ดร.สาธิต วิทยากร

ดร.สาธิต วิทยากร วศ.24 กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ธุรกิจ Health Care ที่มากกว่าการทำธุรกิจ แต่เป็นการช่วยเหลือคนในชุมชนและมอบสิ่งดี ๆ ให้แก่สังคม


สิ่งสำคัญของ Hospital Management คือ เรื่องของ “คน” เพราะโรงพยาบาลเป็นธุรกิจบริการ เราจะสร้าง Inspiration ให้เขาสามารถทำงานให้แก่เราอย่างไร เพราะทุกคนมีเป้าหมายในการทำงานและอยากทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ

นอกจากการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ การมีหัวใจเป็นผู้ให้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน ดร.สาธิต วิทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันในชื่อ PRINC องค์กรที่สร้างคนมีจิตใจเป็นผู้ช่วยเหลือคนในชุมชนและสังคม ตามความตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ Health Care รวมทั้งยังเป็นบุคคลที่ได้รับตำแหน่งวิศวฯ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำ พ.ศ.2564 อีกด้วย

ประสบการณ์สมัยเรียนคณะวิศวฯ จุฬาฯ

สมัยเรียนที่วิศวฯ จุฬาฯ ส่วนตัวผมจะชื่นชอบในกีฬาบาสเกตบอลจึงได้สมัครเข้าชมรมบาสเกตบอลและลงแข่งขันมาตลอดตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – ชั้นปีที่ 4 และประทับใจมาก เพราะว่าส่วนใหญ่จะได้แชมป์และถ้าปีไหนน้อง ๆ ปี 1 แข่งขันไม่ชนะจะมีกิจกรรมทำโทษด้วยการโดดสระ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผมรู้สึกถึงความแปลกใหม่ รวมทั้งมีเพื่อนใหม่ ๆ และรุ่นพี่ที่คอยดูแลตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พอขึ้นชั้นปีที่ 2 เราก็ต้องทำหน้าที่ดูแลน้องปี 1 เป็นระบบขั้นบันไดเหมือนที่รุ่นพี่ดูแลเราสมัยที่เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยปีแรก ถือว่าเป็นการเรียนรู้ระบบ Security ที่ดีจากชมรมกีฬาตั้งแต่ช่วงชั้นปีที่ 1 นอกจากนี้ยังมีโอกาสร่วมกิจกรรมเข้าค่ายและทำกิจกรรมกับภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลในช่วงชั้นปีที่ 3 ทำระบบ Pneumatic เป็นการทำระบบลมของเครื่องดูดกระดาษ ซึ่งเป็นงานวิจัยเล็ก ๆ ที่มีโอกาสได้เข้าประกวดและออกงาน Fair รวมถึงได้เข้าร่วมจัดทำโครงการรถประหยัดพลังงานกับรุ่นพี่ ทำให้ได้รู้จักเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถทำชิ้นงานออกมาได้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สนุกและได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง

แนวความคิดของวิศวฯ สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจ Health Care ได้

เนื่องจากคุณพ่อทำงานที่โรงพยาบาล หลังจากนั้น ผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานและเรียนรู้ในโรงพยาบาลตามคุณพ่อ แต่เนื่องจากผมเรียนจบวิศวฯ เครื่องกล คุณพ่อจึงให้ไปเรียนรู้ระบบเครื่องปรับอากาศในโรงพยาบาลในสมัยนั้น ผมจึงจัดระบบบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ 200-300 ตัว และจากประสบการณ์ที่ได้ทำ จึงทำให้ตัวผมเองได้เข้าไปเรียนรู้ระบบต่าง ๆ ของโรงพยาบาลในช่วงนั้น

