อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทางรอดประเทศไทย

อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทางรอดประเทศไทย


วันที่ 26 มิถุนายน 2562 หนังสือพิมพ์ Financial Times ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเป็นคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยกเหตุผล 4 ข้อประกอบ นั่นคือ GDP ยังโตช้า ส่งออกได้น้อยลง การบริโภคในประเทศหดตัว และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจไทยในตอนนี้แทบจะไม่ได้ดีขึ้นจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วเลย โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

  1. GDP โตช้า โดยเติบโตเพียง 2.8% ในไตรมาสล่าสุด ต่ำสุดในรอบ 4 ปี มิหนำซ้ำตั้งแต่ พ.ศ. 2557 GDP ไทยยังโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
  2. ส่งออกได้น้อยลง การส่งออกไทยหดตัว 2.5% ในช่วง 6 เดือนระหว่างพฤศจิกายน 2561–เมษายน 2562 และในช่วง 5 ปีหลังสุดการส่งออกไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 2% ส่งผลให้สัดส่วนของการส่งออกใน GDP ลดลง 10.1%
  3. การบริโภคในประเทศหดตัว ในช่วง 5 ปีหลังสุด การบริโภคในประเทศลดสัดส่วนลงจาก 52% ของ GDP เหลือ 47% ของ GDP แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลาย พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาก็ตามแต่ภาพรวมระยะยาว 5 ปีการบริโภคในประเทศหดตัว
  4. หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 5 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นจาก 30% ของ GDP เป็น 34% ของ GDP แม้จะยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ แต่ก็อาจไต่ถึงระดับ 40% ของ GDP ได้ในเวลา 4 ปีข้างหน้า (https://workpointtoday.com/thailand-is-a-sick-man-of-south-east-asia/)

นี่คือข้อมูลก่อนเกิดโรคระบาดไวรัส COVID 19 นะครับพอโรคระบาดเกิดขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเราเข้าขั้นโคม่าทันที โดยพยากรณ์กันว่า จาก GDP โตช้า กลายเป็น GDP หดตัวไม่ต่ำกว่า 10%

ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจทั้งระบบของไทยไม่มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าโดยมาตรการเดิม ๆ วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ที่ภาครัฐของไทยดำเนินการอยู่ผลการสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าอะไรจะเป็นปัจจัยที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด 19 ได้ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ตอบตรงกันว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ครับ

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็ได้ประกาศแนวนโยบายและมาตรการที่สำคัญสำหรับประเทศและประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า จะต้องเร่งยกระดับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตนเองให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด เพื่อคงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยสูงกว่าระดับ 6% มาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

และสำหรับประเทศไทยเราเองนั้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรมก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพาประเทศชาติหลุดจากทั้งบ่วงกับดักรายได้ปานกลาง และหล่มเศรษฐกิจตกตํ่าตั้งแต่ก่อนและหลังโควิด-19

เราเคยคุยกันมาหลายครั้งแล้วนะครับเกี่ยวกับความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม หากถือเอาการสถาปนากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นจุดตั้งต้น ภาครัฐของไทยมีความพยายามปลํ้าผีลุกปลุกผีนั่งกับการพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้วละครับ

ผลเป็นอย่างไร?

เปรียบเทียบกับระดับนานาชาติที่ International Institute for Management Development (IMD) หรือสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาการจัดการจัดทำรายงานประจำปีจะพบว่า ในบรรดาประมาณ 60 เขตเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยจะมีระดับโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี …หลังจากใช้เวลาพัฒนามา 40 ปี… ไต่อยู่แถวอันดับ 40 …แบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ครับ

ไม่แย่ลง…แต่ก็ไม่ดีขึ้น…

รู้สึกเหมือนในเชิงเศรษฐกิจที่เราติดกับดักรายได้ปานกลางยังไงยังงั้นแหละครับ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ท่านอาจารย์ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กซึ่งผมได้ขออนุญาตท่านเอามาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นจุดตั้งต้นของบทความฉบับนี้ ดังนี้ครับ

ผมเขียนบทความอธิบายมาหลายปีว่า แม้ดูผิวเผินจะเหมือนเป็นเรื่องเทคโนโลยีและวิถีชีวิตใหม่ แต่ Industry 4.0 ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเทคโนโลยี มันคือ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่แต่ละประเทศต้องวางแผนกันให้ดี ตามระดับขีดความสามารถของตน ว่ายังเป็นกลุ่มด้อยพัฒนากำลังพัฒนา หรือพัฒนาแล้ว เพราะแต่ละกลุ่มต้องการโครงสร้างพื้นฐานต่างกัน ขีดความสามารถ ทักษะบุคลากรต่างกัน ตลาดต่างกัน และต้องการเครื่องมืออย่าง Digital Platform ที่ต้องสัมพันธ์กับสิ่งที่ต้องการทำ ในขณะที่ทักษะฝีมือของคนส่วนใหญ่ยังไม่ใช่กลุ่มที่จะไปเล่นกับ Technology Innovation ก็อาจมีคนเพียง 5-10% ที่มีศักยภาพสูงในขณะที่ 60-70% ยังเป็นคนส่วนใหญ่ที่ใช้แรงงาน ค้าขาย ให้บริการบนฐานธุรกิจแบบเดิม ๆ

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมจากประเทศอื่นจะโหมกระหน่ำจนประเทศที่ขาดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่เหมาะสมตั้งรับการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน Disrupt ไปไวกว่าที่ควร

