กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ วศ.25 กรรมการผู้จัดการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ วศ.25 กรรมการผู้จัดการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย


CAC โครงการเอกชนรวมพลร่วมต้านคอร์รัปชัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าการคอร์รัปชันเป็นมะเร็งร้ายของสังคมไทยที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงนั้นประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณไปกับงานที่ด้อยคุณภาพ และยังสร้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคมการทำธุรกิจ ส่วนทางอ้อม ความยอมรับว่าบนเส้นทางธุรกิจการติดสินบนสร้างความสำเร็จได้มากกว่าความโปร่งใสสุจริต ทำให้เอกชนจำนวนมากเลือกวิถีทางทำธุรกิจที่ง่ายกว่า ประสบความสำเร็จเร็วกว่าด้วยการติดสินบนทำให้เอกชนไทยขาดความมุ่งมั่นในการแข่งขันด้วยการพัฒนาองค์กรของตนเอง

อินทาเนียพบว่ามีโครงการหนึ่งเป็นโครงการต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนที่น่าสนใจ ชื่อโครงการ CAC ย่อมาจาก Thai Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption ถ้าจะแปลตรง ๆ ก็อาจมีความหมายว่า โครงการเอกชนรวมพลร่วมต้านคอร์รัปชัน แล้วโครงการนี้ดีอย่างไรจะทำให้เอกชนร่วมกันต้านโกงได้หรือไม่ รวมทั้งพวกเราอินทาเนียจะร่วมกันต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างไร คำถามทั้งหมดนี้ เราจะได้คำตอบจาก คุณกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ วศ.25 ซีอีโอ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการไทย (IOD) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ดูแลโครงการนี้

กุลเวช กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่มีโอกาสพูดคุยให้สัมภาษณ์แก่วารสารอินทาเนียในครั้งนี้ หากกล่าวถึงเรื่องคอร์รัปชันก็เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยเป็นอย่างมาก แต่การแก้ไขปัญหานั้นยังไม่สามารถแก้ได้อย่างตรงจุด และเป็นเรื่องที่คนเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ พูดถึงกันมาก แต่กลับไม่ได้มีการลงมือทำหรือแก้ไขอย่างจริงจัง

IOD

เราเชื่ออย่างสนิทใจว่าในวันหนึ่งฟ้าเปิด หมายถึงวัน ในวันหนึ่งเมื่อภาครัฐเห็นความสำคัญและต้องการดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันที ทางโครงการ CAC ก็มี Solution ให้แก่ภาครัฐทันที

ทำไม IOD จึงสนใจเรื่องของโครงการ CAC

IOD เป็นสถาบันส่งเสริมกรรมการบริษัทไทยให้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อตั้งมาปีนี้เป็นปีที่ 20 ก่อตั้งเมื่อครั้งที่ประเทศประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง …เวลานั้น IMF กับ World Bank มีความเห็นว่า กรรมการบริษัทต้องดำเนินบทบาทหน้าที่ของตนเองให้มากกว่านี้ จึงร่วมกันตั้ง IOD ขึ้น โดยร่วมกับแบงก์ชาติและ กลต.รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ ตอนที่เริ่มก่อตั้งนั้น เป็นเหมือนโรงเรียนสอนว่า การเป็นกรรมการต้องรู้หน้าที่อะไร มีบทบาทอะไร…ในช่วงนั้นมุ่งไปที่การให้ความรู้ว่ากรรมการต้องรู้หน้าที่ มีหน้าที่ตรวจสอบดูฝ่ายบริหารว่าฝ่ายบริหารอย่าทำผิด ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาฝ่ายบริหารอาจจะขาดความระมัดระวัง ตัวอย่างเช่น การไปกู้เงินเป็น US Dollar เพื่อนนำไปทำโครงการใหญ่ ๆ ที่เกินตัวทำให้เกิดเป็นปัญหาต้มยำกุ้ง แต่ปัจจุบันบทบาทของกรรมการเปลี่ยนไปมาก กลายเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรรมการกับฝ่ายบริหารว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทนั้นเดินไปข้างหน้า เติบโตอย่างยั่งยืนและไร้การคอร์รัปชัน

