การทำงานของ ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ เลขา สวจ. ผู้มอบแรงกายแรงใจในการพัฒนาคณะวิศวฯ จุฬาฯ


ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร วศ.2527 เลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) เล่าว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการใน สวจ. วาระ พ.ศ. 2565-2566 ได้ทราบว่าพี่ ๆ น้อง ๆ เห็นหอประชุมคณะวิศวฯเก่า เลยมีความคิดอยากปรับปรุงมาหลายรุ่นแล้ว ซึ่งกรรมการสมาคมฯ รุ่นก่อนหน้านี้ได้มีการปรับปรุงหอประชุมไปบางส่วนแล้ว เมื่อคุณศักดิ์ชัยได้เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ จึงได้ชวนให้ผมเข้ามารับตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมฯ โดยปกติแล้วตำแหน่งเลขาธิการและนายกจะมาจากรุ่นเดียวกัน แต่ท่านนายกมีความต้องการอยากให้ผมเข้ามาช่วยงานเรื่องการปรับปรุงหอประชุมนี้ และเคยร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้ในสมัยทำงานให้แก่สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งคุณศักดิ์ชัยรับตำแหน่งนายก ผมรับตำแหน่งเลขาธิการ และผมเองได้รับตำแหน่งนายกฯ ทำงานให้แก่สมาคมฯ ต่อจากคุณศักดิ์ชัยอีก 4 ปี ทำให้รู้มือและรู้ความสามารถซึ่งกันและกัน

ในช่วงแรกผมคิดว่าไม่ค่อยอยากรับตำแหน่งเลขาธิการสมาคมฯ เพราะอยากให้คุณศักดิ์ชัยชวนเพื่อนในรุ่นก่อน แต่สุดท้ายพี่เขาบอกว่าไม่มี และอยากให้ผมรับตำแหน่งนี้ ผมได้ตอบรับเพราะส่วนตัวอยากช่วยคณะ เพราะที่ผ่านมาเราเติบโตและได้เรียนที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ รวมถึงลูกชายทั้ง 2 คน ก็ได้เรียนที่นี่ด้วย จึงอยากทำเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของคณะ

ช่วงเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสมาคมฯ และขั้นตอนการดำเนินงาน

ผมเข้ามาทำงานในช่วงที่กรรมการสมาคมฯ ชุดเก่าได้มีการประกวดแบบค้างไว้ มาถึงรุ่นเราจึงได้ตัดสินว่าจะเลือก Concept ของบริษัทไหน ซึ่งทำให้รู้ว่างานนี้ไม่ง่าย เพราะเพียงเลือกผู้ออกแบบความคิดเห็นยังไม่ตรงกันเลย จึงมอบฉันทานุมัติให้คณบดีและนายกสมาคมฯ เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ และสุดท้ายได้เลือก บริษัท อาคิเตคส์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำจัด (A&A) ซึ่งเป็นบริษัทของพี่บุญเรือง รุ่นพี่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และมีอาจารย์ของคณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นที่ปรึกษาหลายคน ซึ่งเราได้เลือกจากผลงานของบริษัทและเราไม่ทราบมาก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความเอาจริง เอาจังและได้ส่งคนมานำผลงานเสนอมากมาย ในขณะที่บางบริษัทดูไม่มีความน่าไว้วางใจที่จะให้ทำภารกิจใหญ่ที่มีเวลาจำกัดนี้ได้ และสุดท้ายคิดว่าเลือกไม่ผิด เพราะทำผลงานออกมาเป็นที่น่าประทับใจ เพราะหอประชุมเปิดใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ได้รับคำชมจากผู้ใช้งานมากมาย ทั้งอาจารย์ นิสิต และบุคคลภายนอก ทั้งเรื่องความสวยงาม ความสะดวกสบาย และความทันสมัย

