World Economic Forum-WEF หรืออาศรมเศรษฐกิจโลก เป็นแหล่งรวบรวม ผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้นานาชาติเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบประเทศทั่วโลก และเป็นเสียงที่ผู้นำประเทศทั้งหลายรับฟังแล้วนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานในการพัฒนาประเทศต่อไป
กิจกรรมที่ WEF จัดเป็นประจำทุกปีคือการประชุมที่เมือง Davos, Switzerland ซึ่งมีผู้นำประเทศจากทุกภูมิภาคมาเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และเสนอแนวนโยบายเพื่อการปฏิบัติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การให้ความช่วยเหลือบรรดาประเทศกำลังพัฒนาและการกำหนดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจของโลกสู่อนาคต
WEF จึงถือเป็น “คลังสมอง” ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน งานประชุมที่ Davos ในแต่ละปีจึงมีผู้นำทางธุรกิจคนสำคัญในระดับ Fortune 500 ไปร่วมและให้ข้อคิดเห็นอยู่เป็นประจำ เช่น Steve Jobs, Jack Ma, Warren Buffet
และอย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้วในบทความนี้ตอนก่อน ๆ ว่า เมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา Mr.Koji Omi ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศญี่ปุ่น ที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งก็ได้ริเริ่มจัดการประชุม Science and Technology Forum – STS Forum ขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ เมือง Kyoto, Japan ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดประชุม International Panel for Climate Change Committee (IPCCC) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ซึ่งก็เป็นที่มาของพิธีสารเกียวโตหรือ Kyoto Protocol ซึ่งนานาชาติยึดเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกให้ได้มากที่สุด
แนวคิดของ Mr.Omi คือการทำให้ STS Forum เป็นการประชุมคู่ขนานกับ WEF เพื่อนำเสนอแนวคิด มาตรการ และนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สามารถควบคู่ไปกับแนวคิด มาตรการ และนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาให้มนุษยชาติโลกก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนนั่นเองครับ
เพื่อเสริมแนวคิดของ Mr.Omi ให้ยกระดับทางด้านวิชาการมากยิ่งขึ้น เมื่อ 7 ปีที่ ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ของญี่ปุ่นก็ได้มอบหมายให้ New Energy and Industry Development Agency – NEDO จัดการประชุม Innovation for Cool Earth Forum – ICEF ขึ้นที่ Tokyo, Japan ในรูปแบบ Back-to-Back หรือต่อเนื่องกับ STS Forum นั่นเองครับ
ในขณะที่ STS Forum เป็นที่ประชุมของผู้นำประเทศและนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สิ่งแวดล้อม พลังงาน สุขภาพ การศึกษา การทูตวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ และได้ข้อสรุปการปรึกษาหารือในรูปของมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ICEF จะเป็นที่ประชุมของนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลักครับ
ผลการประชุมของ ICEF จึงออกมาในลักษณะของแผนที่นำทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการทำให้โลกเย็นลง (ตามชื่อการประชุม) มีการจัดลำดับเทคโนโลยี 10 อย่างที่มีแนวโน้มที่จะนำมาประยุกต์ใช้งานจริงในระยะใกล้และสามารถส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศลดลง ทำให้โลกมีอุณหภูมิคงที่หรือลดลงได้ในที่สุด
กลับมาดูที่ WEF นะครับ ในฐานะองค์กรที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ นอกจากการประชุมประจำปีแล้วก็ยังมีการจัดประชุมย่อย ๆ และการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลทางวิชาการออกมาเป็นประจำทางสื่อต่าง ๆ เช่น จดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์
ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 นี้ จดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ของ WEF ได้เผยแพร่บทความของ Sae Moon Yoon ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี 17 อย่างที่จะเปลี่ยนโลกหลังปี 2025 ซึ่งผมขอนำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้นะครับ
เรามาเริ่มต้นด้วยการพูดถึง สุดยอดความเสี่ยง 10 ประการที่จะมีผลกระทบกับโลกในช่วง 10 ปีข้างหน้า ตามที่มาด้านล่างนี้กันก่อนนะครับ https://www.weforum.org/agenda/2020/01/top-global-risks-report-climate-change-cyberattacks-economic-political/