ดังนั้น IOD จึงเห็นว่า ปัญหาของการคอร์รัปชันนั้นเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ยกตัวอย่างเช่น อย่างที่ทุกคนจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องภาษีของประชาชนหลายแสนล้านบาทที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น แต่จริง ๆ แล้วถ้าลองนำมาไล่ดูปัญหาต่าง ๆ จะเห็นว่าล้วนเกิดจากการคอร์รัปชันแทบทั้งสิ้น เช่น น้ำท่วม น้ำนั้นมาจากไหน ก็มาจากการที่ป่าไม่มีต้นไม้ ทำให้เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯ เพราะไม่มีต้นไม้คอยเป็นฟองน้ำซับน้ำ รวมทั้งเรื่องของการศึกษา ก็ล้มเหลวจากการคอร์รัปชันด้วยเช่นกันเมื่อ 10 ปีก่อน กลุ่มเอกชนจึงร่วมกันคิดว่าต้องทำอะไรบ้างแล้ว จะปล่อยปัญหาไว้แบบนี้ไม่ได้ จึงสำรวจว่าต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร พบว่าส่วนใหญ่จะเชิญชวน CEO มารวมตัวกันถ่ายภาพ แล้วลงนามร่วมกันว่าจะร่วมกันต้านคอร์รัปชัน แต่ก็เพียงเท่านั้น ไม่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งภาคเอกชนไทยเราเห็นว่าไม่ยั่งยืน

ด้วยความเห็นดังกล่าว จึงมีการจัดตั้งกรรมการเพื่อให้เปรียบเสมือนเจ้าภาพในการต่อต้านเรื่องของการคอร์รัปชัน จึงเป็นที่มาของโครงการ CAC โดยมี Concept ที่ว่าการคอร์รัปชันเปรียบเหมือนปีศาจที่อยู่ในที่มืด และให้ระบบการต่อต้านการคอร์รัปชันเป็นเหมือนแสงสว่างของสปอตไลต์ที่จะเป็นตัวส่องแสงสว่างว่าเราจะไม่คอร์รัปชัน ให้องค์การนั้นยืนยันหนักแน่นว่า องค์กรมีระบบการจัดการเรื่องของการคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม

ถ้าตรงนี้ทุกคนร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชัน ก็จะเป็นเหมือนกับว่าทุกคนล้วนมายืนอยู่ที่สว่าง จึงเป็นแรงกดดันสำหรับกลุ่มที่อยู่ในที่มืดให้มาอยู่ในที่สว่างมากขึ้น ๆ

การสร้างมาตรการป้องกันการคอร์รัปชันที่การระบุความเสี่ยง ของบริษัทว่าอาจเกิดได้กี่รูปแบบ เพราะแต่ละธุรกิจไม่เหมือนกันถ้าเป็นบริษัทนำเข้า-ส่งออก ความเสี่ยงเรื่องของการจ่ายสินบนจะไม่เหมือนธุรกิจก่อสร้าง เพราะหน่วยงานที่ติดต่อเป็นคนละหน่วยงานและเจ้าหน้าที่คนละคณะ ใบอนุญาตแตกต่างกัน ถ้ารู้ความเสี่ยงว่าอยู่ตรงจุดใดก็จะทำให้สามารถไปอุดความเสี่ยงหรือแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ถ้าหากทุกบริษัท ทุกหน่วยงานและองค์กรทำแบบนี้ได้นั้นจะทำให้ประเทศไทยของเรามีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

หากวิเคราะห์ สาเหตุของการจ่ายสินบนมีอยู่ 3 อย่างคือ

  1. จ่ายเพื่อซื้อความเร็ว
  2. จ่ายเพื่อซื้อผิดเป็นถูก
  3. จ่ายเพื่อซื้องานให้ได้งานตามต้องการ

สาเหตุที่ 1 กับ 2 เกิดบ่อย เรียกว่าเกิดทุกวัน ส่วนข้อที่ 3 เกิดไม่บ่อยแต่มูลค่าสูง เมื่อองค์กรรู้ว่ามีความเสี่ยงเช่นไรก็วางระบบป้องกัน เช่น การซื้อความเร็ว เมื่อคิดว่าความเร็วคือปัญหา แทนที่จะติดสินบนก็อย่าทำช้า สร้างระบบการเตรียมตัวให้พร้อมแทน หากความเสี่ยงเกิดจากการซื้อผิดให้เป็นถูก เช่น รถบรรทุกของบริษัทต้องไปจอดริมถนนรอเข้าโรงงาน แทนที่จะติดสินบนเจ้าหน้าที่ ก็สร้างนวัตกรรมสมัยใหม่ให้สามารถปล่อยรถให้ถึงปลายทางได้โดยไม่ต้องไปรอริมถนน บริษัทที่เข้าร่วมกับโครงการ CAC สามารถมาร่วมกันพัฒนาและสร้างระบบและนวัตกรรมเพื่อทำให้องค์กรมายืนในที่สว่างได้

