SENSOR for All… โครงการตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อนำร่องสู่การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน

SENSOR for All… โครงการตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อนำร่องสู่การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน


นับวันปัญหาฝุ่น PM2.5 จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดตั้งคณะทำงานที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM2.5 ใช้ชื่อว่า โครงการ SENSOR for All เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์หลัก ๆ ก็เพื่อตรวจวัดสภาพอากาศและจัดเก็บข้อมูลของฝุ่นละอองปรากฏว่าผลการดำเนินงานในช่วงต้นเป็นที่น่าพอใจ จึงได้เริ่มโครงการในระยะที่ 2 ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อขยายการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ที่คอยให้คำแนะนำ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนไทย เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่ายแบบไร้ขีดจำกัด

โครงการ Sensor for All ปีที่ 3 นี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่สร้างสรรค์ขึ้นตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ที่ว่า Innovation toward Sustainability หรือการอุทิศองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืนด้วยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวฯ กับภาคอุตสาหกรรม (Industrial LiaisonProgram) หรือ ILP เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหา PM2.5 และภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น วิศวฯ จุฬาฯ จึงได้เป็นแกนหลักในการผนึกพลังทุกภาคส่วนที่เห็นถึงปัญหาเดียวกัน นำศาสตร์ด้านวิศวกรรมมาช่วยหาสาเหตุ เก็บข้อมูลอันเป็นประโยชน์มาวิเคราะห์เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

กองบรรณาธิการได้ร่วมพูดคุยกับ ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับที่มาของ โครงการ SENSOR for All รวมทั้งแนวทางการดำเนินโครงการในปีที่ 3 มีแผนการดำเนินงานอย่างไร ได้รับการสนับสนุนโครงการอย่างไรบ้าง รวมถึงประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ

ศ. ดร.สุพจน์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการ Sensor for All มาจากปัญหาเรื่องฝุ่นที่เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ ทางอาจารย์ของคณะจึงได้ประกอบเครื่องเซนเซอร์แล้วนำไปติดตั้งที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ จากนั้นได้นำไปติดตั้งตามที่ต่าง ๆ โดยรอบมหาวิทยาลัย และตามที่พักอาศัยของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการ นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการเครือข่ายโทรคมนาคมให้การสนับสนุนด้านการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเพื่อรับส่งข้อมูลมายังหน่วยงานกลางเพื่อเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐาน และนำไปวิเคราะห์ถึง DNA ของฝุ่นและแนวโน้มการเกิดแนวโน้มการเกิดฝุ่นในแต่ละพื้นที่ ต่อไป

“อุปกรณ์ในระยะแรก ๆ คณะฯ ได้รับความร่วมมือจากนิสิตในการประกอบอุปกรณ์ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะใช้เก็บข้อมูลปริมาณฝุ่นในแต่ละช่วงเวลา หาจุดที่มีฝุ่นหนาแน่นและแจ้งเตือนการเกิดฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งนอกจากจะสร้างความตระหนักด้านสุขภาพแก่ประชาชนแล้ว การติดตามการเกิดฝุ่นอย่างต่อเนื่องยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเผาป่า การเผาในที่โล่งได้ด้วย”

โครงการ Sensor for All

ทั้งนี้ โครงการ Sensor for All ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยในปีแรกเป็นการพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่โดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 2 เริ่มพัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล ตลอดจนขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ และในปีที่ 3 นี้ คณะวิศวฯ จุฬาฯ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกันขยายเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 โดยตั้งเป้าขยายให้ได้มากกว่า 1,000 จุดครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาระบบวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า ด้วยการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบการแสดงผลผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับขยายผลไปสู่การสร้างการรับรู้ร่วมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบหนังสือแบบเรียนอิเล็กทรอนิกส์ บอร์ดเกม และอีกหลากหลายช่องทาง เพื่อมุ่งสู่การสร้างความรู้ที่ถูกต้องของสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตฝุ่นขนาดเล็กในระดับปัจเจก โดยมีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ การบูรณาการข้อมูลฝุ่น ข้อมูลอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เข้ากับระบบ AI เพื่อใช้ในการพยากรณ์สภาพอากาศและเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงนโยบายของประเทศ โดยมีข้อมูลสนับสนุนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

