วิศวกรสิ่งแวดล้อมกับการบำบัดน้ำเสียในประเทศไทย


บทความโดย

มนู เมฆโสภาวรรณกุล วศ.17

วุฒิวิศวกรสิ่งแวดล้อม วส.67


เมืองไทยเริ่มมีการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียมาหลายสิบปี จากเริ่มต้นเป็นระบบง่ายๆ ใช้ธรรมชาติมาช่วยในกระบวนการบำบัด ค่อย ๆ พัฒนาให้ทันสมัยขึ้นมาตามลำดับ ด้วยฝีมือและความรับผิดชอบของคนรุ่นเก่า ๆ ที่ใช้คุณธรรมและจรรยาบรรณของวิศวกรควบคู่ไปกับการออกแบบ จนล่วงมาถึงเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว การออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียค่อย ๆ เปลี่ยนทิศทางไปสนองเงินและผลประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมในฐานะคนรุ่นเก่าก็ได้แต่นั่งมองด้วยความเศร้าใจ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพียงแต่กำหนดใจตัวเองให้ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์และจรรยาบรรณของวิศวกรต่อไปให้นานที่สุดตราบชีวิตจะหาไม่

ความล้มเหลวของการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียในภาพรวมของช่วงเวลา 30 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน เกิดจากสาเหตุแรกด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

1.กฎหมายและข้อกำหนดของทางราชการไม่จริงจังเฉียบขาด ลูบหน้าปะจมูก เห็นแก่อามิส กฎระเบียบมีครบถ้วน แต่ไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจัง หรืออามิสมันบดบังจนสิ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบเฉย เฉี่อย มีที่ยังคงกระตือรือร้นก็องค์การจัดการน้ำเสียเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระบบบำบัดน้ำเสียของราชการ 90%

2.เจ้าของกิจการภาคเอกชนจะมองงบประมาณทางด้านระบบบำบัดน้ำเสียเป็นรายการสุดท้าย และจัดงบให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ส่วนจะได้ผลไม่ได้ผลค่อยมาเตรียมซองกันทีหลัง ถู ๆ ไถ ๆ กันไปก่อน หรือไว้ปรับปรุงเป็นคราว ๆ ไปเมื่อไฟมันมาลนก้น หรือเมื่อต้องต่ออายุใบอนุญาต

3.การเดินระบบอย่างต่อเนื่องพร้อมผู้ควบคุมระบบที่มีความชำนาญเฉพาะ 70-80% ของระบบบำบัดน้ำเสียภาคเอกชนเดิน ๆ หยุด ๆ เพราะมันเปลืองค่าไฟฟ้าและเคมีช่วยบำบัด ใกล้ถึงกำหนดเวลาที่ต้องถูกตรวจสอบค่อยเดินระบบล่วงหน้า 3-7 วัน ดังนั้น 90% ของระบบบำบัดน้ำเสียของราชการไม่ได้เดินระบบ หรือเดินแบบขอไปที ไม่มีผู้ควบคุมระบบที่ชำนาญการ ไม่มีงบประมาณจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพียงพอ เครื่องจักรและระบบควบคุมเสียหาย ไม่ได้รับการซ่อมบำรุง ไม่มีอะไหล่ ไม่มีงบซ่อมบำรุง ไม่มีงบจ้างผู้ควบคุมระบบ

4.เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมทำนาสวน คนไทยยังไม่ตระหนักถึงภัยจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อะไรไม่ดี ของเสีย น้ำเสีย สารพิษปล่อยลงทะเลก็หมดปัญหา เพราะทะเลมันกว้างใหญ่รับไว้ได้หมด ไม่มีคนรู้หรือมีรู้บ้างเล็กน้อยว่า จากทะเลมันจะค่อย ๆ ย้อนกลับมาหาเราบนบกในรูปของมลพิษจากแม่น้ำ จากทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา และสุดท้ายระบบนิเวศของสัตว์และพืชน้ำที่จะค่อย ๆ หายไป
ถึงวันนั้นน้ำตาจะนองทั่วท้องทุ่งแดนสยาม อีกทั้งวันที่น้ำสะอาดเริ่มหาได้ยาก กระบวนการผลิตน้ำสะอาดเริ่มแพงขึ้น ยากขึ้น คิดจะแก้ไขก็แสนลำเค็ญเสียแล้ว

