ตรอกบ้านจีนชุมชนโบราณเมืองตาก (2)

ตรอกบ้านจีนชุมชนโบราณเมืองตาก (2)


เรามารู้จักต้นตระกูลไทยและจีนในแต่ละครอบครัว ที่มาค้าขายโดยอาศัยสายนํ้าแม่ปิงเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก…

เดือนที่แล้วพี่สาวผมพบ คุณยายเกษร พุดตาลดง โดยบังเอิญ ท่านเป็นคนเก่าแก่รุ่นสุดท้ายในตรอกบ้านจีน เกิด โตและพักอาศัยอยู่มาทั้งชีวิต บั้นปลายทำหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุดจังหวัดตาก คุณยายใจดีกรุณามอบสำเนาบันทึกที่เขียนไว้ว่า บริเวณตรอกระแหงนี้ มีชาวจีนมาค้าขายกับพ่อค้าต่างจังหวัด โดยใช้เรือถ่อ เรือยนต์ขนสินค้าจากเมืองหลวงในลำนํ้าปิงมาขึ้นที่ท่าเรือ 2 ท่าคือท่าปากคลองน้อย ซึ่งมีร่องนํ้าจากหนองนํ้ามณีบรรพต ผ่านโรงเรียนตากพิทยาคม ผ่านซอยตากสิน 21 และ 23 มีสะพานสูงข้ามคลอง เรียกว่าสะพานทอง เพราะมีผู้ทำการค้าเรือโกลน ขณะนั้นคือนายมาและนางทอง (ต้นสกุลทองมา) สร้างให้ข้ามคลองเพื่อให้ชาวบ้านใช้จับซุงไม้ที่ลอยตามนํ้ามาทำแพ ทำท่าเรือสมัยก่อนแพชาวบ้านจะใช้เป็นที่อาบนํ้า ซักผ้า ตักนํ้า ส่วนท่าเรืออีกท่าหนึ่งอยู่ด้านเหนือขึ้นไป ชื่อท่าหลวง ท่านให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ชุมชนชาวจีนทั่วไปมักอยู่เรือนแถวหรืออาคารติดกัน เพื่อเอื้อต่อการทำการค้าขายกัน แต่ที่จังหวัดตากกลับแยกกันอยู่อิสระเป็นหลัง ๆ ในเรือนทรงไทย เป็นวิถีความเป็นอยู่แบบจีนที่หาดูยากมากในเมืองไทย อาจเป็นเพียงหนึ่งเดียวในสยาม

ห้วงเวลาเดียวกันก็เสาะหาเจอบันทึกของ ศ. นพ.เฉลี่ย วัชรพุกก์ เขียนถึงชีวิตในวัยเด็กที่เมืองตาก เมื่อ พ.ศ. 2529 น่าสนใจมาก ลองอ่านส่วนหนึ่งกันครับ…

หลังสร้างเขื่อนภูมิพล แม่นํ้าปิงที่ตากตื้นขึ้นมาก นํ้าไม่แรงเท่าเก่า ลำนํ้าแยกเป็นสายเล็ก ๆ หลายสาย ทรายก็กลายเป็นทรายสกปรก ไม่มีนํ้าท่วมยามหน้านํ้า ไม่มีการล่องแพจากทางเหนืออีกต่อไป เป็นที่น่าเสียดายสำหรับผู้ที่เคยได้เห็นแม่นํ้าปิง กว้าง นํ้าไหลแรง มีทรายสะอาดขาว มีปลามากมาย ไม่กี่ปีต่อมาทางการดูดทรายมาถมตลิ่งทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่ท่าแคถึงหนองหลวง บีบให้แม่นํ้าปิงแคบให้พอเหมาะกับนํ้าที่ปล่อยลงมาจากเขื่อน แม่นํ้าเดิมกว้าง 1 กิโลเมตร เหลือกว้างเพียง 200 เมตร เกาะอีจอนถูกทำลายราบ ไม่มีใครเห็นนากอีกเลย อาจอพยพไปที่อื่นหรือตายหมดแล้วก็ได้ บ้านคุณแม่เคยอยู่ริมนํ้า บัดนี้ต้องเดินผ่านถนน 2 สายและตลาดสดถึงจะไปถึงฝั่งแม่นํ้าปิงได้

