ดร.พงศ์ธร ธาราไชย วศ.36

ดร.พงศ์ธร ธาราไชย วศ.36 … การทำดีไม่ต้องมีเงื่อนไขไม่ต้องเรียนจบสูง ๆ ไม่ต้องรอให้ประสบความสำเร็จไม่ต้องรอให้รวย ก็ทำดีได้…


บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PPS เป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับงานก่อสร้างอย่างครบวงจร มีผลงานเป็นที่รู้จักมากมายดังที่ทราบกันดี แต่ที่จริง นอกจากผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมมากมายแล้ว PPS ยังมีผลงานด้านอื่น ๆ ที่หลายคนอาจจะไม่ทราบ โดยเฉพาะกิจกรรมด้านสังคมที่ผู้บริหาร PPS ให้ความสำคัญและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องจนกวาดรางวัลมามากมาย คอลัมน์ “สัมภาษณ์พิเศษ” ฉบับนี้ เป็นผลจากการพูดคุยกับ ดร.พงศ์ธร ธาราไชย วศ.36 รองประธานกรรมการบริหาร PPS ในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งการให้ความสำคัญเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคมของ PPS

ดร.พงศ์ธร เข้าเป็นเฟรชชี่คณะวิศวฯ เมื่อ พ.ศ. 2536 เลือกเรียน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา หลังจากเรียนจบได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมโยธาที่สหรัฐอเมริกา กลับมาทำงานได้ระยะหนึ่งก็ไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น ด้านวิศวกรรมโยธาเช่นกัน

Q: ดร.พงศ์ธร สนใจด้านวิศวกรรมโยธามาตลอดเลย หรือเปล่าคะ

เหตุผลที่ผมสนใจงานด้านวิศวกรรมโยธามี 3 ประการคือ ประการแรก เพราะชอบตามคุณพ่อ ดร.ประสงค์ ธาราไชย (วศ.07) คุณพ่อเป็นคนเก่งมาก ท่านจบจากภาควิชาวิศวกรรมโยธาเช่นกัน ประการที่ 2 เพราะคนเรียนเก่งในสมัยนั้นจะเลือกเรียนโยธากันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเหตุผลที่ 3 เพราะผมเรียนวิชาของไฟฟ้าไม่เก่ง ชอบโยธามากกว่า

Q: ช่วงเป็นนิสิตเข้าร่วมกิจกรรมอะไรของคณะบ้างคะ

ผมไม่ใช่นักกิจกรรม เข้าร่วมกิจกรรมทั่วไป อย่างห้องเชียร์หรือกิจกรรมที่คณะจัดเท่านั้น มุ่งเรียนหนังสือมากกว่า รุ่นผมเป็นรุ่นที่ โชคดีที่ได้ทำงานนิทรรศฯ ถึง 2 ครั้ง ตอนปี 4 ก็ทำกิจกรรมมากขึ้น เริ่มมาออกบูทงานนิทรรศการ แต่ผมมาเริ่มทำกิจกรรมจริงจังเมื่อครั้งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของยุววิศวกรที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นประธาน 2 สมัย (ระหว่าง พ.ศ. 2549–พ.ศ. 2552) เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง เป็นตัวแทนไปประชุมต่างประเทศ ต้องขึ้นแสดงความสามารถ หรือกล่าวรายงานต่าง ๆ ทำให้จากเป็นคนที่ไม่สนใจกิจกรรม ไม่กล้าแสดงออก พูดไม่เก่ง ก็เริ่มสนใจกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น และเป็นกรรมการอำนวยการของ วสท. มา 3 สมัย โดยล่าสุดเป็นประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์และโฆษก (สมัย พ.ศ. 2557-2559)

Q: PPS ให้ความสำคัญแก่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาตลอด

ใช่ครับ หลาย ๆ บริษัทจะดำเนินธุรกิจจนได้กำไรแล้วก็แบ่ง กำไรนั้นมาทำกิจกรรมที่เขาเรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) ในขณะที่กระบวนการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านั้น เป็นการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นแต่ได้กำไรโดยไม่สนใจว่าจะทำลาย สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ไม่สนใจว่าได้เอาเปรียบลูกค้ามากแค่ไหน สนใจเพียงกำไรที่ได้ พอได้กำไรแล้วจะแบ่งกำไรส่วนหนึ่งนั้นมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผมว่าเป็นขั้นตอนที่ผิด สำหรับ PPS แล้ว เราเชื่อมั่นว่า “ทำได้ดีด้วยการทำสิ่งดี ๆ” เมื่อทำดีแล้ว ผลที่ได้ก็จะออกมาดี ต้องเริ่มจากทำสิ่งดี ๆ ก่อนแล้วจะเกิดสิ่งดี ๆ ตามมา การดำเนินธุรกิจที่ดีกับธุรกิจที่ทำกำไรได้ดีต้องทำไปพร้อม ๆ กัน โครงการหนึ่งที่เราภูมิใจคือโครงการ “วิศวกรสีขาว” จุดเริ่มต้นมาจากการที่อาชีพวิศวกรมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น “อุตสาหกรรมสีเทา” แต่เราทำการรณรงค์ผ่าน Facebook Fanpage White Engineer เพื่อสร้างเครือข่าย เพื่อให้ความรู้ เพื่อเป็นต้นแบบและสร้างสรรค์สังคมของวิศวกรที่ดีต่อไป และประกอบกับโครงการนี้ ผมเองก็ได้เป็นผู้จัดรายการวิทยุทางสถานีวิทยุครอบครัวข่าว FM.106 เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปในเรื่องงานวิศวกรรมอีกด้วย ซึ่งนอกจากรูปแบบของวิทยุ และทางสื่อ Online แล้ว PPS ก็ยังมีรายการเกร็ดความรู้กับลุงพี ซึ่ง On Air ทางไทยรัฐทีวี เป็นแอนิเมชั่นที่ให้ความรู้แก่บุคคลทุกเพศทุกวัย ในงานด้านวิศวกรรมแบบง่าย ๆ อีกด้วย