5.มาถึงส่วนที่สำคัญของปัญหาคือ วิศวกร จากประสบการณ์ทำงานมา 42 ปี ผมขอให้คำจำกัดความความหมายของชื่อวิศวกร หมายถึงผู้มีความรู้ ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราได้ออกแบบและก่อสร้างอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง บิดพลิ้ว หรืออ้างข้อมูลไม่เพียงพอวิศวกรคือผู้ที่อาจสร้างความบกพร่องต่อระบบบำบัดน้ำเสียเป็นเบื้องต้น ทำให้เกิดข้อผิดพลาดหลักของระบบบำบัดน้ำเสียทั้งปวง อันมาจากากสาเหตุต่อไปนี้

5.1 ไม่มีความรู้แต่อยากรับงาน ไม่มีความชำนาญแต่อยากออกแบบ อยากได้เงินแต่ไม่มีความรับผิดชอบ

5.2 ล็อกระบบ ล็อกสเปก ล็อกยี่ห้อ เพื่ออามิสโดยไม่คำนึงถึงเจ้าของงานว่าจะต้องเสียเงินมากมายเท่าไร จะยุ่ง
ยากในการหาอะไหล่สักเพียงใด และสุดท้ายมีตัวแทนจำหน่ายที่จะจัดซื้อจัดหาเครื่องจักรมาทดแทนของที่ชำรุดไปยากง่ายเพียงใด

5.3 ออกแบบให้มูลค่าโครงการสูงเข้าไว้ ค่าออกแบบก็จะได้สูงตาม ค่าสเปกก็จะตามมา

5.4 ไม่สามารถมองเห็นปัจจัยหลักที่วิศวกรพึงมี คือ

5.4.1 ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่ตาเนื้อมองไม่เห็น เช่น สิ่งที่อยู่ในความมืด สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังกำแพง สิ่งที่จมอยู่ใต้น้ำ หากไม่อาจเห็นด้วยปัญญาหรือตาใน แล้วจะออกแบบได้อย่างไรให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกปัญหา

5.4.2 ไม่สามารถมองเห็นวันพรุ่งนี้ว่าสิ่งที่ตัวเองออกแบบไว้จะยังคงสามารถใช้งานได้ดีเมื่อเวลาผ่านไปจะ 5 ปี 10 ปี อีกทั้งขณะใช้งานไปจะสามารถปรับปรุง แก้ไข ซ่อมบำรุงให้คงสภาพการใช้งานได้เหมือนเดิมอย่างไร

5.4.3 ไม่สามารถอ่านความในใจของผู้ที่เราต้องทำงาน ประสานงาน และร่วมงานได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะ
ทำตามที่เราได้ออกแบบไว้ เขาจะไม่แอบซุกซ่อนข้อผิดพลาดทำให้ระบบที่เราออกแบบไว้หมดประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว ไม่คุ้มค่าเงินของผู้ว่าจ้าง อีกทั้งต้องรู้ความในใจของผู้ว่าจ้างด้วยว่าเขาต้องการอะไร ต้องการทำแบบขอไปที เอา กว. ของเราเป็นผ้ายันต์กันผีเวลาโดนผีหลอก เป็นต้น
หากใครที่ยังขาดคุณสมบัติดังกล่าว ท่านคงต้องหาประสบการณ์ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก แล้วค่อยเริ่มงานออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป

5.5 ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียโดยไม่ได้เก็บตัวอย่างน้ำมาวิเคราะห์หาค่าคุณสมบัติของน้ำเสีย รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำเสียผิดตำแหน่งผิดวิธี กว่า 80% ของผู้ออกแบบมักใช้ผลวิเคราะห์น้ำเสียจากผู้ว่าจ้าง ซึ่งเราไม่อาจทราบได้ว่ามีความถูกต้องกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อออกแบบ ก่อสร้างแล้วเสร็จ และใช้งานไม่ได้ ต่างคนต่างโทษกันและกัน แต่เราคือวิศวกร ผู้มีความชำนาญ ผู้มีความรู้ และผู้มีความรับผิดชอบ จะไปโทษผู้ว่าจ้างซึ่งไม่มีความชำนาญ ไม่มีความรู้ได้อย่างไร ผู้ว่าจ้างให้ข้อมูลมา เราต้องไม่ยอมรับและต้องหาทางเก็บตัวอย่างน้ำเสียไปวิเคราะห์เอง สำรวจสถานที่ก่อสร้างเอง และที่สุดต้องรับผิดชอบเอง
วิศวกรผู้ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียที่ตายน้ำตื้นเพราะการเก็บตัวอย่างน้ำมีกลาดเกลื่อนทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยร้างราเข็ดหลาบกรรมวิธีสุดท้ายคือโทษผู้ว่าจ้างว่าให้ข้อมูลผิด ตัวเองไม่เคยผิด

