เปิดโฉมใหม่หอประชุมวิศวฯ จุฬาฯ “Hall of INTANIA” ปรับใหญ่ในรอบ 57 ปี จากใจพี่นายช่างถึงน้องนิสิต


กองบรรณาธิการวารสารอินทาเนียมีโอกาสได้พูดคุยกับ “พี่หนู” ศักดิ์ชัย ยอดวานิช วศ.2524 นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) ถึงที่มาของอภิมหาโปรเจ็กต์แห่งปี “โครงการปรับปรุงหอประชุมตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์” ตามที่ สวจ. ได้จัดประชุมคณะกรรมการฝ่ายสานสัมพันธ์ของสมาคมฯ ครั้งที่ 1/2565 ณ ตึก 100 ปี วิศวฯ จุฬาฯ ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้เชิญตัวแทนรุ่นพี่ วศ. แต่ละรุ่นให้เกียรติเดินทางมาร่วมประชุมกันคับคั่ง โดยคุณศักดิ์ชัยได้เล่าถึงโครงการเร่งด่วนนี้ที่สมาคมฯ ตั้งใจผลักดันและขับเคลื่อนให้สำเร็จเสร็จสิ้นได้ก่อนถึงเดือนสิงหาคมศกหน้าเพื่อต้อนรับน้อง ๆ วศ.2566 ได้ทันใช้ประกอบการเรียนเป็นรุ่นแรกให้พี่ ๆ ฟังและยังหวังใจให้เป็นหอประชุมวิศวฯ จุฬาฯ โฉมใหม่ที่เพียบพร้อมที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สำหรับหอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหอประชุมขนาดใหญ่ รองรับผู้เข้าประชุมได้ถึง 500 คน ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2508 โดยมี ศาสตราจารย์ อรุณ ชัยเสรี เป็นผู้ออกแบบหอประชุมแห่งนี้ให้ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น เพื่อใช้เป็นแหล่งสร้างคน รวมพลถ่ายทอดสรรพวิชาความรู้เชิงช่างจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นแหล่งรวมใจนิสิตวิศวฯ ให้มาพบปะทำกิจกรรม สานสัมพันธ์ฉันพี่น้อง รักเพื่อนพ้อง และหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง โดยสรรค์สร้างสิ่งดี ๆ ให้แก่สังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผ่านร้อน ฝน หนาว มากว่า 5 ทศวรรษ มาวันนี้หอประชุมแห่งความภาคภูมิใจแห่งนี้มีอายุล่วงเข้าสู่ขวบปีที่ 57 แล้ว ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้ผนึกกำลังกับ สวจ. จัดทำโครงการนี้ ภายใต้รหัส (ไม่) ลับ “Hall of INTANIA” ปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวฯ จุฬาฯ และภูมิทัศน์โดยรอบครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อให้น้อง ๆ นิสิตปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไปได้มีหอประชุมที่ทันสมัยและเหมาะแก่การใช้งานทั้งด้านการเรียนการสอน การทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการ ดังนี้

  • ปรับปรุงแบบสถาปัตยกรรมภายในและภายนอกให้โดดเด่นล้ำสมัย
  • ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและแสงสว่างพิเศษ
  • ปรับปรุงระบบปรับอากาศและระบายอากาศ
  • ติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย
  • ปรับเก้าอี้หอประชุมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เบาะนุ่ม นั่งสบาย เหมาะแก่การใช้ในการเรียน
  • ติดตั้งระบบจอแบบ Panoramic LED Wall พร้อมระบบเสียง Digital Surround (SL/SR)
  • เพิ่มขีดความสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายชาวอินทาเนียทุกวัย ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์
  • กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้จากทั่วทุกมุมโลกด้วยระบบ IoT (Internet of Thing)