ทั้งนี้โครงการของ PPS จะเน้นการสอน การอธิบาย การเป็นตัวอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจแก่คนอื่นๆ ให้เห็นว่า การทำธุรกิจอย่างดี โดยไม่ต้องอาศัยวิธีการพิเศษ ก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างดี และยั่งยืนอีกด้วย

Q: ได้รับรางวัลมามากมาย

ใช่ครับ ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาก็ได้รับรางวัลมากมาย อย่างเช่นเมื่อช่วงปลายปี ค.ศ. 2016 PPS ได้รับรางวัล EIT-CSR Awards 2016 (รางวัลชมเชย) ในโครงการส่งเสริมผลงานจัดทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของรัฐวิสาหกิจ และสถานประกอบการ จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกรางวัลที่เพิ่งไปรับมาเป็นโล่รางวัลและประกาศนียบัตรรับรององค์กรนวัตกรรมยอดเยี่ยม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ยืนยันว่า PPS ไม่เพียงทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ใส่ใจในการพัฒนานวัตกรรมด้วย นอกจากนั้น PPS เคยได้รับรางวัล SET Award สำหรับบริษัทที่มีการจัดการธรรมาภิบาลที่ดี และได้ติดอยู่ใน List ของ Thailand Sustainability Investment (THSI) หรือรายชื่อหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และติดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 (2558-2559) โดยที่ THSI เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุน ในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG)

Q: นวัตกรรมที่ได้รับรางวัลนั้นเกี่ยวกับอะไรคะ

เป็นการพัฒนานวัตกรรม Projact Live เป็นโปรแกรมที่สามารถเข้าไปดูโครงการต่าง ๆ ของ PPS โดยมีรายละเอียดของโครงการครบถ้วน ทั้งงบประมาณของโครงการ เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา ผู้ดูแลโครงการ กำหนดเริ่มงานและกำหนดแล้วเสร็จ ซึ่งข้อมูลบางอย่างเป็นข้อมูลที่บริษัทที่ปรึกษาส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผย แต่สำหรับ PPS แล้ว เราทำงานอย่างโปร่งใส เปิดเผย
ผมคิดว่าการทำงานนั้นถ้าทำอย่างตรงไปตรงมา เราก็ทำงานอย่างสบายใจ และ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สักวันความจริงทุกอย่างก็จะ เปิดเผยออกมาเอง ตัวอย่างก็มีให้เห็น เพราะฉะนั้น ทำแบบโปร่งใสตั้งแต่แรกก็จะไม่มีปัญหาตามมา หากโครงการต่าง ๆ นำนวัตกรรมนี้ไปใช้ผมเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลทั้งต่อประเทศชาติ และประชาชนทั่วไป ที่สามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐหรือภาคเอกชนได้ง่ายขึ้น

Q: ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจคนอื่น ๆ ด้วย

ใช่ครับ เพราะโปรแกรมนี้จะลงรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำไปคำนวณพื้นที่การใช้งานเท่าไร ราคาที่ใช้ต่อพื้นที่ ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังสร้างตึกใหม่ เป็นข้อมูลละเอียดอ่อน ที่ไม่ค่อยจะมีใครอยากเปิดเผย แต่ทาง PPS ยินดีเปิดเผยทุกอย่าง เท่าที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของเจ้าของงาน

Q: การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ให้อะไรแก่เราบ้าง

ผมไม่ใช่คนที่เก่งตั้งแต่เกิด แต่ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝน สั่งสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ ผมเข้าร่วมเป็นยุววิศวกรกับ วสท. จากคน ที่ตั้งใจเรียนอย่างเดียว ก็ได้รับโอกาสหลาย ๆ อย่าง ทั้งการฝึกฝนทักษะส่วนตัวของเรา การได้รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้องในวงการ และเมื่อ มีความมั่นใจมากขึ้น ก็ได้รับโอกาสเข้าไปเป็นวิทยากรพูดคุยกับ นิสิตรุ่นน้องในคณะวิศวฯ จุฬาฯ รวมทั้งสถาบันอื่น ๆ ในเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ หรือแนวทางการตัดสินใจหลังจากเรียนจบ สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่เราอีกทางหนึ่ง ปัจจุบัน เพื่อน ๆ ได้เลือก (กึ่งบังคับ) ให้เป็นประธานรุ่น ก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