ความเสี่ยงทั้ง 10 ประการนี้แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ 5 กลุ่ม คือเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยีในกลุ่มทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์ฟองสบู่ (หรือราคาสูงเกินไปความเป็นจริง) เป็นความเสี่ยงหลัก
กลุ่มทางสิ่งแวดล้อมการ “เหวี่ยง” ของสภาพอากาศ ความล้มเหลวของมาตรการด้านภูมิอากาศ พิบัติภัยทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พิบัติภัยด้านสิ่งแวดล้อมจากมือมนุษย์
กลุ่มทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ คือ วิกฤตการณ์แหล่งนํ้า
กลุ่มทางด้านสังคม คือ ความล้มเหลวของโลกาภิบาล
และความเสี่ยงในกลุ่มทางด้านเทคโนโลยี คือ การทุจริตหรือการลักขโมยข้อมูล และการโจมตีทางไซเบอร์
ความเสี่ยงทั้ง 10 ประการนั้น ที่น่ากลัวมากเห็นจะเป็นความเสี่ยงทางด้านสังคมนี่แหละครับ เพราะหากโลกาภิบาลหรือ Global Governance ล้มเหลวแล้ว สงครามโลกที่จะมีการโจมตีกันด้วยอาวุธมหาประลัยเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอนครับ และที่มนุษย์โลกเกรงกลัวกันมากที่สุดที่จะตามความเสี่ยงข้างต้นมา คือ การใช้ Weapon of Mass Destruction หรืออาวุธที่ทำลายล้างมวลชนได้ในพริบตานั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็นนิวเคลียร์ เชื้อโรค หรือเคมีพิษต่าง ๆ
ถ้าอย่างนั้นมีเทคโนโลยีอะไรบ้างในปัจจุบันและอนาคตที่จะมาช่วยให้พวกเราสามารถลดและหากเป็นไปได้ก็ขจัดความเสี่ยงทั้ง 10 ประการนี้ให้หมดไปได้
รายละเอียดของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก 17 ประการ มีดังนี้
01 AI Optimized Manufacturing: AI หรือ Artificial Intelligent ที่เราแปลความหมายกันว่า “ปัญญาประดิษฐ์” คือ สิ่งที่เกิดมาร่วมกับความตื่นตัวในการใช้ข้อมูลจำนวนมาก หรือ Big Data (BD) ซึ่งเก็บสะสมไว้ในที่ต่าง ๆ และการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลหรือ Machine Learning (ML) เพื่อการประมวลและวิเคราะห์ให้เห็น “รูปแบบ” ของข้อมูล นำไปสู่การแปลงข้อมูลเป็น “สารสนเทศ” เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ…และนำไปสู่ “ปัญญา” หรือ Wisdom ในที่สุดพูดง่าย ๆ ว่า BD และ ML นำไปสู่ AI ในที่สุด และมีการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย ในด้านการผลิตนั้น AI จะทำให้สามารถบริหารการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยขจัดความสูญเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกงานเอกสารต่าง ๆ ไปโดยสิ้นเชิงครับ อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือความสามารถในการสนองความต้องการอย่างจำเพาะเจาะจงของลูกค้าหรือผู้บริโภคแต่ละรายได้เวลาอันรวดเร็ว หรือ Mass Customization นั่นเองครับ
02 A far-reaching energy Transformation: การปฏิรูปพลังงานของโลกที่ทำกันมานานมากตั้งแต่การเกิดปรากฏการณ์ Oil Shockเมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดผลกระทบเป็นภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรง ตลอดจนโรคระบาดอุบัติใหม่ที่เกิดด้วยความถี่สูงขึ้นจนถึง COVID-19 นั้น ทำให้ “รอยเท้าคาร์บอน” หรือ Carbon Footprint ที่เกิดขึ้นโดยกิจกรรมขององค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดจนนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ “การปลดปล่อยเป็นศูนย์” หรือ Net Zero Emission ในที่สุด ซึ่งจะทำให้การปฏิรูปพลังงานของโลกเกิดขึ้นอย่างงรวดเร็วและคุ้มค่า เนื่องจากการประยุกต์ใช้ “พลังงานสีเขียว” อย่างกว้างขวางทั่วโลก ผลที่ตามมาคือการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งใหญ่ ๆ ตั้งแต่การผลิตพลังงานไฟฟ้า การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการคมนาคมขนส่งตลอดสายจาก Well-to-Wheel, Wheel to-Pipe (จากบ่อน้ำมันถึงล้อขับยานพาหนะ และจากล้อขับยานพาหนะถึงท่อไอเสีย) เทคโนโลยีอีกส่วนหนึ่งที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างมากและจะใช้ร่วมกับพลังงานสะอาดคือการเก็บกักและการใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนอนุพันธ์ต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า CCSU Carbon Capture, Sequestration, and Usage ซึ่งทำให้สามารถเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมามากมายในบรรยากาศในอดีตมาใช้งานในการแปรรูปเป็นพลังงานต่าง ๆ ได้