การเข้ามาทำโครงการใหญ่ในระยะเวลาที่จำกัด โดยที่ไม่มีเงินมาก่อนเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เราพยายามหาวิธีกันว่าจะทำอย่างไรให้ขั้นตอนเหล่านี้สามารถทำไปพร้อม ๆ กันได้ ทั้งการระดมทุน ออกแบบ และหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้จบภายในรุ่นเราไม่ให้เป็นภาระแก่รุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งนายกสมาคมฯ มีแนวคิดอยากให้องค์กรใหญ่เข้ามาช่วยสนับสนุนโดยให้ติดโลโก้บนผนังภายในห้องประชุม เพื่อเป็นการขอบคุณผู้บริจาคเงินสนับสนุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นการพูดคุยกันในความเห็นชอบจากคณบดี และสำหรับผู้บริจาคเงินสนับสนุน 1 ล้านขึ้นไป จะติดชื่อจารึกไว้ที่ด้านหน้าหอประชุม ผมจึงเสนอให้ติดป้ายชื่อรายนามผู้บริจาคไว้ที่ด้านหลังเก้าอี้ภายในหอประชุมจำนวน 400 กว่าตัว โดยแบ่งเป็น

  • ผู้บริจาคสนับสนุนเก้าอี้ในหอประชุมตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป จารึกชื่อด้านหลังเก้าอี้ แถวที่ 1-3
  • ผู้บริจาคสนับสนุนเก้าอี้ในหอประชุมตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป จารึกชื่อด้านหลังเก้าอี้ แถวที่ 4-6
  • ผู้บริจาคสนับสนุนเก้าอี้ในหอประชุมตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป จารึกชื่อด้านหลังเก้าอี้ แถวที่ 7 ขึ้นไป

Hall of INTANIA

เราได้รับเงินสนับมสนุนมาประมาณ 20-30 ล้านบาท ส่วนชื่อหอประชุมผมได้ขอนายกสมาคมฯ ว่าอยากให้ใช้ชื่อ Hall of INTANIA เพราะผู้สนับสนุนเงินบริจาคทั้งหมดต้องเป็น INTANIA เท่านั้น เราจะไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้เป็น Engineer มาอยู่ที่หลังเก้าอี้ ซึ่งเป็นชื่อที่กระชับและมีความหมาย สำหรับชื่อภาษาไทยเรายังใช้เหมือนเดิม

ช่วงแรกคิดว่าการระดมทุนจากพี่ ๆ น้อง ๆ จะมีผลตอบรับอย่างไร และการหาเงินจากผู้สนับสนุนหลักเริ่มล่าช้า เราจึงเริ่มจากเก้าอี้ก่อน ช่วยกันประกาศและประชาสัมพันธ์ ผ่านไปได้ไม่นานผลตอบรับดีมาก และนายกยังเป็นผู้เริ่มต้นบริจาคเงินสนับสนุนรายละ 1 ล้านบาท รวมถึงได้ชักชวนเพื่อน ๆ และญาติพี่น้องมาร่วมเป็นผู้สนับสนุนในครั้งนี้ สำหรับผู้บริจาคหลักที่เรามองไว้ยังได้สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เข้ามาช่วยจัดกิจกรรมต่าง ๆ และมอบเงินสนับสนุน 10 ล้านบาท ได้เงินรวมประมาณ 16 ล้านกว่าบาท ถือเป็นผู้บริจาครายใหญ่และรายแรก ต่อมา สวจ. ได้สมทบบริจาคเพิ่มอีก 10 ล้านบาท และต่อมาได้รับเงินบริจาคสนับสนุนจาก บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จึงทำให้ยอดเงินจากผู้สนับสนุนเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 4-5 รายชื่อ

