สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 มีการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชุดวาระปี 2559-2560 ผลปรากฏว่า สรัญ รังคสิริ วศ.18 ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ สืบต่อจาก นำชัย หล่อวัฒนตระกูล วศ.17
จากนั้นได้มีพิธีรับ-ส่งมอบงานอย่างเป็นทางการ คณะกรรมการสมาคมฯ ชุดใหม่ก็เริ่มทำงานอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สมาชิกสมาคมฯ และบุคคลทั่วไป ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็ถึงกำหนดที่คณะกรรมการชุดปี 2559-2560 จะหมดวาระลง
สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้จึงขอนำบทสัมภาษณ์ คุณสรัญ มาเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกันถึงการทำงานว่าได้ดำเนินการในเรื่องใดบ้าง และมีเรื่องใดที่คาดหวังให้คณะกรรมการชุดใหม่สานต่อเพื่อเสริมสร้างให้สมาคมฯ เข้มแข็งและเติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ภาคภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ
สมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสื่อสาร และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีร่วมกันระหว่างสมาชิกกับคณะ ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลสมาชิก ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของคณะในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งมากว่า 104 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้หล่อหลอมนิสิตชายหญิงให้กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมจนเป็นที่ยอมรับ ด้วยชื่อเสียงและความสามารถของนิสิตเก่าดังกล่าว ทำให้สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการยอมรับว่ามีสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่น ประกอบคุณงามความดีแก่สังคมและประเทศชาติ
“ด้วยเกียรติประวัติของคณะและสมาคมฯ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่นายกสมาคมฯ ที่เปรียบเสมือนเข้ามาเป็นตัวกลางคอยเชื่อมความสัมพันธ์และสนับสนุนพี่ ๆ น้อง ๆ ชาววิศวฯ จุฬาฯ ทุกคน ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ได้เข้ามารับตำแหน่ง ก็ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับพี่ ๆ น้อง ๆ มากมาย ผ่านกิจกรรมของสมาคมฯ เอง ทั้งทางด้านวิชาการ ด้านกิจกรรมสัมพันธ์ หรือผ่านกิจกรรมที่ร่วมกับทางคณะ ได้ให้การสนับสนุนน้อง ๆ นิสิตปัจจุบันในอีกหลาย ๆ กิจกรรม เช่น กิจกรรมค่ายยุววิศวกรบพิธ กิจกรรม ค่ายอินทาเนียอาสาพัฒนา ทุก ๆ ครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ สิ่งที่ทำให้ผมดีใจมากที่สุดก็คือ การที่ได้เห็นน้อง ๆ พี่ ๆ ชาววิศวฯ จุฬาฯ ทุกคน แสดงถึงความตั้งใจดีในการที่จะช่วยกันสร้างสิ่งดี ๆ ให้แก่สังคมไทย เสริมสร้างโครงข่ายที่เข้มแข็งเพื่อพัฒนาประเทศชาติของเรา”
ผลงานที่โดดเด่นนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ
การทำงานของสมาคมฯ ประกอบไปด้วยหลายฝ่าย อาทิ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ มีเป้าหมายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับคณะ ฝ่ายวิชาการ มีเป้าหมายให้การส่งเสริมศึกษาวิจัยและเผยแพร่วิทยาการของคณะ และฝ่ายจัดหารายได้ เป็นฝ่ายที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อหารายได้ไว้คอยสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของทั้ง 2 ฝ่ายที่กล่าวมา ตลอดระยะเวลา 2 ปี คณะกรรมการสมาคมฯ ได้ทำงานอย่างเต็มที่แต่ละฝ่ายมีกิจกรรมที่โดดเด่นแตกต่างกันไปตามหน้าที่รับผิดชอบ
ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ ได้ริเริ่มโครงการ Intania Young Alumni ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มนิสิตเก่าที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ Intania รุ่น 82-96 รวมถึงได้เชิญนิสิตปัจจุบันที่กำลังศึกษาอยู่ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย
นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีสำหรับการจัดงาน Intania Chula Mini Marathon (ICMM) ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แต่ละปีมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นตามลำดับ ล่าสุดที่จัดเมื่ดเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกว่า 6,000 คน ในส่วนของกิจกรรมบริจาคโลหิต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายในการรับบริจาคโลหิตให้ได้จำนวน 1,000,000 ซีซี ก่อนงานจุฬาฯ 100 ปี ผลจากการทำงานร่วมกันและมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่ามีผู้บริจาคโลหิตในโครงการถึง 1,500,000 ซีซี เรียกได้ว่าสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้
