ไปดูเขาทำเหมืองพลอยกันที่ศรีลังกา

ไปดูเขาทำเหมืองพลอยกันที่ศรีลังกา


โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)


ก่อนอื่นขออนุญาตเกริ่นถึงประเด็นสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศศรีลังกาสักเล็กน้อย แทนที่จะตรงไปคุยเรื่องเหมืองพลอยเลย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้ (พฤษภาคม 2565) ประเทศศรีลังกากำลังประสบกับปัญหาวิกฤติหนี้และภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการลงทุนที่เกินตัว จนอาจเรียกได้ว่า “ติดกับดักหนี้” เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่เมืองฮัมบันโตตา (Hambantota) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ติดมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเมืองหลวง (นครโคลัมโบ, Colombo) 167 กิโลเมตร ในแนวเส้นตรง และ 241 กิโลเมตร ไปทางถนน (ดังแผนที่แนบ) ปรากฏว่ามีเรือเข้ามาเทียบท่าใช้งานน้อยมาก ต่างกับที่ได้ศึกษาประเมินไว้ จนประสบภาวะการขาดทุนอย่างหนัก ถึงแม้ว่าบริเวณดังกล่าวจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการเดินเรือ และสอดคล้องกับแนวนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในการเชื่อมโยงจีนกับยุโรปทางทะเลก็ตาม ท้ายสุดศรีลังกาได้ยอมให้จีนเช่าท่าเรือนี้ไป พร้อมพื้นที่ใกล้เคียงอีกจำนวน 15,000 เอเคอร์ หรือราว 38,000 ไร่ ด้วยสัญญาเช่า 99 ปี เพื่อนำเงินที่ได้มาจำนวน US$1.1 พันล้าน ไปใช้หนี้ต่างประเทศบางส่วนที่มี (BBC News #40761732)

นอกจากนี้ ประเทศศรีลังกายังมีการลงทุนสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่สอง ณ เมืองมัททาลา (Mattala) เพื่อเสริมรับกับท่าเรือน้ำลึกที่เมืองฮัมบันโตตา โดยเมืองทั้งสองอยู่ห่างกันเพียง 18 กิโลเมตร ปรากฏว่ามีการใช้งานน้อยมากไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเช่นกัน อีกทั้งราคาน้ำมันก็พุ่งสูงขึ้นมากจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน และภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่มาของรายได้หลักส่วนหนึ่งของประเทศก็ซบเซาลงอย่างหนัก นักท่องเที่ยวลดลงอย่างกะทันหันจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ค่าเงินรูปีของศรีลังกาเมื่อพ.ศ. 2560 อยู่ที่ 4.12 รูปี/บาท (ไทยรัฐออนไลน์) ปัจจุบันอยู่ที่ราว 10.50 รูปี/บาท (App Currency) หรืออ่อนตัวลงประมาณ 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับเงินบาทไทย นอกจากนั้น ณ วันที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ ประเทศศรีลังกามีเงินทุนสำรองต่างประเทศที่ใช้ได้ (Usable Foreign Reserves) คงเหลืออยู่เพียง US$50 ล้าน และกำลังเจรจาขอกู้เงินฉุกเฉินจากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank, AIIB) จำนวน US$100 ล้าน (CGTN News)

ขอแถมต่ออีกสักนิด คือแม้แต่ประเทศลาวเพื่อนบ้านของไทยเรา เศรษฐกิจก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ งานก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงของลาวเริ่มเมื่อ 25 ธันวาคม 2559 (Wikipedia) ใน พ.ศ. 2560 ค่าเงินกีบของลาวอยู่ที่ 230 กีบ/บาท (โพสต์ทูเดย์ AEC) ปัจจุบันอยู่ที่ราว 371 กีบ/บาท (App Currency) หรืออ่อนตัวลงประมาณ 1.6 เท่าแล้ว เมื่อเทียบกับเงินบาทไทย จะด้วยเหตุน้ำมันแพง ไปลงทุนในโครงการใหญ่เกินกำลัง ฯลฯ หรือไม่ และจะรอติดกับดักหนี้ด้วยไหม เป็นเรื่องที่น่าศึกษาติดตามและเอาใจช่วย สำหรับประเทศไทยเรานั้นก็ไม่ควรประมาท ต้องระวังเรื่องการลงทุนในโครงการที่ใหญ่เกินฐานะ จนเผลอพลาดไปติด “กับดักหนี้”

