อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน…สัมภาษณ์พิเศษผู้ว่าฯ ชัชชาติ


รายการพูดจาประสาช่าง ซึ่งออกอากาศทางวิทยุจุฬาฯ ระบบ FM ความถี่ 101.5 MHz ออกอากาศประจำทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.30 – 08.55 น. และในทุก ๆ เดือนเราจะมีรายการพิเศษที่จัดโดยทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับกองบรรณาธิการของวารสารอินทาเนีย ซึ่งเราจะเชิญท่านที่อยู่ในวงการช่างและศิษย์เก่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยกันด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจ


รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์

รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15 ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า วันนี้ก็เป็นโอกาสที่พิเศษจริง ๆ ที่เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับท่านผู้ว่าฯ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วศ.26 ซึ่งในวันนี้เรามีประเด็นที่จะพูดคุยกันหลากหลายประเด็นด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัด อันดับแรกเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าหลายท่านให้ความสนใจว่า วิศวกรทำไมได้รับการเลือกตั้งมาได้ง่าย ๆ แต่ที่อยากจะถามก่อนประเด็นแรกคือ ท่านผู้ว่าฯ ใช้หลักการอะไรในการคัดเลือกพื้นที่ลงหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ที่ออกรายการอยู่ในทุก ๆ วันนี้มีหลักการอะไรพิเศษไหมครับที่เลือกลงพื้นที่ตรงนั้น
ท่านผู้ว่าฯ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วศ.26 กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไรมากครับ ตอนที่เราเริ่มทำแคมเปญช่วงนั้นผมรับตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ผ่านมาประมาณ 3 ปีกว่า คิดว่าจังหวะของผู้ว่าฯ กทม. น่าจะต่อเนื่องกันไม่เกินครึ่งปีจึงตัดสินใจที่จะลองดูว่าเป็น Scope ที่เราพอจะทำได้ในฐานะผู้สมัครอิสระไหม และถ้าถามว่าเราจะเลือกลงพื้นที่ตรงไหนซึ่งเป็นคำถามที่ดี ผมว่านโยบายสำคัญของ กทม. มี 3 เรื่องด้วยกันคือ

1. Inclusive การรวมทุกคนเข้าด้วยกัน เราคงเลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ ต้องพยายามลงพื้นที่และพยายามเข้าหาประชาชนให้ได้มากที่สุดไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงเรา หรือคนที่ชอบและไม่ชอบเราเท่านั้น

2. แนวคิดต้องยั่งยืน แนวคิดในการทำต้องยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น Solution หรือคำตอบที่เราให้กับนโยบายต้องไม่นำทรัพยากรของรุ่นอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน

3. Empathy ต้องยุติธรรมและต้องเข้าใจจิตใจของประชาชน

ซึ่ง 3 ข้อหลักนี้คือกรอบนโยบายหลักที่เราเริ่ม เราต้องเข้าใจจิตใจของประชาชนและต้องพยายามเดินหน้าให้เยอะในทุกรูปแบบ ซึ่งเราก็ได้เปรียบเพราะเราลงพื้นที่มานาน เราเข้าใจว่าการเลือกตั้งใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งปีเท่านั้น แต่ความเป็นจริงคือใช้ระยะเวลายาวนานถึง 3 ปี ตรงนี้เลยทำให้เราได้มีโอกาสลงพื้นที่ค่อนข้างเยอะ

เลือกลงพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหาสามารถจะเป็น Prototype ต้นแบบของการพัฒนานโยบายและขยายผลออกไปได้
และเลือกลงพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหามีประชากรจำนวนมาก และตัวอย่างชุมชนแรกที่เราได้ลงพื้นที่ คือ ชุมชนคลองเตย ซึ่งคลองเตยเป็นชุมชนตัวอย่างที่มีปัญหาในเรื่องชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนชุมชนเกือบ 40 ชุมชนแออัด ด้วยจำนวนประชากรหลัก 100,000 คน ซึ่งการลงพื้นที่ตรงนี้เราไม่ได้คาดหวังในเรื่องของคะแนนเสียงแต่เราหวังที่จะเห็นถึงปัญหาและเข้าใจชีวิตของประชาชน และสามารถทำเป็นชุมชนต้นแบบในการแก้ปัญหาไปยังชุมชนอื่น ๆ ของ กทม. ได้

