ดร.สหัส บัณฑิตกุล วศ.10 ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ

ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ


ความประทับใจและความภูมิใจเมื่อครั้งได้เห็นประธานาธิบดี George W. Bush ให้ความสำคัญ เกินกว่าที่ใครจะคาดถึง แก่ผลงานพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อคราวที่ประธานาธิบดี George W. Bush มาเมืองไทย แล้วไปต่อที่งานเปิดโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่งนั้น ผมได้รับมอบหมายให้ไปรับท่านอย่างเป็นทางการเมื่อท่านลงจากเครื่อง Air Force One ในฐานะที่ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นก็เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ผมต้องเข้าขบวนของท่านเพราะต้องมารับอีกครั้งหนึ่งที่ปลายทางเมื่อลงจากรถ โดยท่านนายกรัฐมนตรีจะเตรียมรออยู่ที่ห้องรับรอง ได้เห็นระบบความปลอดภัยตั้งแต่ก่อนเครื่องบินจะลงจนมาถึง ทำเนียบฯ แล้วน่าทึ่งมาก แต่ไม่สมควรนำมาเล่า

ทำไมถึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ไปรับท่านประธานาธิบดีบุชในวันนั้น?

ขอย้อนกล่าวเบื้องหลังที่มา เพื่อให้เชื่อมโยงเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้น… เดิมทีผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านที่เกี่ยวกับวิศวกรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ตามสายวิชาชีพวิศวฯ (วก.429/2526) ไม่ได้ดูแลกระทรวงการต่างประเทศ… พอดีมีปัญหา เรื่องปราสาทพระวิหารเกิดขึ้น และมีแนวโน้มที่อาจปะทะกันทางการทหารขึ้นได้ คู่กรณีเราจะนำเรื่องเข้า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เชื่อว่ามีการล็อบบี้กันไว้ด้วยแล้ว และถ้าผลออกไปในทางเป็นประโยชน์แก่เขา ก็เชื่ออีกว่าจะถูกนำไปใช้อ้างในศาลโลก ซึ่งจะมีนํ้าหนักว่า …เห็นไหมแม้แต่เหล่าประเทศอาเซียนยังเห็นด้วยกับทางเขาเลย หน้าที่ฝ่ายเราตอนนั้นคือ ต้องยับยั้งไว้ให้ได้

ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนั้นหนึ่งสัปดาห์ มีการประชุมคณะรัฐมนตรีของเราที่ผมไม่ได้เข้า เพราะได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติราชการที่ต่างจังหวัดแทนท่านนายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางกลับ ผมได้รับโทรศัพท์จากท่านนายกฯ ขอให้ไปทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีต่างประเทศที่ตำแหน่งว่างอยู่ (Interim Foreign Minister) ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยให้เตรียมพร้อมเดินทาง ไม่มีเวลา เตรียมตัวมาก เพราะการประชุมจะมีขึ้นตลอดสัปดาห์ถัดไป ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน (หมุนเวียนประเทศ ละปี เรียงตามอักษร มี 10 ประเทศ 10 ปีวนมาหนึ่งครั้ง) …ความรู้สึกเหมือนมวยแทน ที่ไม่ได้อยู่ในวิชาชีพมวย แต่จำเป็นต้องขึ้นสังเวียนด่วน

รายละเอียดการประชุมคงไม่ใช้เวลาเล่าในที่นี้ เพียงแต่อยากให้ทราบว่าเป็นการประชุมที่หนักมาก ต้องใช้สมองและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าหลายอย่างตลอดเวลา พลาดไม่ได้ ในที่สุดสรุปว่าเราสามารถยับยั้งที่อาเซียนนี้ไว้ได้

Condoleezza Rice
เจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา Condoleezza Rice เพื่อความเข้าใจและการสนับสนุนไทยในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรื่องกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร

แต่ยังไม่จบเท่านั้น คู่กรณีเราเอาเรื่องไปฟ้องต่อที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council) ทำให้งานยากขึ้นไปอีก ต้องคุยด้วยกลยุทธ์กับรัฐมนตรีต่างประเทศอีกหลายชาติแบบทวิภาคี (คุยกันตัวต่อตัวทีละชาติ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งของชาติสมาชิกถาวร ซึ่งเป็นมหาอำนาจ ที่มาประชุมอาเซียนครั้งนั้นด้วย เช่น จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา(ตอนนั้นคือ Condoleezza Rice) หากรอให้กระจาย กลับกันไปแล้วจะแก้เกมที่สหประชาชาตินี้ไม่ทัน เป็นหมากที่เดินยาก และซับซ้อนมาก โดยเฉพาะกับฝรั่งเศส รายละเอียดไม่ขอกล่าวในที่นี้