จากประสบการณ์ที่เคยทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศ และเป็นหัวหน้าคณะไปเจรจาต่อสู้กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เห็นว่าโดยสัจธรรมแล้วไม่ว่าประเทศใด ถึงแม้จะเป็นมิตรที่รักใคร่กันมากเพียงไหน ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเขาต้องมาก่อน จึงขึ้นกับว่าเราจะรักษาตัวเอง รู้เท่าทัน และสร้างความสมดุลกับมิตรประเทศเหล่านั้นได้หรือไม่ อย่างไร

ศรีลังกา
แสดงที่ตั้งของประเทศศรีลังกา (Sri Lanka) และเมืองที่มีการกล่าวถึงในบทความนี้ อันได้แก่ รัตนปุระ (Ratnapura) ที่แปลได้ว่า “เมืองแห่งอัญมณี” อยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโคลัมโบ (Colombo) เมืองหลวงประเทศศรีลังกา 63 กิโลเมตรในแนวเส้นตรง และ 97 กิโลเมตร ทางถนน ฮัมบันโตตา (Hambantota) อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ติดมหาสมุทรอินเดีย ห่างโคลัมโบ 167 กิโลเมตร ในแนวเส้นตรง และ 241 กิโลเมตร ทางถนน มัททาลา (Mattala) อยู่ห่างไปทางเหนือของฮัมบันโตตาเพียง 18 กม.

สิ่งที่เกิดกับประเทศศรีลังกานี้ น่าใช้เป็นกรณีศึกษาและบทเรียนที่สำคัญกับอีกหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะไทยเราเองด้วย ที่รายได้หลักส่วนหนึ่งก็มาจากภาคการท่องเที่ยวเช่นกัน  อยากให้ระวังในเรื่องการลงทุนโครงการใหญ่ๆ เพราะอาจติด “กับดักหนี้” แบบเดียวกับที่ศรีลังกาเจอ เช่น ถ้าจะลงทุนเกี่ยวกับรถไฟก็ต้องให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยแท้ ไม่ใช่ต่อประเทศอื่นใดโดยแฝงภายใต้ต้นทุนของไทย เรามีเงินจำนวนจำกัด ลำดับการลงทุนน่าจะเป็นอย่างไร ระหว่างขยายทาง ทำทางคู่ ทำรถไฟความเร็วสูง(และควรสูงแค่ไหน) เชื่อมทางรถไฟระหว่างภาคอีสานกับภาคเหนือ ทุ่มในเรื่องการบำรุงรักษาปรับสภาพของเก่าให้ดีก่อน ทั้งราง หมอนรอง ล้อเลื่อน สัญญาณเตือนและเครื่องกั้นถนนที่ทางผ่านเสมอระดับ ระบบอาณัติสัญญาณ ฯลฯ ไว้มีโอกาสจะขอเขียนคุยเรื่องนี้ ในฐานะนักเรียนทุนรถไฟ (ทุน ก.พ. ตามความต้องการของรถไฟ ไปทำปริญญาเอกทางวิศวกรรมเครื่องกล ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ สหรัฐอเมริกา) แต่วันนี้ขอหยุดเรื่องดังกล่าวแค่นี้ก่อน

