เล่าเรื่องเล่งเน่ยยี่แบบ Off the Record

เล่าเรื่องเล่งเน่ยยี่แบบ Off the Record


ย่านเยาวราช ไชน่าทาวน์แห่งประเทศไทย ดินแดนนอกเกาะรัตนโกสินทร์ หากเปรียบกับพระนครเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เหมือนพื้นที่ชนบท แต่ก็เป็นพื้นที่ที่ชาวจีนโพ้นทะเลผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งหลักปักฐานหยั่งรกรากในแผ่นดินสยาม ต่อมาก็ได้ขยายพื้นที่และพัฒนาต่อเนื่องมาอย่างยาวนานับร้อยปี โดยรวมเอาย่านการค้าทั้งค้าส่งและค้าปลีกไว้มากมาย ก่อนยุคโมเดิร์นเทรดเข้ามาสู่สังคมไทย ทุกวันนี้ แม้จะมีห้างค้าส่งที่อ้างว่าสนับสนุนร้านของชำ(โชห่วย) อย่างแม็คโคร แต่ตลาดเก่าเยาวราชก็ยังคงเสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะการจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษสารทต่าง ๆ สำเพ็งก็ยังเป็นแหล่งขายส่งผ้าแพรพรรณ และอุปกรณ์เกี่ยวกับการเย็บปักถักร้อย ซึ่งปรับตัวตามแฟชั่นและตอบสนองตลาดได้รวดเร็วไม่ตกเทรนด์ ไม่นับรวมถึงห้างทองรูปพรรณ ร้านเครื่องยาจีน โรงแรมในระดับต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คืออาหารหลากรูปแบบ ทั้งระดับเหลา (ภัตตาคาร) และร้านริมทางเท้า (สตรีตฟู้ด) ซึ่งคงความอร่อยระดับตำนาน

ชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อรวมตัวกันเป็นชุมชนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ก็มักจะต้องมีการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางความศรัทธา ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อทางลัทธิเต๋า และก็มีส่วนไม่น้อยที่สร้างวัดตามความเชื่อในศาสนาพุทธ

วัดจีนที่มีชื่อเสียงในย่านเยาวราช-เจริญกรุงย่อมหนีไม่พ้น วัดเล่งเน่ยยี่ สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2414 ชื่อแปลตรงตัวตามภาษาจีนคือวัดดอกบัวมังกรชื่อวัดในภาษาไทยซึ่งเป็นชื่อทางราชการนั้น คือ วัดมังกรกมลาวาส เป็นนามพระราชทานในพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทำเลที่ตั้งของวัดว่ากันว่าเป็นลำตัวของมังกรตามหลักฮวงจุ้ยจีนโดยมีหัวมังกรอยู่ที่บริเวณวงเวียนโอเดียน

เล่งเน่ยยี่เป็นวัดที่สร้างตามหลักสถาปัตยกรรมจีน ผังอาคารลักษณะนี้จะพบได้ในมณฑลกวางตุ้งด้วยพระอาจารย์สกเห็ง ปฐมบูรพาจารย์ผู้สร้างวัดเดินทางมาจากมณฑลกวางตุ้ง มีผังอาคารตามลักษณะที่เรียกว่า ซี่แบ้ทัวเชีย (สำเนียงแต้จิ๋ว)แปลว่า 4 ม้าลากรถ หมายถึง การวางอุโบสถไว้ตรงกลางเป็นอาคารประธาน ประหนึ่งดังรถม้าและตัวอาคารบริวารรายล้อมทั้ง 4 ด้าน ประหนึ่งดังม้าลากรถ ประกอบด้วย วิหารส่วนหน้า ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารท้าวจตุโลกบาล ในวิหารนี้จะเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อสิ้นพุทธกาล 5000 ปีในยุคของพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน ก็จะเป็นยุคพระศรีอารย์ ในวิหารเดียวกันนี้ก็จะเป็นที่ประดิษฐานของพระเวทโพธิสัตว์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นธรรมบาลหันหน้าเข้าหาตัว

