พบกับเราเช่นเคยในรายการพูดจาประสาช่าง ซึ่งจัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 08.55 น. โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน สมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะรับหน้าที่เชิญนิสิตเก่า ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มาเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศชาติและน้อง ๆ รุ่นหลัง
ซึ่งครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร วศ.2528/29 ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือที่เรียกว่า OKMD ร่วมพูดคุยถึงประเด็น “ภาระหน้าที่ของ OKMD และแนวทางในการพัฒนายกระดับความรู้ ความสามารถ ของเยาวชน และคนไทยเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต”
ดร.ทวารัฐ เรียนจบปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้เรียนปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และได้ทุนจากรัฐบาลเรียนต่อปริญญาเอก วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) หลังจากนั้นเข้ารับราชการในกระทรวงพลังงาน อยากมีความรู้และประสบการณ์ในแหล่งเรียนรู้ใหม่ ๆ และพบว่าระบบราชการไทยมีสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Office of Knowledge Management and Development (OKMD) และอยู่ระหว่างสรรหาผู้อำนวยการท่านใหม่ จึงตั้งใจเข้าสมัครเพราะอยากมีส่วนส่งเสริมเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา และปรับบทบาทกระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทย และได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการจากคณะกรรมการของ OKMD
เพราะการเรียนรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียน
OKMD เป็นองค์กรมหาชน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลยุคของนายกทักษิณ ชินวัตร เป็นองค์กรประเภท Agenda Based มีบาง Agenda ที่ Cross ฟังก์ชันระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ซึ่ง OKMD เป็น Agenda เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งกระทรวงศึกษา กระทรวงอุดมศึกษา บางเรื่องโยงกับวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ถือว่าเป็น Agenda Based เป็น Cross Ministerial Agency เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ของคนไทยนอกระบบโรงเรียน ซึ่งการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนและมหาวิทยาลัยดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่นอกรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย คนไทยจะมีกระบวนการเรียนรู้อย่างไร ซึ่งในอดีตจะใช้ 2 กลไกหลัก คือ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพิพิธภัณฑ์มีอยู่หลายประเภท ทั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ประเภทโบราณสถานที่เน้นเฉพาะของเก่าโบราณ และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นการเล่าเรื่องภาพในอดีตว่าเป็นอย่างไร และในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร
Museum Siam พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แนวใหม่ เน้นการพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ และสร้างสรรค์ภูมิปัญญา
OKMD เองได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ขึ้นมา 1 แห่ง เรียกว่า Museum Siam ตั้งอยู่ที่ท่าเตียนเป็นพื้นที่กระทรวงพาณิชย์เก่า เล่าเรื่องราวหลายเรื่อง ปัจจุบันพื้นที่ Exhibition จะจัดแสดงนิทรรศการชุด “ถอดรหัสไทย” ที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้ พัฒนาการความเป็น “ไทย” ตั้งแต่รากเง้าในอดีตจนถึงปัจจุบัน จากบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ พื้นที่สุวรรณภูมิ และพื้นที่การเกษตร ซึ่งจะมองภาพ Thainess ในอนาคตอย่างไร รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับ Soft Power ศิลปะวัฒนธรรม การสร้าง Creative Academy, Creative Space ต่าง ๆ
ภาระหน้าที่ของ OKMD
เพราะฉะนั้น OKMD มีหน้าที่สร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาแหล่งความรู้รูปแบบใหม่ ซึ่งมีตัวแปลหลักอยู่ 1 ตัว คือ เทคโนโลยี ซึ่งในอดีตทุกอย่าง On Site แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้แหล่งเรียนรู้เข้าไปอยู่ในโลก Digital และกระบวนการเรียนรู้ต้องพึ่งพา Digital มากพอสมควรถึง 80% และยังสามารถใช้ Social Media หาความรู้ผ่านมือถือได้ และอนาคตอาจจะใช้แว่นตาหรือหูฟังในการหาความรู้ เป็นต้น
