เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดลานอินทาเนียใหม่ให้เป็นแลนด์มาร์คของคนจุฬาฯ ทุกวัย เบิกฤกษ์ประเดิมจัดเทศกาลดนตรีสุดยิ่งใหญ่แห่งปี INTANIA Music Fest คิกออฟนับถอยหลังเข้าสู่ปีที่ 111 ท่ามกลางผู้ชมคับคั่งกว่า 5,000 คน
หลังจากที่ใช้เวลาเกือบ 1 ปีปิดปรับปรุงหอประชุมและภูมิทัศน์โดยรอบคณะครั้งใหญ่ในรอบ 57 ปี ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กลับมาเปิดใช้อาคารสถานที่โฉมใหม่อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมรีแบรนด์ลานเกียร์เดิมให้เป็น “ลานอินทาเนีย”
โครงการจัดทำ “ลาน INTANIA” ลานเกียร์เดิมได้รับการรื้อปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ เพื่อให้เป็น Signature อันน่าภาคภูมิใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่การจัดทำพื้นลานใหม่ จัดทำหลังคาด้านที่ติดกับตัวอาคาร จัดทำอัฒจันทร์ให้เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของนิสิตรุ่นใหม่ เช่น ตั้งวงดนตรี ถ่ายรูปรับปริญญา โดยยังคงรักษาต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นและอยู่คู่กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ดังเดิมและจัดทำโต๊ะนั่งให้เหมาะสมกับการใช้งาน
ศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวขอบคุณพี่ ๆ นิสิตเก่าวิศวฯ ทุกคน ที่ได้ลงขันกันบริจาคเงินมากกว่า 135 ล้านบาท เพื่อให้สมาคมฯ นำมาใช้ในโครงการซ่อมแซมหอประชุมคณะฯจนแล้วเสร็จ สามารถกลับมาเปิดใช้งานรองรับการเรียนการสอนและกิจกรรมตามไลฟ์สไตล์ใหม่ของน้องนิสิตในยุคดิจิทัลได้ตามกำหนด และการซ่อมแซมลานอินทาเนีย
ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะฯ เราวางคอนเซ็ปต์ให้ลานอินทาเนียแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้คนที่หลากหลาย หลอมรวมเชื่อมคนทุกวัยด้วยกิจกรรมหลายรูปแบบ เพื่อมุ่งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ไม่ใช่เพียงแค่นิสิตวิศวฯ แต่หมายรวมถึงนิสิตจุฬาฯ ทั้งหมดจะได้เติบโตเคียงคู่กับสังคมไทยในบริบทใหม่ที่ไม่สามารถต่างคนต่างอยู่ได้อีกต่อไป
“จุดประสงค์เชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ลานเกียร์เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างคน (ที่หลากหลาย) การเรียนรู้ (ที่หลอมรวม) และกิจกรรม (หลากรูปแบบ) เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้แก่นิสิตและผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน”
ภาพบรรยากาศภายในงาน