IOD

ตลอด 10 ปีที่เริ่มดำเนินโครงการ มีบริษัทที่เข้ามาแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการคอร์รัปชันแล้วกว่า 1,000 บริษัท และมีมากกว่า 400 บริษัทที่ผ่านการรับรอง ซึ่งในจำนวนนี้มีกว่า 200 บริษัทเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการตรวจสอบทุก ๆ 3 ปี ในส่วนการรับรองดังที่กล่าวข้างต้นในช่วงแรกเป็นการรับรองโดยประธานตรวจสอบของบริษัท ถ้าเป็นบริษัทเล็กก็ขอให้ผู้ตรวจสอบภายนอกรับรอง และตอนนี้บริษัทใหญ่ ๆ ก็ได้ชักชวน SMEs ให้เข้ามาร่วมกับโครงการด้วย

เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว โครงการได้ขอให้ทุกบริษัทที่ขอรับรองช่วยส่งหลักฐานเข้ามาให้ดูด้วยว่า บริษัทมีระบบการตรวจสอบจริงหรือไม่ เป็นการพัฒนาระบบรับรองที่มีมาตรฐาน ผู้ที่ตรวจคนแรกก็คือกรรมการตรวจสอบ จากนั้นโครงการ CAC ก็จะตรวจดูเอกสารว่าครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีผู้ที่ตรวจไม่ผ่านเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ว่าบริษัทจงใจจะไม่ทำตามข้อกำหนด แต่เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงเป็นที่มาที่ไปว่าต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง โดยมี Class ให้บริษัทที่สนใจเข้ามาเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกันว่า สิ่งที่บริษัทต้องทำนั้นมีอะไรบ้าง โครงการจะมี Check List จำนวน 71 ข้อ ที่บริษัทต้องประเมินตัวเอง ในส่วนของ SMEs มี 17 ข้อ เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาภายในระยะเวลา 18 เดือน นับแต่วันที่นิติบุคคลนั้นได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์อันเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่ระบุไว้ในคำประกาศเจตนารมณ์

ที่จริงแล้วหลักการมีอยู่ไม่มาก เช่น 1. บริษัทต้องมีนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันโดยคณะกรรมการบริษัทอนุมัติ 2. มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันของบริษัท 3. มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม 4. รู้ช่องทางการจ่ายสินบนในทุกรูปแบบในกิจการของบริษัท และ 5. มีช่องทางให้ร้องเรียนต่อผู้บริหารระดับสูง ทั้งกรณีที่พนักงานถูกเรียกรับสินบน และพนักงานบริษัทเรียกรับสินบนเองทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญและหัวใจหลักของการตรวจสอบของกรรมการนั้นก็คือระบบการทำงาน เพื่อสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจในภาคเอกชนกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม และนำกลไกป้องกันการจ่ายหรือรับสินบนมาใช้งาน เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายของธุรกิจสะอาดให้กว้างขวางและแข็งแกร่ง

ในต่างประเทศมีระบบการจัดการคอร์รัปชันเป็นอย่างไร

การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วค้าจะต้องตรวจว่าสินค้าของบริษัทนั้น ๆ มีการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วก็จะมาตรวจสอบในเรื่องว่ามีการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ ณ ปัจจุบันสิ่งที่คู่ค้าให้ความสนใจสอบถามถือ บริษัทให้ความสำคัญแก่การต่อต้านการคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด มีนโยบายในการต่อต้านคอร์รัปชันหรือไม่

ส่วนในเรื่องที่ว่า ในต่างประเทศมีกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันหรือไม่นั้น แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นที่ฮ่องกง เมื่อก่อนเป็นเศรษฐกิจที่มีการคอร์รัปชันมาก แต่ ณ ปัจจุบันปัญหานี้แทบจะไม่มีเลย ต้องบอกว่าที่เขาสามารถต่อต้านการคอร์รัปชันได้เป็นผลสำเร็จนั้นเป็นเพราะว่าเขามีความโกรธ ประชาชนมีความไม่พอใจถึงระดับที่ไม่สามารถทนได้แล้ว จึงลุกขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่ลุกขึ้นมาเพื่อชี้คนอื่นให้ทำตามต้องการ แต่เป็นการเริ่มจากตัวเองก่อน ซึ่งเป็นเรื่องใจความสำคัญ นั่นคือ เริ่มจากตัวเราเองก่อน เช่น เรื่องของ COVID-19 ทำไมประเทศไทยจึงได้ประสบความสำเร็จมาก ๆ ในการป้องกัน COVID-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ผมคิดว่าตัวแปรสำคัญมี 3 สิ่งที่เป็นหัวใจหลัก ทั้ง 3 สิ่งนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการต่อต้านการคอร์รัปชันด้วยเช่นกันประกอบด้วย