หลังจากนั้นได้เรียนรู้ในเรื่อง HR และได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะใช้คนจำนวนมาก ต่อมาก็ได้ทำระบบบัญชี จัดซื้อ และ HR ของโรงพยาบาล เพราะในช่วงนั้นคนที่ใช้คอมพิวเตอร์เก่ง ๆ ไม่ค่อยมี เราเลยมีโอกาสได้ดูแลระบบต่าง ๆ ในโรงพยาบาล โดยใช้ความรู้จากวิศวฯ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการให้เป็นระบบที่ดี ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เรารู้ระบบหลังบ้านของโรงพยาบาลทั้งหมด ยกเว้นเรื่องหมอ พยาบาล แต่เราจะคอย Support ทำให้หมอและพยาบาลทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในสมัยนั้นผมยังมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดตั้งแต่ช่วงเริ่มเปิดโรงพยาบาล ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อไรที่เห็นการตอกเสาเข็มของโรงพยาบาลก็จะรู้ทันทีว่าต้องทำอะไรต่อบ้าง จึงเป็นที่มาของคำว่า Hospital Management ซึ่งกลายมาเป็นอาชีพของผมตลอด 35 ปี ที่ผ่านมา…

ธุรกิจ Health Care

จุดเริ่มต้นของพริ้นซิเพิล กับแนวคิด “สร้างคนมีจิตใจเป็นผู้ช่วยเหลือคนในชุมชนและสังคม”

เนื่องจากในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลที่เป็นทางเลือกให้แก่คนที่มีฐานะที่ดีอยู่มากแล้ว รวมทั้งประสบการณ์ของคุณพ่อที่เคยเจอมาตั้งแต่สมัยวัยเด็กที่คุณย่าเสียชีวิตตั้งแต่สมัยเรียน เพราะไม่มีคุณหมอคอยดูแลในโรงพยาบาลที่ต่างจังหวัด รวมทั้งประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่สะสมมานาน และคิดว่าธุรกิจ Health Care มีเรื่องที่น่าสนใจอีกเยอะ จึงตัดสินใจเปิดบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ขึ้นมา โดยการเทคโอเวอร์จากบริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาเป็นธุรกิจ Health Care โดยจุดประสงค์หลักคือเปิดโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลที่มีโรงพยาบาลเอกชนรองรับไม่เพียงพอ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่คนในชุมชน ซึ่งเป็นเมืองรองและเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยรู้จัก เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดศรีสะเกษ

ภายใต้แนวคิดหลักของพริ้นซิเพิล คือ “สร้างคนมีจิตใจเป็นผู้ช่วยเหลือคนในชุมชนและสังคม” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทุกคนต้องทำตาม องค์กรมีหน้าที่สร้างคน สร้างทีมบริหาร ทีมแพทย์ พยาบาล ผู้อำนวยการขึ้นมา เพื่อให้ดูแลคนในสังคมที่เราไปเปิดโรงพยาบาลตรงนั้น เช่น การนำ Local วัสดุของชุมชนมาใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาล รวมทั้งก่อนสร้างโรงพยาบาลเราจะส่งทีมงานไปสัมภาษณ์คนในชุมชนก่อน ว่าในแต่ละชุมชนต้องการอะไรบ้าง มีผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่สามารถนำมาขายในโรงพยาบาลได้บ้าง ซึ่งเรามีการทำงานร่วมกับชุมชนอยู่ตลอด นอกจากนี้ เรายังส่งทีมงานเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยตามชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย

พริ้นซิเพิล กับแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

พริ้นซิเพิลตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Category ใน ESG : Environmental, Social, and Corporate Governance ดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ซึ่งเราอยู่ในหมวดนี้และกำลังจะสมัครเข้า Sustainability Index เพื่อความยั่งยืนขององค์กร ชุมชนและสังคม พริ้นซิเพิลจึงเป็น Health Care สำหรับดูแลคนในชุมชนและสังคม นอกจากนี้ IFC สถาบันการเงินระหว่างประเทศในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพริ้นซิเพิลเพราะชื่นชมในสิ่งที่เราทำ เพราะต้องการเงินไปทำในเรื่องของ HealthCare ในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลน

“ใกล้บ้านใกล้ใจ” เป็นคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านที่ดูแลทุกคนด้วยหัวใจ

โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิลมีทั้งหมด 13 โรงพยาบาล และกำลังจะเปิดที่จังหวัดสกลนครในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่ 20 โรงพยาบาล นอกจากนี้ พริ้นซิเพิลยังเปิดคลินิกชื่อว่า “ใกล้บ้านใกล้ใจ” เป็นคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านที่ดูแลคุณด้วยหัวใจ ซึ่งตอนนี้ในกรุงเทพฯ ได้เปิดให้บริการทั้งหมด 17 คลินิก ซึ่งเป้าหมายเราจะเปิดให้ครบ 100 คลินิก โดยมีวัตถุประสงค์คือดูแลผู้ป่วยรากหญ้าและรองรับคนในชุมชนต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลในราคาที่ไม่แพง รวมทั้งดูแลผู้ป่วยโครงการหลักประกันสุขภาพบัตร 30 บาท

นอกจากนี้ ทางเรายังมีนักสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยตามบ้านที่ไม่สามารถเดินทางมาคลินิกได้ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลและลดคอส ซึ่งจะใช้ระบบเดียวกันในการบริหารทุกคลินิก และมีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางทำหน้าที่ดูแลประวัติของคนไข้ จากเป้าหมาย 100% ตอนนี้เราทำไปแล้วประมาณ 50-60% แล้ว ซึ่งยังมีสิ่งที่เราต้องทำในอนาคตต่อไปเรื่อย ๆ

ธุรกิจ Health Care

ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทในธุรกิจ Health Care เพื่อลดต้นทุนและการบริหารจัดการที่ดี

ธุรกิจ Health Care ในอดีตและปัจจุบันมีทั้งความแตกต่างและคล้ายคลึงกัน การตรวจของคุณหมอและการให้ยาแก่คนไข้ยังเหมือนเดิม มีเพียงเทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์ที่เปลี่ยนไปมีความทันสมัยมากขึ้น และโรงพยาบาลไม่สามารถมีหมอเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญได้ทุกโรงพยาบาล เราจึงจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลเล็ก ๆ เพื่อรองรับผู้ป่วย หากผู้ป่วยอาการหนักจึงส่งไปที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่มีหมอเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การผ่าตัดหัวใจ โดยการส่งข้อมูลคนไข้ผ่านระบบ EMR (Electronic Medical Record) เมื่อคนไข้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันก็จะรู้ประวัติของตัวเองทันที ไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษา ยา และการนัดของแพทย์ ก็จะอยู่ในมือถือของคนไข้

พริ้นซิเพิลเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย ไม่ว่าคนไข้จะไปอยู่ที่ไหนก็สามารถดูประวัติการรักษาของตัวเองได้ทันที รวมถึงเป็นการลดคอส ซึ่งปกติแล้วการลงระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลจะใช้ทุนประมาณ 50 ล้านบาท แต่ใช้งบประมาณไม่กี่สิบล้านบาท ดูแลโรงพยาบาลทั้งหมด 13 โรงพยาบาล ทั้งหมดจะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงกันทั้งหมด

ปัจจุบันได้มีการทำ 5G ติดรถพยาบาล Ambulance มีกล้องติดรถทำให้คุณหมอสามารถตรวจคนไข้ตั้งแต่อยู่ในรถได้ มีคอมพิวเตอร์สามารถตรวจสอบประวัติคนไข้ได้ รวมถึงการจ่ายยาให้แก่คนไข้ด้วยเช่นกัน พอรถเดินทางถึงโรงพยาบาลก็จะทำให้คุณหมอทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เสมือนคนไข้มาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่อยู่ในรถ Ambulance

