Buddhist Ikigai

PASSION กลายเป็นคำยอดฮิต ที่สมัยนี้ไม่ว่าไปพูดกับใครก็ดูจะรู้จัก และเหมือนว่าจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการใช้ชีวิต หลายคนแสวงหาแพสชันด้วยการคิดไปเรื่อย ๆ หลายคนยังไม่ยอมเริ่มทำงานจริงจัง เพราะรอหาแพสชันของตัวให้เจอเสียก่อน หรือหลายคนลาออกจากงานเพราะบอกว่าตนเองนั้นหมดแพสชัน

ได้ยินประโยคทำนองนี้บ่อยมากเสียจนเริ่มนึกฉงน โดยเฉพาะเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตของตัวเองสมัยจบใหม่ ๆ ที่ออกมาเริ่มต้นชีวิตทำงานว่า ต้องรอ ต้องหาแพสชันไหม

คำตอบคือไม่

ไม่แม้แต่จะเคยได้ยินด้วยซํ้า จบมาก็ทำงานไปตามหน้าที่ ตามความถนัด ตามโอกาส คุยกับเพื่อนรุ่นพี่ รุ่นราวคราวเดียวกัน ก็ไม่เคยมีการถามหาสิ่งนี้ จะมีที่ถามกันบ่อยก็จะเป็นคำถามเชย ๆ อย่าง “เราเกิดมาทำไม”

มิได้แย้งว่า การหาแพสชันไม่ดี แม้จะเคยได้ยินผู้รู้ระดับโลกกล่าวว่า แพสชันไม่มีอยู่จริง มีแต่สิ่งที่เป็นความสนใจ (Interest) ที่แปรเปลี่ยนไปตามประสบการณ์และเวลา ครั้งหนึ่งผมจึงตั้งคำถามว่า แม้ยุคสมัยเปลี่ยนความสนใจเปลี่ยนแปลงไป แต่แรงขับเคลื่อนจำเป็นต้องเปลี่ยนด้วยจริงหรือ แรงขับในอดีตคือการรู้จักหน้าที่ รู้ว่าตนเกิดมาเพื่อสิ่งใด เท่านี้ยังเพียงพอหรือไม่ที่จะใช้มันในการดำเนินชีวิต

และความสงสัยนี้ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อในระยะหลัง ๆ เริ่มได้ยินอีกคำฮิตในแวดวงของการพัฒนาตนเองที่มาจากภาษาญี่ปุ่นอย่างคำว่า Ikigai ที่โฆษณาว่า เป็นเครื่องมือในการหาแพสชัน คำนี้ถูกพูดกันอย่างแพร่หลาย กว้างขวาง มีหนังสือแปลออกมาติดอันดับขายดีในแทบจะทุกร้าน จนทำให้ต้องลองไปสำรวจดูว่า อิคิไกคืออะไรกันแน่? และมันทำงานอย่างไร?

ผมได้คำตอบว่า อิคิไก มาจากคำถามด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้สูงอายุที่มีความสุขที่สุดในโลกคือ คุณตาคุณยายที่เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ท่านใช้ชีวิตอย่างไร? ทำไมถึงได้ประสบสิ่งที่เป็นความฝันของคนเกือบทุกคน นั่นคืออายุยืนอย่างมีความสุข เลยมีนักคิดนักเขียนไปสำรวจ วิจัย วิเคราะห์ จนออกมาเป็นอิคิไกที่กล่าวถึง แถมมีหลากหลายเวอร์ชัน ซึ่งที่นิยมกันมากคือ เวอร์ชันของคนสเปน ที่มี 4 องค์ประกอบคือ สิ่งที่รัก สิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่โลกต้องการ และสิ่งที่ทำเงิน

ฟังเผิน ๆ ก็เหมือนจะสมเหตุสมผลอยู่ว่า ได้ทำสิ่งที่รักและทำได้ดี แถมยังเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างฐานะมีเงินเข้ามาเกิดความยั่งยืน ก็น่าจะเป็นสุดยอดของแรงบันดาลใจที่แสวงหา ฉะนั้นต้องใช่แน่ ๆ