ในวารสารฉบับนี้ จะขอมาคุยเล่าสู่กันฟังอีกมุมหนึ่งของประเทศศรีลังกา คือในฐานะที่เป็นแหล่งอัญมณีสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ต้องขออนุญาตออกตัวแต่ต้นนี้ก่อนว่า ผมไม่ใช่นักอัญมณีศาสตร์ หรือวิศวกรเหมืองแร่ เพียงแต่เคยหันมาสนใจเรื่องนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน (จากที่ไม่เคยสนใจเลย) ด้วยเพราะถูกหลอก จึงไปเรียนพื้นฐานบางวิชาที่สถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเซีย (Asian Institute of Gemological Sciences, AIGS) แถวสีลม บางรัก สอนและให้ความรู้พื้นฐานดีมาก จนทำให้หลงคิดว่าดูพลอยพอเป็นแล้ว แต่แท้จริงยังห่างไกลเพราะก็ยังโดนหลอกอีก เทคโนโลยีการตกแต่งปลอมแปลงพัฒนาไปเร็วมาก ในขณะที่เราไม่ได้อยู่ในวงการนี้จึงขาดการติดตามที่ใกล้ชิด สำหรับในส่วนของการเรียนรู้ภาคปฏิบัตินั้น ได้พยายามหาโอกาสไปคุยกับร้านเล็ก ๆ หรือตามบูธที่ขายพลอย เช่น ที่งานแสดงสินค้ากรมพาณิชย์สัมพันธ์ ถนนรัชดาภิเษก ซื้อของเขาบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ พอคุ้นกันดีขึ้นเขาก็อธิบายและตอบคำถามข้อสงสัยของเราละเอียดขึ้น เมื่อมีโอกาสไปดูงานเหมืองพลอยที่ศรีลังกาจึงสนใจเป็นพิเศษ ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง ถึงแม้เวลาจะผ่านไปยาวนานแล้วก็ตาม

ผมได้มีโอกาสไปดูงานกับคณะของกระทรวงอุตสาหกรรมนานมากแล้ว นำโดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นวิศวฯจุฬาฯ ด้วยกัน (ปีเข้า พ.ศ. 2510) ได้มีโอกาสดูงานหลายแห่ง แต่ที่จะขอนำมาเล่าในโอกาสนี้คือ อุตสาหกรรมการทำเหมืองพลอย อย่างไรก็ตาม ขออนุญาตเฉไฉออกไปสักนิดในส่วนที่จะอดกล่าวถึงเสียมิได้ คืออุตสาหกรรมการผลิตชาของศรีลังกา คงไม่ลงรายละเอียด เพียงแต่จะบอกว่า ชาที่นี่รสชาติดีมาก เขาจะมีนมสดร้อน ๆ อุณหภูมิใกล้เคียงกับชามาไว้ให้เติม เข้ากันได้ดี ที่ประเทศอื่นหรือแม้แต่ในบ้านเราเองก็ตาม มักใช้นมเย็นๆ ซึ่งคงหาง่ายกว่า คือเพียงแค่หยิบมาจากตู้แช่ แต่รู้สึกว่าให้รสชาติสู้ไม่ได้ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ปรากฏว่าติดดื่มชาไปพักหนึ่งทีเดียว พยายามชงชาตามแบบแต่ก็ได้ไม่เหมือน เข้าใจว่าเขาคงต้องมีเทคนิคเฉพาะที่เรายังไม่ทราบหรือไม่ชำนาญพอ คล้ายกับการชงชาจีนหรือชาญี่ปุ่นที่มีขั้นตอนไม่ง่ายเช่นกัน

อารัมภบทมาซะยาว ขอกลับเข้าเรื่องหลักตามที่ตั้งใจเสียที เหมืองพลอยที่ได้ไปเยี่ยมชมดูงานในครั้งนั้นอยู่ที่เมืองรัตนปุระ (Ratnapura) ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเมืองแก้ว หรือเมืองแห่งอัญมณี เป็นแหล่งใหญ่ของการทำเหมืองพลอยในประเทศนี้ ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโคลัมโบ (Colombo) เมืองหลวงประเทศศรีลังกา 63 กิโลเมตรในแนวเส้นตรง และ 97 กิโลเมตร ทางถนน สภาพโดยทั่วไปของเมืองนี้ที่ได้เห็นจะเป็นเรือกสวนไร่นาและท้องทุ่งเป็นส่วนใหญ่ (ดังภาพแนบ)