ซึ่งหลังจากที่เราลงพื้นที่ไปก็ได้ผลและโชคดีมาก ๆ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประชาชนในชุมชนคลองเตยคือ “การมีชุมชนที่เข้มแข็ง” เพราะช่วงที่ลงพื้นที่เป็นช่วงสถานการณ์ต่อเนื่องของโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชุมชนคลองเตย แต่จะส่งผลกระทบกับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ 2 ก็ได้ส่งผลกระทบกับชุมชนคลองเตยทั้งหมด ซึ่งปัญหาของชุมชนคลองเตยคือ “ชุมชนจะอยู่รอดได้ต้องมีผู้นำและชุมชนที่เข้มแข็ง อนาคตนโยบายเราต้องการ Empower การกระจายอำนาจให้กับประชาชนทุกคนให้สามารถดูแลกันเองได้ และภาครัฐจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุน ผมเชื่อว่าภาครัฐไม่สามารถดูแลประชาชนทั้งหมดได้เพียงหน่วยงานเดียวได้ เพราะเป็นการแบกปัญหาไว้บนบ่า แต่หากเรานำภาคเอกชนและชุมชนมาเป็นส่วนร่วมของคำตอบ มา Synergy กันทั้งสองฝ่ายก็จะทำได้ดีขึ้น”

“และหลังเลือกตั้งแล้วเลือกลงพื้นที่ชุมชนไหน ตรงนี้น่าสนใจมาก ๆ เพราะผมลงพื้นที่ชุมชนเยอะมากและทุกครั้งที่ลงไปยังชุมชนต่าง ๆ จะมีประชาชนชอบเข้ามาขอถ่ายรูป ผมจึงถามกลับไปว่าถ่ายรูปกับผมทำไม ผมยังไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ เลย และเขาพูดว่าหากอนาคตได้เป็นผู้ว่าฯ ก็ไม่เห็นหน้าแล้วซึ่งเขาพูดแบบนี้ทุกคน ช่วงนี้เป็นช่วงหาเสียงขอคะแนนถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ แล้วก็จะไม่กลับมา”

เพราะฉะนั้นหลังเลือกตั้งแล้วส่วนใหญ่ผมจะเลือกลงพื้นที่ชุมชนที่เราเคยลงพื้นที่ไปก่อนหน้านี้ เข้าไปดูปัญหาของชุมชน และพยายามแก้ปัญหาให้ได้ต่อเนื่อง ตรงนี้ก็สร้างความไว้ใจให้กับประชาชนได้ ซึ่งก่อนและหลังเลือกตั้งเราก็ทำตัวเหมือนเดิมไม่ใช่รับตำแหน่งผู้ว่าฯ แล้วจะหายไป ซึ่งผมจะลงพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหาก่อน ยกตัวอย่างเช่นปัญหาน้ำท่วมที่ชุมชนห้วยขวาง ลาดพร้าว ที่ประชาชนได้ร้องเรียนเข้ามา เราได้นำปัญหาตรงนี้เป็น Prototype พอเกิดปัญหาก็แก้ได้และขยายผลต่อไปได้ เราเลือกลงพื้นที่ที่เคยมีปัญหามาก่อนและเกิดปัญหาซ้ำ ๆ และต้องการคำตอบเร็ว ๆ ซึ่งเราได้ลงมือทำในรูปแบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง

รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15 กล่าวว่า ถ้าบอกว่าการลงพื้นที่ชุมชนทำให้เราสามารถที่จะพัฒนานโยบายได้ใช่ไหมครับ

คีย์หลักของนโยบายคือ Empathy ต้องเข้าใจจิตใจของประชาชน

ท่านผู้ว่าฯ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วศ.26 กล่าวว่า ถูกต้องแล้วครับ คีย์ของนโยบายคือ Empathy ด้วยหลักการคิดแบบ Design Thinking ถ้าเราทำเรื่อง Innovation หัวใจแรกคือต้องเข้าใจว่าประชาชนอยู่อย่างไร รู้สึกอย่างไร บางเรื่องถ้าเราไม่ลงพื้นที่ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าปัญหาของประชาชนคืออะไร จากนั้นก็ค่อย ๆ ดีไซน์ปัญหาออกมา และหาวิธีการแก้ไข ซึ่งหลาย ๆ ครั้งที่เรามีคำตอบอยู่แล้วเราก็จะไม่เข้าใจจิตใจของประชาชนซึ่งตรงนี้อันตรายมาก เพราะบางครั้งเราจะหลงรักคำตอบแรกเสมอ เราคิดว่าวิธีการแก้ปัญหาประชาชนที่ฐานะยากจนในเมือง คือการให้เงิน หากวันนี้คือคำตอบแรกประชาชนอาจจะไม่ต้องการเงินแต่ต้องการโอกาส ความเข้มแข็ง อาจจะต้องการนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ยืนด้วยขาของตัวเองได้มากกว่าการให้เงิน แต่หากจะให้เงินให้ทำครัวกลาง ทำสวน ทำอาชีพ ประชาชนอาจจะเข้มแข็งกว่า