ในส่วนของฝ่ายวิชาการนั้น ได้สานต่อโครงการ Intania Leadership Network หรือ ILN ได้เชิญพี่ ๆ น้อง ๆ นิสิตเก่าที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานมาร่วมแบ่งปันความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งเรื่องส่วนตัวที่น่าสนใจให้แก่สมาชิกโครงการ โดยมีการจัดงานจำนวนทั้งสิ้น 23 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ปี หรือเกือบทุกเดือน ในแต่ละครั้งก็จะมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ หัวข้อ Modernizing องค์กรและ Rebranding ผลิตภัณฑ์, Fintech Block Chain หรือสุขภาพสร้างได้ด้วยวิศวกรรม
นอกจากสานงานต่อโครงการเดิมแล้ว ฝ่ายวิชาการได้ริเริ่มโครงการใหม่ ๆ คือโครงการ “Co-working Space” ภายใต้โครงการหลัก IOIC ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ คณาจารย์ นิสิตเก่า หรือนิสิตปัจจุบัน ที่สนใจตั้งบริษัท Start Up มาแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ร่วมกัน โดยมีพี่ ๆ คอยเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งร่วมทุนด้วย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ที่บริเวณชั้น 6 อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬาฯ
นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังให้การสนับสนุนงานวิจัยของคณะอื่นภายใต้โครงการ “Research to Commercial” เช่น โครงการ Haxter Robotic, โครงการ Meticuly หรือ กระดูกไททาเนียม และโครงการ JuiceInnov8 หรือ นํ้าผลไม้นํ้าตาลดีที่นิสิตของคณะวิศวฯ นำมาต่อยอดด้วยกระแส “Entrepreneurship” ต่อคนรุ่นใหม่
ทางฝ่ายวิชาการได้สนับสนุนการจัดงานสำหรับนิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น Bangkok Innovation House, Block chain and IoT., IOIC Business Entrepreneurship, Sipa Business Workshop, Designer Thinking Workshop
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะดำเนินการไม่ได้ถ้าไม่มีรายได้มาสนับสนุน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ฝ่ายจัดหารายได้ และกิจกรรมพิเศษ กิจกรรมของฝ่ายจัดหารายได้มีมากมาย กิจกรรมหนึ่งที่สานต่อจากคณะกรรมการรุ่นก่อน ๆ คือ การจัดกิจกรรม Dinner Talk และกอล์ฟการกุศล ซึ่งสามารถหาเงินเข้าสมาคมได้ปีละหลายล้านบาท
จากกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคณะทำงานของแต่ละฝ่ายคณาจารย์จากคณะฯ นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และอีกหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งผู้ให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ทุกคนมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการวาระปี 2559-2560 สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ต้องเร่งเพิ่มจำนวนสมาชิกสมาคมฯ และต่อยอดงานวิจัยของคณะ
จากข้อบังคับการตั้งสมาคมฯ ที่สมาชิกของสมาคมจะต้องลงทะเบียนโดยตรงจึงจะถือเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ทางคณะกรรมการสมาคมฯ จึงพยายามสร้างช่องทางที่สะดวกที่สุดเพื่อให้พี่ ๆ น้อง ๆ ชาววิศวฯ จุฬาฯ ได้ลงทะเบียนสมัครสมาชิกสมาคมฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนัก ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกที่สมัครมาแล้วประมาณ 4,000 คน หรือประมาณ 10-15% ของนิสิตเก่าทั้งหมดเท่านั้น ยังมีนิสิตเก่าอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ทราบหรือยังไม่ได้สมัคร จึงอยากฝากให้คณะกรรมการชุดต่อไปดำเนินการสร้างฐานข้อมูลสมาชิก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมต่อไป นอกเหนือจากโครงการเดิมที่ได้สานต่อมาจากคณะกรรมการชุดก่อน ๆ
นอกจากนี้อยากฝากให้ดูแลเรื่องงานวิจัยของคณะ เนื่องจากงานวิจัยของทางคณะที่สามารถนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ยังมีน้อย จึงอยากจะฝากกิจกรรม “Research to Commercial” ให้ทางคณะกรรมการชุดใหม่ช่วยต่อยอดต่อไปด้วย
ทำงานเป็นทีมและเดินสายกลาง คือเคล็ดลับความสำเร็จ
หลักการทำงานที่ยึดถือมาตลอดคือเดินสายกลาง รับฟังความเห็นของเพื่อนร่วมงาน หาทางออกร่วมกัน หาจุด Win-Win Solutions ให้เจอ ทำงานเป็นทีม ให้เกียรติและเคารพความคิดเห็นของกันและกัน แรก ๆ เราอาจไม่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เราต้องการ แต่เมื่อทีมเดินหน้าได้ เราได้รับการยอมรับมากขึ้นได้รับความไว้วางใจจากคนรอบข้างมากขึ้น เมื่อนั้นเราก็จะสามารถผลักดันงานยาก ๆ ให้สำเร็จได้ดังตั้งใจ
วิศวกรที่รู้จักปรับใช้ศาสตร์ด้านอื่นมาใช้
วิศวกรส่วนใหญ่เราถูกฝึกให้ทำงานเพื่องาน มองผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง โจทย์ยิ่งยาก เรายิ่งชอบ เพราะถือว่ามันท้าทายความสามารถของเรา แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงหลาย ๆ ครั้งเราเจอโจทย์ผิด ๆ บ้าง โจทย์ประเภทอะไรเอ่ยบ้าง เราก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน มันฝืนตรรกะที่เราเคยชิน ดังนั้น วิศวกรจึงต้องรอบรู้ในเรื่อง Soft Side ไว้บ้าง แก้ปัญหาในมุของรัฐศาสตร์บ้าง ผ่อนหนักผ่อนเบาบ้าง ก็จะช่วยให้ชีวิตการทำงานในบางช่วงของเราผ่านวิกฤติไปได้ และพาเราไปถึงเป้าหมายสุดท้ายได้ไม่ยาก ขอฝากให้เป็นข้อคิดไว้ด้วย
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2561 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