ถุงพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายนะ

พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายนะ


ฤกษ์งามยามดี วันนี้มาคุยเรื่องพลาสติก ถุงสปันบอนด์กันดีกว่า… ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ห้างร้านต่าง ๆ ยกเลิกการแจกถุงพลาสติก เนื่องจากนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดละเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 แต่ปัญหาก็เริ่มเกิด เมื่อคนพยายามคิดว่าจะมีอะไรมาทดแทนถุงพลาสติกที่ยกเลิกการแจกเหล่านี้ดี…

ประเด็นหลักของนโยบายนี้คือ การลดละเลิกใช้ Single-use Plastic ในกิจกรรมทั่ว ๆ ไปที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ที่ต้องเขียนย้ำแบบนี้เพราะยังมีกิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมที่ยังจำเป็นต้องใช้ เช่น อุปกรณ์การแพทย์หลาย ๆ ชนิดหมอคงไม่แฮปปี้ถ้าถูกบังคับให้ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นด้วยซ้ำ เพราะอาจมีการส่งผ่านโรคหรือเชื้อระหว่างผู้ป่วยได้ หรือมีการปนเปื้อนสารที่ต้องใช้กับผู้ป่วย

แต่สำหรับการไปซื้อของตามห้าง ตามร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เกต นั้นบรรจุภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกให้เรา ๆ ท่าน ๆ ใช้บรรจุของจากร้านกลับบ้านไม่จำเป็นต้องใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เราสามารถหาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำ ๆ ได้ เพราะสิ่งที่เราอยากจะทำให้เกิดขึ้นบนโลกที่รักของเราคือการที่เรามีขยะน้อยลง มีการจัดการขยะดีขึ้น การอุปโภคบริโภคของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมน้อยที่สุด เพราะขณะนี้โลกเราก็สะบักสะบอมเต็มทีแล้ว…

พอห้างร้านเลิกแจกถุงพลาสติกก็มีคนพูดถึงการใช้ถุงกระดาษ ถุงสปันบอนด์ ถุงพลาสติกย่อยสลายชีวภาพ ถุงผ้าฝ้าย ถุงผ้าเส้นใยสังเคราะห์กัน เท่าที่เห็นใน โซเชียลมีเดียนั้น มีทั้งความกลัวไมโครพลาสติก กลัวว่าจะเป็นตัวก่อมะเร็ง มีทั้งประเด็นการใช้ถุงผ้าหรือถุงกระดาษว่าใช้กี่ครั้งถึงคุ้ม เรามาดูกันค่ะว่า ถุงต่าง ๆ ทั้งตัวถุงพลาสติกและถุงที่จะมาทดแทนถุงพลาสติกมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ถุงพลาสติก

ถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำมาจากพอลิเอทิลีน ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ต้องถือว่าเป็นวัสดุที่มีคุณค่าสูง ทนต่อสารต่าง ๆ ดี สมบัติเชิงกลดี ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ง่าย ใช้งานได้ดี ดีไปหมดทุกอย่าง แต่ตอนนี้กลายร่างเป็นผู้ร้ายเสียแล้ว ซึ่งถ้าพวกเราใช้หลาย ๆ ครั้งจนหมดสภาพจริง ๆ แล้วค่อยส่งไปกำจัดอย่างเหมาะสมก็จะไม่เป็นปัญหา แต่เผอิญว่าเราโตมากับความสะดวกสบาย พ่อค้าแม่ค้าก็อยากให้ลูกค้าสะดวกก็จับทุกอย่างใส่ถุงส่งให้ พอกลับถึงบ้านเราไม่รู้จะทำอย่างไรกับถุงเหล่านี้ยังทำประโยชน์ได้ไม่สมกับการใช้พลังงานและทรัพยากรของโลกในการผลิตมาเลย

แล้วถุงสปันบอนด์ (Spunbond) ล่ะ สปันบอนด์เป็นคำเรียกมาจากกระบวนการผลิตผ้าพลาสติกด้วยกันฉีดพลาสติกหลอมเหลวผ่านหัวจ่ายให้ออกมาเป็นเส้นเล็ก ๆ โดยที่เส้นพลาสติกที่ยังหลอมเหลวนี้จะถูกปล่อยลงบนที่รอง ถ้านึกไม่ออกลองนึกภาพเหมือนเวลาเราทำขนมลา (ขนมทางใต้ของไทย) พอเราโรยเส้นร้อน ๆ ไปมาบน กระทะเส้นพลาสติกร้อน ๆ เหล่านี้จะเกาะกันเป็นแผ่น ก็จะได้ผ้าสปันบอนด์ออกมา