“ทิศทางของ OKMD นอกจากจะพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แล้ว ต้องทำให้ทันสมัยกับเทคโนโลยีในยุคนั้น ๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องของ Technology Mediaไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Metaverse, Social และ AI เป็นต้น”
OKMD ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความรู้ที่แท้จริง
ปัจจุบันคนส่วนมากนิยมใช้ Google หรือ Wikipedia ในการ Search หาข้อมูล แต่ไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ OKMD ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความรู้ที่แท้จริง เพราะความรู้ผ่านสื่อดิจิตอลอย่างเดียวอาจไม่สมบูรณ์แบบต้องมีผู้รู้มาให้ความรู้เพิ่มเติม อาจเป็นตัวบุคคลหรือเป็น Machine ซึ่งสามารถเลือกที่จะรับรู้และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ได้
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีเป็น Machine Learning หรือระบบ AI เครื่องคอมพิวเตอร์เริ่มรู้เยอะจากฐานข้อมูลและสถิติต่าง ๆ ที่รวบรวมมา เพราะฉะนั้นกระบวนการทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มนำ Machine Learning หรือระบบ AI เข้าไปประกอบกับ Process การผลิตสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ทำให้พึ่งพาผู้รู้หรือคนน้อยลงและเริ่ม Disrupt ว่า Process บางอย่างไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนมาก ซึ่งเรากำลังชี้ให้เห็นว่าคนยังมีบทบาท และหัวใจสำคัญของคนที่มีความรู้ คือ ต้องถ่ายทอดความรู้ให้เป็นและสามารถสามารถส่งต่อให้กับรุ่นน้อง หรือรุ่นหลานได้ และรุ่นหลานก็สามารถกระจายผลนำความรู้ไปต่อยอดรูปแบบอื่น ๆ สามารถสร้างงาน สร้างอนาคตได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ OKMD กำลังตั้งใจทำในช่วงนี้อย่างมาก คือ
- ทำให้คนมีความใฝ่รู้
- เป็นผู้รู้จริง
- สามารถกระจายความรู้ในรูปแบบของการเล่าเรื่องได้ เช่น การเล่าเรื่องจากตัวบุคคล การทำ VDO Clip หรือ Broadcast สามารถกระจายความรู้ไปช่องทางต่าง ๆ ให้ผู้อื่นรับรู้ได้
รศ. ดร.ปริทรรศน์ สอบถาม 1.Museum Siam แสดงนิทรรศการแบบถาวรหรือแบบหมุนเวียน 2. เรามีพิพิธภัณฑ์มากมาย และเมื่อไหร่จะมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับวิศวฯ
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร กล่าวว่า Museum Siam มี 2 พื้นที่ ๆ แบ่งส่วนชัดเจน คือ
- นิทรรศการหลัก พื้นที่นิทรรศการถาวร ซึ่งอยู่มานานประมาณ 4-5 ปี และจะต้องมีการปรับปรุง
- นิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งจะขึ้นอยู่ว่าในแต่ละปีว่าคนไทยมีความสนใจในเรื่องอะไรและทาง Museum Siam จะจัดนิทรรศการหมุนเวียนปีละ 2 ครั้ง และหลังจากจัดแสดงเสร็จจะย้ายไปพิพิธภัณฑ์อื่นในเครือของ Museum Siam ส่วน Theme หรือเรื่องที่เล่าในพิพิธภัณฑ์หมุนเวียนแล้วแต่ช่วงเวลา ปัจจุบันจะเป็นนิทรรศการ “ตึกเก่า เล่าใหม่” เพราะเป็นช่วงครบรอบ 100 ปี ของอาคาร Museum Siam ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 รุ่นเดียวกับพระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างโดยสถาปนิกและวิศวกรในยุคเดียวกัน ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานเป็น “กระทรวงพาณิชย์” ในปี พ.ศ. 2465 และทาง Museum Siam ได้รับมอบอาคารแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2547 เป็นเรื่องความทรงจำของผู้คนที่เคยทำงาน หรือมาใช้บริการที่นี่ เป็นตึกเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้เล่าขาน หรือพิพิธภัณฑ์หมุนเวียนอื่น ๆ ในอดีตช่วง 2-3 ปีที่แล้ว เช่น ครบ 20 ปี วิกฤตการณ์ของต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในภาคการเงิน และได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังทุกส่วนของสังคม
