาคมไม่มีเงินครับ ผมว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เราช่วยคณะพัฒนาได้โดยไม่ต้องรอเงินงบประมาณใด ๆ จากภาครัฐนะครับ เพียงแต่เราเจียดเงินกันออกมาบ้างให้คณะ แค่นั้นเราทำได้สำเร็จไปครึ่งทางแล้วครับ”


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2566 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save