ประธานาธิบดี George W. Bush
เลี้ยงต้อนรับประธานาธิบดี George W. Bushที่ทำเนียบรัฐบาล

สรุปท้ายสุดคือ การเจรจาประสบความสำเร็จ ได้รับแจ้งจากเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า คู่กรณีของเราได้ขอเลื่อนเรื่องที่ยื่นนั้น ออกไปอย่างไม่มีกำหนด (การถอนเรื่องหรือการเดินหน้าที่เขามี แนวโน้มจะพลาดสูงแล้วนั้น อาจสร้างผลกระทบทางการเมืองภายใน ต่อทางเขาอย่างแรงได้ เพราะประเทศคู่กรณีเรากำลังจะมีการ เลือกตั้งทั่วไปในเร็ววันถัดจากนั้น)

ที่ประทับใจมากอย่างหนึ่งในครั้งนั้นคือ ความเอื้อเฟื้อและ ทีมเวิร์กทุกด้านจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของกระทรวงการต่างประเทศ และของฝ่ายทหาร เปรียบเหมือนได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพออกศึก แล้วได้รับการส่งกำลังบำรุงที่ดีมาก หันไปขอปืนใหญ่ ปืนใหญ่มา ขอ กระสุน กระสุนมา ไม่อ้างว้างโดดเดี่ยวเมื่อหันไป…

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหน้าที่ที่ต้องทำอีกอย่างหนึ่งตอนนั้น คือ เป็นผู้รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์กลับมาไทย (T-Thailand เป็นประธานถัดจาก S-Singapore)

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย มีการปรับหน้าที่งานบางส่วน… โดยผมได้รับมอบหมายงานเพิ่มอีกหน้าที่หนึ่ง คือ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลกระทรวงการต่างประเทศด้วย เป็นที่มาว่าทำไมถึงต้องเป็น ผู้ไปต้อนรับท่านประธานาธิบดีบุช

ขอกลับไปที่ทำเนียบรัฐบาลในการต้อนรับประธานาธิบดีบุช และรวบรัดมาถึงช่วงนั่งโต๊ะอาหารเลย ท่านนายกรัฐมนตรีนั่งตรงข้าม ส่วนผมนั่งติดด้านขวามือของท่านประธานาธิบดี คณะผู้บริหาร ระดับสูงที่มาพร้อมท่าน ไม่น่าตํ่ากว่า 10 คน…นั่งโต๊ะเดียวกันแต่ยาว ถัดไป

ประธานาธิบดีบุชคุยเป็นกันเอง ไม่ถือตัว ไม่พิธีรีตองมาก บนโต๊ะเสิร์ฟไวน์ท่านก็ขอเปลี่ยนเป็นเบียร์ (ขออนุญาตไม่เพิ่มเติม รายละเอียดอื่น) ผมเล่าให้ท่านฟังว่าสมัยอยู่ภาคเอกชน เคยไปทำงานเรื่องนํ้ามันและปิโตรเคมีอยู่ที่เมือง Houston รัฐเท็กซัส เลยทำให้คุยเป็นกันเองขึ้นไปอีก เพราะท่านก็เป็นชาวเท็กซัสและทำธุรกิจนํ้ามันมาก่อนด้วย

ผมเล่าให้ท่านฟังต่อว่า เคยขับรถผ่านบ้านคุณพ่อของท่าน (อดีตประธานาธิบดี George H. W. Bush) หลายครั้ง และวันหนึ่งขณะไปดูบาสเกตบอล ทีม Houston Rockets แข่งกับ Chicago Bulls ที่มี Michael Jordan ลงเล่นด้วย ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นคนลุกกันแทบทั้งสนาม… ปรากฏว่าคุณพ่อของท่านเข้ามาเพื่อชมด้วย วันนั้นทีม Houston ชนะ

พอคุยกันเรื่อง Houston เลยคุยกันสนุกขึ้น ได้ถกกันเรื่องราคานํ้ามันดิบ ที่ตอนนั้นขึ้นไปถึงเกือบ US$ 120 ต่อบาร์เรล ท่านอยู่ในธุรกิจนี้มาก่อน ความรู้ดีมาก และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากท่านในเรื่องนํ้ามัน ก็เป็นจริงในภายหลังจากนั้นไม่นาน

