มาพบกันเช่นเคยในรายการพูดจาประสาช่างทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ระบบ FM 101.5 MHz ทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 08.30 – 08.55 น. รายการพูดจาประสาช่างจัดสัปดาห์ละครั้ง และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน สมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะรับหน้าที่เชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียง และเกี่ยวข้องในวงการวิศวกรรมมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจในเรื่องการประกอบอาชีพ แนวทางการแก้ไขปัญหาประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมต่าง ๆ
ในสัปดาห์นี้ได้รับเกียรติจาก คุณประสงค์ ธาราไชย วศ.2507 ประธานกรรมการ บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีพีเอส ดีไซน์ จำกัด อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2551-2553 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการจรรยาบรรณสภาวิศวกรสมัยที่ 7 และที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.2515 ผู้ดำเนินรายการ ร่วมพูดคุยถึงประเด็น “จรรยาบรรณของวิศวกร และเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพของวิศวกร”
หน้าที่และบทบาทของสภาวิศวกรที่มีต่ออาชีพวิศวกร
คุณประสงค์ ธาราไชย กล่าวว่า สภาวิศวกรมีหน้าที่ในการออกใบอนุญาต และควบคุมการประกอบวิชาชีพให้เป็นไปตามสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ วิศวกร ซึ่งวัตถุประสงค์ของสภาวิศวกรมีหน้าที่ส่งเสริม การศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยวิชาชีพวิศวกรรมมี 2 ระดับ คือ ระดับควบคุม และระดับไม่ควบคุม ส่วนมากคำถามที่มักถามบ่อยว่า “อะไรคือวิชาชีพวิศวกรรม” คำว่าวิชาชีพวิศวกรรมมีบัญญัติอยู่ในมาตรา 4 ของ พรบ. วิศวกร โดยมีนิยามไว้ว่าวิชาชีพวิศวกรรม คือ งานวิศวกรรมในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเหมืองแร่ และวิชาชีพวิศวกรรมอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง และเดิมกำหนดวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมไว้จำนวน 5 สาขา ต่อมาภายหลังกฎกระทรวงได้เพิ่มอีก 2 สาขา คือ วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม รวมเป็น 7 วิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพวิศวกรควบคุม ต่อมาได้เพิ่ม 17 วิชาชีพสาขาวิชาชีพวิศกรรมที่ไม่ควบคุมแต่เป็นวิศวกรรมส่งเสริม เช่น วิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมปิโตรเลียม เป็นต้น รวมเป็น 24 สาขาวิชาชีพวิศกรรม โดยควบคุม 7 สาขา
รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ กล่าวว่า เคยค้นหาใน Google พบว่าสาขาของวิศวกรรมศาสตร์ที่สอนในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีทั้งหมด 65 สาขา ซึ่งมีจำนวนที่เยอะมาก มีแม้กระทั่งวิศวกรพลังงานใต้พิภพ ต่อไปเราคงขยายให้ครอบคลุมเป็นสาขาส่งเสริมให้เป็นไปในลักษณะแบบนั้น
คุณประสงค์ ธาราไชย กล่าวว่า ถ้าไม่บัญญัติในกฎหมายว่าเป็นวิชาชีพวิศวกรรม แสดงว่าไม่ได้เป็นวิชาชีพวิศวกรรม และบุคคลใดที่ปฏิบัติงานวิศวกรรมพลังงานใต้พิภพ ก็ไม่ใช่วิศวกร แต่ถ้าเราพูดว่าเป็นวิศวกรรมพลังงาน ซึ่งเป็นวิศวกรรมส่งเสริม หมายความว่าอนุญาตให้ทำได้ วัตถุประสงค์ ควบคุมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้คุมเพื่อผลประโยชน์ของวิศวกร
“ฟังแล้วอาจเปรียบเสมือนการทำงานปิดทองหลังพระ เพราะถ้าทำแล้วดีจะไม่มีใครมองเห็นความดี แต่ถ้าทำไม่ดีจะเห็นผลชัด เพราะฉะนั้นท่านจงภูมิใจเถอะที่ได้ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
ประเภทและสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาชิกสภาวิศวกร สมาชิกของสภาวิศวกรโดยรวม มี 4 ประเภท คือ