ซำป้อฮุกโจ้ว
ซำป้อฮุกโจ้ว

พระอุโบสถจะเป็นตัวอาคารเดี่ยวแยกจากวิหารอื่นหรืออาคารหลังอื่น ๆ ทั้งหมด สำหรับพระอุโบสถของเล่งเน่ยยี่นี้ ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ 3 องค์ ซึ่งชาวจีนเรียกว่า ซำป้อฮุกโจ้ว ประกอบด้วย พระโคตมพุทธเจ้า (พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า) พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุ และรายล้อมด้วยพระอรหันต์อีก 18 องค์

วิหารบูรพาจารย์
วิหารบูรพาจารย์

วิหารหลังส่วนที่ตรงกับอุโบสถนั้น เป็นวิหารบูรพาจารย์สำหรับวัดเล่งเน่ยยี่นี้ประดิษฐานรูปเหมือนของพระอาจารย์สกเห็ง ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างวัด ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ไคซัวโจ๋วซือ (แปลตรงตัวว่า ปฐมบูรพาจารย์ผู้บุกเบิกภูเขา)

ด้านซ้ายมือของวิหารบูรพาจารย์คือวิหารพระอวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์กวนอิม) พระโพธิสัตว์กวนอิมมีมากมายหลายปางตามอวตารและตามเจตนาที่จะไปโปรดสัตว์ ปางที่รู้จักกันทั่วไปก็มักจะเป็นหญิง อีกปางหนึ่งที่เห็นกันมากก็จะเป็นปางพันมือพันตา (สหัสหัตถ์สหัสเนตร)

วิหารด้านขวามือเป็นวิหารของพระสังฆนายกองค์ที่ 6 (ตามลำดับในประเทศจีน) คือท่านฮุ่ยเล้ง บางสำเนียงเรียกเว่ยหลาง ตามตำนานกล่าวว่า ท่านมีชาติกำเนิดเป็นลูกชาวนาบ้านนอก ไม่รู้หนังสือ แต่บรรลุธรรมตั้งแต่ได้ยินคำสวดพระสูตรปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร เมื่อจะขอบวชที่สำนักของพระสังฆนายกองค์ที่ 5 นั้น พระสังฆนายกทราบโดยญาณว่าท่านฮุ่ยเล้งเป็นผู้บรรลุธรรมแล้วโดยยังมิได้บวช แต่เกรงจะถูกทำร้ายจากกลุ่มศิษย์ที่สนับสนุนศิษย์อาวุโสในสำนัก จึงไม่บวชให้โดยง่าย ต่อมาเมื่อพระสังฆนายกเริ่มล้มป่วยลง มีการคะยั้นคะยอให้ท่านสังฆนายกแต่งตั้งศิษย์อาวุโสขึ้นดำรงตำแหน่งสังฆนายกองค์ที่ 6 เพื่อปฏิบัติการแทน ท่านจึงตั้งโจทย์เพื่อทดสอบภูมิธรรมและประกาศว่า ผู้ใดตอบธรรมปุจฉาได้ถูกต้องจะได้รับบาตรและจีวรถ่ายทอดตำแหน่งสังฆนายกต่อจากท่านศิษย์อาวุโสมีความต้องการได้ตำแหน่งอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าแสดงออกนอกหน้า จึงเขียนคำตอบเป็นโศลกไว้ที่หน้าต่างกุฏิของพระอาจารย์ ประมาณว่า จิตประดุจกระจกเงาที่ผ่องใสต้องหมั่นบำเพ็ญเพียรเพื่อรักษาจิตให้ใสสะอาดเฉกเช่นเดียวกับต้องรักษากระจกให้สะอาดมิให้ฝุ่น(กิเลส)จับ ท่านฮุ่ยเล้งซึ่งตอนนั้นยังเป็นลูกศิษย์ประจำห้องครัวมาพบข้อความแต่อ่านไม่ออก ต้องวานพระเณรให้ช่วยอ่านข้อความให้ฟังเมื่อฟังแล้วก็ขอให้พระหรือเณรรูปนั้นช่วยเขียนคำตอบให้แทนความหมายโดยประมาณคือ จิตเดิมแท้ไม่มีกระจกไม่มี แล้วฝุ่นจะไปจับอะไร (นี่ว่ากันตามหลักสุญตา ทางเซน) ความทราบถึงพระสังฆนายกองค์ที่ 5 ท่านก็ยิ่งมั่นใจในตัวท่านฮุ่ยเล้งมากขึ้น คืนหนึ่งจึงให้ท่านฮุ่ยเล้งเข้าไปพบเป็นการส่วนตัว ทำการบรรพชาอุปสมบทให้ แล้วถ่ายทอดบาตรพร้อมกับจีวรมอบตำแหน่งสังฆนายกองค์ที่ 6 ให้ แล้วให้ออกจากวัดไปเลย ถ้าจะเล่าให้จบ จะกินเนื้อที่มากเกินไปไว้คุยกันคราวต่อไปแล้วกัน

