วิถีปกติใหม่ (แท้)

วิถีปกติใหม่ (แท้)


วันผ่านเดือนผ่านและใกล้จะปีผ่านแต่โควิดยังไม่ผ่านจากเราไปเสียที…

เพียงแต่เพราะเราจะเริ่มรู้จักมันมากขึ้นจนพอจะสามารถปรับตัวให้อยู่กับมันได้ดีขึ้น มันจึงไม่สามารถทำร้ายเรารุนแรงได้มากเท่ากับเมื่อเข้ามาเยี่ยมเยียนกันใหม่ ๆ การใช้ชีวิตแม้ยังไม่ปกตินักแต่ก็ไม่ลำบากเท่ากับ 6-7 เดือนก่อน ที่อยู่ดี ๆ วิถีการใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปเกือบสิ้นเชิง จากที่เคยต้องรีบตื่นเช้า แหวกการจราจรอันติดขัดไปทำงาน กลับเป็นการ Work from Home ทำงานอยู่บ้านจากที่ต้องไปต่อคิวแย่งที่นั่งกันในห้างสรรพสินค้าดังทุกวันหยุด ห้างใหญ่ที่เป็นเหมือนพื้นที่แออัดกลับกลายเป็นห้างร้าง หาใครไปเดินไม่ได้ อยู่บ้านทำงาน สั่งอาหารมาส่ง ชอปออนไลน์ หางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำในยูทูป ไม่นับรวมการสวมผ้าปิดปาก การสแกนไทยชนะ และการตรวจคัดกรองก่อนเข้าสถานที่ต่าง ๆ กลายเป็นวิถีปกติใหม่ที่เรียก New Normal

หลายคนยอมรับและเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วเจ้าวิถีปกติใหม่นี้มันเป็นอย่างไร เราต้องปรับตัวอย่างไร…

ก่อนตอบคำถามนี้อาจต้องลองหาคำจำกัดความของคำ 3 คำก่อน นั่นคือ คำว่า “วิถี” คำว่า “ปกติ” และคำว่า “ใหม่” เริ่มจาก “วิถี” แปลว่าสาย แนว ถนน หรือทาง คำว่า “ปกติ” แปลว่าธรรมดาหรือเป็นไปอย่างเคย ส่วน “ใหม่” นั้นแปลว่าเป็นของที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นของที่เพิ่งจะมี รวมแล้วกลายเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตธรรมดาในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้ภาพที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น คือ การที่ต้องยืน เดิน นั่งในที่สาธารณะโดยมีระยะห่างกัน ที่เรียกการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing หรือจะใช้ Physical Distancing ก็ตามสะดวก

แต่หากสืบสาวกันจริง ๆ แล้วจะพบว่า ระยะห่างทางสังคมนี้ ไม่ได้เป็นของที่เพิ่งมีมาจากโควิดแต่อย่างใด มีมานานมากแล้ว อย่างน้อยก็หลายพันปีที่เป็นต้นกำเนิดของการแบ่งชั้นวรรณะของประเทศที่ตั้งในเขตเส้นศูนย์สูตรที่มีอากาศเหมาะกับการก่อโรคติดต่อใหม่ ๆ ขึ้นมา ที่เมื่อเป็นแล้วด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในสมัยนั้นทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก จึงก่อเกิดการแบ่งวรรณะเพื่อป้องกันการเดินทางติดต่อ จะอนุญาตกันก็เฉพาะคนแข็งแรงที่สุดของวรรณะที่จะพบปะเท่านั้น นั่นคือ Physical Distancing แบบโบราณ

ถัดมาในสมัยพุทธกาล 2600 ปีที่แล้วเราก็มีการพูดการสอนเรื่องของการเว้นระยะห่างในสังคมเพื่อป้องกันโรคติดต่อในแบบเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่อิงวรรณะ ภาษาบาลีเขาเรียก “อสังสัคคะ” คือการไม่สังคม ไม่ใกล้ชิดกัน ซึ่งเมื่อขยายจะมีการสอนให้ไม่ใกล้ชิดกันใน 5 ลักษณะคือ

  1. สวนอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันทางการฟัง
  2. ทัศนอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันในการดู การชม
  3. สมุลลปนอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันในการสนทนา
  4. สัมโภคอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันในการบริโภคอาหาร
  5. กายอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันทางการสัมผัสตัว

เป็นอย่างไรครับ เหมือนแนวทางระยะห่างทางสังคมในปัจจุบันไหม? เด็ก ๆ ไปเรียนหนังสือก็ต้องไม่ใกล้ชิดกัน ในการฟังครูบาอาจารย์ต้องนั่งโต๊ะเว้นโต๊ะจนห้องเรียนปกติจุจำนวนนักเรียนได้เพียงครึ่งของจำนวนนักเรียนปกติ จนต้องแบ่งกันมาเรียนสัปดาห์เว้นสัปดาห์ จะไปดูหนัง ดูการแสดง ก็ต้องนั่งเก้าอี้กันตัวเว้นตัว จะไปกินข้าวกันก็ต้องนั่งสลับฟันปลาในโต๊ะเดียวกันหรือมีฉากกั้นกันไว้ จะเดินเหินไปไหนก็ต้องมีระยะห่าง ขึ้นบันไดเลื่อนก็ต้องขั้นเว้นขั้น ขึ้นลิฟต์ก็ต้องกระจาย ๆ กันยืน ไม่อาจอัดเข้าไปเป็นปลากระป๋องแบบแต่ก่อน

ลองไล่เลียงดูดี ๆ ซิครับ จะพบว่ามาตรการนิวนอร์มอลในปัจจุบัน นี่แทบจะเรื่องเดียวกับอสังสัคคะ 5 ข้อในอดีตเลย

นี่ก็เป็นอีกหลักฐานที่แสดงถึงภูมิปัญญาโบราณที่บรรพบุรุษเราใช้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย แต่ด้วยวิถีใหม่ที่ก็คือวิถีปัจจุบันก่อนโควิดนี้ไม่ได้รอบคอบพอจนก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายขึ้นมากจนต้องคิดค้นแนวทางใหม่ที่สุดท้ายก็กลายเป็นแนวทางเดิมนั่นเอง

แต่แม้ไม่ได้เป็นของใหม่จริง เป็นเพียงแต่แปลกไปจากที่คุ้นเดิมก็ไม่ว่ากัน เพราะอย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้หันมาสนใจนัยที่ซ่อนอยู่ที่สำคัญกว่านั้นมากกว่า นั่นคือวิถีแห่งความ “ปกติ”

ที่บอกว่านี่เป็นเรื่องที่น่าให้ความสนใจก็เพราะวิถีปกติที่หมายกันอยู่นี้เป็นเพียงวิถีปกติแบบผิว ๆ เป็นเพียงขั้นตอนการใช้ชีวิตเปลือก ๆ หยาบ ๆ ไม่ใช่วิถีปกติจริงที่ควรนำมาใช้เป็นวิถีจริง

แล้ววิถีปกติจริงนั้นเป็นอย่างไร?…

จะตอบได้ก็ต้องลงไปให้ถึงรากที่แท้จริงของคำว่าปกติ ปกตินั้น แท้จริงแล้วหมายถึงการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การเคารพในสิทธิ์ของกันและกัน ไม่ทำลาย ทำร้ายชีวิต ไม่ลักขโมยทรัพย์หรือของรักของหวง ไม่ดูหมิ่นทำลายเกียรติยศ ความภูมิใจของผู้อื่น หรือจะเรียกอีกอย่างก็ได้ว่าก็คือการมีศีลนั่นเองจะตอบได้ก็ต้องลงไปให้ถึงรากที่แท้

ศีลหรือการไม่ทำสิ่งผิดปกติให้แก่ผู้อื่นด้วยการเบียดเบียนชีวิต (ศีลข้อ 1) ไม่ยักยอกสิทธิ์ครอบครองผู้อื่น (ศีลข้อ 2) ไม่ทำร้ายเกียรติภูมิผู้อื่นด้วยการละเมิดของรักของหวง (ศีลข้อ 3) ไม่บิดเบือนความจริงจนผิดเพี้ยน ผิดปกติ (ศีลข้อ 4) และไม่ทำจิตตนเองให้ผิดปกติด้วยของเมา (ศีลข้อ 5)

นี่คือความเป็นปกติที่แท้ที่ควรสนใจและนำมาใช้ ไม่ว่าจะในยุคก่อนหรือหลังโควิด โควิดจะกลับมาระบาดซํ้าเป็นระลอก 2 ให้คนไม่ต้อง Work from Home แล้ว เพราะไม่มี Home ให้ Work อีกก็ไม่ต้องกลัว

ก็ลองจินตนาการดูว่า หากทุกคนมีทั้งศีล 5 และอสังสัคคะทั้ง 5 ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ วันนี้เราคงไม่ต้องมาหวาดระแวงกังวลอะไรกับโรคร้ายใดอีก เป็นวิถีปกติที่แท้ที่ไม่ต้องมีคำว่าใหม่มาขยายแต่อย่างใด เพราะเป็นวิถีปกติที่เป็นอกาลิโกหรืออยู่เหนือกาลเวลานั่นเองครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา วศ.28


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save