1. วินัยในตัวเอง ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เมื่อการระบาดเริ่มรุนแรงมากขึ้น ประชาชนก็ทำงานอยู่บ้าน ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ นอกจากเราจะทำเองแล้ว ยังสนับสนุนให้คนในครอบครัวทำด้วยสืบเนื่องมาถึงข้อที่
2. คือเกิดเป็นแรงผลักดันให้สังคม รอบข้างนั้นทำตาม หากไม่ทำก็จะถือว่าเป็นสิ่งที่แปลก เช่น การสวมหน้ากากอนามัย หากคนไม่สวมหน้ากากอนามัยและเดินทางในที่สาธารณะ จะถือว่าเป็นเรื่องแปลก และประการที่ 3 คือภาครัฐมีการนำเสนอความรู้และข่าวสารเป็นประจำทุกวัน

ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวไปนั้น สามารถนำไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชันหรือปัญหาสังคมต่าง ๆ และด้วยคนไทยเป็นคนที่ห่วงกันเองอยู่แล้ว จึงทำให้ได้รับความร่วมมือร่วมใจที่จะทำให้ออกมาดีที่สุด และหัวใจสำคัญคือ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องการคอร์รัปชันว่าเป็นเรื่องของทุกคน และพร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านั้น หากร่วมกันอย่างจริงจังก็สามารถทำให้การคอร์รัปชันหมดไปได้

โครงการ CAC หวังว่าจะสามารถจูงใจเอกชนให้เข้ามาอยู่ที่สว่างกันมาก ๆ พัฒนามาตรฐานและระบบควบคุมภายใน End Game ของเราไม่ได้อยู่ที่จำนวน สิ่งที่เรามุ่งหวังคือความเปลี่ยนแปลงในระบบการทำงาน ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการทำพาสปอร์ต ในอดีตการทำพาสปอร์ตทำได้ช้ามาก แต่เมื่อได้เปลี่ยนระบบโดยให้เอกชนเข้ามารับทำ ก็ทำให้รวดเร็ว และไม่ต้องมีการซื้อความเร็วอีกต่อไป ดังนั้นหาก CAC ต้องการหาทางออกร่วมกับภาครัฐ เพื่อหาหนทางเปลี่ยนแปลงและให้ระบบแก้ไขเอง เป้าหมายสุดท้ายคืออยากเชิญภาครัฐมาร่วมพูดคุยกับภาคเอกชนว่าที่ผ่านมาภาคภาคเอกชนต้องประสบปัญหาอะไรบ้าง มาถกกันว่าภาครัฐจะเปลี่ยนแปลงระบบได้อย่างไรบ้าง แต่เราเชื่ออย่างสนิทใจว่าในวันหนึ่งฟ้าเปิดหมายถึงในวันหนึ่งเมื่อภาครัฐเห็นความสำคัญและต้องการดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันที ทางโครงการ CAC ก็มี Solution ให้แก่ภาครัฐทันที

เข้าร่วมในโครงการ CAC แล้วจะได้อะไร

ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ เขาเข้ามาเพราะต้องการที่จะประกาศจุดยืนถึงตัวแบรนด์บริษัท ความยั่งยืนของบริษัท การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าบริษัทใหญ่ ๆนั้นหากมีข่าวว่าคนในองค์กรมีการแลกเปลี่ยนใต้โต๊ะหรือรับสินบนติดสินบนแล้วข่าวเหล่านี้จะทำความเสียหายแก่บริษัทเป็นอย่างมาก