Q: รวมทั้งได้มีโอกาสซึมซับประสบการณ์จากวิศวกรรุ่นพี่ หลาย ๆ คน

การได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่หลายคนทำให้ได้รู้ว่า สิ่งที่เคยคิดว่าเราเก่ง เราทำได้ทุกอย่างนั้น หากเทียบกับเขาเหล่านั้นแล้ว เรา ไม่เก่งเลย คนที่เก่งกว่าเรามีเยอะ หลาย ๆ คนต้องฝ่าฝันอุปสรรคมากมาย จนบางครั้งก็คิดว่า ถ้าเป็นเราจะทำได้อย่างพี่ ๆ หรือเปล่า แต่ก็ไม่ได้นำสิ่งเหล่านั้นมาบั่นทอนจิตใจ กลับทำให้มุ่งมั่นมากกว่าเดิม ทำอย่างสุดกำลังและทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และเมื่อมุ่งมั่นทำเต็มที่ก็ส่งผลให้เราเก่งขึ้น พัฒนาขึ้น อย่างที่บอกว่า จากคนที่เอาแต่เรียนอย่างเดียว ผมกลายเป็นคนที่กล้าพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก รู้ว่าเวลาไหนควรพูดเวลาไหนควรฟัง สิ่งเหล่านี้เกิดจากการฝึกฝน เกิดจากประสบการณ์ที่เราได้พบได้เห็นได้ฟังมานั่นเอง

Q : สำหรับชาวอินทาเนียหลายคนที่ต้องรับช่วงกิจการของ ครอบครัว มีข้อแนะนำอะไรบ้างคะ

คุณพ่อก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ท่านเป็นคนเก่ง กว่าบริษัทจะมั่นคงได้ก็ต้องฝ่าฝันอุปสรรคมากมาย การรับช่วงกิจการ ของท่านก็ยากลำบากพอสมควร เพราะต้องพิสูจน์ว่าเราทำได้ การสืบทอดกิจการของครอบครัวนั้น สิ่งแรกก็ต้องมาถามตัวเองว่า อยากทำหรือไม่ และถ้าอยากทำแล้ว ทำได้หรือไม่ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ ยากมาก ๆ สำหรับรุ่นที่ 2 ที่มีรุ่นแรกที่เก่งมาก ๆ อยู่ เพราะรุ่นที่ 2 จะถูกเปรียบเทียบกับรุ่นแรกตลอดเวลา และยากมากที่จะก้าวพ้น เงาของรุ่นแรกไปได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามกว่าคนอื่น ๆ หลายเท่า อันที่จริงผมเลือกที่จะเป็นวิศวกรด้วยเหตุผลหลายประการ นอกจากเพราะคุณพ่อเป็นวิศวกรแล้ว สมัยก่อนคนเรียนเก่งส่วนใหญ่ ก็จะเรียนวิศวฯ ผมภูมิใจกับการเป็นวิศวฯ จุฬาฯ มาก และเชื่อว่า วิศวฯ จุฬาฯ ถ้าคิดจะทำแล้ว ทำได้ทุกอย่าง และก็ทำเก่งทุกอย่าง สิ่งที่จะฝากถึงชาวอินทาเนีย อินทาเนียทุกคนเป็นคนเก่ง เวลาอยู่ภายนอกสังคมผมก็ไม่กล้าพูดอย่างนี้ เพราะอาจทำให้คนอื่นเขาไม่ชอบเอาได้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆที่อินทาเนียเก่งกว่าคนอื่น ๆก็อยากให้อินทาเนียทุกคนทุกรุ่นรักกัน สามัคคีกัน มีอะไรก็พูดคุยกันได้ ถ้าอินทาเนียด้วยกันยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็คงไม่มีใครคุยกับเรารู้เรื่อง ถ้าเราไม่ช่วยกันเอง ก็คงไม่มี ที่อื่นเขาคิดจะมาช่วยเราเหมือนกัน

Q: เป้าหมายต่อไปของ PPS

เป้าหมายแรก คือสร้างความมั่นคงให้บริษัท บริษัทต้องมีรายได้สมํ่าเสมอกว่านี้ มีผลประกอบการที่น่าพอใจกว่านี้ เป้าหมายที่ 2 คือสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ขึ้นมาให้สามารถทำงานแทนเราได้ในวันข้างหน้า เป็นสัจธรรมที่สักวันหนึ่งเราก็ต้องวางมือ แต่ธุรกิจยังต้องอยู่ ดังนั้น คุณต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา เพราะเราไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป้าหมายที่ 3 คือดูแลพนักงานให้ทำงาน อย่างมีความสุข ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม พนักงานกับบริษัท ต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กัน เมื่อพนักงานมีความสุข ก็ทำงานได้เต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ ผลงานที่ได้ก็ออกมาดี ปีนี้บริษัทครบ 30 ปีแล้ว ผมอยากร่วมฉลอง 60 ปีของบริษัทกับพนักงานรุ่นต่อ ๆ ไปของเรา


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save