เมืองรัตนปุระ
สภาพโดยทั่วไปของเมืองรัตนปุระ อันเป็นที่ตั้งของเหมืองพลอยที่เราไปดูกัน จะเป็นเรือกสวนไร่นาและท้องทุ่งเป็นส่วนใหญ่

ปกติแล้วทางเหมืองจะเข้มงวดไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า พ่อค้าพลอยที่ไปตั้งซุ้มรอรับซื้อได้เล่าให้ฟังว่า มาทำธุรกิจซื้อพลอยที่นี่หลายปีแล้ว ยังไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตพื้นที่เหมืองเลย อยู่ได้แต่เฉพาะภายนอก คือห้ามเข้าโดยเด็ดขาด คณะของพวกเราไปเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการ โดยประสานกันระหว่างกระทรวงก่อนแล้ว จึงได้รับการต้อนรับ พาชม และอธิบายให้ข้อมูลเป็นอย่างดี เพื่อความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมอัญมณีระหว่างประเทศกันต่อไปในอนาคต

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบริเวณเหมืองไม่ปรากฏให้เห็นว่ามีอุปกรณ์หนักเพื่อการขุดเจาะใด ๆ ทั้งสิ้น ได้รับทราบว่า การทำเหมืองที่นี่ห้ามใช้เครื่องจักรกล ให้ใช้ได้แต่เครื่องมือเบา เช่น จอบ เสียม บุ้งกี๋ และแรงคนเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้พลอยถูกขุดขึ้นมามากเกินควรในเวลาอันสั้น หลังจากทางเหมืองได้เคลียร์พื้นที่ให้พอทำการเปิดหน้าดินได้แล้ว คนงานก็จะค่อย ๆ ขุดลงไปเพื่อหาสายแร่ (ดังภาพแนบ)

การทำเหมือง
การทำเหมืองที่นี่ห้ามใช้เครื่องจักรกล ให้ใช้ได้แต่เครื่องมือเบาและแรงคนเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้พลอยถูกขุดขึ้นมามากเกินควรในเวลาอันสั้น หลังจากเคลียร์พื้นที่ผิวดินแล้ว คนงานก็จะค่อย ๆ ขุดลงไป จากที่ได้ไปเห็นนั้นความลึกเพียงระดับท่วมหัวก็เริ่มเจอสายแร่แล้ว นับว่าอยู่ตื้นมาก

จากที่ได้เห็น คนงานขุดลึกลงไปเพียงแค่ระดับศรีษะเท่านั้นก็เริ่มเจอสายแร่แล้ว นับว่าอยู่ตื้นมาก เมื่อเจอสายแร่ ดินจะเปลี่ยนสีจากเหมือนลูกรังเป็นสีขี้เถ้า คนงานก็จะทยอยตักดินส่วนนี้ (ขอเรียกว่าแร่) ใส่ถุงปุ๋ย แล้วแบกขึ้นบ่านำไปเทลงในบ่อคัดแยกที่อยู่ค่อนมาทางด้านสำนักงาน เพื่อให้ดูแลได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (ดังภาพแนบ)

สายแร่ดิน
เมื่อเจอสายแร่ดินจะเปลี่ยนสี จากเหมือนลูกรังเป็นสีขี้เถ้า คนงานก็จะทยอยตักดินสีขี้เถ้านี้ใส่ถุงปุ๋ย เพื่อแบกไปเทลงในบ่อคัดแยก