แต่หากพินิจให้ดีก็น่าตั้งข้อสังเกตสักนิดว่า วิถีที่ใช้เรียนรู้ถอดรหัสจากผู้สูงวัยที่ไม่ได้ทำงานแล้วอย่างคุณตาคุณยายชาวโอกินาวา แต่ทำไมถึงมีอาชีพที่ทำเงินเข้ามา และยิ่งหากได้พูดคุยกับคนที่เคยไปสัมผัสโอกินาวาจริง ๆ ก็อาจยิ่งงงว่า อิกิไกของเขานั้นไม่เห็นมีพูดถึงเรื่องเงินเลย หรือเอาให้มากกว่านั้น บางคนบอกเอาอิคิไกแบบสเปนไปให้คนโอกินาวาดู ปรากฏว่าเขาก็ไม่รู้จัก และสับสนเอาเสียด้วย เพราะเขาใช้หลัก 5 เสา ประกอบด้วย

  • การเริ่มต้นเล็ก ๆ
  • การได้ใช้ศักยภาพของตน
  • การผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ
  • การอยู่กับปัจจุบัน
  • การมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ

ซึ่งอ่านแล้วนึกไปถึงปรัชญาชีวิตของคนอีกกลุ่มที่เราเชื่อว่าเขาเองก็มีความสุขที่สุดเช่นกัน นั่นคือคนนอร์ดิก ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ที่มีปรัชญา ชิสุ ลากอม ลุกกะ ฮุกกะ ซึ่งมีแก่นคล้าย ๆ กันกับหลัก 5 เสาหรือแม้แต่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยเองก็มาแนวทางเดียวกันนี้ แต่ด้วยกระแสนิยม อิคิไกฉบับ 4 ห่วงจึงไปอิงเอากรอบคิดของทุนนิยมมาใช้เสียมาก

เอาเถิดครับ นั่นคือเรื่องของการตลาดของหนังสือประเภทการพัฒนาตนเอง แต่หากเจาะเฉพาะแก่นของอิคิไกแล้ว พบว่าน่าสนใจมาก ๆ โดยเฉพาะความหมายที่แท้จริงที่มาจาก A reason for being เหตุผลในการมีชีวิตอยู่… หรือการตระหนักรู้ในหน้าที่ของตน ซึ่งสิ่งนี้เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลัง และหากอยากจะเรียกสิ่งนี้ว่าแพสชัน ก็ไม่ผิด แต่เป็นแพสชันที่ทรงพลังมาก เพราะไม่ได้ตอบสนองเพียงความชอบ ความคลั่งไคล้ส่วนตัว ที่อาจเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลาเท่านั้น แต่แพสชันจากการรู้เหตุผลในการมีชีวิตอยู่จะสามารถระเบิดออกไปเป็นคุณค่าต่อสรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลก (และจักรวาล) อย่างประมาณค่ามิได้ แรงนี้มากพอจนไม่มอดไปในชั่วระยะเวลาชีวิตหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องมาค้นหาแพสชันที่เป็น “ความหลงใหล” ไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ

ซึ่งมีความสอดคล้องกับเครื่องมือที่ผมนำมาใช้กับผู้ที่เข้ามาปรึกษาผมตลอดเกือบ 10 ปี โดยผมตั้งชื่อว่า 3 ห่วงเปลี่ยนชีวิต ประกอบด้วย

  • สิ่งที่รัก
  • สิ่งที่ทำได้ดี
  • สิ่งที่เป็นปัญหาสังคม

ฟังดูเหมือนอิคิไกของชาวสเปนไหมครับ
ต้องบอกว่า มีความต่างอย่างมีนัยสำคัญอยู่มาก 2 จุด

จุดแรกคือเครื่องมือของผมไม่มีวง “อาชีพที่ทำเงิน” เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะวงที่ทำเงินจะทำให้เราก้าวเข้าไปสู่ทุนนิยม หลงไปคิดว่า ความยั่งยืนกับเงินเป็นเรื่องเดียวกัน แบบเดียวกับที่คนส่วนใหญ่ในโลกมักหลงไปยึดว่าเงินกับความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน

และข้อสำคัญอีกข้อคือ วงของผมเป็น “ปัญหาสังคม” ไม่ใช่“สิ่งที่สังคมต้องการ” เหมือนอิคิไกของสเปน เพราะคนส่วนมากมักต้องการสิ่งที่ไม่เป็นปัญหา เช่น สุรา เมรัย งานบันเทิง สิ่งมอมเมาต่าง ๆ ทำให้เมื่อนำไปทำเป็นอาชีพแล้วอาจได้เงินแต่มันไม่เติมเต็ม A reason for being หรืออิคิไกของเรา และนั่นทำให้บั้นปลายชีวิต แม้จะสำเร็จ (ในทางโลก) คือรํ่ารวย แต่จิตใจยังคงโหยหาอะไรบางอย่าง ซึ่งสิ่งนั้นคือการตระหนักรู้คุณค่าในตนเอง