การลงพื้นที่ทำให้เข้าใจถึงปัญหาของประชาชนมากขึ้น

การลงพื้นที่ชุมชนนั้นสำคัญมากในจุดแรกของการคิดคำตอบที่จะตอบปัญหาประชาชนได้จริง ๆ ตามหลักการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งจะมีทั้งหมด 5 ขั้นตอนด้วยกัน คือ 1. Empathize – เข้าใจปัญหา 2. Define – กำหนดปัญหาให้ชัดเจน 3. Ideate – ระดมความคิด 4. Prototype – สร้างต้นแบบที่เลือก 5. Test – ทดสอบ ซึ่งบางครั้งเราเลือกที่จะข้ามไปขั้นตอนที่ 3 คิดคำตอบและได้วิธีการแก้ปัญหาเลย จึงทำให้ดีไซน์ปัญหาผิด และอาจจะเป็นปัญหาที่ประชาชนไม่ได้เผชิญอยู่ เช่น ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ คือ เรื่องรถติด เราไปโฟกัสกับการแก้ไขให้รถวิ่งเร็วขึ้น ซึ่งหัวใจในการแก้ปัญหาคือ Mobility ความคล่องตัว อาจจะต้องใช้บริการรถไฟฟ้าหรือปั่นจักรยานแทน ไม่ต้องไปโฟกัสที่รถติด ดูทางเลือกอื่น ๆ ที่ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น หากเราดูนโยบายในเมืองคงไม่มีใครพูดถึง รถติด แต่อาจจพูดถึง Mobility ความคล่องตัวแทน เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่ก็ทำให้เห็นปัญหาเยอะขึ้น

รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15 กล่าวว่า เกิดนโยบายเยอะมาก 214 นโยบาย มีหลายท่านพูดว่าทำไมไม่ทำ 227 นโยบายไปเลย (ปัจจุบันเกือบ 300 นโยบาย) มาถึงคำถามต่อไปนโยบายมากมายขนาดนี้คงทำไม่เสร็จภายในระยะเวลา 4 ปี แล้วอยากถามว่า TOP 3 ของนโยบาย คืออะไร

รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ท่านผู้ว่าฯ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วศ.26 กล่าวว่า ผมขออธิบายก่อนว่า 200 กว่าปัญหามาจากไหน จริง ๆ แล้วหากเราพูดถึง Strategy คำว่ายุทธศาสตร์จริง ๆ แล้วเป็นคำที่พูดกันค่อนข้างเยอะแต่ถ้าถามว่ามีใครเข้าใจไหมว่ายุทธศาสตร์แท้จริงคืออะไร หลาย ๆ ท่านอาจเข้าใจว่าเป็นคำที่สวยหรู และคำว่ายุทธศาสตร์ในกรุงเทพฯ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ หรือเรียกว่า เป็นสโลแกนของคำว่ายุทธศาสตร์แต่ไม่มี Action Plan มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Good Strategy Bad Strategy เขาบอก Strategy ทำ 3 เรื่อง คือ Diagnosis ต้องวิเคราะห์และหาสาเหตุก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ต่อมาต้องมี Guiding Policy จากนั้นค่อยมี Action Plan และขึ้นเป็นแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกัน (Coherent) ที่ผ่านมาเราคิดยุทธศาสตร์เป็นแค่ Guiding Policy ซึ่งไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้