บ่อคัดแยกจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 3 x 4 เมตร ลึกประมาณ 1.25 เมตร มีน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าเอวของคนงานร่อนแร่โดยเฉลี่ยประมาณคืบหนึ่ง เขาจะใช้มือกวนล้างแร่ให้ดินละลายหลุดออกไป พลอยซึ่งหนักกว่าหิน (ตามคำบอกเล่า) จะทยอยตกไปอยู่ก้นกระจาด คนงานจะค่อยๆใช้มือกวาดเศษหินที่อยู่ตอนบนเอาขึ้นไปทิ้งที่ขอบบ่อ ที่เหลือในกระจาดก็จะมีปริมาณกรวดหินปะปนอยู่น้อยลงกว่าเดิม ส่วนที่ว่าจะเจอพลอยมูลค่าสูงในนั้นหรือไม่คงยังไม่มีใครตอบได้ในขั้นตอนนี้

เงื่อนไขสำคัญของการร่อนแร่นี้คือ ทุกอย่างในกระจาดจะต้องอยู่ใต้น้ำเสมอ (ดังภาพแนบ) หากยังไม่เสร็จกระบวนการห้ามยกขึ้นเหนือผิวน้ำ ได้รับคำอธิบายว่า หากปล่อยให้อยู่เหนือน้ำแล้ว บางคนที่เผอิญเหลือบเห็นพลอยในกระจาดอาจแอบหยิบกลืนแล้วไปเอาออกที่บ้าน

บ่อคัดแยก
บ่อคัดแยกจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 3 x 4 เมตร ลึกประมาณ 1.25 เมตร มีน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าเอวของคนงานร่อนแร่โดยเฉลี่ยประมาณคืบหนึ่ง เงื่อนไขสำคัญของการร่อนแร่ที่นี่คือ ทุกอย่างในกระจาดจะต้องอยู่ใต้น้ำเสมอ ด้วยเกรงว่าหากบางคนเมื่อเผอิญเหลือบเห็นพลอยในกระจาดอาจแอบหยิบกลืนแล้วไปเอาออกที่บ้าน

เมื่อล้างดินและแยกหินออกได้ในระดับที่พอใจแล้ว คนงานก็จะยกกระจาดขึ้นไปวางไว้ที่ขอบบ่อ โดยมีเจ้าหน้าที่ของเหมืองควบคุมดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด เพื่อรอให้ผู้เชี่ยวชาญทำการคัดแยกในขั้นตอนต่อไป

การร่อนพลอย
จากนั้นคนงานก็จะนำกระจาดที่ผ่านการร่อนในชั้นแรกแล้วนั้นขึ้นวางที่ขอบบ่อ เพื่อไปผ่านกระบวนการคัดแยกจากผู้ชำนาญการต่อไป

เขาทำการคัดแยกพลอยออกจากกรวดหินโดยวิธีแบบพื้น ๆ ด้วยความชำนาญ จนดูราวกับว่าเป็นเรื่องง่ายๆ (แต่แน่นอนไม่ใช่สำหรับเราที่จะไปทำเช่นนั้นได้) ไม่มีเครื่องมือช่วย เพียงใช้นิ้วมือเกลี่ยดูในกระจาดไปเรื่อยๆ แต่ค่อนข้างเร็ว โดยทำที่ขอบบ่อนั้นเลย ในวันที่ไปเยี่ยมชมเขาหยิบพลอยที่เจอในกระจาดขึ้นมาให้ดูเม็ดหนึ่งที่โตพอสมควร ลักษณะคล้ายปลายนิ้วก้อย ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร สีน้ำเงินกำลังดี ไม่เข้มหรืออ่อนเกินไป ติดขาวที่ขอบด้านข้างบางจุดเพียงเล็กน้อย เจ้าหน้าที่เหมืองบอกว่า เป็นพลอยไพลิน (Sapphire) ที่สวยอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องนำไปเผาหรือตกแต่งด้วยกรรมวิธีพิเศษอันใด เพียงให้ผ่านการเจียระไนที่เหมาะสมโดยช่างผู้ชำนาญเท่านั้น และว่าเม็ดนั้นน่าจะขายได้ราคาดี สำหรับในส่วนของกรวด หิน พลอย ที่คงคละอยู่ในกระจาดหลังการคัดแยกเบื้องต้นก็ยังไม่ถูกเททิ้งไปไหน เพราะสามารถมีคุณค่าราคาลดหลั่นกันต่อไปได้อีก ซึ่งขั้นตอนเหล่านั้นพวกเราไม่มีโอกาสได้อยู่รอดู น่าเสียดายที่เขาขอร้องไม่ให้ถ่ายภาพพลอยทุกเม็ดที่เจอหลังการคัดแยก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่อนุญาตนั่นเอง