ตรอกบ้านจีนชุมชนโบราณเมืองตาก

ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิด พ.ศ. 2459 จนถึง พ.ศ. 2473 เมืองตากไม่มีนํ้าแข็ง ไม่มีรถยนต์ ยิ่งรถไฟแล้วนึกภาพไม่ออก มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้ 7-8 ขวบ เกิดพายุฝน มีก้อนนํ้าแข็งโตประมาณหัวแม่มือ ตกลงมาบนหลังคา เสียงดังลั่น ออกไปดูเห็นเป็นก้อนใส ๆ เลยลองจับเข้าปาก ความรู้สึกว่ามันร้อนจนต้องรีบคายออก เนื่องจากข้าพเจ้าไม่รู้จักนํ้าแข็งเลย เรื่องรถยนต์เหมือนกัน ราว พ.ศ. 2473 มีรถโดยสารขนาดกลางของอเมริกัน (อินเตอร์เนชั่นแนล) หลังคาเป็นผ้าใบ มีที่นั่งสองแถว แล่นมาจากสุโขทัย ใช้เวลาเดินทางถึง 12 ชั่วโมง ระยะทางราว 80 กิโลเมตร เพราะไม่มีถนน ต้องใช้ทางเกวียนคดเคี้ยวไปมา บางที่ก็ต้องลงไปในคลองใหญ่ กว่าจะลากจูง.17ขึ้นมาได้ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ออกจากตากเช้า ไปถึงสุโขทัยก็คํ่าแล้ว บางครั้งต้องนอนระหว่างทางเพราะรถติดหล่ม ผู้โดยสารต้องลงช่วยกันเข็นรถเป็นระยะ รถกระดอนขึ้นลงตลอดเวลา ทางแคบ มีกิ่งไม้ระไปตามข้างรถ เวลานั่งต้องคอยระวังกิ่งไม้จะทิ่มเอา ครั้งหนึ่งคุณพ่อนั่งรถไปส่งข้าพเจ้าที่สุโขทัย โดนกิ่งไม้ดีดเอาที่หน้า เป็นแผลจนเลือดไหล จำไม่ได้ว่าค่าโดยสารเท่าใด วันแรกที่รถยนต์เข้าเมืองตาก คนแตกตื่นมาลองนั่งกันระหว่างท่าแคไปตลาด คุณแม่ก็ทดลองนั่งกับเขาเหมือนกัน ภายหลังเมื่อรถยนต์เข้าถึงตากได้สมํ่าเสมอ ตลาดอำเภอเมืองเจริญขึ้น มีสินค้าพวกผลไม้ ผัก ปลา จากสุโขทัยมาขาย และมีสิ่งแปลกใหม่ เช่น นํ้าแข็งและไอติมหลอดมาด้วย พ่อค้าแม่ค้าทางใต้ เช่น วังหิน ท่าแค แทนที่จะหาบของเดินมาเช่นเคย ก็ขนสินค้า ผัก ผลไม้ ขึ้นรถยนต์มาลงตลาดโดยตรงเพราะสะดวกมาก ความเจริญแบบนี้ทำให้ถนนสายหน้าบ้านคุณแม่ที่เคยคึกคักค่อย ๆ ซบเซาลง