กว่าจะเป็น Hall of INTANIA

ต้องเล่าก่อนเลยว่าโครงการปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่คณะกรรมการบริหารสมาคมในชุดที่มี “พี่หมู อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์” วศ.2522 เป็นนายก สวจ. วาระ พ.ศ. 2563-2564 โดยในช่วงขวบปีที่ 2 ของคณะกรรมการชุดนั้นได้พิจารณาและเห็นพ้องต้องกันว่า หอประชุมประจำคณะทรุดโทรมลงไปมากตามกาลเวลา จำเป็นต้องปรับปรุงหอประชุมแห่งนี้ ซึ่งก็ได้ประเมินกันเบื้องต้นว่า จะใช้เงินไม่มากนัก อยู่ในกรอบวงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยซ่อมแซมเฉพาะส่วนระบบปรับอากาศ ติดตั้งเก้าอี้ และทำระบบฉายภาพบนเวทีใหม่ นายก สวจ. ขณะนั้นจึงได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและจัดสร้างหอประชุมขนาดใหญ่ โดยให้เข้ามาสำรวจสถานที่ ศึกษาแนวทางการปรับปรุง และลองเขียนแบบร่างขึ้นมาฉบับหนึ่ง จากนั้นจึงได้ขยายผลขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้รู้ลึกรู้จริงทั้งงานวิศวกรรมโยธา งานระบบปรับอากาศ งานระบบแสงเสียง งานระบบ Visualization เป็นต้น จนโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวเลขประมาณการขยายกรอบออกไปมากเช่นกัน

หลังจากที่ได้ประเมินกันใหม่แล้ว เฉพาะค่าปรับปรุงโครงสร้างหอประชุมอย่างเดียวก็คาดว่าต้องใช้เม็ดเงินราว 60 กว่าล้านบาทแล้วนะครับ ยังมีระบบแสงเสียงอีกประมาณ 30 ล้านบาท และยังได้เพิ่มระบบรองรับอนาคต ‘Metaverse’ มูลค่า 30 ล้านบาท ซึ่งเมื่อลองบวกตัวเลขออกมาแล้วมูลค่าโครงการจะอยู่ราว ๆ 120 ล้านบาท โดยที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าออกแบบ ค่าดำเนินการควบคุมงานก่อสร้าง และค่าโสหุ้ยต่าง ๆ ครับ” คุณศักดิ์ชัย เริ่มบทสนทนาเท้าความให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ

แต่กว่าที่จะได้ตัวเลขกรอบวงเงินประมาณการนี้ สวจ. ชุดพี่หมู อดิศักดิ์ ก็สิ้นสุดวาระลงเสียก่อน พร้อมกับได้ส่งมอบโครงการให้คณะกรรมการ สวจ. ชุดต่อมาที่มีพี่หนู ศักดิ์ชัย เป็นผู้รับช่วงต่อ ซึ่งพี่หนูก็ได้เปิดใจกับเราว่า “มีหลายสิ่งที่เราต้องคิดอยู่เหมือนกันนะครับว่า หากจะทำให้โครงการสำเร็จตามที่ตั้งใจกันไว้นั้น เราต้องทำอย่างไรกันบ้าง จะต้องใช้ทุนจากแหล่งไหนได้บ้าง หากจะต้องประสานของบประมาณจากหน่วยงานรัฐนั้นพอจะเป็นไปได้หรือไม่ และยังมีอีกหลายประเด็นให้เราต้องถกกันพอสมควรเลยครับ แต่เมื่อได้ขบคิดกันอยู่ในวงกรรมการ สวจ. เราก็พบว่ามันพอจะเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน หากเราจะขอใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ก็ค่อนข้างยาก เพราะยังต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน กว่าจะตั้งเรื่องของบประมาณ ออกแบบก่อสร้าง นำเสนอเพื่อขอให้รัฐพิจารณาอนุมัติ กว่าจะได้งบประมาณมาจนได้ลงมือปรับปรุงซ่อมสร้าง ก็แน่นอนว่าต้องใช้ระยะเวลานานเกินอายุของคณะกรรมการ สวจ. ในชุดของเราไป และอาจต้องทอดเวลาไปอีกชนิดที่ต้องรอกันนานถึง 5-6 ปี เลยทีเดียว จึงเป็นที่มาของการคิดหาแนวทางใหม่ที่ทำให้โครงการของเราสำเร็จได้เช่นกัน แต่กระชับเวลาย่นย่อให้น้อง ๆ ได้ใช้หอประชุมที่ปรับปรุงใหม่ได้เร็วขึ้น นั่นคือเราจะจัดกิจกรรมระดมทุนกันเอง