ได้คุยกับท่านเรื่องยาเสพติดและการปลูกฝิ่น ซึ่งท่านทราบข้อมูลทั่วโลกเป็นอย่างดี มีที่ท่านสงสัยคือทำไมการปลูกฝิ่นในประเทศไทยลดลงแล้วคงรักษาไว้ได้อย่างดีและสงบ ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ มีการย้อนกลับไปปลูกใหม่ ต้องปราบปรามกันอย่างหนัก จึงได้เรียนตอบท่านไปพอสรุปได้ดังนี้:

เนื่องจากประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นนี้อย่างจริงจังและครบวงจร ด้วยโครงการหลวง และโครงการ พระราชดำริต่าง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากการให้เปลี่ยนไปปลูกพืชผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์ทดแทน โดยหาชนิดและสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นั้น ๆ มาให้ มีการศึกษาวิจัยค้นคว้าเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาต่อ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี เพราะต่างซาบซึ้งใน พระมหากรุณาธิคุณและความตั้งพระทัยจริงอย่างแน่วแน่ของทั้งสองพระองค์ มีบ่อยครั้งที่พระองค์ท่านได้ทรงสละพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ให้แก่โครงการเหล่านั้นด้วย

การหาชนิดและสายพันธุ์ที่เหมาะสมให้ เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มแรกเท่านั้น เพราะเมื่อผลิตได้ดีทั้งปริมาณและคุณภาพแล้ว หากสินค้า ขายไม่ได้ก็เสียเน่าทิ้ง ในที่สุดชาวบ้านก็ต้องกลับไปปลูกฝิ่นใหม่ แต่โครงการหลวงและโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองพระองค์ ยังครอบคลุมไปถึงระบบโลจิสติกส์ เช่น ถนนหนทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือพัฒนาให้ชาวเขาและผู้เคยปลูกฝิ่นทั้งหลายสามารถนำสินค้าลงมาถึงผู้บริโภคได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังครอบคลุมไปถึงการหาตลาดสำหรับขั้นตอนต่าง ๆ ให้ รวมถึงการแปรรูปสินค้าเพื่อลดความสูญเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย พร้อมทั้งทรงให้มีผู้คอยติดตามตรวจสอบปรับแต่งระบบและดูแลแก้ปัญหาที่อาจมีเกิดขึ้น ทำให้การเลิกปลูกฝิ่นดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ เมื่อเขาเหล่านั้นอยู่ได้ มีความเป็นอยู่ดีกว่าหรือไม่ด้อยไปกว่าเดิม เขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกลับไปปลูกฝิ่นใหม่

แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นขณะนั้นทันทีที่โต๊ะอาหาร เมื่อ ผมพูดจบ…

ท่านประธานาธิบดีบุชเอื้อมมือไปหยิบแก้วนํ้าและส้อมที่อยู่ ข้างหน้า แล้วหันไปทางคณะผู้ติดตามที่อยู่ด้านขวามือ ซึ่ง รับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับเราอยู่ ที่ไม่น่าตํ่ากว่า 10 คนนั้น และเป็นระดับอาวุโสดูแลงานเฉพาะกิจต่าง ๆ ให้ท่าน (เรียกว่า Ambassadors) พร้อมเคาะแก้วหลายครั้ง เสียงดังชัดเจน เมื่อทุกคนหยุดคุยและหันมามอง ท่านได้กล่าวแบบเอาจริงเอาจัง เป็นงานเป็นการ ผมยังจำคำพูดที่ท่านขึ้นต้นได้ว่า

“Listen… My Ambassadors,”

จากนั้นท่านก็เล่าเรื่องการแก้ปัญหาปลูกฝิ่นของไทยที่เพิ่งได้ รับทราบด้วยตัวเอง แทนที่จะขอให้ผมพูดอีกครั้งให้คนของท่านฟัง ท่านเล่าเองทั้งหมดด้วยเนื้อหาที่ละเอียดครบถ้วน สามารถจับและจำประเด็นต่าง ๆ ได้ดีมาก เห็นได้ชัดว่าสนใจจริง และให้ความสำคัญแก่โครงการหลวงและโครงการพระราชดำริต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการแก้ปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นของไทยที่ได้ รับฟังนั้นเป็นอย่างมาก

เมื่อเล่าเสร็จก็ยังไม่จบเท่านั้น… ท่านสั่งการต่อ… ให้ทุกคนนำไปประยุกต์ใช้ทั่วโลก เช่น ที่อัฟกานิสถาน เพื่อแก้ปัญหาการที่ ชาวบ้านย้อนกลับมาปลูกฝิ่นใหม่ เพราะประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาอย่างได้ผลดียิ่ง แล้วขอให้ทางเราช่วยให้คำแนะนำและ รายละเอียดเมื่อคนของท่านประสานขอมาต่อไปในภายหลังด้วย… ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ตอบรับด้วยความเต็มใจ… หลังจากนั้นได้ทราบว่า มีการประสานขอรายละเอียดโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริดังกล่าวมาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศต่าง ๆ

