วิศวฯ จุฬาฯ

ห้องเชียร์สุดโหด กับพี่ว้ากจอมเฮี๊ยบ


ชีวิตใหม่ของพวกเราเริ่มต้นขึ้นหลังจากประกาศผลสอบเอนทรานซ์ ช่วงแรกที่เข้ามาใหม่ ๆ ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เพราะต่างคนต่างที่มา บางคนเรียนโรงเรียน “สหศึกษา” มาก็ปรับตัวเร็วหน่อย แต่บางคนเรียนโรงเรียนหญิงล้วนชายล้วนอาจต้องปรับตัวมากกว่าปกติ แต่ด้วยความที่เป็นเด็กจุฬาฯ เหมือนกัน เลือดสี (เลือดหมู) เดียวกัน เลยทำให้เรา “ง่าย” ที่จะเปิดใจเข้าหากัน อีกทั้งยังมีกิจกรรม “ละลายพฤติกรรม” ต่าง ๆ ยิ่งทำให้พวกเราสนิทชิดเชื้อ หรือที่ภาษาสมัยใหม่ในยุคนี้เรียกว่า “คลิก” กันได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซ้อมเชียร์ และการรับน้องที่ยังจดจำไม่ลืมมาถึงทุกวันนี้

วิศวฯ จุฬาฯ

วันแรกที่เริ่มเข้าคณะ รุ่นพี่มาต้อนรับเราและเรียกพวกเรามารวมตัวกันที่สนาม ถามชื่อพวกเราและให้พวกเราพูดคุยกันอย่างเปิดอก ทำความรู้จักกัน ผลัดกันถามชื่อพ่อแม่อย่างเป็นกันเอง พร้อมกับบอกน้อง ๆ ว่า เมื่อมาเป็นนิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ แล้ว ทุกคนต้องมีความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นลูกเจ้าใหญ่นายโต ลูกเศรษฐี หรือยาจก ทุกคนก็เท่าเทียมกัน นั่นเป็นวันแรกที่พวกเราเกือบ 400 คน ได้พูดคุยและทำความรู้จักกันอย่างจริงจัง

“จะลูกเต้าเหล่าใครไม่สำคัญนะ เข้ามาอยู่ที่นี่แล้วทุกคนเท่ากันหมด”

“ขำอะไร นี่ไม่ใช่ตัวตลก ไม่ต้องมาขำ… ห้ามยิ้ม ห้ามหัวเราะ”

“เสียงมีกันแค่นี้เองเหรอ ยังใช้ไม่ได้ เราวิศวะต้องดังที่สุด รู้ไหม!!”

“ถ้าวันนี้บูมไม่ดัง ไม่ต้องเลิก ไม่ต้องกลับบ้าน”

“แค่นี้ทนไม่ได้ก็ลาออกไป”

“ร้องเสียงดังกว่านี้ได้ไหม? อย่ากินแรงเพื่อนสิ!!!”

วิศวฯ จุฬาฯ

หลากหลายประโยคที่ได้ยินวน ๆ ซํ้า ๆ ทุกวันจนแค่พี่อ้าปากก็เดาทางได้แล้วว่าวันนี้จะด่า เอ๊ย พูดว่าอะไร แต่ที่จำได้แม่นที่สุดคือ “ร้องเพลงเชียร์อะไร เสียงอย่างกับสุเทพ ชื่ออะไรนะ เราน่ะ” พี่ว้ากตะคอกใส่พร้อมชี้หน้าไปที่เพื่อนท่าทางเรียบร้อยของเราคนหนึ่ง เพื่อนคนนั้นรีบตอบกลับทันควันด้วยเสียงทุ้มนุ่มนวลว่า “ผมชื่อ สุเทพ นิ่มนวล ครับ” เชื่อว่าทั้งรุ่นพี่ ทั้งเพื่อน ๆ ทุกคน จำชื่อสุเทพได้อย่างแม่นยำตั้งแต่วันนั้น

ดาวเด่นอีกคนหนึ่งที่เพื่อน ๆ น่าจะจำชื่อได้ไม่แพ้สุเทพคือ ไพฑูรย์ เพราะขาดเชียร์ประจำ ได้ยินรุ่นพี่ถามหาจนชินหู “ไพฑูรย์ กรุ๊ป J อยู่ไหม วันนี้มาหรือเปล่า คนนี้ขาดเชียร์เรื่อยนะ”