บางคนอาจคิดว่า ถ้าใช้ตามนี้แล้วไม่มีเงินจะอยู่ได้หรือ ข้อนี้ต้องเข้าใจว่า การไม่มีวงอาชีพที่ทำเงินเข้ามาไม่ใช่หมายถึงเราไม่เอาเงิน เพียงแต่เรามองว่า เงินนั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่ถ้าจำเป็นก็แสวงหาและเก็บไว้ใช้ไปตามวิถีที่แท้จริงของมัน ไม่ได้ไปให้ค่าและมองว่าเงินเป็นเป้าหมายหลักตั้งแต่ต้น

นี่ล่ะครับ เครื่องมือที่ผมนำเสนอ ซึ่งไหน ๆ แบ่งปันกันแล้ว นอกจากหลักการก็ขอลงถึงวิธีการนำไปใช้ด้วย ซึ่งไม่มีอะไรมากครับ เพียงหาสิ่งที่ร่วมกันระหว่างใจรัก ทำได้ดี และปัญหาสังคมที่เราสนใจหรืออินนั่นเอง ได้สิ่งไหนก็คืออิคิไกของเรา เพียงแต่จากประสบการณ์ของผมที่แนะนำเครื่องมือนี้ให้แก่ผู้สนใจมากกว่า 10 ปี พบว่า มีจำนวนเกินครึ่งที่ไม่สามารถหาความร่วมกันครบทั้ง 3 วงได้ ซึ่งวิธีการที่ใช้ก็คืออนุญาตให้เอาออกได้ 1 วง

“วงไหนดีครับ?”
หลายคนตอบเอาวงปัญหาสังคมออก
หลายคนตอบเอาวงทำได้ดีออก

คำตอบคือผิดครับ วงที่ต้องเอาออกคือวงใจรัก เหตุผลก็เพราะใจคนเราเปลี่ยนง่ายที่สุด วันนี้เราไม่รักสิ่งนี้อาจเพราะเรายังไม่เคยมีประสบการณ์กับมัน เรายังไม่เห็นคุณค่าที่มันมี หรือเรายังไม่เคยเจอ และนี่เองที่ทำให้เด็กๆ สมัยนี้ถึงหาแพสชันไม่พบ ก็เพราะเขาอาจยังไม่เคยรู้จักมัน ฉะนั้นวงใจรักจึงเป็นวงแรกที่ต้องเอาออก

อ่อ…แล้วไม่ต้องคิดว่าจะไปขัดกับที่เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่สอนมาว่า ให้ทำสิ่งที่รักแล้วจะสำเร็จนะครับ การเอาออกไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่รัก เพราะด้วยกลไกที่เมื่อเราเจอว่า เราอินกับปัญหาไหนแล้ว เราใช้ความสามารถเราในการแก้ปัญหานั้นให้ผู้คนได้จะทำให้เราตระหนักรู้คุณค่าในตนเองและเกิดเปน็ ความรักในแบบที่เรียกว่า “ฉันทะ” ขึ้นมา ฉันทะคือความพึงใจในสิ่งที่ตนทำไม่ใช่ “ตัณหา” ความหลงใหลตามใจอยากที่เลื่อนลอย

เสริมอีกนิด เพราะแม้ถอดออก 1 ห่วง เหลือเพียง 2 ห่วงแล้วก็ยังมีคนที่ไม่เจออิคิไกอยู่ไม่น้อย คือยังไม่มีอะไรร่วมกันอีก ให้ทำเช่นเดิมคือถอดออกได้อีก 1 วง นั่นคือวงสิ่งที่ทำได้ดี เพราะความสามารถเราฝึกกันได้ เรียนรู้กันได้ วันนี้ยังทำได้ไม่ดี แต่ถ้าจะทำจริงเราก็สามารถฝึกปรือได้ ซึ่งความมุมานะที่จะตั้งใจทำจริงนี้ เกิดจากการได้รู้สึกว่าตนกำลังจะได้แก้ปัญหาที่เราอินนั่นเอง

สรุปคือ แรงบันดาลใจต้องมาจากการรู้คุณค่าในตนเองซึ่งเกิดจากการได้ช่วยคนอื่นที่จะทำให้เราขยันพากเพียร และเมื่อเห็นผลว่า สิ่งที่เราทำเกิดประโยชน์ต่อผู้คนก็จะเกิดใจรักตามมา เป็นวงล้อแห่งอิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา

นี่ล่ะครับ บุดดิสต์ อิคิไก
แรงบันดาลใจของชาวพุทธ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา วศ.28


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save