ผมได้มีโอกาสพบท่านอีกครั้งหลังจากนั้นไม่นาน บนอัฒจันทร์ในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่ง ยังจำกันได้ดี ผมยกมือไหว้ท่าน ท่านก็ยกมือไหว้ตอบ น่าชื่นใจ…

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือความประทับใจและความภูมิใจ ที่ได้เห็นประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา George W. Bush ให้ความสำคัญอย่างมากเกินกว่าที่ใครจะคาดถึง แก่โครงการหลวง โครงการพระราชดำริ การแก้ปัญหาปลูกฝิ่นอย่างครบวงจร และผลงานอันประจักษ์ชัดในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ดร.สหัส บัณฑิตกุล
กล่าวสุนทรพจน์ที่ Main Podium ใน General Assembly Hall สหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ก ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยได้มีโอกาสกล่าวถึงเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วย และได้พูดคุยกับ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งท่านได้ขอบคุณไทยที่เป็นประเทศหลักในการให้ความช่วยเหลือเมียนมากรณีถูกพายุ Cyclone Nargis ถล่ม มีผู้สูญหายและเสียชีวิตถึงราว 140,000 คน
ดร.สหัส บัณฑิตกุล
บรรยายหัวข้อ “การจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management)” ให้นักศึกษาปริญญาโทที่ Leeds University Business School ประเทศอังกฤษ
ดร.สหัส บัณฑิตกุล
บรรยายเกี่ยวกับโลจิสติกส์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Logistics) ในหลักสูตร LOGTECH ที่ Institute for Defense and Business, University of North Carolina, Chapel Hill, USA เป็นหลักสูตรที่สนับสนุนโดยกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ผู้ เข้าฟังปกติจะเป็นนายทหารระดับพันเอกขึ้นไป และพลเรือนที่ทำงานใน Pentagon รวมถึงภาคเอกชนที่ทำธุรกิจกับกองทัพ ตัวอย่างหนึ่งที่ใช้บรรยายคือโครงการพระราชดำริซึ่งมี ยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์รองรับ ทำให้ชาวบ้าน/ชาวเขาไม่หันกลับไปปลูกฝิ่นใหม่
ดร.สหัส บัณฑิตกุล
การลงนามความเข้าใจร่วมกันหลังการเจรจาระหว่างสหรัฐ- อเมริกากับจีนเกี่ยวกับลุ่มนํ้าโขง โดยได้รับการยอมรับจากทั้ง สองฝ่ายให้เป็นสักขีพยานคนกลางที่ให้มีเพียงคนเดียว (ขณะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแล้ว) พร้อมบรรยายในหัวข้อ “Vital Common Issues for the Effectiveness of the US-China GMS Cooperation Dialogue and the Belt and Road Initiative”

ดร.สหัส บัณฑิตกุล วศ.10

(วก.429/2526) วิศวจุฬาดีเด่น พ.ศ. 2546

วุฒิการศึกษา (โดยสังเขป)

  • ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) และปริญญาโท วิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปริญญาเอก และ Visiting Scholar วิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนอาร์เบอร์ USA (ทุน ก.พ. และทุนมหาวิทยาลัยมิชิแกน)
  • ปริญญาโท บริหารธุรกิจ (MBA) วิทยานิพนธ์ทางบัญชีต้นทุนและการเงิน มหาวิทยาลัยลีดส์ UK (ทุนรัฐบาลอังกฤษ)
  • ปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ (Doctor of Science) KL University, India

ประวัติการทำงาน (โดยสังเขป)

  • อาจารย์ประจำแผนกเครื่องกล คณะวิศวกรรม-ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อาจารย์ผู้บรรยาย แผนกเครื่องกล มหาวิทยาลัยมิชิแกน และวิศวกรที่ปรึกษา USA
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย
  • ฝึกงาน Banking and Finance ที่ Samuel Montagu & Co., Ltd. เครือ Midland Bank, London, UK
  • อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
  • บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด และบริษัท ปตท. ปิโตร เคมีคอล จำกัด
  • รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศ
  • กรรมการ Business School International Advisory Board for Executive Education, Oxford University, Oxford, UK
  • ประธานกรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และอาจารย์พิเศษทั้งในและต่างประเทศ
  • Professor Emeritus, Oxbridge College, Kunming University of Science and Technology, People’s Republic of China

 

ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เรื่องเล่าชาวอินทาเนีย โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล วศ.10


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save