5.6 วิศวกรผู้ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียที่มีความรู้จำกัด หลังจบการศึกษาแล้วคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชำนาญการ เป็นผู้รู้รอบแล้ว ไม่พยายามหาความรู้เพิ่มเติมที่แตกต่างไปจากที่เคยร่ำเรียนมา จะก่อให้เกิดการออกแบบระบบที่ล้มเหลวมากมายดังนี้

5.6.1 ออกแบบซ้ำซากระบบเดิม ๆ ที่คุ้นเคยเพียง 1-2 ระบบ แต่ใช้กับน้ำเสียทุกประเภท เช่น น้ำเสียจากโรงงานผลิตนม
แต่ออกแบบเป็นระบบตะกอนเร่งมาตรฐาน (Conventional Type Activated Sludge) โดยไม่มี Pretreatment ระบบก็จะล่มภายใน 30 วันหลังเริ่มเดินระบบ หรือโรงงานมีที่ดินมากมายแต่ออกแบบเป็นระบบตะกอนเร่งมาตรฐาน (Conventional Type Activated Sludge) โรงงานก็จะต้องเสียเงินค่าก่อสร้างบ่อคอนกรีตมากมาย อีกทั้งต้องเสียค่าไฟฟ้าในการเดินระบบสูงมาก

5.6.2 ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียไม่เหมาะกับชนิดของน้ำเสีย เช่น น้ำเสียจากโรงงานผลิตนม แต่ออกแบบเป็นระบบบ่อเติมอากาศ (Aerated Lagoon) หรือบ่อผึ่ง (Oxidation Pond) ระบบก็จะล่มภายใน 3-6 เดือน อีกทั้งน้ำเสียในบ่อจะเน่า ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ หรือน้ำเสียจากโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ แต่ออกแบบเป็นระบบชีวภาพบำบัด (Biological Treatment) ก็จะไม่สามารถบำบัดน้ำเสียได้

5.6.3 ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้ระบบที่ล้ำสมัยเกินไป เช่นระบบ MBR (Membrane Bio Reactor) ซึ่งเป็นระบบใหม่ล่าสุด ผู้ควบคุมระบบก็จะขาดความชำนาญ การบำรุงรักษายุ่งยาก มีข้อจำกัดใช้ไม่ได้สำหรับน้ำเสียบางประเภท เช่น น้ำเสียมีไขมันและน้ำมันสูง น้ำเสียจากอุตสาหกรรมฟอกย้อม น้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์หรืออุตสาหกรรมอาหาร

5.6.4 น้ำเสียจากโรงงานบางประเภท เช่น โรงงานผลิตสุรา โรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานผลิต Ethanol โรงงานผลิต Biodiesel โรงงานผลิตแป้ง โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิต Biogas ฯลฯ มีค่า BOD COD สูงมาก 20,000-100,000 มิลลิกรัม/ลิตร ต้องออกแบบใช้ระบบบำบัดหลายชนิดมาผสมผสานกันเพื่อลดค่า BOD COD ให้ลดลงอยู่ในมาตรฐานของราชการ ตัวอย่างเช่น การออกแบบต้องใช้ Prehydrolysis Tank ตามด้วย Contact Anaerobic ตามด้วย UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket) ตามด้วย Facultative Pond ตามด้วย Aerated Lagoon ตามด้วย Oxidation Pond และตามด้วย Polishing Pond เพื่อบำบัดน้ำเสียจากโรงงานผลิต Ethanol หากวิศวกรผู้ออกแบบไม่มีประสบการณ์ที่รอบด้านมาออกแบบระบบ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

จากข้อ 1 ถึงข้อ 5 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าวิศวกรผู้ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียมีส่วนสำคัญที่สุด มากที่สุดที่จะทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียในเมืองไทยใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าเงินลงทุน หรือล่มสลาย เรื่องอื่น ๆ เป็นเพียงข้อปลีกย่อย จึงใคร่ขอวิงวอนท่านทั้งหลายผู้มีอาชีพเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อม ท่านต้องช่วยกันจรรโลงสาขาอาชีพนี้ให้ยั่งยืน มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สมตามความมุ่งหมายของสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมนี้โดยทั่วกันเถิด ด้วยคารวะจากใจจริง

(ตอนที่ 2 จะว่าด้วยความผิดพลาดด้านเทคนิควิศวกรรมเพียงเรื่องเดียว)


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save