“ในขณะนี้ทางคณะกำลังเจรจากับ ปตท. เพื่อนำเครื่องไปติดตั้งที่สถานีบริการของ ปตท. ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากทำสำเร็จจะทำให้ข้อมูลที่ได้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ในแต่ละวันนั้น ฝุ่นในพื้นที่มีมากน้อยเพียงใด ต้องเตรียมการรับมืออย่างไรเพื่อรักษาสุขภาพของตนเองให้ดีที่สุด”

ศ. ดร.สุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การร่วมมือกับ กฟผ. ในโครงการโรงเรียนสีเขียวนั้น นอกจากจะนำเครื่องไปติดตั้งที่โรงเรียน และถ่ายทอดความรู้ด้านการเช็คข้อมูล การดูแลรักษาเครื่องแล้ว ยังได้สอดแทรกความรู้ต่าง ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นเรื่องการบำบัดนํ้าเสีย การจัดการขยะหรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นความรู้ให้แก่เด็ก ๆ มีการจัดการเรียนรู้แบบบอร์ดเกม หรือแบบสื่อการเรียนการสอนที่ครู นักเรียนหรือผู้ปกครองสามารถเข้าใจได้อย่างง่าย เป็นการสร้างความรู้อย่างยั่งยืนซึ่งจุดประสงค์หลักของคณะคือต้องการสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปในทุกบริบท โครงการติดตั้งเครื่อง Sensor เปรียบเสมือนโครงการนำร่องที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เยาวชนและชุมชนจากนั้นก็จะมีโครงการต่าง ๆ อีกมากมายที่เป็นประโยชน์ให้แก่เยาวชนของเราต่อไป”

เครื่อง Sensor

ศ. ดร.สุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของนวัตกรรมนั้น ส่วนใหญ่อาจจะมองว่าต้องเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ จึงมีนวัตกรรมได้ หรือต้องเป็นกลุ่ม Startup หรือมีเป้าหมายสร้างผลกำไรเป็นหลักแต่สำหรับคณะวิศวฯ แล้วต้องการให้อาจารย์หรือนิสิตให้ความสำคัญกับสังคมเป็นหลักก่อนจึงก่อตั้งโครงการ iDS (Idea Driven Society) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนแนวคิดของวิศวกรยุคใหม่ ส่งเสริมและสนับสนุนทุนการพัฒนาต่อยอดความคิดและสร้างสรรค์สู่ผลงานนวัตกรรมผลิตภัณฑ์บริการและสังคมโดยมีอาจารย์ นิสิตปัจจุบัน และนิสิตเก่า ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาความต้องการของคนไทย ช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ต่อไปเครื่อง Sensor อาจจะมีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เก็บข้อมูลได้ละเอียดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้หลาย ๆ หน่วยงานนำไปต่อยอดได้ ข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สามารถดูผ่านมือถือได้ ทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารทำได้เร็วขึ้น และกว้างขวางขึ้น”

ทั้งนี้ องค์กรภาครัฐ เอกชน หรือผู้ที่สนใจสามารถสนับสนุนโครงการระดมทุน Sensor for All ปีที่ 3 เพื่อสนับสนุนการผลิตและติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนา Online Platform ควบคู่ไปกับการสร้างสื่อการเรียนรู้ผ่านหนังสือยุทธการดับฝุ่น และบอร์ดเกม Just Dust เพื่อขยายผลสู่การจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยต่อไป

สามารถร่วมบริจาคสมทบทุนได้ที่บัญชี

กองทุนนวัตกรรมวิศวฯ จุฬาฯ
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจามจุรีสแควร์
เลขที่ 405-4-13788-7

สามารถนำยอดบริจาคไปหักภาษีได้ 2 เท่า


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save