ตรอกบ้านจีนชุมชนโบราณเมืองตาก

ข้อมูลของบ้านแต่ละหลังในเว็บตรอกบ้านจีนตากขยายความว่าบ้านตระกูลวัชรพุกก์ สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2459 เดิมเป็นเรือนของขุนวัชรพุกก์ศึกษากร (แปลก วัชรพุกก์) อดีตธรรมการเมืองตาก และนางบุญมี (โปสพันธ์) วัชรพุกก์ บิดามารดาของ ศ. นพ.เฉลี่ย วัชรพุกก์ และนายเฉลียว วัชรพุกก์ อดีตอธิบดีกรมทางหลวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ก่อนเรือนหลังนี้ปลูกอยู่ริมแม่นํ้าปิง เพื่อประกอบกิจการค้าขายเกี่ยวกับเครื่องอัฐบริขาร อุปกรณ์บวชพระ เครื่องเขียน แบบเรียนต่าง ๆ จึงทำให้เรือนหลังนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเรือนแถวค้าขาย 2 ชั้น โดยที่ด้านหน้าติดกับถนนตรอกบ้านจีน ประตูจึงถูกออกแบบเป็นบานเฟี้ยมที่สามารถเปิดได้โดยตลอดแนวเพื่อใช้ในการค้าขาย พบปะผู้คนได้อย่างสะดวก ส่วนภายในบ้านถัดไปจะเป็นส่วนที่อยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัว และด้านหลังเป็นบริเวณของครัวที่ยื่นลงไปในแม่นํ้าปิง วิถีชีวิตของตระกูลวัชรพุกก์ จึงผูกพันกับแม่นํ้าปิง นอกจากนี้ ยังมีการรักษาซุ้มประตูเพื่อเข้าสู่ส่วนด้านในบ้านโดยไม่ต้องผ่านส่วนค้าขาย ปัจจุบันเรือนหลังนี้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นของลูกหลานตระกูลวัชรพุกก์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ให้เป็นสมบัติคู่ตรอกบ้านจีน มีการปรับปรุงและซ่อมแซมเรือนหลังนี้สืบต่อมา

เพื่อนสนิทของผม อาจารย์รสสุคนธ์ มีศรี ส่งหนังสือสายสัมพันธ์ชุมชนโบราณบ้านจีน จัดพิมพ์โดย อบจ.ตาก มาให้พลิกอ่านอย่างสนุกตื่นตาตื่นใจ เพราะได้ต้นกำเนิดที่มาของชุมชนตรอกบ้านจีน เขียนเรียบเรียงใหม่ ผนวกกับคำบอกเล่าของลูก ๆ หลาน ๆ ของปู่ย่าตายายหลายบ้านในตรอก จนมาเล่าสู่กันฟังว่า…

ตรอกบ้านจีนชุมชนโบราณเมืองตาก
ถ่ายที่หน้าบ้าน เมื่อศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลี่ย วัชรพุกก์ เป็นนิสิตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

…ชาวจีนแกนนำของชุมชนตรอกบ้านจีนที่ก่อร่างสร้างกิจการสร้างความรุ่งเรืองให้ชุมชนเเละกลายเป็นต้นตระกูลคนไทยในเวลาต่อมา เเยกได้เป็น 3 สาย ดังนี้คือ

  1. นายทองอยู่ หลวงบริรักษ์ประชากร อาชีพค้าไม้ รับซื้อของป่าและทำเรือโกลน ใช้ชื่อการค้าว่า มุ่ยเซ่ง แปลว่า สวยและสำเร็จ มีลูกหลานคือ
  2. นายทองอยู่ >นายตังกวย >นายสมจิตร โสภโณดร
  3. นายเต็ง หลวงอุดรภัณฑ์พานิช นายอากรบ่อนเบี้ย จัดเก็บภาษีอากร
  4. นายบุญเย็น หลวงจิตรจำนงวานิชนาม หัวหน้าชุมชนต่อมาย้ายไปเชียงใหม่ เดิมเป็นปลัดฝ่ายจีนเมืองตาก
  5. คนนี้ร่วมกันทำธุรกิจ “บริษัทกิมเซ่งหลี” จาก 3 แซ่ กิม, เซ่ง, หลี ได้สิทธิ์ผูกขาดจัดเก็บภาษีอากร ฝิ่น สุรา บ่อนเบี้ย และหวย ในจังหวัดเชียงใหม่ และค้าขายลงมาถึงตาก นครสวรรค์ แบ่งหน้าที่กันทำมาหากินคือ
    • อากรเต็ง ดูแลที่ กทม. มีโรงจักรเลื่อยไม้ โรงสีไฟ อู่เรือ
    • บุญเย็น ดูแลกิจการที่เชียงใหม่
    • ทองอยู่ ดูแลกิจการที่ตาก