- สามัญ
- วิสามัญ
- กิตติมศักดิ์
- นิติบุคคลสมาชิก
การสมัครเป็นสมาชิกเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าให้ความสำคัญกับวิชาชีพนี้ และภาคภูมิใจในเกียรติของวิชาชีพ ซึ่งมีและใช้มาตรฐานการประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ เมื่อมีเกณฑ์ กฎเกณฑ์ และใช้อยู่ก็ต้องปฏิบัติตาม ถ้าเริ่มล้าสมัยก็ปรับกฎเกณฑ์เพื่อให้ทันสมัย การทำงานของวิศวกรอาจเกิด Error เป็นเรื่องปกติ จึงต้องมีมาตรฐานเป็นหลักปฏิบัติที่สามารถยอมรับได้ หลักปฏิบัติจึงมีหลายมาตรฐานตามบริบท และประเภทตามความเหมาะสม ดังนั้นจึงมีกฎของแต่ละมาตรฐานซึ่งต้องทำความเข้าใจเพราะนี่คือ หลักการพื้นฐาน
หลักการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม การประกอบวิชาชีพวิศวกรรมต่างกับอาชีพทั่วไปอย่างไร วิชาชีพ คือ อาชีพที่ใช้วิชา มีองค์ประกอบอยู่ 4 เรื่อง คือ
- มีและใช้ปัญญา
- มีจรรยาบรรณ เป็นหลักปฏิบัติทั้งหมด 25 ข้อ
- ต้องมีหลักปฏิบัติ ดังนี้
3.1 ต้องมี Code of Services
3.2 มาตรฐานการประพฤติปฏิบัติ Code of Conduct
3.3 มี Code of Practice
3.4 มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คอยเติมเต็มความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ให้ทันสมัยเสมอ
3.5 มี CSR : Corporate Social Responsibility - ต้องมีใบอนุญาต
การละเมิดหลักเกณฑ์หรือจรรยาบรรณของวิชาชีพวิศวกรรมจะเกิดผลอย่างไร คุณประสงค์ ธาราไชย กล่าวว่า ความผิดจะมีอยู่ 3-4 เรื่อง คือ
- อาญา
- แพ่ง
- วิชาชีพ
- วินัย
ของเราเป็นวินัยซึ่งเขียนไว้ว่า จรรยาบรรณ เปรียบเสมือนศีลและธรรมประจำวิชาชีพ คำว่า บรรณ แปลว่า หนังสือ ซึ่ง 25 ข้อ ที่เขียนไว้เป็นตัวหนังสือเป็นต้นว่า ห้ามทำเกินความสามารถ ไม่รังแกสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จรรยาบรรณสอนกันมาตั้งแต่ประถมแล้ว พอมาเป็นวิศวกรเรามีการอบรมในเรื่อง 1.ความรู้เกี่ยวกับความพร้อมในเรื่องกฎหมาย 2.จรรยาบรรณ 3.ความปลอดภัย 4.สิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นก็จะมีการวัดผลจึงจะสามารถเข้าสอบได้ หากไม่เข้าใจจะสอบตก และให้สอบใหม่จนกว่าจะสอบได้ ซึ่งเป็นการปลุกจิตสำนึกและกระตุ้นว่าเรื่องนี้สำคัญ ในส่วนของบทลงโทษจะมีทั้งหมด 5 ระดับ คือ
- ยกข้อกล่าวหา
- ตักเตือน
- ภาคทัณฑ์
- พักใช้ใบอนุญาต
- เพิกถอนใบอนุญาต
แต่ถ้าไม่ใช่วิศวกรแล้วปฏิบัติงานโดยไม่มีใบอนุญาตก็ผิดกฎหมายแม่บท คือ พระราชบัญญัติวิศวกรมาตรา 45 ซึ่งเป็นการผิดอาญา กติกาสำหรับวิศวกรก็จะลงโทษอย่างที่กล่าวมา หากถ้าถูกถอนใบอนุญาตแล้ว และต้องการทำใหม่ก็ต้องสอบ และพิสูจน์ตัวเองใหม่ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ยกตัวอย่าง Case ตึกพังก็ต้องพิสูจน์ว่าตึกพังเพราะอะไร ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะความประมาทจากการปฏิบัติงานของวิศวกร 6 อย่าง คือ งานให้คำปรึกษา งานวางโครงการ งานออกแบบคำนวณ งานควบคุมการก่อสร้าง งานพิจารณาตรวจสอบ งานอำนวยการใช้ ส่วนประเภทงานควบคุมก็จะระบุอยู่ในกฎกระทรวงที่เราจำต้องรู้ว่าควบคุมอยู่
รศ. ดร.ปริทรรศน์ กล่าวว่า มีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจแต่เนื่องด้วยเวลาที่จำกัดอาจจะต้องเชิญท่านมาพุดคุยใหม่ในครั้งหน้า วันนี้ทางสมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอขอบพระคุณ คุณประสงค์ ธาราไชย วศ.2507 ที่ได้ให้เกียรติมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณของวิศวกร การประกอบอาชีพวิศวกร ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ รายการพูดจาประสาช่างขอยุติแต่เพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ…