ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ วศ.29 อธิการบดีกับการพัฒนานวัตกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ วศ.29 อธิการบดีกับการพัฒนานวัตกรรม


ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มรับตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2559 จากนั้นก็ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจทำงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถ โดยมีวิสัยทัศน์ว่า จุฬาฯ จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีพันธกิจ 4 ข้อ คือ

  1. สร้างบัณฑิตที่มีความสามารถด้านวิชาการ มีทักษะทันสมัย มีจิตสาธารณะและมีความเป็นผู้นำ
  2. บุกเบิก บูรณาการองค์ความรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการเรียนการสอนและวิจัย
  3. สร้างผลงานวิชาการและวิจัยในระดับนานาชาติ
  4. นำความรู้ไปขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและสังคมไทยอย่างยั่งยืน

เพื่อให้พันธกิจบรรลุเป้าหมาย จึงได้มีการกำหนดผลสัมฤทธิ์และยุทธศาสตร์หลัก 4 ประการคือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างคน (Human Capital) ผลสัมฤทธิ์ คือ บัณฑิตที่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพและเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลกและประชาคมจุฬาฯ เป็นสังคมแห่งการสร้างสรรค์และมีสุขภาวะ (Creative & Enabling Community) ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ สร้างสรรค์องค์ความรู้ และนวัตกรรม (Knowledge & Innovation) ผลสัมฤทธิ์ คือ งานวิจัยและวิชาการ ที่ชี้นำและขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมไทยและสังคมโลก (Pioneering High Impact Research & Scholarship) ระบบนิเวศนวัตกรรมที่รองรับการพัฒนาทางวิชาการและการพัฒนาประเทศ (Innovation Ecosystems) และการบริหารจัดการที่ปรับเปลี่ยนให้มีความคล่องตัว มีคุณภาพและประสิทธิภาพ (Transformed Management Systems) ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างเสริมสังคมไทย (Local Transformation) และยุทธศาสตร์ที่ 4 : ก้าวไกลในสังคมโลก (Global Benchmarking) ผลสัมฤทธิ์ คือ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่เชื่อมโยงกับสังคมไทยและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ (Localization &Internationalization)

ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ วารสารอินทาเนียได้ขออนุญาตเข้าพบ ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เพื่อพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมซึ่งเป็น 1 ในยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งที่ผ่านมา จุฬาฯ ถูกจับตามองเป็นอย่างมากในเรื่องการพัฒนานวัตกรรม เพราะเป็นสถาบันที่อุดมไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในแต่ละปีมีงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาจำนวนไม่น้อย แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้น่าพึงพอใจหรือไม่ อย่างไร

ศ. ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจุฬาฯ นั้น เราเน้นใน 4 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องคน นวัตกรรมการเข้าถึงสังคมไทย และการก้าวไปสู่สังคมโก ซึ่งเรื่องของนวัตกรรมนั้น คณะต่าง ๆ ในจุฬาฯ ก็ดำเนินการมาตลอด คณะวิศวฯ เป็นคณะแรก ๆ ที่ได้นำนวัตกรรมมาเผยแพร่สู่วงกว้าง โดยจัดงาน Engineer Expo เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้นำงานวิจัยของคณาจารย์และนิสิตมาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้เข้าชม การจัดงานครั้งนั้นถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

แต่สำหรับสังคมโดยรวมนั้น นวัตกรรมเป็นคำที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้เอง ได้มีการสุ่มสำรวจผลงานที่เข้าข่ายเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย ปรากฏว่า นวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอด หรือที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างสูงนั้นยังมีอยู่น้อย อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีศักยภาพที่ดี มีโอกาสพัฒนาต่อได้ และยังมีนวัตกรรมบางชิ้นที่มีความน่าสนใจแต่ต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดเพิ่ม

เรื่องอื่น ๆ นั้นก็มีการก้าวหน้าไปพอสมควร โดยจุฬาฯ เปิดโอกาสให้คนภายนอกได้เข้าถึงองค์ความรู้ของจุฬาฯ มากขึ้น รูปแบบการเรียนการสอนในจุฬาฯ ก็เปลี่ยนไปจากแนวติดที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อสถาบัน เพื่อคณะ เพื่อบุคลากรในจุฬาฯ เป็นหลัก ก็เปลี่ยนเป็นทำเพื่อสังคมมากขึ้น เปิดตัวสู่สังคมไทยและสังคมโลกมากขึ้น จุฬาฯ ถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นการยกระดับจุฬาฯ ยกระดับคณะ งานวิจัยก็จะมีหลากหลายมากขึ้น และมีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ต้องได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เพียงพอและจริงจัง เพราะศักยภาพ ภายในประเทศหากได้รับการสนับสนุนก็จะเดินหน้าได้เร็วขึ้น