พลอยบางส่วนจะถูกนำไปเร่ขายตามซุ้มที่มีอยู่มากมายรอบนอกเหมือง มีมาจากหลายชาติภาษา แต่ที่มากคือพ่อค้าจากเมืองไทย ผู้ใดให้ราคาสูงเป็นที่พอใจก็จะได้ไป คนตามซุ้มเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้เข้าไปภายในเหมืองเลย แม้จะมาที่นี่นับครั้งไม่ถ้วนหรือหลายปีแล้วก็ตาม เพราะทางเหมืองเกรงว่าหากไปเห็นพลอยดีมีราคาสูงเข้า จะจำพลอยแล้วมีเวลาพอออกมาตกลงฮั้วราคารับซื้อกัน และนี่ก็เป็นเหตุผลหลักที่เราได้รับการขอร้องไม่ให้ถ่ายภาพในขั้นตอนหลังเจอพลอยแล้ว

การคัดแยกพลอย
ผู้เชี่ยวชาญทำการคัดแยกพลอยชนิดต่าง ๆ ออกจากหินที่ยังมีหลงเหลืออยู่อีกมากพอสมควรในกระจาด โดยทำกันที่ขอบบ่อนั่นเอง

ทราบว่าพลอยบางส่วนจะถูกแยกแบ่งขายให้ลูกค้าในท้องถิ่น เพื่อนำไปเจียระไนเพิ่มมูลค่า แล้ววางขายตามร้านค้าพลอยทั่วไปในประเทศศรีลังกา ซึ่งแน่นอนย่อมรวมถึงที่เมืองรัตนปุระนี้เป็นสำคัญด้วย

ร้านค้าพลอย
ที่ร้านค้าพลอยซึ่งผ่านการเจียระไนตกแต่งแล้วในเมืองรัตนปุระ ไม่ไกลจากเหมืองที่ได้ไปชมนัก

ความน่าชื่นชมในการทำเมืองพลอยที่ประเทศศรีลังกา ที่จะอดนำมากล่าวเน้นย้ำในช่วงท้ายนี้มิได้ ก็คือการที่เขาสามารถรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรวมไว้ได้เป็นอย่างดี ด้วยการให้ใช้แต่เครื่องมือเบาและแรงคน นอกจากจะเป็นการช่วยให้ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นมีงานทำด้วยแล้ว ยังสามารถรักษาทรัพยากรพลอยไว้ได้ยาวนานขึ้น ไม่ปล่อยให้ถูกขุดมามากเกินควรในเวลาอันสั้น ซึ่งถ้าหากปล่อยให้ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องมือกลหนัก รวมถึงรถขุดตักเข้าไปทำงาน พลอยอาจจะหมดจากพื้นที่เหล่านั้นไปนานแล้วก็เป็นได้

ข้อมูลทั้งหลายที่เล่ามานี้ ได้มาจากการเห็น สัมผัส พูดคุย และคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่เหมือง หากมีส่วนผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ต้องขออภัยไว้ในช่วงท้ายของบทความนี้ด้วย ตามที่ได้ขออนุญาตเกริ่นไว้แต่ต้นแล้วว่า ผมไม่ใช่นักอัญมณีศาสตร์ หรือวิศวกรเมืองแร่ แต่เป็นเพียงผู้สนใจในเรื่องพลอยเป็นพิเศษเท่านั้น ขอบคุณครับ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save