IOD กับบทบาทการพัฒนากรรมการเพื่อการเติบขององค์กรอย่างยั่งยืน

กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ วศ.25 IOD กับบทบาทการพัฒนากรรมการเพื่อการเติบขององค์กรอย่างยั่งยืน


สัมภาษณ์พิเศษฉบับที่แล้ว กองบรรณาธิการได้มีโอกาสพูดคุยกับ กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ วศ.25 เกี่ยวกับโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ Thai Private Sector Collective Action Against Corruption (CAC) ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และในครั้งนั้นก็พบว่า IOD เป็นองค์กรที่น่าสนใจมากทีเดียว โดยเฉพาะบทบาทสำคัญที่เป็นหัวหอกในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบริษัทไทย ก่อให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่ของ “กรรมการ” ได้อย่างมีประสิทธิผลแต่โดยทั่วไปแล้ว หลายคนยังไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของกรรมการอย่างแท้จริงในครั้งนี้เราจึงมาพูดคุยกับ กุลเวช เกี่ยวกับ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่ง กุลเวช ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ หรือ CEO

…เมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานของกรรมการบริษัทที่ไม่ทำหน้าที่กรรมการที่ดี…แล้วกรรมการที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และทำอย่างไรจึงเรียกได้ว่าเป็น “กรรมการที่ดี” … คำถามนี้ กุลเวช มีคำตอบ

กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ จบจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ด้วยสนใจด้านธุรกิจจึงเรียนเพิ่มเติมที่ Sasin-Wharton Exchange Program ต่อมาได้ศึกษาต่อปริญญาโทด้านการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศ ที่ Sasin Graduate Institute of Business Administration จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขาการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ ที่ Massachusetts Institute of Technology, USA

ก่อนมารับหน้าที่ CEO ของ IOD กุลเวช มีประสบการณ์การทำงานหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใน พ.ศ. 2542 รับหน้าที่กรรมการ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์เอฟเอเอส จำกัดต่อมาก็ร่วมเป็นหุ้นส่วนและเป็นที่ปรึกษาของบริษัทจนถึง พ.ศ.2556 ในช่วง พ.ศ. 2557-2561 เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท ไทยโพลีอะครีลิค จำกัด (มหาชน) และใน พ.ศ.2563 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่ง CEO ของ IOD เมื่อ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน

IOD มีจุดเริ่มโดยก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 ด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยมูลนิธิกองทุนพัฒนาระบบตลาดทุน รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก (World Bank) IOD เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรแต่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของกรรมการและส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย

ถ้าพูดถึงตำแหน่ง “กรรมการ” ในบริษัท หรือหน่วยงานใด ๆ ก็แล้วแต่ หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ตำแหน่งนี้แทบจะไม่มีบทบาทหน้าที่ใด ๆ ในบริษัทเลย แต่ที่จริงแล้วบทบาทการเป็น “กรรมการ” บริษัท ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก หากเปรียบบริษัทเป็นร่างกายมนุษย์ CEO ก็เปรียบเสมือน “สมอง” ที่ทำหน้าที่คิดวางแผน และสั่งการ พนักงานเปรียบเสมือนกล้ามเนื้อที่ดำเนินงานตามที่สมองสั่ง ส่วนกรรมการจะเปรียบเสมือน “สติ” ที่จะคอยเตือนสมองให้ทำงานอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และพร้อมสนับสนุนให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3 สิ่งที่กรรมการ “จำเป็น” ต้องมีหากต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน

การที่องค์กรมีกรรมการที่ดีเป็นเรื่องจำเป็น แต่การเป็นกรรมการที่ดีไม่มีสูตรสำเร็จที่จะบอกได้ว่ากรรมการที่ดีต้องทำอย่างไร แต่มีหลักการที่สามารถยึดถือได้ เช่น กรรมการที่ดีจะต้องสามารถนำทิศทางและกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร (Lead) อีกทั้งยังต้องทำงานร่วมกันกับฝ่ายจัดการได้อย่างสอดประสาน (Partner) และกำกับดูแลติดตามการดำเนินงานของฝ่ายจัดการอย่างต่อเนื่อง (Monitor) ซึ่งทั้ง Lead, Partner และ Monitor เป็นบทบาทสำคัญที่กรรมการที่ดีควรทำ และต้องทำให้ครบทั้ง 3 ส่วนนี้ ทั้งนี้ หากบริษัทมุ่งเน้นเพียงการกำกับดูแลติดตามการทำงานของฝ่ายจัดการ (Monitor) แต่ละเลยการนำทิศทางองค์กรและการกำหนดกลยุทธ์ (Lead) โดยเฉพาะในยุคนี้ที่กรรมการจะต้องคำนึงถึงการนำองค์กรให้ก้าวผ่านความท้าทายของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้วยการมองผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน ก็อาจส่งผลให้บริษัทถูก Disrupt หรือไม่สามารถปรับองค์กรหรือกลยุทธ์ตามบริบทที่เปลี่ยนไปได้ อีกทั้งกรรมการที่ดีจะต้องตั้งคำถามแก่ผู้บริหาร ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินและไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาทิ กลยุทธ์ ความเสี่ยง ความยั่งยืน และการกำกับดูแลกิจการ ส่วนผู้บริหารหรือฝ่ายจัดการจะต้องนำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการอย่างเพียงพอแก่การพิจารณาและตัดสินใจหากกรรมการและฝ่ายจัดการมีการทำงานที่สอดประสานกันอย่างดี ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืน

“กรรมการที่ดีนั้นจะต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และมีความเชื่อในแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร ต้องเป็นคนที่มีความรู้ตามกลยุทธ์ของบริษัท อาจจะไม่ต้องมีความรู้ในธุรกิจของบริษัทอย่างลึกซึ้งแต่ต้องเข้าใจในแนวทางที่บริษัทจะพัฒนาต่อไป ซึ่งในคณะกรรมการอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ต้องมีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน รู้ว่าสุดท้ายแล้วเป้าหมายสำคัญของบริษัทคืออะไร เพียงแต่วิธีการเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จอาจจะแตกต่างกัน”

“ในความเห็นของผม กรรมการที่ดีต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างคือ 1. Care like a Parent 2. Curious like a Child และ 3. Courage like a Start Up ซึ่งทั้ง 3 คุณสมบัตินี้ จะต้องมีอยู่ในตัวของกรรมการ เพื่อจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี กรรมการต้องแคร์บริษัทเหมือนเป็นครอบครัว ต้องการให้บริษัทเติบโตอย่างแข็งแรง เมื่อต้องการให้บริษัทแข็งแรงก็จะต้องวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนและรัดกุม ทำงานอย่างเป็นขั้นตอน มีคำถามอย่างสร้างสรรค์ให้แก่ฝ่ายจัดการ และมีความกล้าในการทำสิ่งใหม่ ๆ เหมือนบริษัท Start Up หากกรรมการมีคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนอย่างแน่นอน”

ปัจจุบันด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การทำงานของกรรมการก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

“การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจะเป็นการแข่งขันที่ไม่เคยเจอมาก่อน มีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ เพราะฉะนั้นบทบาทของกรรมการก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ในทุกวันนี้กรรมการจะต้องทำงานหนักขึ้น จะต้องเข้าใจการเปลี่ยนไปของโลกเปิดหูเปิดตาให้กว้างเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่บริษัทมากที่สุด”

พัฒนากรรมการให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป

การจัดกิจกรรมของ IOD มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของกรรมการและผู้ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของกรรมการเช่น ผู้บริหาร และเลขานุการบริษัท ในรูปแบบการกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอรวมทั้งมีการสำรวจและค้นคว้าประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ และเผยแพร่ผลงานสู่สมาชิก เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากรรมการและการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้แก่องค์กรอย่างต่อเนื่อง

“หลักสูตรของ IOD ให้ความสำคัญ 2 เรื่อง คือ ยึดมั่นในหลักการ และเข้าใจในบริบท โดยจะต้องตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ส่วนรูปแบบการเรียนการสอนก็จะเป็นการพูดคุยเพื่อกระตุ้นให้เกิดแนวคิดและเทคนิคใหม่ ๆ ซึ่ง IOD มีวิทยากรที่มากความรู้ความสามารถ พร้อมจะถ่ายทอดให้แก่ผู้เข้าอบรม และสามารถกระตุ้นศักยภาพของผู้เข้ารับการอบรมให้แสดงออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถนำไปใช้และพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อยกระดับมาตรฐานของความเป็นกรรมการมืออาชีพ

หลักสูตรการฝึกอบรมและพัฒนากรรมการนั้น IOD มีทั้งหลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตรระยะยาว หลักสูตรที่เป็น Flagship ของทาง IOD คือหลักสูตร Director Certification Program (DCP) เป็นหลักสูตรพื้นฐาน ซึ่งเน้นบทบาทของกรรมการในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมหลากหลายหัวข้อเช่น การกำกับดูแลกิจการ การเงิน ความเสี่ยง กลยุทธ์ หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากทีมงานผู้ทรงคุณวุฒิของ IOD อีกหลักสูตรหนึ่งคือ Role of Chairman Program (RCP) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของประธานกรรมการ คุณสมบัติของการเป็นประธานกรรมการที่ดีเพื่อช่วยให้เกิดความราบรื่นในการทำงานของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ

นอกจากนั้นยังมีการจัดหลักสูตรอบรมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มทักษะให้หลากหลายยิ่งขึ้น รวมถึงมีหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงและเลขานุการบริษัท ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของกรรมการ เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการและการจัดทำรายงานประจำปี IOD จะปรับปรุงหลักสูตร ตัวอย่าง และกรณีศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กรรมการสามารถแลกเปลี่ยนความคิด เปิดมุมมอง ซึ่งถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการเป็นกรรมการที่ดี

“IOD ได้ปรับปรุงเนื้อหาและการนำเสนอหลักสูตรให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนความรู้แต่ละมุมมองเรื่องต่าง ๆ กับผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนความรู้แต่ละมุมมองเรื่องต่าง ๆ กับผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อมาตรฐานของความเป็นกรรมการมืออาชีพ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ประเด็นความท้าทายใหม่ ๆ ในการประกอบกิจการ และการบริหารจัดการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมาชิกได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่”

ไม่มีบริษัทไหนเล็กเกินไปที่จะมีกรรมการ

IOD กับบทบาทการพัฒนากรรมการเพื่อการเติบขององค์กรอย่างยั่งยืน

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กรรมการเปรียบเสมือนสติ คนจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็ต้องมีสติ บางคนคิดว่าเป็นเพียง SMEs ไม่จำเป็นต้องมีกรรมการก็ได้ ซึ่งแนวคิดนี้ กุลเวช มีความเห็นว่า

“ผมย้ำเสมอว่า “ไม่มีบริษัทไหนจะเล็กเกินไปที่จะมีกรรมการ” บางบริษัทคิดว่าเป็นบริษัทเล็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องมีกรรมการก็ได้ หรือเพียงแต่งตั้งคนในครอบครัวเป็นกรรมการก็พอหากคุณทำเช่นนี้ ธุรกิจของคุณก็จะไม่สามารถขยายได้ตามที่ควรจะเป็น เพราะคุณจะไม่ได้รับความคิดเห็นที่หลากหลายจากบุคคลภายนอกที่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างจากบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ในวงการเดียวกัน เพราะฉะนั้นบริษัทเล็กหรือ SMEs จะต้องรู้ถึงความสำคัญและทราบว่ากรรมการนั้นมีความสำคัญอย่างไร ก็ขอยืนยันว่าไม่มีบริษัทไหนเล็กเกินไปที่จะมีกรรมการเพื่อช่วยในการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร”

ไม่มีบริษัทใดที่เล็กเกินไปในการสร้างความยั่งยืน หากจะแบ่งการจัดการด้านความยั่งยืนแบบง่าย ๆ อาจทำได้เป็น 3 ระดับ คือ1. Do No Harm เป็นสิ่งที่ทุก ๆ บริษัทจำเป็นต้องมี นั่นคือ ไม่ทำให้ระบบการผลิตของคุณเบียดเบียนผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และกระบวนการผลิตที่ลดภาวะมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 2. Do It Better บริษัทจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้ดียิ่งขึ้น เช่น กระบวนการผลิตที่ลดลงของเสียอันเกิดจาดการผลิต หรือสามารถนำของเสียไปใช้ประโยชน์เพิ่มเติมได้ กระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง แต่ยังคงได้สินค้าที่มีคุณภาพดีเช่นเดิมหรือมากขึ้น และ 3. Differentiation คือ การนำเอาประเด็นความยั่งยืนหรือ ESG (Environmental, Social and Governance) เข้ามาสร้างจุดเด่นของสินค้าและบริการเพื่อสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งรายอื่น และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เช่น การผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบหรือ ส่วนประกอบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งและแตกต่างกับผู้ผลิตรายอื่น ทั้ง 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทควรคำนึงถึง และนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

สุดท้าย กุลเวช กล่าวว่า จากที่กล่าวมาคงทำให้หลายท่านตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของกรรมการบริษัท แต่การจะเป็นกรรมการที่ดีหรือเป็นกรรมการมืออาชีพนั้น การผ่านการอบรมให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่แล้ว เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และอาจไม่เพียงพอในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการในปัจจุบัน ซึ่งมีความท้าทายมากขึ้น กรรมการต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จะช่วยให้ท่านเป็นกรรมการที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนช่วยสร้างความเติบโตให้แก่องค์กรอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น ผู้ที่ทำงานเป็นผู้บริหารของบริษัทหรือเป็น “สมอง” ควรเข้าไปเป็น “สติ” หรือไปเป็นกรรมการในบริษัทอื่น ๆ หรือกลุ่มธุรกิจดูบ้าง ท่านอาจจะได้มุมมองใหม่ ๆ มากขึ้น รวมทั้งจะช่วยเสริมให้ท่านเป็นสมองได้ดียิ่งขึ้น มีสติขึ้นเข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนร่วมในบริษัทมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ย่อมส่งผลถึงการบริหารจัดการที่ดีขึ้นไปด้วย ธุรกิจก็จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save