ตั้งธงผันธารน้ำใจจากเครือข่ายพันธมิตรและนิสิตเก่า

ด้วยความมุ่งหวังตั้งใจของสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ที่อยากให้น้องนิสิตและเหล่าคณาจารย์ได้ใช้ประโยชน์จากหอประชุมคณะที่ทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การเรียนการสอนและการทำกิจกรรมรูปแบบใหม่ในโลก Metaverse ที่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งในประเด็นนี้เองแม้แต่ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐก็ยังไม่ได้ระบุสเปกให้ครอบคลุมได้ถึงสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ แถมยังพ่วงขั้นตอนอีกมากที่ไม่เอื้อให้ภารกิจสำเร็จเสร็จสิ้นได้ในเวลาอันสั้น สวจ. ได้พินิจพิเคราะห์กันแล้วว่า จำเป็นต้องเลือกใช้แนวทางการจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อเปิดรับธารน้ำใจจากพี่ ๆ นิสิตเก่าชาวอินทาเนียและองค์กรพันธมิตรให้สอดรับกับสถานการณ์และเป็นไปได้จริงเช่นกัน
และเมื่อสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทราบข่าวก็ได้บริจาคทุนประเดิม จำนวน 15 ล้านบาท ให้กับโครงการนี้

สวจ. เรามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ พี่ ๆ กรรมการ สวจ. ของเราหลายคนก็เคยร่วมเป็นกรรมการอยู่ในสมาคมนั้นเช่นเดียวกันกับผมและ ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร เลขาธิการ สวจ. ด้วย เมื่อมีม้าเร็วคาบข่าวไปบอกว่าเรากำลังจะมีงานบุญใหญ่ทำกิจกรรมระดมทุน
เราก็ได้รับทราบข่าวดีจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ สนับสนุนทุนประเดิมตั้งต้นโครงการทันที 4 ล้านบาท ซึ่งเราก็ได้นำเงินบริจาคส่วนแรกนี้มาใช้เป็นเงินทุนจ่ายค่าสำรวจและออกแบบหอประชุม ต่อมาเราทั้ง 2 สมาคมก็ยังได้จัดกิจกรรมกอล์ฟการกุศลร่วมกันเป็นการเฉพาะกิจเพื่อการนี้ โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้นำมาสมทบทุนปรับปรุงหอประชุมได้เงินเพิ่มเติมมาอีก 8.4 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่สมาคมผู้ปกครองและครูฯ จัดกิจกรรมอื่นได้เงินเติมเข้ามาเรื่อย ๆ จนครบ 15 ล้านบาท ตามที่เขาตั้งใจมาช่วยพวกเราวิศวฯ จุฬาฯ ตอกย้ำความสัมพันธ์ของเราให้ยิ่งกระชับแนบแน่นขึ้น ผมเองในฐานะนายก สวจ. ต้องขอขอบพระคุณธารน้ำใจทุกสายจากคนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของโครงการนี้ที่ซ่อนอยู่นั้นคือกุศโลบายของ สวจ. ที่ตั้งใจวางแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่พี่ ๆ นิสิตเก่าชาวอินทาเนียทุกรุ่น จึงได้พิถีพิถันออกแบบกรอบการขอรับการสนับสนุนและเปิดรับบริจาคไว้อย่างมีนัยสำคัญ คุณศักดิ์ชัยได้ขยายความเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

เราอยากให้หอประชุมแห่งนี้เป็นหอประชุมของพวกเราชาวอินทาเนียอย่างแท้จริง จึงได้ตั้งชื่อให้แก่โครงการนี้ว่า ‘Hall of INTANIA’ เพื่อให้จิตวิญญาณทุกอณูตารางนิ้วยังคงมีกลิ่นอายของพี่ ๆ นายช่าง แม้ว่ารูปลักษณ์จะเปลี่ยนไป ดูก้าวล้ำนำสมัย แต่จิตวิญญาณของพวกเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง เราจึงได้กำหนดให้การมีส่วนร่วมบริจาคออกมาในหลายระดับ กล่าวคือ

  • ผู้บริจาค 10,000,000 บาทขึ้นไป จะได้รับการประกาศเกียรติคุณขึ้นตราสัญลักษณ์หน่วยงานหรือองค์กรภายในหอประชุม สงวนสิทธิเพียง 6 รายเท่านั้น
  • ผู้บริจาค 1,000,000 บาทขึ้นไป จะได้รับการประกาศเกียรติคุณขึ้นรายนามหน้าหอประชุม สงวนสิทธิเพียง 40 รายเท่านั้น
  • ผู้บริจาค 200,000 บาท ได้รับการประกาศเกียรติคุณจารึกรายนามไว้ที่เก้าอี้หอประชุม แถวที่ 1-3 สงวนสิทธิเฉพาะชาวอินทาเนียเพียง 60 รายเท่านั้น
  • ผู้บริจาค 100,000 บาท ได้รับการประกาศเกียรติคุณจารึกรายนามไว้ที่เก้าอี้หอประชุม แถวที่ 4-6 สงวนสิทธิเฉพาะชาวอินทาเนียเพียง 60 รายเท่านั้น
  • บริจาค 50,000 บาท ได้รับการประกาศเกียรติคุณจารึกรายนามไว้ที่เก้าอี้หอประชุม แถวที่ 7 ขึ้นไป สงวนสิทธิเฉพาะชาวอินทาเนียเพียง 280 รายเท่านั้น
  • บริจาคตามอัธยาศัย