ส่วนจุฬาฯ ได้เปิด Open Innovation Center ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ หน่วยงาน อาทิ การไฟฟ้านครหลวง บริษัท Thai Bev. บริษัท KBTG ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ เป็นสถานที่ที่ให้คนมีความคิดและคนที่สามารถผลิตและขายได้มาพบกันเป็นสถานที่ซึ่งแสดงนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตสำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นก็เน้นให้นิสิตมีความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้นิสิตรู้จักเรียนรู้ เริ่มจากสิ่งที่อยากรู้ เมื่ออยากรู้ก็อยากเรียนเมื่ออยากเรียนก็จะทำให้เรียนได้สนุกและอยากเรียนรู้มากขึ้น หลักสูตรก็ต้องปรับเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน แต่การปรับหลักสูตรก็ต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้ทันที

นอกจากนั้น การผลิตบัณฑิตกับการปรับหลักสูตรต้องไปพร้อมกัน สถาบันการศึกษาก็ต้องฟังเสียงภาคเอกชนด้วยว่า ต้องการบุคลากรที่มีคุณสมบัติอย่างไร งานอะไร ที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาอาจจะผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการ บางสาขาผลิตมาจำนวนมาก แต่ความต้องการในตลาดน้อย ในขณะที่บางสาขาวิชา ตลาดต้องการจำนวนมาก แต่สถาบันการศึกษากลับจำเป็นต้องจำกัดการเรียนการสอน จำกัดจำนวนคนเรียน ให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลา และต้องการมีคนที่เข้าใจ บริหารเก่งและมีเวลาทำงานต่อเนื่อง

ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

ปี 2561 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของชาวจุฬาฯ

“ผมไม่ได้หวังว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งหรือทุกคน แต่เป้าหมายคือการมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความกระตือรือร้น มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นกลุ่มคนตัวอย่างหรือทัพหน้า อาจมีเพียง 10% แต่คนกลุ่มนี้จะเป็นตัวอย่าง และเป็นแรงผลักดันให้คนอื่น ๆ เริ่มทำตาม” คำกล่าวนี้ท่านอธิการบดีได้กล่าวไว้เมื่อ พ.ศ. 2559 ผ่านมา 2 ปี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ศ. ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ตลอด 2 ปี ผมพอใจกับการเปลี่ยนแปลงในจุฬาฯ ประมาณ 40% ที่ผ่านมาเหมือนเป็นการปรับพื้นฐานมากกว่า พ.ศ. 2561 นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงในจุฬาฯ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งอาจจะสร้างความไม่พอใจให้แก่คนบางกลุ่ม เพราะการเปลี่ยนจากเรื่องเดิม ๆ ไปสู่เรื่องใหม่ ก็ต้องมีผู้ได้รับผลกระทบบ้าง แต่เพื่อจุฬาฯ เพื่ออนาคตโดยรวมก็ต้องยอมรับ เชื่อว่าหากทำสำเร็จ จุฬาฯ ก็จะพัฒนาไปอีกไกล

นอกจากนั้นยังจะเป็นตัวอย่างให้แก่สถาบันอื่น หรือหน่วยงานอื่นพิจารณาเมื่อจุฬาฯ ทำได้ เขาเหล่านั้นก็ทำได้เช่นกัน

สุดท้าย ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าวยํ้าว่า จุฬาฯ มีพื้นฐานที่ดี มีคนเก่งอยู่มาก แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีของสถาบัน และประเทศชาติ สังคมโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จุฬาฯ ต้องก้าวให้ทัน ถ้าก้าวไม่ทันเราก็จะถูกปล่อยให้ล้าหลัง และเมื่อล้าหลังนาน ๆ ไปก็จะล้มหายไปตามกาลเวลา

“ผมเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าเราต้องทำได้ เชื่อมั่นในความร่วมมือของพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวจุฬาฯ ที่ร่วมงานกันมาเป็นเวลานาน และเชื่อมั่นในความเป็นคนจุฬาฯ ว่า “นํ้าใจน้องพี่สีชมพู” จะช่วยกันขับเคลื่อนจุฬาฯ และสังคมไทยให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง”


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2561 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save