ทีนี้ผ้าสปันบอนด์ปล่อยไมโครพลาสติกจริงมั๊ย ต้องบอกว่า จริงในชีวิตประจำวันของเรา เราปล่อยไมโครพลาสติกเข้าไปในสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้โฟมล้างหน้าที่มีเม็ดบีด (Bead) ที่ช่วยขัดหน้าให้กระจ่างใส การซักเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นเรยอน เสื้อกีฬาสารพัด กิจกรรมเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น ถามว่า ถ้าเราต่อต้านถุงสปันบอนด์ แล้วทำไมเรายังใช้ที่รองศรีษะในโรงหนังและบนเครื่องบินอยู่ละ นั้นก็ผ้าสปันบอนด์ทั้งนั้น เขาติดไว้เพื่อให้ตำแหน่งที่ศรีษะเราสัมผัสแผ่นที่สะอาด เพราะเขามาสามารถมาทำความสะอาดเก้าอี้ทั้งตัวได้ตลอดแน่นอน ดังนั้นการต่อต้านคงไม่ใช่มาจากประเภทของวัสดุ แต่ควรปรับพฤติกรรรมการใช้ของเรามากกว่า

อีกประเด็นคือ ไมโครพลาสติกทำให้เป็นมะเร็งมั๊ย แล้วเราจะทำอย่างไร ตรงนี้เราต้องมองภาพใหญ่ เมื่อกิจกรรมในชีวิตของเราก่อให้เกิดไมโครพลาสติก แล้วไมโครพลาสติกนั้นเข้าไปอยู่ในน้ำ ในทะเล ในอากาศ ที่อยู่ในอากาศเราก็หายใจเข้าไป เข้าไปถึงขั้วปอดได้ ที่อยู่ในน้ำก็อยู่ในสัตว์น้ำทั้งหลายมีการกินกันเป็นทอดๆ จนมาถึงคนกินสัตว์น้ำเหล่านั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ไมโครพลาสติกซึ่งก็คือพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากๆ จนเข้าไปในร่างกายเราได้ จะไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ และมีโอกาสก่อให้เกิดมะเร็งได้ (อย่างไรก็ตาม การเกิดเซลล์มะเร็งมีกลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง) … แต่ก็ไม่ต้องตระหนกมากนัก เรามาดูก่อนว่า ถุงสปันบอนด์จะกลายเป็นไมโครพลาสติกได้ง่ายเพียงใด

ถุงสปันบอนด์

ปกติผ้าสปันบอนด์จะผลิตจากพลาสติก 2 ชนิด คือพอลิพรอพิลีนหรือที่เราเรียกกันว่า พีพี (Polypropylene, PP) กับพอลิเอสเตอร์ (Polyester) สำหรับพีพีนั้นเป็นพลาสติกชนิดที่ใช้ผลิตถุงทนร้อนตะกร้าผ้า ถุงพลาสติกทั้งหลาย ดังนั้น พีพียังอยู่รอบตัวเราตั้งแต่ตื่น จนนอนเลยค่ะ สิ่งที่เราควรจะรู้คือ พีพีไม่ทนต่อแสงแดด ดังนั้นการที่มีคนบอกเก็บถุงสปันบอนด์แล้วมันแตก ก็อาจเป็นได้ว่า เก็บนานมากและพลาสติกโดนแดด (นี่เรายังไม่พูดถึงพลาสติกที่ไทยกำลังแบนคือ oxo กันนะคะ เอาเพียงพีพีเฉย ๆ ก่อน)

พลาสติกอีกชนิดที่นิยมมาผลิตผ้าสปันบอนด์ คือ พอลิเอสเตอร์ก็คือพลาสติกชนิดที่นำมาผลิตขวดเพต (PET) ขวดใส่น้ำ หรือพวกเส้นใยสังเคราะห์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือถุงผ้าสังเคราะห์ ดังนั้นเราคงเลี่ยงไม่พ้นที่จะเจอพอลิเอาเตอร์ล่ะค่ะ

ถุงพลาสติก

ถุงพลาสติก

ดังนั้น ถ้าจะให้ความเห็นในการตัดสินใจพกถุงสปันบอนด์สำหรับใส่ของที่ซื้อจากร้านต่าง ๆ มานั้นดีมั้ย ก็ขอเสนอว่า ถ้ามีอยู่แล้วก็ใช้ไปเถอะ ทิ้งตอนนี้ก็เป็นภาระของโลกเปล่า ๆ เวลาเก็บก็อย่าตากแดดก็ใช้ได้อีกนานค่ะ