แต่ยังไม่ทันที่จะได้แถลงข่าวการระดมทุนครั้งประวัติศาสตร์ของชาวอินทาเนีย ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไปแบบปากต่อปาก ชวนให้พี่ ๆ นายช่างหลากรุ่นหลายวัยทั่วสารทิศพร้อมใจกันขานรับและแสดงเจตจำนงขอมีส่วนร่วมสนับสนุนและบริจาคเงินให้แก่โครงการของ สวจ. ปลุกให้ลานเกียร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง และดูเหมือนว่าพี่ ๆ นิสิตเก่าจะไม่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญกับเรื่องการนำใบเสร็จของสมาคมฯ ไปใช้ลดหย่อนภาษีสักเท่าใด
ผมกับเพื่อน ๆ ในรุ่นเรามักจะคุยกันอยู่เสมอว่า เวลาที่ใครต้องการข้าว คุณต้องรีบให้เงินเขารีบเอาไปซื้อข้าวเสียแต่ตอนนั้น เพราะเขากำลังหิว ถ้าเป็นจังหวะที่เขาอิ่มแล้ว ต่อให้คุณไปประเคนให้เขาเพียงใดเขาก็ไม่อยากทานแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้นนะครับ

เวลาเราตั้งใจจะช่วยใครก็อยากให้ช่วยในเวลาที่เขาต้องการ ซึ่งผมว่าพี่ ๆ ของเราได้รับการปลูกฝังมาให้คิดตรงกันเหมือนกับผมและเพื่อนในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ต้องกราบเรียนพี่ ๆ นิสิตเก่าไว้ตรงนี้เลยนะครับว่า การเลือกขอรับบริจาคผ่านกิจกรรมระดมทุนในลักษณะที่เรากำลังดำเนินการกันอยู่นี้ เมื่อเราได้รับเงินบริจาคเข้าบัญชี สวจ. แล้ว เราจะออกใบเสร็จรับเงินในนามสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้แก่ผู้บริจาคทุกท่าน ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อย พี่ ๆ สามารถใช้ใบเสร็จนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการร่วมบริจาคได้ แต่จะไม่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้นะครับ เพราะสถานะของสมาคมเราไม่เหมือนมูลนิธิหรือคณะ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีครับ” นายก สวจ. ขยายความเพื่อสร้างความกระจ่างชัดให้แก่ผู้ที่ตั้งใจบริจาคทราบ

 

สวจ. เร่งเดินหน้าโครงการเต็มสูบ

เมื่อได้ทุนประเดิมมาแล้วจำนวนหนึ่ง สวจ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการในทันที โดยเปิดให้บริษัทผู้ออกแบบจำนวน 5 ราย เสนอแบบมาประกวดกัน จนในที่สุดคณะทำงานก็ได้พิจารณาร่วมกับตัวแทนคณะเลือกบริษัท A&A เข้ามาช่วยดูแลงานนี้