ต่อมาได้ไปร่วมก่อตั้งแบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) 10% ด้วยทุน 314,000 บาท จากทุน 3 ล้านบาท ทั้ง 3 ครอบครัวได้ใช้นามสกุล โสภโณดร ที่มาจากคำว่าโสภณและ อุดร แปลว่า ทิศเหนือที่งดงาม เป็นต้นตระกูลร่วมกัน ต่อมาทั้ง 3 ท่าน ในยุคปลายรัชกาลที่ 5 ส่งธุรกิจต่อให้แก่รุ่นลูกหลานการผูกขาดจัดเก็บภาษีฝิ่น อากรสุรา บ่อนเบี้ย หวย ก.ข. สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2450 รัฐเริ่มเข้ามาจัดเก็บภาษีอากรสุรา และพ.ศ. 2460 ประกาศยกเลิกหวย ก.ข. และการพนันบ่อนเบี้ย ทำให้ธุรกิจการค้าขาดทุน เริ่มลดบทบาท จนเลิกกิจการไปในสมัยรัชกาลที่ 7

ตระกูลวัชรพุกก์ ตรอกบ้านจีน
ตระกูลวัชรพุกก์ ถ่ายรูปพี่น้องลูกหลานที่บ้านขุนวัชน์ในตรอกบ้านจีนภาพแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 ที่ระเบียงหลังบ้านริมแม่นํ้าปิง

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายครอบครัวที่คุ้นชื่อคุ้นหูทั้งในเมืองตากและสังคมทั่วไป บางท่านรับราชการ ก้าวหน้าไปถึงระดับรัฐมนตรี อธิบดี ที่สามารถจดจำกันได้ มีดังนี้

  1. นายหมัง สายชุ่มอินทร์ ผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดตาก เมื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
  2. นายทอง นางมา ต้นสกุล ทองมา ค้าขายเรือโกลน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องนอน และทอง เป็นปู่ย่าของท่าน ดร.เชาว์ ทองมา อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข เหลนในสายสกุลทองมาเล่าให้ฟังว่า ตระกูลของเขามาจากตรอกนี้ เป็นร้านขายทอง หลังร้านเป็นอู่ต่อเรือ จากปากต่อปากเล่าต่อกันมาว่า หลังจากไปช่วยพระเจ้าตากกู้บ้านกู้เมืองได้แล้ว ไม่รับยศฐาบรรดาศักดิ์อะไร ขอกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน มาทำมาค้าขายเหมือนเดิม…
  3. บ้านขุนวัชรพุกก์ ท่านรับราชการกระทรวงธรรมการ นางบุญมีภรรยาค้าขายเครื่องอัฐบริขารและแบบเรียน ท่านเป็นพ่อแม่ของ ศ. นพ.เฉลี่ยและอธิบดีเฉลียว วัชรพุกก์
  4. เทียม ไชยนันทน์ รมต.กระทรวงยุติธรรม และ เทอดพงศ์ ไชยนันทน์ อดีต สส.ตาก
  5. นายต่วน นางเตี้ยม คอวนิช ขายของชำและฟั่นเทียน บิดามารดาของคุณสุจิต คอวนิช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2529)
  6. นายริด นางทองคำ บรรพบุรุษของ ศ. นพ.ชุด อยู่สวัสดิ์ ค้าขายทองและสังฆภัณฑ์
  7. นายง้วน นางกิมหวล โปสพันธ์ ค้าขายเครื่องนอน
  8. นายเฟ้อ นางเพี้ยน บุญอินทร์ ขายก๋วยเตี๋ยวและข้าวต้ม
  9. นายจันทร์ สุประกอบ ขายยาสมุนไพร
  10. ก๋งรวย ค้าไม้ซุง กับคุณยายถมยา แซ่ตั้ง ทำเต้าเจี้ยวและเครื่องอัฐบริขาร ต้นตระกูลนิธิสมบัติ