วิหารหลัก ๆ ก็จะมีเท่านี้ นอกจากนี้ก็จะมีวิหารพระกษิติครรภโพธิสัตว์ (ตำนานคล้ายพระมาลัยในฝ่ายเถรวาท เรื่องการเปิดประตูนรกเพื่อโปรดมารดา) ตั้งอยู่ด้านหน้าของวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม

ใบเสมา
ใบเสมา

เล่งเน่ยยี่จะเก่าแก่เพียงไร แต่วัดจีนแห่งแรกกลับเป็นวัดย่งฮกยี่ (นามพระราชทานคือวัดบำเพ็ญจีนพรต) ซึ่งเป็นวัดจีนแห่งแรกในคณะสงฆ์จีนนิกาย ย่งฮกยี่เป็นการบูรณะขึ้นมาจากศาลเจ้ากวนอิม โดยพระอาจารย์สกเห็งที่ใช้เป็นที่จำพรรษาในช่วงแรกที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทย และต่อมาก็สร้างวัดเล่งเน่ยยี่ใน พ.ศ. 2414 ใช้เวลา 8 ปีในการก่อสร้าง และได้รับพระราชทานชื่อวัดดังกล่าวข้างต้น นับเป็นอีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระพุทธเจ้าหลวงมีแก่พสกนิกรชาวจีนเรื่องราวที่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ หาอ่านได้จากวิกีพิเดีย หรือแหล่งข้อมูลต่าง ๆในอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก

ที่เล่ามาข้างต้น ล้วนเป็นส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะพบการผสมผสานทางวัฒนธรรมและความเชื่อ กล่าวคือ ในวัดพุทธฝ่ายเถรวาท เราจะมีทั้งพระพุทธรูปและเทพในศาสนาพราหมณ์ระคนกันไป ที่เล่งเน่ยยี่ก็เช่นกันนอกเหนือจากวิหารพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ และพระบูรพาจารย์ แล้วก็จะมีเทพ (หรือเซียน ในตำนานทางเต๋า) วิหารของเทพหรือเซียนทั้งหลายตั้งอยู่ด้านซ้ายมือของอุโบสถ เทพที่มีชื่อเสียงเป็นเป้าหมายหลัก ๆ ในการสักการะของชาวจีนได้แก่ ไฉ่สิ่งเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) ไท่ส่วยเอี๊ย (เทพเจ้าผู้พิทักษ์ชะตาราศี) หั่วท้อเซียงซือ (หมอฮูโต๋-หมอเทวดา) ด้านข้างของวิหารนี้เป็นห้องจ่ายยา(แผนโบราณ) เมื่อกราบไหว้บอกกล่าวอาการป่วยแก่หมอเทวดาแล้ว อาจใช้การเสี่ยงเซียมซีแล้วนำไปเจียดยาที่ห้องยานี้ได้ ปึ๋งเถ่ากง-ม่า (เจ้าปู่ เจ้าย่า) เทพเห้งเจีย เป็นต้น