“คณะทำงานชุดนี้มี 7 คน แต่ละคนล้วนมีความตั้งใจดีและมีความคิดที่หลากหลาย บ้างอยากปรับปรุงให้หอประชุมแห่งนี้ดูทันสมัย บ้างบอกว่าทันสมัยนั้นก็ยังไม่พอ ต้องก้าวล้ำรองรับอนาคตด้วย ซึ่งท้ายที่สุดก็มาลงตัวที่การเดินทางสายกลางคือ มุ่งเน้นให้รูปลักษณ์ดูทันสมัยสอดรับกับวัตถุประสงค์การใช้งานได้ในหลายโอกาส ซึ่งก็เป็นแนวทางที่เราได้ให้ไว้กับทีมบริษัท A&A ช่วยออกแบบและพัฒนาแบบร่วมกันกับพวกเราจนลงตัวออกมาอย่างที่ทุกคนได้เห็นกันแล้ว ตรงนี้ก็คงต้องให้เครดิตแก่คณะผู้ออกแบบด้วยเช่นกัน เป็นพี่ ๆ จากสถาปัตย์ จุฬาฯ ในทีมนี้เองก็มีพวกเราวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมงานอยู่ด้วย นำโดยอาจารย์ผู้ใหญ่ของเรา ดร.การุญ จันทรางศุ ช่วยกำกับดูแลงานวิศวกรรมโครงสร้าง และต้องขอขอบคุณ น้องวิโรจน์ เจริญตรา วศ.2525 อนุกรรมการ สวจ. ของเราที่ได้ช่วยออกแรงเจรจาต่อรองให้ค่าออกแบบหอประชุมของเราลดลงจาก 8.5 ล้านบาท เหลือเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น และยังช่วยควักเงินส่วนตัวบริจาคให้ สวจ. อีก 4 ล้านบาท นอกจากนี้ กรรมการอำนวยการ สวจ. ของเราอีกท่านหนึ่งคือ คุณธิติ โตวิวัฒน์ วศ.2524 เจ้าของบริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด พอได้เห็นแบบหอประชุม ก็อยากให้น้อง ๆ ของเราได้ใช้ Hall of INTANIA โดยเร็ว จึงได้ประกาศสนับสนุนโครงการนี้สุดตัว พร้อมบริจาคให้ สวจ. ทันทีอีก 10 ล้านบาท” คุณศักดิ์ชัย กล่าว

สำหรับความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติแบบก่อสร้างจากทางมหาวิทยาลัย “ผมคิดว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้เราน่าจะได้เริ่มลงมือก่อสร้างแล้วนะครับ แบบเราก็มีแล้ว ยังเหลือการคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งก็ได้ประสานงานเชิญบริษัทผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญงานก่อสร้างหอประชุมเข้ามา 3-4 ราย เพื่อให้เราได้คัดเลือกเจ้าที่เชี่ยวชาญและทำงานได้ในกรอบระยะเวลาที่เราได้วางไว้ ส่วนพี่ ๆ ท่านใดใครถนัดงานอะไรอยากจะเข้ามาช่วยกันเราก็ยินดีนะครับ หากมีอะไรติดขัดจะได้ช่วยกันแก้ไข ช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้งานสำเร็จเสร็จได้เร็ว ฝากไว้เป็นต้นแบบให้น้อง ๆ ของเราได้ภูมิใจและเอาไว้เป็นแบบอย่างต่อไป ให้สมกับที่เป็น Hall of INTANIA พี่หนู ศักดิ์ชัย ฝากชวนพี่ ๆ นายช่างทั้งหลายให้กลับมาช่วยคณะกัน

Hall of INATANIA ชื่อดีล้วนมีที่มาและความหมาย

Hall of INATANIA มีที่มาจากการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวอินทาเนียเพื่อปรับปรุงหอประชุมแห่งนี้เพื่อส่งต่อให้แก่คนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ Hall of INTANIA ยังได้สงวนสิทธิการจารึกรายนามและรุ่น วศ. เฉพาะพี่ ๆ นิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ไว้ในหอประชุมแห่งนี้ ในประเด็นนี้ นายก สวจ. มองว่า

“นี่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการหลอมรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวของชาวอินทาเนีย รายนามของพี่ ๆ ที่ได้บริจาคมาให้แก่น้อง ๆ ครั้งนี้จะปรากฏอยู่เป็นส่วนหนึ่งของหอประชุมและจะอยู่คู่กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ไปอีกหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นที่บริเวณหลังเก้าอี้แต่ละตัวก็ดี หรือที่บอร์ดหน้าหอประชุมก็ดี ผมไม่อยากให้พวกเราต้องพลาดโอกาสสำคัญในครั้งนี้ไป หากพลาดแล้วอาจต้องมารู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ได้กลับมาเยี่ยมคณะ ได้กลับมาย้อนรำลึกถึงวันชื่นคืนสุข แต่มันก็ยังไม่สุด เพราะตกขบวนไม่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์หน้าสำคัญนี้ของพวกเราชาวอินทาเนีย”