จากนั้นเราจึงย้ายโลโก้ของ สวจ. ไปอยู่ที่ระเบียงชั้น 2 แทน รวมเงินบริจาคที่ได้จากผู้สนับสนุนทั้งหมดจำนวน 135 ล้านบาท ซึ่งบริษัทที่ออกแบบมาจะใช้เงินประมาณ 120 ล้านบาท รวมในส่วนของ Metaverse ด้วย ซึ่งเราได้ศึกษาและดูงานแล้วถ้าทำ Metaverse ตอนนี้จะทำให้ใช้งานไม่คุ้มเพราะต้องมีห้องอัด อาจารย์ และเทรนเด็กในการสร้าง Content ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้เรายังไม่พร้อม เพราะถ้าทำตอนนี้อุปกรณ์จะล้าสมัย เราจึงทำหอประชุมให้มีความทันสมัยพร้อมรองรับกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมของเด็ก การแสดงละครเวที รวมไปถึงดูหนัง ฟังเพลงต่าง ๆ พยายามทำให้ครบถ้วน ซึ่งผู้ออกแบบคิดออกมาประมาณ 100 ล้านบาท ใช้เวลาออกแบบประมาณ 3 เดือน เมื่อ A&A ออกแบบใกล้เสร็จเราได้เชิญผู้รับเหมาเข้ามา เพื่องานจะได้ไม่ล่าช้า มีบริษัทที่เป็นเครือข่ายของวิศวฯจุฬาฯ หลายราย และบริษัทที่เคยทำงานกับผู้ออกแบบก็มี เลยให้มีการยื่นซองเพื่อความโปร่งใส เราให้ทุกบริษัทเข้ามายื่นให้เหมือนกันที่ สวจ. และตอนเปิดซองเราก็ให้เจ้าหน้าที่ Consult ที่เราจ้างและเจ้าหน้าที่ สวจ. เปิดซองร่วมกัน ซึ่งผมและนายกสมาคมฯ ไม่ได้เข้ามาดูในส่วนนี้ เพราะเราอยากให้มีความเป็นธรรม มีการแข่งขันกันแบบตรงไปตรงมา ซึ่งท้ายที่สุดโครงสร้างสถาปัตยกรรมได้ผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำสุดที่ 55 ล้านบาท บริษัท แอ็ดว้านซ์ เทคโนโลยี คอนแทรคติ้ง จำกัด โปรไฟล์ดีมีประสบการณ์ทำหอประชุมใหญ่ในเมืองไทยต่าง ๆ 30-40 สถานที่ ซึ่งดูเป็น Specialist ในด้านนี้และได้ราคาที่ถูกกว่าผู้แข่งขันลำดับที่สอง 20 กว่าล้านบาท

ในช่วงนั้นเราอยากประกวดราคาเรื่องระบบโสตฯรวมกับงานโครงสร้างสถาปัตย์ แต่สุดท้ายเรายอมให้มีการเสนอราคาแยกกัน เนื่องจากมีบริษัทของนิสิตเก่าวิศวฯจุฬาฯ อยากเข้าร่วมในการเสนอราคาด้วย แต่โชคดีที่เราได้เจ้าเดิมเสนอราคามาต่ำสุด 19 ล้านบาท รวมแล้วใช้เงินประมาณ 70 กว่าล้านบาท รวมค่าออกแบบแล้วจะตกอยู่ที่ประมาณ 80 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเหลือเงินประมาณ 50 ล้านบาท

ต่อมาเราได้นำเงินในส่วนที่เหลือไปปรับปรุงลานเกียร์ เพราะนายกและรุ่นพี่หลายคนอยากให้ทำ เราจึงจ้างผู้ออกแบบรายเดิมให้ออกแบบเพิ่ม ซึ่งภายหลังเราเรียกว่า ลาน INTANIA รวมทั้งปรับปรุงห้องน้ำอาคาร 3 ใหม่ทั้งหมด 9 ห้อง และห้อง INTANIA Club ที่ทำใหม่ให้ดูสวยงาม น่าใช้งานมากขึ้น และปรับปรุงห้องของมูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ ด้านในให้เป็น Hall of  Fame เพราะห้องเดิมอยู่หน้าห้องน้ำเป็นทำเลที่ไม่ดีจึงไม่ค่อยมีใครเข้าไปเท่าไร จึงขอทำตรงนี้ ให้ผู้ออกแบบออกแบบเพิ่ม เราจะรวบรวมกิจกรรมที่สำคัญของสมาคมฯ นั่นคือ การสรรหา “วิศวจุฬาดีเด่น” ซึ่งแต่ละรุ่นจะทำ 1 ครั้ง เพราะเราจัด 2 ปีต่อครั้ง ผมถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญของสมาคมฯ จึงขอทำห้องนี้ไว้รวบรวมเรื่องราวของวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น และวิศวจุฬาดีเด่น รวมไปถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ระเบียงชั้น 2 อาคาร 3 และปรับปรุงภูมิทัศน์อาคาร 1, 2 และ 3 ทาสีให้สวยงาม ไปพร้อม ๆ กัน รวมแล้วใช้เงินทั้งหมด 155 ล้านบาท ซึ่งเราได้ถามรุ่นพี่หลายท่านที่เคยรับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ทุกคนก็เห็นสอดคล้องกันทั้งหมดกับการปรับปรุงพื้นที่ที่กล่าวมานี้