วิหารอดีตเจ้าอาวาส
วิหารอดีตเจ้าอาวาส

ตามประวัติของวัด แม้จะก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2422 แต่วัดเล่งเน่ยยี่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ.2494 ปรากฏหลักฐานตามใบเสมาข้างอุโบสถดังภาพ ทั้งนี้ การสร้างวัดในพระพุทธศาสนานอกจากจะต้องสร้างตามหลักบัญญัติแห่งศาสนาแล้ว ยังต้องมีการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

โครงหลังคา
โครงหลังคา

นอกจากวิหารที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ววันนี้มีอีก 1 วิหารถัดจากวิหารกวนอิมด้านซ้ายมือ เป็นวิหารที่เพิ่งบูรณะขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2555 ประดิษฐานรูปเหมือนของพระอาจารย์โพธิ์แจ้ง อดีตเจ้าคณะใหญ่สงฆ์จีนนิกายลำดับที่ 6 และเป็นเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่องค์ที่ 7 พระอาจารย์โพธิ์แจ้งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เสมอด้วยพระราชาคณะชั้นธรรมในคณะสงฆ์ไทย ด้วยมีคุณูปการในการพัฒนาคณะสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทยเป็นอเนกอนันต์ ส่วนรูปเหมือนในตู้บูชาอีกองค์หนึ่งคือ พระอาจารย์เย็นเชี้ยว มีฐานะเป็นศิษย์ที่พระอาจารย์โพธิ์แจ้งเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ ดำรงตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ลำดับที่ 9 สมณศักดิ์เสมอด้วยท่านเจ้าคุณอาจารย์

อีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันพระมหาเถระทั้ง 2 นี้คือ เมื่อดับขันธ์แล้วกายเนื้อไม่เน่าเปื่อย ร่างปิดทองของพระมหาเถระทั้ง 2 รูปนี้แยกย้ายไปอยู่ที่วัดโพธิ์แมนคุณารามซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์โพธิ์แจ้งเป็นไคซัวโจ๋วซือ ส่วนของพระอาจารย์เย็นเชี้ยวนั้น ไปอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ 2ซึ่งท่านเองเป็นไคซัวโจ๋วซือ การชมวิหารนี้หากชมด้วยการมีสติรับรู้ถึงปฏิปทาของทั้ง 2 อาจารย์และศิษย์ น่าจะให้อะไรดี ๆต่อชีวิตมากกว่าการชมเพียงมองว่าเป็นรูปเหมือน หรือชมเฉพาะความงามของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ตกแต่งสถานที่เท่านั้น

ไหน ๆ วิศวกรโยธาจะเที่ยววัดทั้งทีก็จะแถมเกร็ดเกี่ยวกับการก่อสร้างสักเล็กน้อย เล่งเน่ยยี่เป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีน รูปทรงหลังคาเป็นทรงจีน ใช้กระเบื้องแบบจีนมุงหลังคา และไม่มีฝ้าเพดาน จะสังเกตว่า อาคารลักษณะนี้ทิศทางการวางจันทันกับแป จะกลับทางกับการก่อสร้างในปัจจุบัน จันทันที่เห็นในภาพคือส่วนที่ทาสีแดง ขนานกับอกไก่ ส่วนแปที่เห็นจะเป็นสีเขียว ส่วนผนังทั่วไปเป็นผนังก่ออิฐถือปูน และมีความหนาระหว่าง 0.60–1.00 เมตร เป็นผนังรับแรง แน่นอนว่าทั้งหมดนี้วางบนคลองราก ซึ่งเป็นมาตรฐานการก่อสร้างในยุคนั้น