คุณศักดิ์ชัย ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า “มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกหลาย ๆ สถาบันเขาก็เปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยเช่นกันนะครับ เขาได้จารึกชื่อของพี่ ๆ ศิษย์เก่าผู้มีส่วนช่วยเหลือมหาวิทยาลัยไว้หลายรูปแบบเลย บ้างอยู่บนเก้าอี้ บ้างอยู่บนผนัง บ้างปรากฏอยู่ใน Hall of Fame ถือเป็นการให้เกียรติรุ่นพี่สูงสุด ช่างจะสลักชื่อไว้เรียบร้อย สวยงาม โดดเด่น เป็นที่น่าภูมิใจและน่าดีใจกับสถาบันที่ได้เงินบริจาคหลั่งไหลเข้ามาพัฒนานิสิตนักศึกษา พอมองกลับมาที่วิศวฯ จุฬาฯ ผมว่ามันก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก อย่างในครั้งนี้เองก็เป็นโอกาสอันดีนะครับที่เราจะมาเติมต่อความฝันของพี่ ๆ ได้ทำในเฉกเช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยดัง ๆ ระดับโลก น้องเรารุ่นหลังที่เข้ามาเรียนที่คณะเราได้ก็ต้องถือว่าพวกเขาเก่ง แต่เราเองก็ช่วยเร่งสนับสนุนติดสปีดเสริมศักยภาพให้น้องเราทะยานไปได้ไกลกว่าด้วยการจัดหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ปรับปรุงอาคารสถานที่ให้น้องเราได้ใช้ ให้เขาเข้าถึงเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับคนทั้งโลก จุดประกายให้เขาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้แก่ประเทศและโลกได้ต่อ ดังนั้น สิ่งที่เราได้ทำ ได้ช่วย มันจึงมีความหมายกับพวกเขาอยู่มากเช่นกัน”

นอกจากนี้ สวจ. ยังได้ดำริแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่พี่ ๆ นิสิตเก่าได้กลับมาร่วมกิจกรรมส่งท้ายก่อนปิดหอประชุมเพื่อปรับปรุงไว้อย่างอบอุ่น “เราตั้งใจจะเชิญพี่ ๆ นายช่างทั้งหลายที่ได้กรุณาร่วมกันบริจาคเงินในครั้งนี้ได้กลับมาร่วมพิธีอำลาหอประชุมคณะก่อนปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ เราจะขอใช้โอกาสนี้ได้แสดงความขอบคุณในเมตตาจิตต่อคณะอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา โดยเราจะจัดกิจกรรมให้พี่ ๆ ได้มาร้องเพลงเชียร์ย้อนเวลากลับไปเหมือนเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตกันอีกครั้ง และขอบันทึกภาพความทรงจำดี ๆ นี้ไว้เพื่อจัดทำหนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสปรับปรุงหอประชุมคณะครั้งใหญ่ จารึกรายนามของผู้มีจิตศรัทธาทุกผู้ทุกนามรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ด้วยนะครับ” คุณศักดิ์ชัย กล่าวด้วยความอิ่มเอมใจ

ศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายก สวจ. กล่าวทิ้งท้าย “เรื่องนี้ผมว่าไม่มีอะไรเอามาวัดกันหรอกนะว่าดีที่สุดออกมาเป็นแบบไหน มีแต่ในขณะนั้นที่เราต้องตัดสินใจนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว อีกอย่างมันเป็นเรื่องของใจด้วย วิศวฯ จุฬาฯ เราพร้อมทุกด้าน มีผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา และเราเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ยิ่งพี่ ๆ กลับมาช่วยกันมากเท่าไร เงินที่ได้ก็จะยิ่งพอกพูนขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่หอประชุมคณะเท่านั้นที่เราตั้งเป้าหมายจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมศกหน้า เพื่อให้ทันรับน้อง ๆ วศ.2566 ได้มาใช้งานจริงเป็นรุ่นแรกเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการปรับปรุงห้องเรียน อาคารสถานที่ และภูมิทัศน์โดยรอบคณะในส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง แล้วก็จะได้รับอานิสงค์จากการระดมทุนครั้งใหญ่ของพี่ ๆ ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน หากยังพอมีเงินเหลืออยู่ และผมรวมถึงกรรมการ สวจ. ทุกคนขอให้คำมั่นไว้แก่ชาวอินทาเนียว่า เราจะตั้งใจทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงตามแผนงานที่ได้วางไว้ แล้วปีหน้าฟ้าใหม่ช่วงกลางปีเป็นต้นไปคงจะได้มีโอกาสชักชวนพี่ ๆ มาเยี่ยมเยียน Hall of INTANIA กันนะครับ”


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save