“ถือว่าที่ผ่านมาเราทำได้ตามเป้าหมายและใส่ใจในความสวยงามเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาตึกในคณะวิศวฯ จุฬาฯ มีจุดด้อยในเรื่องความสวยงาม ตึกที่สร้างใหม่หลายตึกขาดสิ่งเหล่านี้ ความสวยงามตรงนี้ไม่ได้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่รูปทรงและอัตลักษณ์ต้องมี ซึ่งผมมองว่าตึกคณะอักษรฯ เขามีความสวยงาม เราก็ใช้ผู้ออกแบบทีมเดียวกัน เพียงแต่เราต้องไกด์เขาว่าเราต้องการสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในคณะให้มีรูปลักษณ์แบบไหน ซึ่งที่ผ่านมาคณะวิศวฯ อาจมองถึงเรื่องประโยชน์ของการใช้สอยเป็นหลัก สำหรับสิ่งที่สมาคมฯ ชุดนี้ทำเรามองเรื่องความสวยงามเป็นหลักด้วย เราจึงใส่ใจรายละเอียดในทุกเรื่อง”

ความประทับใจ..ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานครั้งนี้

เรื่องแรกที่ผมประทับใจคือความเป็นพี่เป็นน้องของชาว INTANIA ช่วยสร้างพลังมหาศาล ซึ่งผมไม่เคยเข้ามาทำงานใน สวจ. นี่เป็นครั้งแรก แต่ท่านนายกฯ มาเป็นกรรมการก่อนหน้านี้แล้ว เรารู้สึกว่ามีพลังแฝงในความเป็นพี่เป็นน้องอยู่มหาศาลเพียงแต่เราไม่ได้ขยับความสัมพันธ์เหล่านี้ แต่พอมีสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นความจำเป็น เราจึงปรับปรุงและได้รับความร่วมมือจากพี่ ๆ น้อง ๆ มากมาย ด้วยความที่เราเคยร่วมงานกับนายกสมาคมฯ จึงทำให้รู้มือกัน ซึ่งเขาก็รู้ว่าผมทำอะไรได้บ้าง และผมก็รู้ว่าเขาเก่งเรื่องไหนและก็ปล่อยให้เขาทำไป และเรื่องไหนที่เราควรจะรับผิดชอบก็รับผิดชอบในส่วนนั้นไป ซึ่งได้อะไรมากเหมือนกัน และเริ่มรู้ Feedback ตอนที่หอประชุมเสร็จ ได้การตอบรับที่ดี และเราได้เชิญพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ร่วมกันบริจาคมาร่วมงานในวันเปิดหอประชุม เห็นทุกคนดีใจกับเงินที่ได้ส่งมาช่วย สวจ. ในการทำงานครั้งนี้

อุปสรรคระหว่างดำเนินงาน

การปรับปรุงหอประชุมครั้งนี้อุปสรรคมีน้อยเพราะเราปิดพื้นที่ ผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องจะไม่สามารถเข้าไปได้ ผู้รับเหมาดีมาก ใส่ใจ ได้รับคำชมจากคณะมากมาย ซึ่งคณบดีเป็น Backup ที่ดี คอยให้ความช่วยเหลือทุกเรื่อง การทำงานของ สวจ. สำหรับโครงการนี้จึงไม่ติดขัด “หากเราไม่มีคณบดีที่เข้มแข็งแบบนี้ เราอาจจะสะดุดระหว่างการทำงานได้” ถือว่าครั้งนี้ประสบความสำเร็จดีมาก ภาพรวมหลังจากที่หอประชุมสร้างเสร็จก็เป็นที่ยอมรับแก่อาจารย์หลาย ๆ คน และยังเข้ามาพูดคุยและให้ความช่วยเหลือสมาคมฯ ในกิจกรรมอื่นๆ ต่อมาและได้มีการพูดคุยกันในลักษณะชื่นชมกับสิ่งที่สมาคมทำ