ของแถมรายการต่อไปสำหรับชาวโยธาทั้งหลายคืองานหินขัด ซึ่งโชคดีที่เดี๋ยวนี้งานหินขัดถูกลดความนิยมลงไปสถาปนิกไม่ค่อยกำหนดลงเป็นรายการมาตรฐานในแบบก่อสร้าง คงเหลือแต่งานราชการบางส่วนเท่านั้นที่ใช้หินขัดเบอร์ 4ที่เม็ดหินค่อนข้างเล็ก กับใช้ในการทำบัวเชิงผนัง งานหินขัดที่เล่งเน่ยยี่มีหน้าตาอย่างนี้ โปรดสังเกตฝีมือการตัดเส้นด้วยสีซีเมนต์แทนการใช้เส้นโลหะสำเร็จ อายุการใช้งานก็ทนทานกว่า 30 ปี ทั้งที่เป็นพื้นที่สาธารณะ รับทั้งแดดและฝน เดี๋ยวนี้คงหาช่างฝีมือทำงานระดับนี้ได้ยาก

ภาพเขียนบานประตู
ภาพเขียนบานประตู

แผงประตูบานเฟี้ยม 8 ชิ้นสำหรับห้องหับต่าง ๆ ล้วนเป็นงานลงรัก เขียนด้วยลายทอง อายุใช้งานประมาณ 40 ปี มีที่ต้องซ่อมบำรุงอยู่บ้าง เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นพงศาวดารสามก๊ก ส่วนที่มีการซ่อมบำรุงโดยช่างฝีมือต่างสมัย ปรากฏชัดเจนว่า งานออกมาไม่เหมือนกันสังเกตรูปขวามือส่วนที่เป็นสีขาวคือส่วนที่มีการซ่อมบำรุงในภายหลัง

พระสูตรภาษาธิเบต
พระสูตรภาษาธิเบต

พระสูตรหรือคำสวด หรือมนต์ที่ใช้สวดในวัดสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายนั้น ใช้อักษรจีนตัวเต็มเป็นหลัก แต่สำเนียงที่ออกเสียงจะเพี้ยนไปจากภาษาจีน ทั้งนี้เพราะเป็นการแปลจากภาษาสันสฤตตั้งแต่สมัยพระอาจารย์เฮี่ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) จาริกจากประเทศจีนไปศึกษาและคัดลอกพระคัมภีร์มาเผยแพร่ในประเทศจีน นอกจากนี้ อักขระที่ใช้เขียนภาษามนต์อย่างเป็นทางการก็จะใช้อักษรธิเบตร่วมด้วย ที่เล่งเน่ยยี่นี้จะมีพระสูตรภาษาธิเบตจารึกที่ผนังด้านนอกของวิหารหน้า

ร้อยกว่าปีของเล่งเน่ยยี่ ย่อมผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งน้อยและใหญ่ แม้แต่ในขณะที่ผู้เขียนไปเก็บข้อมูลที่วัดใน พ.ศ. 2563 ก็เห็นร่องรอยการปฏิสังขรณ์ผนังภายนอกของวัดอยู่เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ การบูรณปฏิสังขรณ์ที่มีขึ้นทั้งหมดเท่าที่เห็นเป็นความพยายามรักษาศิลปะและสถาปัตยกรรมเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของสถานที่ เพื่อให้อยู่คู่กับศรัทธาของพุทธศาสนิกชนตลอดไป

น้องพี่อินทาเนียที่ประสงค์จะไปชมวัด ชมพุทธศิลป์ฝ่ายจีนนิกาย หรือชมรายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมจีน ผู้เขียนแนะนำให้เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนหรือรถยนต์สาธารณะ อย่าใช้รถส่วนตัวเนื่องจากบริเวณวัดไม่มีที่จอดรถ ที่สะดวกที่สุดน่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้าเงินลงที่สถานีวัดมังกร แล้วเดินอีกประมาณ 200 เมตรก็จะถึงประตูวัดด้านถนนเจริญกรุง หวังว่าผู้อ่านคงได้รับข้อมูลส่วนที่เป็นออฟฟ์เดอะเร็คคอร์ด พอสมควรแก่เวลา แล้วค่อยพบกันใหม่เมื่อมีโอกาสครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เที่ยวกับอินทาเนีย (Journey & Yummy) โดย อุดม โพธิ์กมลวงศ์ วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save