ในส่วนของอนาคตอยากให้มีพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวิศวฯ ซึ่งขอยกตัวอย่าง มีองค์กรหรือหน่วยราชการหลายที่ ๆ มีความรู้หรือสะสมความรู้ไว้เยอะ บางหน่วยมีอาคารเก่าซึ่งพยายามแปลงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น การรถไฟ หรือ การทางพิเศษ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรหรือศาสตร์ที่องค์กรทำงานอยู่ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงเรื่องของการหาความรู้ เช่น หากต้องหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องวิศวกรรมเกี่ยวกับระบบรางควรไปชมนิทรรศการไหนบ้าง และนโยบายที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงของความรู้นั้นเป็นหน้าที่ของ OKMD ที่ต้องโปรโมททำให้เกิดความเชื่อมโยงและผสมผสาน ทำให้ผู้คนที่อยากรู้ในเรื่องนี้ว่าควรไปที่ไหนและต้องเริ่มที่ไหนก่อนเป็นอันดับแรก ในส่วนของ Museum ที่เกี่ยวข้องกับวิศวฯ ควรมีในหลายรูปแบบ ซึ่งบางประเทศจะมีในรูปแบบ Engineering For Future เช่น วิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ และวิศวกรรมที่ค้นพบใต้ทะเลลึก เป็นต้น
แนวทางในการพัฒนายกระดับความรู้ ความสามารถ ของเยาวชนและคนไทยเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
รศ. ดร.ปริทรรศน์ กล่าวว่า เราซึ่งมีองค์ความรู้เยอะ มีกระทรวงศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์ เรื่องสำคัญที่เรายังขาดอยู่ คือ ทิศทางของประเทศไทยที่เราจะต้องมองไปในอนาคตจะมองไปในทิศทางไหน เช่น 1.มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศที่ส่งเสริมระบบรางหรือไม่ 2. มีแผนที่จะพัฒนาองค์ความรู้เพื่อจะสร้างกำลังคนเรื่องระบบรางอย่างที่ประเทศจีนหรือไม่ ซึ่งจีนใช้ระยะเวลาเพียง 12 ปี ทำให้มีระบบรางทั่วประเทศและส่งออกระบบรางไปยังต่างประเทศได้ ในขณะที่เรานำหลักการเหล่านี้มาสร้าง คนที่จะมา Maintenance ออกแบบ สร้าง และทำระบบราง OKMD มองในลักษณะนี้อย่างไร
ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดในเรื่องนี้เพราะจิ๊กซอร์ไม่ต่อกัน คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Reskill หากเรามีช่างอยู่แล้วและต้องการที่จะเปลี่ยนบทบาทช่างที่เรียนมาด้านหนึ่งให้ทำในอีกรูปแบบหนึ่ง ยังขาดกลไกที่เชื่อมโยงต่อยอดให้สุดทาง ยกตัวอย่าง วิศวกรรมระบบรางอาจจะเป็นส่วนควบผสมผสานระหว่างผู้ที่เรียนวิศวฯ เครื่องกล และไฟฟ้า มีกลไกส่งเสริมเปลี่ยน Skill จากช่างไฟฟ้า สามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบรางได้ หรือแม้กระทั่งวิศวกรรมระบบรางอาจจะเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโยธาซึ่งสามารถสร้างสะพานและขุดอุโมงค์พร้อมกันได้ หากสามารถทำให้เป็นศาสตร์เดียวกันหรือเรียนควบคู่กันได้ก็จะสมบูรณ์แบบได้ในคน ๆ เดียว
เพราะฉะนั้นแนวคิด Reskill เป็นกลไกที่ทาง OKMD และตัวผมเองตั้งใจ ซึ่งได้เข้ามารับตำแหน่งได้ 1 เดือนกว่า ๆ ก็พบว่ากลไกที่จะส่งเสริมในการ Upskill หรือ Reskill เป็นประเด็นระดับชาติ ซึ่งเท่าที่รับทราบในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด มีความต้องการช่างฝีมือหลักแสนอัตรา ซึ่งวิทยาลัยอาชีวะศึกษาหรือมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ผลิตวิศวกรออกมาไม่ตรงกับความต้องการของงาน ซึ่งทำให้ต้องมีการอบรมเพิ่ม
หากมีการปรับเรื่องการผลิตบัณฑิต ถ้าเปลี่ยนเส้นทางอาชีพหรือต้องการเพิ่มทักษะความรู้ Take Short Course และมีกลไกที่สามารถได้ใบ Certificate และนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต ซึ่งสิ่งสะสมเหล่านี้จะมีคุณค่ามาก ซึ่งตัวผมเองก็มีโอกาสได้เข้าสู่ระบบนี้ของทางอังกฤษ ช่วงนั้นอยู่สังกัดกระทรวงพลังงานมีทุนสนับสนุนให้ผู้บริหารไป Take Course ในต่างประเทศ ที่อังกฤษจะมีหลักสูตร Sustainability นอกจากจะมีความรู้ในเรื่องของการประหยัดพลังงาน หรือเรื่องพลังงานทดแทนแล้ว ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Sustainable finance รวมทั้งเรื่องที่จัดการเกี่ยวกับ Circular Economy เป็นต้น มีการส่งเสริมให้ Take Course ซึ่งเป็น Course สั้น ๆ เพียง 3-7 วัน สามารถสะสม Point ได้ในช่วงเวลา 1 ปี จะได้รับใบ Certificate รับรอง เพราะฉะนั้นลักษณะนี้เป็นกลไกอย่างหนึ่งซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยหากมีการบูรณาการทำเรื่องนี้ ช่างที่อยู่ในระบบเมืองไทยสามารถที่จะ Upskill หรือ Reskill ได้
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า หนึ่งเรื่องสำคัญที่อยากฝากไปถึงน้อง ๆ คือ เรื่อง Upskill หรือ Reskill สำหรับ Workforce ประเทศไทย คือ การเรียนภาษาที่ 3 ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เช่น ภาษาจีน หรือ ญี่ปุ่น หรือภาษาที่สามารถสื่อสารกับนายจ้างให้เข้าใจได้สามารถ Upgrade ตัวเองไปได้อีกระดับหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการ Upskill หรือ Reskill ในเรื่องของภาษาสามารถทำได้โดยเร็ว