มีหลายตระกูลที่ไม่สามารถเขียนถึงได้ครบทั้งชุมชนได้ เช่น ตระกูลบัวเกตุ วงศ์เสรี บุรีรัตน์ สุวรรณเพ็ญ บรรพบุรุษของแต่ละครอบครัวประกอบอาชีพหลากหลายเช่นเดียวกับคนค้าขายในตลาดทั่วไป มีค้าขายปลีก ค้าส่งให้แก่พม่า ขายขนม ขายอาหารเครื่องดื่ม เครื่องนอน เสื้อผ้า ผ้าดิบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทอง ทองรูปพรรณ มีด ขวาน จอบ หม้อ ไห กระทะ ธูปเทียน นํ้าอบ เหล็ก อุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องเขียน แบบเรียน เครื่องยาสมุนไพร ของชำ สำนักงานทนายความ สังฆภัณฑ์ และเต้าเจี้ยว อาหารพื้นเมืองแท้ ๆ ของคนตาก

มีประวัติเพิ่มเติมว่า พ.ศ. 2435 ร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดนํ้าหัก ใน พ.ศ. 2448 ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 6 เป็นวัดสีตลาราม วัดนี้เป็นธรรมยุตนิกาย

หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่า จังหวัดตากมีที่เที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมนี้ด้วย ขอแนะนำให้ออกเดินเที่ยวสำรวจร่องรอยย่านการค้าในอดีตที่ยังสามารถพบเห็นได้เด่นชัดในบางหลัง ประปรายในบางเรือน พอมองออกว่าเป็นสภาพร้านค้า สำนักงาน อาจารย์รสสุคนธ์ชี้ภาพถ่ายที่เป็นปกในตอนที่ 1 ว่า บ้านหลังนี้ เธอเติบโต อาศัยอยู่ในวัยเด็กกับคุณชวดมิ้ม โสภโณดร และคุณยายบุญทิน วงษ์เสรี ตั้งใจอยากจะซ่อมแซมเพื่ออนุรักษ์บ้านเก่าที่ถูกปิด ไม่มีใครมาอยู่อาศัยแล้ว ลองให้ช่างไม้ฝีมือท้องถิ่นประเมินค่าซ่อมประมาณ 3 ล้านบาท เลยต้องยกเลิกโครงการไปก่อน ประกอบกับพี่ ๆ น้อง ๆ ไปทำงานที่อื่นแล้ว และคนรุ่นใหม่ก็ไม่มีใครชอบอยู่บ้านเรือนโบราณ สภาพปัจจุบันค่อนข้างชำรุดมาก และภายในยังมีของโบราณสะสมอีกหลายชิ้นมาก นี่คืออีกหนึ่งปัญหาระดับชาติไทยในการอนุรักษ์อาคารบ้านเรือนโบราณ ที่ญาติพี่น้องของทุกหลังอยากทำนุบำรุง ดูแลเก็บรักษาไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม สมบัติของชาติให้คนรุ่นหลังเห็น ศึกษา แต่ไม่รู้จะไปต่อกันอย่างไรดี ทั้งงบประมาณและการบำรุงรักษา เป็นเรื่องที่ต้องฝากไว้กับทุกคนนะครับ

ในฐานะคนตาก ขอปิดท้ายด้วยคำเชิญชวนแวะมาเที่ยวชุมชนโบราณตรอกบ้านจีนกัน หากใครชื่นชอบการถ่ายภาพบ้านเก่า ๆ อาคารชิค ๆ สถาปัตยกรรมโบราณ โพสต์ท่าให้ตัวเองหลุดเข้าไปอยู่ในเฟรมแบ็กกราวนด์โบราณยุคสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มาเลยครับ เพียง 420 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ตรอกบ้านจีนอยู่ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดตาก คนไม่มาก ไม่พลุกพล่าน เงียบสงบมาก ๆ ปลอดโปร่งเหมาะกับการเก็บภาพสวย ๆ ไปตามพิกัดนี้เลยครับ https://goo.gl/maps/XGzIB

ตรอกบ้านจีน

อ้างอิงจาก

  1. หนังสือสายสัมพันธ์ชุมชนโบราณบ้านจีน โดย อบจ.ตาก
  2. บันทึกประวัติจังหวัดตากและชุมชนตรอกบ้านจีน โดย น.ส.เกษร พุดตาลดง อดีตบรรณารักษ์ห้องสมุด จังหวัดตาก
  3. www.trokbanchintak.com

ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ เที่ยวกับอินทาเนีย (Journey & Yummy) โดย สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save