03 New era of computing: Quantum Computing หรือการคำนวณโดยเทคโนโลยีควอนตัม เริ่มนำมาใช้งานกันบ้างแล้วในปัจจุบัน และจะประยุกต์ใช้งานมากขึ้นในอันตราเร่งควบไปกับการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศ การคำนวณโดยควอนตัมสามารถนำมาใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนายารักษาโรคดั้งเดิมและโรคอุบัติใหม่ โดยการทำ Gene Sequencing,DNA Mapping ได้อย่างรวดเร็วการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่สามารถแปรรูปไอเสียจากรถยนต์สันดาปภายในกลายเป็นอากาศบริสุทธิ์
04 Healthcare paradigm shift to prevention through diet: การรักษาหรือการฟื้นฟูสุขภาพที่ผ่านมาในอดีตนั้นคือการปรึกษาแพทย์และการใช้ยาเป็นหลักเพื่อการ “รักษา” หลังเกิดการป่วยไข้ แต่การศึกษาวิจัยในด้านสุขภาพได้พบความจริงว่า “การป้องกัน” จะมีประสิทธิผลและคุ้มค่า ในทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าการรักษา โดยที่อาหารจากพืชเป็น“ยา” ป้องกันอาการป่วยไข้ที่ดีที่สุด คนไทยมีคำเตือนกันว่า “กินปลาเป็นหลัก กินผัก เป็นยา เล่นกีฬาสม่ำสมอ” อุตสาหกรรมอาหารกำลังพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์ อาหารเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ ที่ทำจากพืชผักเป็นหลัก โดยที่สังคมมนุษย์จะมุ่งไปสู่การยึดหลัก “อาหารเป็นยา” แทน “ยาเป็นอาหาร” เมื่อเกิดอาการป่วยไข้แล้ว
05 5G will enhance the global economy and save lives: เมื่อ COVID-19 ระบาดหนัก ทำให้เกิดการตื่นตัวด้านการทำงานที่บ้าน การเรียนการสอนและการประชุมทางไกล การสั่งซื้อของออนไลน์ตลอดจนการส่งของโดยผู้ให้บริการจัดส่งต่าง ๆ เทคโนโลยีสารสนเทศต้องพัฒนาแบบก้าวกระโดดเช่นกัน ระบบ 5G เกิดขึ้นมารองรับพอดี โดยที่ความล่าช้าในการตอบสนองลดลงต่ำมาก (Low Latency) ขจัดปัญหาข้อจำกัดในการขยายการให้บริการแบบไร้สาย นำไปสู่การให้บริการ การเคลื่อนย้ายคมนาคมแบบไร้ขีดจำกัด หรือ Mobility-As-A-Services (MAAS) การส่งพัสดุสิ่งของโดยหุ่นยนต์หรือระบบไร้คนขับประเภท Unmanned หรือ Drone เร่งรัดเวลาการส่งมอบจาก 1-2 วันเป็นไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่นาทีในที่สุด ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระบบ 5G ทำให้การรักษาทางไกลหรือ Telemedicine/Telesurgery เป็นจริงได้ ลดและขจัดข้อจำกัดทางด้านบุคลากรสาธารณสุขได้ในที่สุด
06 A new normal in managing cancer: เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปจะทำให้เรามีข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งสังเคราะห์องค์ความรู้เพิ่มขึ้น ทำให้มนุษย์มีพลังความสามารถในการบริหารจัดการระบบทางการแพทย์ได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะสามารถจัดการกับโรคมะเร็งได้เหมือนกับโรคภัยสามัญอื่น ๆ โดยสามารถตรวจพบและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วจากการจัดลำดับจีโนมหรือ Genome Sequencing และการตรวจวินิจฉัยจากของเหลวประเภทต่าง ๆ ในร่างกายทำให้การตรวจหามะเร็งทำได้ง่ายเที่ยงตรง แม่นยำ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำ จากนั้นจะสามารถนำไปสู่การรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิผลสูง เช่น การปรับแต่งยีน หรือภูมิคุ้ม กันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาให้โรคมะเร็งหายขาดได้สูงมาก
07 Robotic Retail: แม้ว่าหุ่นยนต์จะได้เข้ามามีบทบาททำงานช่วยเหลือหรือทดแทนมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการหลายส่วนแล้วก็ตาม แต่ส่วนที่ยังไม่ได้นำ หุ่นยนต์เข้ามาใช้อย่างจริงจังคือ ธุรกิจค้าปลีก โลกอนาคตอันใกล้จะมีการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในการจัดสินค้ารายย่อย หรือ Micro fulfillment ซึ่งสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงถูกต้องแม่นยำและคุ้มค่ากว่าการใช้แรงงานคน ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ได้พัฒนาบริการก้าวหน้าไปถึงการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จัดการดูแลอาหารและเครื่องดื่มในตู้เย็นให้แก่ที่พักอาศัยโดยจัดเติมไม่ให้เกิดการขาดแคลนได้ด้วย
เราได้เห็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ใน ค.ศ. 2525 มาแล้ว 7 ประการนะครับ ที่เหลืออีก 10 ประการขอเอาไว้มาต่อกันในตอนหน้า พร้อมข้อสรุปว่าแล้วประเทศไทยเรา ควรมุ่งพัฒนาไปทางด้านไหนบ้าง? อย่างไร?
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15