พริ้นซิเพิลให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน

พริ้นซิเพิล ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการนำพลาสติกที่ไม่เกิดประโยชน์ในโรงพยาบาลนำมารีไซเคิลให้ออกมาเป็นใยพลาสติกและนำมาทอทำเสื้อผ้า เพราะโรงพยาบาลมีพลาสติกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นโรงพยาบาลแรก ๆ ที่ได้สมัคร Carbon Footprint และนโยบายของพริ้นซิเพิลคือการลดปริมาณคาร์บอนไปเรื่อย ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของ Carbon Neutrality รวมทั้งเรายังมีแผนในการติดตั้ง Solar Cell ทั้ง 13 โรงพยาบาล เพื่อเป็นการลดการปลดปล่อยคาร์บอน อีกทั้งผ้าที่เราใช้ภายในโรงพยาบาลแต่ละผืนจะพิมพ์จำนวนคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยออกมาว่ามีปริมาณเท่าไร เพื่อเป็นการเตรียมแผนการลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงไปเรื่อย ๆ ในอนาคต

ดร.สาธิต วิทยากร

เป้าหมายสำหรับธุรกิจ Health Care ในอนาคต

การขยายธุรกิจมีการตั้งเป้าไว้ที่ระยะเวลา 3 ปี ข้างหน้า เน้นในเรื่องของ Digital Transform ในองค์กรมีการทำทีมโดยใช้บุคลากรต่าง ๆ มาทำ โดยให้แต่ละหน่วยงานทำ Project ขึ้นมาแข่งขันกัน มีการประกวดและให้รางวัล ซึ่งจะทำให้มี Digital Transform ในองค์กรมากขึ้น

ในส่วนของโรงพยาบาลก็จะมีการทำเรื่องอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น เรื่องของยาสมุนไพร ซึ่งในศาสตร์สมุนไพรอยู่คู่กับคนไทยมายาวนานถึง 2,000 กว่าปี และสมุนไพรได้ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น โควิด-19 ที่ผ่านมา ฟ้าทลายโจรถูกนำมาใช้รักษาโควิด-19 ได้ ซึ่งตอนนี้ทางเราก็ศึกษาในเรื่องของสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ ที่สำคัญอีกเรื่องคืออาหาร เนื่องจากปัจจุบันผักและผลไม้ที่เราให้คนไข้ทานทุกวันมีสารพิษตกค้างค่อนข้างเยอะ อาจจะทำให้กลายเป็นโทษได้ เราจึงอยากมีไร่ เรา Certify เพื่อนำมาใช้ในโรงพยาบาล และเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในชุมชนด้วย

อนาคตธุรกิจ Health Care จะเปลี่ยนไป จะไม่ใช่เรื่องของคนไข้กับหมอ แต่จะเป็นเรื่องของการจ่ายเงินของคนไข้เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ต้องศึกษาเรื่องประกันมากขึ้นเพราะพฤติกรรมคนเราเปลี่ยนไปตามการตัดสินใจของประกัน และเทคโนโลยีการแพทย์ก็จะเดินตามประกันเพราะฉะนั้นโรงพยาบาลในอนาคตบทบาทของประกันจะมีเพิ่มขึ้น อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประกัน Health Care อาหารต่าง ๆ จะมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด

ดร.สาธิต กล่าวปิดท้าย ชาวอินทาเนียต้องมีความรู้ที่กว้าง และต้องรู้ลึกในศาสตร์ที่เรียน เพราะโลกสมัยใหม่นั้นกว้างและเปลี่ยนไปเร็วมาก อยากให้ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ ๆ รวมทั้งเรื่องของ Empathize ที่อยู่ในหลักการคิดของ Design Thinking ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร รู้สึกถึงความเป็นทุกข์หรือร้อนใจของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางคณะไม่ได้สอน จึงอยากฝากให้วิศวฯ รุ่นใหม่ ๆ ได้เรียนรู้เพื่อโลกนี้จะได้น่าอยู่มากขึ้น


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save