สำหรับเรื่องที่ทำยากที่สุดคือ ลาน INTANIA เพราะเป็นพื้นที่เปิด มีคนใช้ประโยชน์ค่อนข้างมาก ทั้งนิสิต อาจารย์ และเป็นพื้นที่ที่เดินผ่านกันมากมาย ซึ่งมี Comment ระหว่างที่ทำค่อนข้างมาก เราต้องมานั่งตอบคำถามต่าง ๆ ว่าจะออกมาเป็นแบบไหน รวมถึงต้องทำไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นจามจุรีที่อยู่ในลาน INTANIA เราก็ต้องดูแลให้ดี เพราะเมื่อเราเปิดพื้นที่ไปพบรากไม้จะไม่สามารถทำเป็นโครงสร้างหลักได้ ต้องเว้นตรงนั้นไว้ ให้น้ำลงไปได้ และมีอากาศจากดินเข้าไป จึงทำให้การทำงานในพื้นที่ลาน INTANIA ไม่ราบรื่นดีเท่ากับหอประชุม เพราะมีองค์ประกอบมาก และการปรับปรุงพื้นที่ที่ผ่านมาก็มีหลายรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ทั้งพื้นคอนกรีต พื้นตัวหนอน พื้นกรวด ซึ่งตอนนี้ปัญหาได้รับการแก้ไขหมดแล้ว

สำหรับสิ่งที่ พี่ศักดิ์ชัย ถนัดคือเรื่องระดมทุน ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เพียงหอประชุมอย่างเดียว ยังได้ปรับปรุงพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งลาน INTANIA ห้องน้ำตึก 3 พื้นที่ระเบียงชั้น 2 ของตึก 3 INTANIA Club และเวทีกับจุดถ่ายรูปของคณะวิศวฯ รวมทั้งได้ตึก 1, 2 และ 3 ที่สวยขึ้นจากการทาสีใหม่ ทำให้ Project การสร้างหอประชุมเพียงอย่างเดียวไปสู่ความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาได้

คณะวิศวฯ จุฬาฯ

กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

กิจกรรมเริ่มจากหอประชุมซึ่งคณะมาขอเปิดใช้ปฐมนิเทศนิสิตใหม่ซึ่งช่วงนั้นหอประชุมเสร็จแล้วประมาณ 80-90% เราจึงให้คณะใช้ไปก่อน และหลังจากที่หอประชุมเสร็จผมจึงบอกนายกสมาคมฯ ว่า อยากลองใช้จัดกิจกรรม Intania Leadership Network 2023 ถือว่าเป็นการทดสอบครั้งใหญ่ ซึ่งเราได้เชิญแขกมาเพื่อดูว่าฟังก์ชันต่าง ๆ ดีไหม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้จัดงานนี้ที่หอประชุม Hall of INTANIA เพราะปกติเราจัดที่โรงแรม ซึ่งครั้งนี้ไม่ต้องเสียค่าโรงแรม และครั้งนี้ยังได้เชิญพี่ ๆ น้อง ๆ มาทดสอบการใช้งาน และกรรมการก็ได้ทดสอบระบบด้วย หลังจากจัดกิจกรรมได้ 2 วัน น้อง ๆ ได้มาขอจัดละครเวที ซึ่งน้อง ๆ ก็ได้เชิญกรรมการสมาคมไปช่วยดู ถือว่าเก่งมาก ๆ

สำหรับหอประชุม Hall of INTANIA ตอนนี้คิวจองใช้งานแน่นมาก นอกจากจะใช้สำหรับการเรียนการสอน อาจารย์ที่มีคลาสใหญ่ ๆ ก็จะมาขอใช้เช่นกัน รวมถึงกิจกรรมเสวนาต่าง ๆ และล่าสุดที่มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ ทำให้เรารู้ว่าระบบโสตดีมาก ๆ เพราะเสียงในภาพยนตร์กระหึ่มมาก โดยเฉพาะช่วงที่ทำให้คนตกใจ เสียงดีมาก เพราะเราได้แจ้งผู้รับเหมาว่าเราขอเลือกใช้ระบบที่ดีที่สุดสำหรับหอประชุมนี้ ซึ่งระบบเสียงที่เราใช้จะเป็นระบบชั้นนำของวงการ

รวมไปถึงตัวเก้าอี้ที่มีความพิถีพิถันในการเลือก เราเลือกแบรนด์โมโตบูกิ ซึ่งต้องสั่งจากญี่ปุ่น ส่วนโต๊ะเลคเชอร์สำหรับเขียนหนังสือเราได้เลือกเป็นระบบเก็บอัตโนมัติ เวลาน้อง ๆ ลืมเก็บโต๊ะเลคเชอร์ก็ต้องสามารถเก็บได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงความพิถีพิถันในการเลือกผ้าของเบาะ ได้เลือกเป็นสีเลือดหมูซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษไม่ลามไฟ ซึ่งเราได้ในราคาที่ไม่แพง แม้ต้องสั่งจากประเทศญี่ปุ่นมา


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2566 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save