สำหรับบริษัทระดับกลาง ประโยชน์ที่จะได้รับก็คือการบริหารจัดการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายสินบนได้เป็นอย่างดีโดยให้เหตุผลว่าเขาเข้าร่วมกับโครงการ CAC แล้วก็ได้กลยุทธ์ไปใช้เวลาต้องเจอสถานการณ์แบบนั้น นี่จึงเป็นประโยชน์แก่ทุก ๆ หน่วยงานที่เข้าร่วมกับโครงการนี้เปรียบเสมือนตราที่ป้องกันบริษัทของท่านเองจากการต้องจ่ายสินบนอีกทางหนึ่ง
ส่วน SMEs นั้น เป็นกลุ่มที่ต้องขอชื่นชมมาก เพราะว่า SMEs เป็นกลุ่มที่อยู่ในความเสี่ยงที่ต้องจ่ายสินบนมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าเชิญชวนเข้ามาร่วมกับโครงการ CAC เขาก็อาจจะมาแต่เขาอาจจะไม่พอใจถ้ามาร่วมโครงการกับเรา เพราะอาจจะเสียเปรียบคู่แข่ง แต่ถ้าให้บริษัทใหญ่ที่เป็นซัพพลายเออร์ไปชักชวนเข้ามาโดยอาจจะเสนอให้เขามีแต้มต่อไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องของคู่แข่ง สิ่งนี้ก็จะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เวลานี้มีหลาย ๆ บริษัท อย่างเช่น บางจาก หรือสมบูรณ์กรุ๊ป ได้เริ่มแจ้งไปยังซัพพลายเออร์แล้วว่า หากบริษัทไหนไม่เข้าร่วมกับโครงการ CAC ในอีก 2 ปีข้างหน้าคุณอาจจะไม่อยู่ใน Short List ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังคืบหน้าอย่างช้า ๆ

ในช่วงแรก ๆ บริษัทที่จะเข้าร่วมกับโครงการ CAC นั้นคิดแล้วคิดอีก ในการเข้ามาร่วมนั้นเขาจะหาเรื่องใส่ตัวหรือเปล่า คนจะไม่ชอบเขาหรือเปล่า แต่ในทุกวันนี้นักลงทุน ถามหาเรื่องของ CAC จำนวนมาก สมาคมส่งเสริมนักลงทุนจะมีหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า หน่วยงานโครงการอาสาพิทักษ์สิทธิ์ผู้ถือหุ้น และจะซื้อหุ้นทุกบริษัท700 บริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ก็จะเข้าไปทำการตรวจสอบว่ากรรมการมาครบไหมวิธีการจัดการระบบต่าง ๆ โปร่งใสหรือไม่ มีการนับคะแนนอย่างถูกต้องหรือเปล่า 6 ปีที่ผ่านมากรรมการได้ถามประธานตลอดว่าได้เข้าร่วมกับโครงการ CAC แล้วหรือยัง

กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ วศ.25

พวกเราชาววิศวฯ จุฬาฯ จะมารวมพลังกันร่วมต้านคอร์รัปชัน…
ผมว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมที่รุนแรงในสังคมอย่างแน่นอน

ขอเชิญชวนชาวอินทาเนียร่วมโครงการ CAC

ผมขอเชิญชวนเพื่อน ๆ ชาวอินทาเนีย ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหน ทั้งก่อสร้าง พลังงานหรือทุก ๆ กลุ่ม เรามุ่งหวังทุกกลุ่มให้เข้าร่วมกับโครงการ CAC เพื่อการจัดการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงจุดยืนอย่างมั่นคงในเรื่องของการต่อต้านการคอร์รัปชัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ CAC ต้องทำจากหัว เพื่อน ๆอินทาเนียส่วนใหญ่เป็นผู้นำอยู่แล้ว ต้องช่วยกันกระตุ้นเรื่องนี้ ถ้าไม่ใช่พวกเรา แล้วจะเป็นใคร เวลานี้คอร์รัปชันกัดกร่อนสังคมอย่างรุนแรง พวกเราจึงควรเป็นผู้นำในเรื่องนี้ถ้าวันหนึ่งมีคำกล่าวว่า… พวกเราชาววิศวฯ จุฬาฯ จะมารวมพลังกันต้านคอร์รัปชันผมว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมที่รุนแรงในสังคมอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้หวังว่าชาวอินทาเนียจะได้สาระที่สำคัญมากมายจากการพูดคุยกับ กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ วศ.25 นิสิตเก่าอีกท่านหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาประเทศชาติของเราให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างทัดเทียมกับประเทศอื่น และหวังว่าจะได้รับการตอบสนองจากพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อน ๆ ชาวอินทาเนียมาร่วมขับเคลื่อนการต้านคอร์รัปชันกันอย่างจริงจัง หากทำได้ก็จะช่วยให้ประเทศชาติพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save