ถุงผ้าฝ้ายกับถุงกระดาษ ขอเขียนถึงนิดเดียว เพราะเห็นบทความด้านนี้มากแล้ว มีคนประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วพบว่า ต้องใช้ถุงผ้าซ้ำถึง 131 ครั้ง และต้องใช้ถุงกระดาษซ้ำถึง 43 ครั้งถึงจะดีกว่าการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เรากำลังพิจารณาผลกระทบ เชิงสิ่งแวดล้อมอยู่นะคะ)

แล้วถุงพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพล่ะ เป็นยังไง ดีมั้ย ตรงนี้ขอเล่าปูพื้นก่อนนะคะ พลาสติดชีวภาพ (Bioplastic) นั้นเป็นคำรวม ๆ ของพลาสติก 2 กลุ่มคือ 1.พลาสติกที่สารตั้งต้นเริ่มจากชีวมวลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแป้ง น้ำตาล โมลาสก็ได้ ผ่านกระบวนการล้านแปดออกมาเป็นพลาสติก 2.พลาสติกที่สามารถถูกจุลชีพจัดการ (กิน) จนย่อยสลายไปหมด เหลือเพียงชีวมวลและแก๊สคาร์บอนได้ออกไซด์

ตัวอย่างของพลาสติกชีวภาพชนิดแรก คือ ขวดเพต (PET) ที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมแล้วมีเส้นด้านซ้ายล่างเป็นรูปใบไม้ เราเรียกกันว่า bio-PET นั่นคือสารตั้งต้นเป็นชีวมวลใด ๆ ผ่านกระบวนการจนได้พลาสติก PET โดยที่สมบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงหรือการกันแก๊สผ่านจะเหมือนกับขวดเพตทั่วไป แต่การที่บริษัทเลือกใช้พลาสติกชนิดนี้เพราะเขาดูภาพรวมคือการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life cycle assessment, LCA) คือ ดูตั้งแต่ปลูกต้นไม้ ต้นไม้ดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไปเท่าไร ใช้น้ำเท่าไร จากนั้นนำต้นไม้นั้นไปผ่านกระบวนการ แล้วกระบวนการใช้พลังงานเท่าไร ทำให้เกิดก็ไม่ได้หมายความว่า จะกินได้ง่าย ๆ แบบพวกใบตองเสมอ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพบางชนิด ตัวอย่างเช่น พอลิแลกติกเอซิด (Polylactic acid) หรือที่เราเรียกว่า PLA นั้น จุลชีพจะจัดการมันได้อุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียว และมีความชื้นสูง หมายความว่า ถ้าเราทิ้งไปในกองขยะ แล้วถูกฝังลึก ๆ อยู่ในที่แห้ง ๆ อุณหภูมิไม่ร้อนพอ 10 ปีผ่านไป เราก็ยังจะพบพลาสติกชนิดนี้อยู่ที่เดิม (แต่สมบัติต่าง ๆ ก็เสื่อมไปตามเวลา) ดังนั้น ในการกำจัดพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพควรมีกระบวนการแยกขยะที่ดี แล้วส่งพลาสติกกลุ่มนี้เข้าโรงกำจัดที่จัดการสภาวะให้เหมาะสม ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และจุลชีพ ซึ่งแน่นอนต้องมีค่าใช้จ่ายให้คำนึงถึง บอกแล้ว จะรักษ์โลกก็ต้องยอมจ่าย

ดังนั้น ถ้าใครถาม เลิกแจกถุงพลาสติกแล้วทำอย่างไรดี คำตอบที่คิดมานาน เอาจริง ๆ ก็พยายามทำมานานเกิน 10 ปีคือ พยายามลดการใช้ Single-use Plastic, กระดาษ โลหะ อะไรก็ตามที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง วางแผนชีวิตให้ดีขึ้น พกถุงผ้า ถุงพลาสติก ถุงผ้าพลาสติก ถุงสปันบอนด์ พกแก้ว พกขวดน้ำ เวลาไปไหนมาไหนก็จะช่วยโลกได้ ถ้าเราทุกคนช่วยกันให้คนละนิด โลกของเราที่โดนเราทำร้ายทุกวัน ก็มีหวังจะดีขึ้นในช่วงชีวิตของเรา …

ไหน ๆ ก็เปิดสาธารณะเพื่อแบ่งปันความรู้แล้ว ก็ขอแจ้งว่าบทความนี้เขียนโดยอาจารย์ด้านวิศวกรรมพลาสติก ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เก็บมาฝาก
โดย รศ. ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี และ
รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save