วิศวฯ จุฬาฯ

นี่คือสิ่งที่เราประสบพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่มีหรอกคำพูดหวาน ๆ มีแต่เสียงตะโกนปนตะคอกกรอกหูปาว ๆ (จนแก้วหูแทบแตก) เกือบทุกครั้งที่ซ้อมเชียร์ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมรุ่นพี่ต้องดุ ต้องโหดต้องใช้อำนาจ ข่มขู่ทำลายขวัญกันขนาดนั้น ทำแล้วได้อะไร?? นอกจากความเจ็บแค้น เกลียดชัง… เป็นคำถามที่มั่นใจว่าน้องใหม่เกือบทุกคนต้องเคยสงสัย เพื่อนบอกว่า “มึงทำ ๆ ตามเขาไปแหละ เขาคงจะมีเหตุผลของเขา นี่เป็นประเพณีของเรา” สงสัยกันอยู่ได้ไม่นาน สิ่งที่เราสงสัยนั้นก็ค่อย ๆ ได้รับความกระจ่างในเวลาต่อมา…

กิจกรรมห้องเชียร์ของพวกเราดำเนินไปอย่างทุลักทุเล แต่ถึงแม้เราจะเรียกกันติดปากว่า “ห้อง” แต่จริง ๆ ไม่เคยจัดในห้องหรอก ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เหมือนแอบลักลอบทำผิดกฎหมาย เพราะต้องแอบไม่ให้อาจารย์เห็น (เนื่องจากอาจารย์ไม่สนับสนุน) ห้องเชียร์ของเราจึงเป็นห้องเชียร์แบบสัญจร ข้างหอประชุมบ้าง หน้าตึก 3 บ้าง คือตรงไหนว่างและลับหูลับตาคนก็จัดมันตรงนั้นแหละ

ร้องเพลงเชียร์ วิศวฯ จุฬาฯ

ทุกวันเราจะประชุมเชียร์กัน 2 รอบ รอบกลางวันเริ่มเวลา 12:10 น. ส่วนรอบเย็นเริ่มประมาณ 2 ทุ่ม หน้าที่ของพวกเรานอกจากต้องท่องจำเนื้อเพลง (ซึ่งมีให้จำเป็นสิบ ๆ เพลง) ให้ได้ในเวลาอันรวดเร็วแล้วยังต้องจำหน้าพี่ ๆ (ที่มีเป็นสิบ ๆ อีกเช่นกัน) ทุกคนให้ได้ด้วย ถ้าใครเข้าห้องเชียร์สายกว่ารุ่นพี่ ถือว่ามีความผิดร้ายแรง ถ้าใครมาไม่ทันครั้งแรกจะถูกลงโทษสถานเบา คือให้ “วิดพื้น” ถ้าใครมาไม่ทันเกิน 1 ครั้ง จะถูกให้วิ่งรอบจุฬาฯ หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า “วิ่งรอบโลก” โดยรุ่นพี่จะวิ่งประกบไปด้วยเพราะถือเป็นความผิดของพี่เหมือนกันที่ไม่สามารถสั่งสอนน้องให้อยู่ในกฎระเบียบได้ แต่ถ้าใครโดนทำโทษครั้งแล้วครั้งเล่ายังไม่หลาบจำยังฝ่าฝืนทำผิดอีกบ่อย ๆ ก็จะถูกลงโทษขั้นสูงสุด คือโดน Boycott หรือโดนหมางเมินจากรุ่นพี่และเพื่อน ๆ

ร้องเพลงเชียร์ วิศวฯ จุฬาฯ

เห็นความทุ่มเทของพี่ ๆ ประธานเชียร์และผู้นำเชียร์แล้วเหมือนกับว่าทุกลมหายใจเข้า-ออกของทุกคนคือแข่งกีฬา แข่งเชียร์โดยมี “ถ้วยรางวัล” เป็นความฝันอันสูงสุด พวกพี่ๆ จะบังคับขู่เข็ญให้พวกเราอยู่ร้องเพลงเชียร์และซ้อมเดินแถวทุกเย็นกว่าจะเลิกก็ประมาณ 4-5 ทุ่ม ได้กลับบ้านพร้อมเพื่อนๆ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีและคณะวิทยาศาสตร์ (หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า คณะบัญชีและคณะวิดยา) ทุกวัน (ซึ่งล้วนแต่เป็นคณะคู่แข่งสำคัญตอนกรีฑากลางแจ้ง) มีราชรถ…เมล์เที่ยวสุดท้ายมาจอดเทียบรอรับอยู่หน้าจุฬาฯ ทุกคืน กว่าจะกลับถึงบ้านก็ 5 ทุ่ม ถึง 2 ยาม เรียกว่าถ้าไม่เห็นพระจันทร์คงกลับบ้านกันไม่ถูก เป็นแบบนี้ทุกวัน ติดต่อกันนานเป็นเดือน ๆ จนแทบไม่มีเวลาทำการบ้าน ดูหนังสือ

ถ้าใครจัดสรรเวลา (ที่มีอยู่น้อยนิด) ไม่ได้ ก็อาจถึงขั้นสอบตกเป็น Repeater ไปเลยก็มี

ร้องเพลงเชียร์ วิศวฯ จุฬาฯ

เราซ้อมกันอย่างหนักหน่วง เอาเป็นเอาตายมาก จนบางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่า นี่เราเอนทรานซ์เข้า “คณะซ้อมเชียร์ศาสตร์” หรอกเหรอ เหมือนการซ้อมเชียร์เป็นงานหลัก กิจกรรมอื่น ๆ เป็นงานรอง และการเรียนเป็นแค่ “งานอดิเรก”

เมื่อพูดถึงห้องเชียร์ ก็ต้องนึกถึงการว้าก เหมือนพูดถึงวิศวฯ จุฬาฯ ก็ต้องนึกถึงปราสาทแดงอย่างไงอย่างงั้น

การว้ากในจุฬาฯ เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีใครรู้ช่วงเวลาที่แน่นอน แต่คาดว่าน่าจะมีมาก่อนรุ่นเราหลายปีแล้ว แต่ถ้าถามว่าคำว่า “ว้าก” มาจากอะไร ก็จะได้คำตอบว่าน่าจะมาจากการ “ว้ากเพ่ย” ในงิ้ว เวลาที่ตัวโกงออกมาแผดเสียงว้ากดัง ๆ ตอนโกรธ

การว้ากกระทำโดย “ว้ากเกอร์” ซึ่งเป็นศัพท์ที่ไม่รู้อีกเหมือนกันว่าใครบัญญัติ แต่รู้กันทั่วว่าหมายถึงรุ่นพี่ที่เสียงดัง ดุดัน หน้าตายเป็นเสือยิ้มยาก ชอบยืนอยู่หลังสุดในห้องเชียร์ คอยเข้มงวดกวดขันน้อง ๆ ให้อยู่ในระเบียบวินัย น้องคนไหนทำผิดหรือทำอะไรไม่ได้ดั่งใจก็จะถูกว้ากและถูกลงโทษ (เมื่อพูดถึงว้ากเกอร์ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าไม่มีใครจำพี่ซิ้ว หาญยิ่ง รัตนอุทุมพร วศ.10 ไม่ได้)

แม้จะไม่ค่อยถูกชะตา กระเดียดไปทางไม่ชอบขี้หน้าพวกพี่ว้ากเท่าไหร่ แต่ก็อดเห็นใจพวกพี่ว้ากไม่ได้ เพราะนอกจากต้องเก๊กเสียง เก๊กหน้า สร้างบุคลิกให้ดูน่าเกรงขาม ต้องเหนื่อยกับการตะเบ็งเสียงเคี่ยวเข็ญ ข่มขู่น้อง ๆ ให้หวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังตกเป็นที่ “ชื่นชัง” (ตรงข้ามกับชื่นชอบ) ของน้อง ๆ อีกด้วย… ถ้าบังเอิญไปเจอนอกห้องเชียร์ พวกเราก็จะพยายามแกล้งทำเป็นไม่เห็นบ้างเดินเลี่ยง ๆ ห่าง ๆ ไปบ้าง… ใครที่ยอมมาเป็นพี่ว้ากนี่จึงถือว่าเป็นผู้มีความเสียสละอย่างสูง (แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่มีใครเกลียดพี่เขาจริง ๆ หรอก เพราะบ่อยครั้งที่เราแอบเห็นพี่ว้ากหลาย ๆ คนเวลาอยู่นอกห้องเชียร์ก็ตลกโปกฮา สนุกสนาน แต่พอเข้าห้องเชียร์ปุ๊บเหมือนองค์ลง วิญญาณว้ากเกอร์จอมโหดเข้าสิงทันที)

แล้วการ “ว้าก” นี่มันดียังไง? ทำไมถึงต้องว้ากน้อง แทนที่จะพูดจากันดี ๆ ทำไมต้องข่มขู่แกมบังคับให้มาซ้อมเชียร์แทนที่จะใช้คารมหว่านล้อมเชิญชวนให้อยากมา ทำไมไม่เปิดโอกาสให้พวกเราตัดสินใจเลือกเองว่าจะมาหรือไม่มา…

เกิดคำถามขึ้นมากมาย… ทำไม ทำไม และทำไม?

ตอนนั้นในหัวเราอาจเต็มไปด้วยคำถามและไม่รู้สึกสนุกกับการที่รุ่นพี่ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับรู้สึกอยากขอบคุณ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ เรื่องเล่าชาวอินทาเนีย คัดลอกจากหนังสือ 50 ปี วิศวจุฬาฯ 2511


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save