Vision คือ อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ซึ่งจุดเริ่มต้นที่เราทำมาจากการวิเคราะห์ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่เราจึงมี Vision คือ “อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่” มี 9 ได้ 9 ดี เป็น Guiding Policy ซึ่งนำต้นแบบมาจาก Economist Intelligence Unit (EIU) มี Action Plan กรุงเทพฯ ที่มีทั้งหมด 50 เขต โดยแต่ละเขตจะความต้องการจะเหมือนกัน เช่น หนองจอก ลาดกระบัง ประชาชนเขตนั้นจะไม่ค่อยสนใจรถไฟฟ้า แต่ขอเพียงแค่ทางเดินเพิ่ม 1 เมตร เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สามารถปั่นจักรยานไปโรงเรียนได้ ซึ่ง Action Plan ตรงนี้จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ตรงนี้ได้ ซึ่ง 216 นโยบายของเราคือเรื่องสำคัญที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ และข้อดีที่ไม่น่าเชื่อคือ หลังจากที่ผลการเลือกตั้งออกแล้วแต่ กกต. ยังไม่ประกาศผลซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 1 อาทิตย์ Action Plan ของเรา 216 ข้อ ซึ่งตอนแรกมีเพียง 214 ข้อที่อยู่บนเว็บไซต์ เจ้าหน้าที่ กทม. นำไปดำเนินการแล้วเพราะเรามี Action Plan ที่ชัดเจน Strategy สามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องรอ พอเราเข้ามาทุกอย่างเดินหน้าได้เต็มที่ และผมมองว่าทุกเรื่องสำคัญ แต่จะเป็น Priority ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน Action Plan ของเรา 216 ข้อ ต้องดำเนินการอย่างเต็มที่และแจ้งความคืบหน้าให้กับประชาชน

ได้ทราบว่าในแต่ละเรื่องว่าได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนแล้วและเรื่องแรกที่ต้องลงมือทำก่อน คือ เรื่องกลุ่มของความโปร่งใส กลุ่มของ Open Data กลุ่มที่ไม่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ สามารถเริ่มได้เลยเพราะไม่ต้องทำงบประมาณ กลุ่มลองลงมาที่ต้องใช้งบประมาณต้องรองบประมาณปีของหน้า แต่ตอนนี้เราสามรถไดร์ฟด้วยการตั้งการศึกษา ผมมองว่าทุกโครงการสำคัญ และข้อดี คือ ปัจจุบันเรามีระบบ Digital ซึ่งไม่เหมือนแต่ก่อนที่เป็นระบบ Analog ที่เราสามารถมีนโยบายได้ไม่เยอะและอาจจะเลือกเฉพาะนโยบายที่ตอบโจทย์คนจำนวนมาก พอมีระบบ Digital ในปัจจุบันนี้เราสามารถนำนโยบายจำนวนมากขึ้นบน Platform ได้เลย ซึ่งนโยบายแต่ละคนจะสามารถตอบโจทย์กลุ่มย่อยได้หลากหลายกลุ่ม เพราะฉะนั้น 216 นโยบายตอบโจทย์คนในแต่ละกลุ่มได้เยอะ และผมว่านโยบายย่อย ๆ รวมแล้วไม่น้อยกว่านโยบายหลัก 4-5 ข้อ “อนาคตการเมืองจะเปลี่ยนไปประชาชนจะต้องการนโยบายที่ละเอียดและสามารถตอบโจทย์ได้เยอะขึ้น เพราะ Digital จะนำนโยบายกี่พันข้อใส่ลงไปก็ได้”

Platform Traffy Fondue ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งและแก้ปัญหาเมืองได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ
ผมขอยกตัวอย่างที่ Amazing มาก ๆ คือ Platform Traffy Fondue ผมต้องขออธิบายว่าในสมัยก่อนระบบราชการหรือ ระบบธุรกิจในบ้านเราเป็นระบบท่อ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนอาจารย์ก็ร้องเรียนกับผู้ว่าฯ ผู้ว่าต้องสั่งการรองผู้ว่าฯ ซึ่งมีท่อที่เชื่อมโยงอยู่ ปัญหาที่ต้องการแก้ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานถึง 2 เดือน การค้าก็เหมือนกันเป็นระบบท่อ แต่ระบบธุรกิจนั้นเปลี่ยนไปก่อนหน้านั้นแล้วจากระบบท่อเป็น Platform ถ้าอาจารย์มี Demand ก็สามารถใส่ลงไปใน Platform ได้เลยใครเห็น Demand อาจารย์ก็สามารถ Service ได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ใครสั่งการ ซึ่งราชการเราเปลี่ยนเป็นระบบ Platform Traffy Fondue คือ ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแจ้งและแก้ปัญหาของเมืองได้ ให้ประชาชนแจ้งเหตุโดยการถ่ายรูป แจ้งปัญหา ระบุตำแหน่งลงใน Platform ได้เลย ซึ่งเจ้าของปัญหาเห็นก็สามารถแก้ไขได้เลยโดยไม่ต้องมีท่อที่ให้ผู้ว่าฯ คอยสั่ง หากเรื่องไหนที่ค้างอยู่ในระบบเราก็สามารถเห็นได้เลยว่าค้างกี่วัน และทำไมยังไม่ดำเนินการ ตรงนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่ Amazing มาก ๆ เพราะไม่ต้องใช้งบประมาณเลยเพราะ Platform นี้สร้างฟรีโดย กสทช. ในวันแรกที่เปิดให้ใช้บริการมีประชาชนแจ้งเหตุมามากถึง 20,000 ราย เราก็ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ ตัวอย่างเมื่อเช้ามีประชาชนแจ้งเหตุมามากถึง 90,000 กว่ารายและดำเนินการเสร็จแล้ว 40,000 กว่าราย โดยที่ผมไม่ต้องสั่งการแม้กระทั่งคำสั่งเดียว ทุกเขตเมื่อเห็นเรื่องที่ประชาชนแจ้งเข้ามาเขาก็จะมีการจัดตั้งหน่วยงานคอยดูและดำเนินการแก้ไข และงบประมาณในการซ่อมแซมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะว่ามีอยู่แล้วและใช้ระยะเวลาในการทำที่สั้นลงจาก 2 เดือน เหลือเพียง 1 วันเท่านั้น ผมมองว่านี่คือการเปลี่ยนรูปแบบวิธีคิดโดยไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม ซึ่งก็เป็นตัวหนึ่งที่เราหาแนวร่วมมาช่วย

รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15 กล่าวว่า ประเด็นและเรื่องของนโยบายก็เยอะมากมายเรามาพูดถึงปัญหาน้ำท่วมกันต่อว่ามีวิธีแก้และป้องกันอย่างไร

ท่านผู้ว่าฯ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วศ.26 กล่าวว่า น้ำในกรุงเทพฯ จะมาจาก 4 ช่องทางที่เป็นปัญหา

1. น้ำเหนือ คือ น้ำที่ปล่อยมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือซึ่งปล่อยมาจากเขื่อนต่าง ๆ ที่กักน้ำอยู่

2. น้ำทุ่ง คือ น้ำที่ปล่อยมาจากทุ่งไม่ว่าจะเป็นทุ่งรังสิต ทุ่งเจ้าเจ็ด ซึ่งก็อาจจะมาทางทุ่งได้

3. น้ำฝน คือ น้ำฝนที่ตกในพื้นที่ซึ่งตัวนี้จะหนักเพราะว่าเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ฝนก็จะตกหนักเป็นช่วง ๆ

4. น้ำทะเลหนุน คือ น้ำเจ้าพระยาขึ้น เพราะ น้ำทะเลหนุน

เพราะฉะนั้นต้องแก้ทั้งหมด 4 ข้อนี้ ผมขอยกตัวอย่างน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนต้องแก้ด้วยวิธีการทำคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตอนนี้ได้มีการปรับคันกั้นน้ำขึ้นมาประมาณ 3 เมตรแล้ว แต่ยังมีบางช่วงที่ไม่ได้ทำเพราะเป็นทางขึ้นบ้านของประชาชนและบริเวณท่าเรือ ก็จะเห็นว่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำจะท่วมเสมอเวลาเกิดเหตุการณ์น้ำทะเลหนุน ส่วนน้ำทุ่งก็ต้องทำคันกั้นน้ำเช่นกันซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการทำไปแล้วบริเวณแนวคลองรังสิตไปออกท่าจีนต่อเนื่องจากคันกั้นน้ำแนวราชดำริก็ดีขึ้น ซึ่งข้อที่หนักก็คือ น้ำฝน ซึ่งถ้าฝนตกในพื้นที่ น้ำจะระบายออกทางท่อระบายน้ำลงสู่คลองและแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำเจ้าพระยาคือด่านสุดท้ายที่ต้องรองรับน้ำ ซึ่งผมมองว่าถ้าเรามีท่อ คลอง ปั๊มน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำที่ดี จะทำให้น้ำสามารถระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านเราได้ลงทุนกับระบบอุโมงค์ระบายน้ำไปหลายหมื่นล้าน ตอนนี้อุโมงค์ที่สร้างสำเร็จก็มีไม่เยอะประมาณ 20 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งในกรุงเทพฯ ต้องการระบายน้ำอยู่ที่ 2,600 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งคิดเฉลี่ยออกมาแล้วแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชน ตอนนี้สำหรับเส้นเลือดใหญ่เรามีอุโมงค์ระบายน้ำ มีคลอง มีแม่น้ำ ที่สามารถรองรับน้ำได้ค่อนข้างดีแล้ว ผมมองว่าทิศทางตอนนี้ต้องใช้วิธีทะลวงเส้นเลือดฝอย คือ น้ำจากบ้านเราไม่สามารถระบายไปสู่เส้นเลือดใหญ่ได้เนื่องจากเราไม่ได้ขุดลอกคลองมานาน ครั้งที่แล้วผมได้นำผู้ต้องขังมาช่วยลอกท่อซึ่งได้ผลมาก ๆ จะเห็นได้ว่าเขตไหนที่เราดำเนินการไปแล้ว ท่อน้ำจะระบายได้ดีขึ้นทันที เช่น ตลาดห้วยขวางน้ำท่วมหลาย 10 เซ็นติเมตร เพราะร้านค้าทิ้งไขมันลงในท่อ และหลังจากที่ทำการลอกท่อแล้วน้ำก็จะสามารถระบายจากเส้นเลือดฝอยไปสู่เส้นเลือดใหญ่ได้ดีขึ้น

รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15 กล่าวว่า สุดท้ายมีอะไรที่อยากจะฝากให้กับวิศวกรปัจจุบันและรุ่นน้อง ๆ ทั้งหลายให้มาช่วยเป็นผู้ว่าท่านต่อไปไหมครับ

ท่านผู้ว่าฯ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วศ.26 กล่าวว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาเป็นเวลาที่สนุกครับอาจารย์ จริง ๆ แล้วผมมองว่าการบริหารกรุงเทพฯ ผมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมาจากความร่วมมือ ร่วมใจ ของทุกคน ซึ่งมาจากภาครัฐเพียงแค่ 20% เท่านั้น ยกตัวอย่างโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นในช่วงที่ผมทำช่วงแรกมีแต่ประชาชนต่อว่า ๆ ทำไม่ได้ไม่สามารถปลูกได้หลักล้านต้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ผ่านมา 5 สัปดาห์มีประชาชนร่วมปลูกต้นไม้มาแล้ว 1 ล้าน 6 แสน ต้น โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ทุกครั้งที่มีคนบอกว่าอาจารย์ฝากกรุงเทพฯ ด้วยครับ ผมจึงบอกว่าอย่าฝากแต่อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน ผมมองว่าเราต้องช่วยกันและเดินหน้าไปด้วยกัน อยากให้ทุกคนดูแลพื้นที่ของตัวเองให้ดี ยกตัวอย่างวินมอเตอร์ไซค์เรามีประมาณ 5,000 แห่ง ทุกวินจะมีไม้กวาดประจำวินอยู่แล้ว และเราขอให้วินช่วยกวาดพื้นที่ในรัศมีของเขาให้เรียบร้อย และ 5,000 วินต่อเนื่องกันก็เป็นจิ๊กซอว์ก็สามารถช่วยลดภาระได้ หลักการคือ การช่วยกันในบริบทของตัวเอง ทุกคนสามารถทำให้เมืองดีขึ้นได้โดยไม่ต้องมองไปไกลแค่ดูแลพนักงานในบริษัท ดูแลพื้นที่ชุมชนโดยรอบข้าง ถ้าเป็นไปได้ดูแลโรงเรียนและชุมชนใกล้ ๆ ได้ไหม ซึ่งพวกเขาคือแหล่งงานของเรา ทั้งแม่บ้าน รปภ.

แล้วเราจะเดินหน้าไปด้วยกันได้ “อย่าหวังว่า กทม. จะแก้ปัญหาให้เรา เราต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ ถ้าพวกเราร่วมมือกันเหมือนช่วงที่ผ่านมาเมืองจะดีขึ้นและผมว่าเมืองเราไม่แพ้เมืองไหนในโลก กรุงเทพฯ มีสิ่งดี ๆ มากมายที่สวยงาม ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะวิศวกรแต่อยากให้ประชาชนทุกคนให้ช่วยกัน”


รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15 กล่าวว่า ขอบพระคุณครับสำหรับเนื้อหาสาระมากมายในวันนี้ และขอขอบพระคุณรายการพูดจาประสาช่างซึ่งต้องยุติลงเพียงเท่านี้แล้วพบกันใหม่ในคราวหน้า และพบกับท่านผู้ว่าในคราวต่อ ๆ ไปอย่างแน่นอน สวัสดีครับ…


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save