New Normal ที่คุยกัน คือ คนรุ่นเก่าได้ทำลาย “โรงบ่มเพาะ”และ “เวทีพัฒนาฝีมือ” ของคนรุ่นใหม่ลงด้วยความรู้ไม่เท่าทันเสียแล้ว รู้สึกตัวกันอีกที ก็กลายเป็นต้องยอมฝากตัวเองไว้กับ Digital Platform ของต่างชาติ ตลาดของต่างชาติ และวิธีทำการค้าบนเงื่อนไขใหม่ อย่างเช่น CPTPP ที่โดยภาพรวมเป็นเครื่องมือที่ดี แต่ไม่น่าจะทำให้ประเทศด้อยพัฒนาแข่งกับประเทศพัฒนาแล้วในสนามเดียวกันได้อย่างเท่าเทียม

เหมือนเอานักมวยรุ่นเล็กไปชกกับแชมป์ Heavy Weight เหมือนเอาทีมฟุตบอลโกล์หนูไปแข่งกับแชมป์พรีเมียร์ลีก
นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เป็นผลเกิดจากนโยบายครับ

ถามว่าความเหลื่อมล้ำที่เป็นผลจากนโยบายหมายความว่าอย่างไร?
เราคงทราบกันดีว่าชาวบ้านเรามีฝีมือในการต้มกลั่นแอลกอฮอล์หรือน้ำเมาจากข้าวและ/หรือพืชพื้นเมืองต่าง ๆ ได้เก่งมากครับ แต่สิ่งที่ภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตออกมาได้นั้นกลายเป็น ส.ร.ถ. หรือสุราเถื่อนที่ผิดกฎหมายอ้างไม่ได้ว่า “ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำสิ่งที่กฎหมายห้าม…” (ไม่ฮา…) ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น แอลกอฮอล์ที่เริ่มจากชาวบ้านต้มกลั่นเองกลายเป็นสาเกประจำถิ่นมากมายหลายเมือง เช่น อาโอโมริ เซนได นางะโอกะ หรือแม้แต่โอกินาวาที่ใช้ข้าวไทยมาทำสาเก “อะวะโมริ” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ หรือวันดีคืนดีลูกชายเพื่อนผมหลงใหลการทำเบียร์ถึงขั้นลงทุนเพาะวัตถุดิบเอง กลั่นเอง แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวแจ พลาดพลั้งเข้าซังเต หรือโดนปรับหัวโตเอาง่าย ๆ

เคยได้ยินเรื่องปืน “ไทยประดิษฐ์” ไหมล่ะครับ? นั่นก็ภูมิปัญญาชาวบ้านอีกเช่นเดียวกัน ทั้ง 2 กรณีคือโรงบ่มเพาะและเวทีพัฒนาฝีมือที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถทำได้ (โดยเปิดเผย)… ไม่ต้องพูดเลยไปถึงการปลูกกัญชาบ้านละ 5 ต้นตามนโยบายที่อาจจะลืมไปแล้วของพรรคร่วมรัฐบาล

ท่านอาจารย์ประมวลได้เขียนไว้ในเฟซบุ๊กอีกตอนหนึ่งว่า…
5 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก
เหตุเกิด ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อผมและทีมงาน สวทช. ไปนำเสนอแนวความคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ผ่านกระบวนการจัดซื้อของภาครัฐ ในวันนั้นหัวโต๊ะเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรี ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์

สิ่งที่เรียนนำเสนอไปมี 4 องค์ประกอบ คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ การพัฒนาระบบมาตรฐาน การพัฒนาบุคลากร และการจัดตั้งสถาบันพัฒนาระบบรางแห่งชาติ

ท่านรองนายกฯ ดร. ยงยุทธ เห็นด้วยกับหลักการที่นำเสนอ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 คณะตามที่เสนอไป แต่น่าเสียดายที่ผ่านไปไม่นานก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี

ศ. ดร.ยงยุทธ ซึ่งรับผิดชอบแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกปรับออก มี ดร.สมคิด ขึ้นมาทำงานแทน คุมด้านเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ด้วย

คณะทำงานทั้ง 4 ชุดที่ตั้งขึ้นยังไม่ทันได้ทำงานก็แท้ง และไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกเลย

เคยมีคำพูดหลุดออกมาว่า “ถ้าผมสนใจ จะตามให้เข้ามาพูดคุยเอง” แต่ก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์นั้น

ทั้งผมและทีมงาน สวทช. ดิ้นไปช่องทางอื่นอีกหลายวิธีตาม Protocol ที่ทำได้ แต่ทุกทางก็พาไปสู่ทางตัน ด้วยลักษณะพื้นฐานของระบบบริหารราชการแผ่นดิน “หัวโต๊ะ” โดยเฉพาะระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดีกรม เปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนกันทีก็เปลี่ยนนโยบายกันที อธิบายกันทีวน ๆ ไป แท่งอำนาจแยกกันระหว่างกระทรวง การบูรณาการนโยบายจึงเกิดยาก และหากยิ่งมาเจอกับกิจกรรมเก้าอี้ดนตรี ประเทศนี้จึงไม่ไปไหน คนไม่เข้าใจภาพใหญ่ ก็คิดว่าโครงการระบบรางเจริญขึ้นมากเพราะมีการผลักดันอนุมัติโครงการออกมามาก แต่ถ้าเข้าใจเรื่องของนโยบายอุตสาหกรรมที่นานาประเทศใช้การจัดซื้อของภาครัฐ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม พลังงาน สาธารณสุขยุทธภัณฑ์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุน พัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศผ่านเครื่องมืออย่างการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็จะมองเห็นว่า ประเทศไทยดูเหมือนอาจจะเจริญ แต่ไม่พัฒนา เพราะ “ซื้อ”ทุกอย่างเข้ามาหมด

COVID-19 ได้ทำให้เราเห็นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเปราะบางสักเพียงไหน และภาคการผลิตภายในประเทศอ่อนแอเพียงใด
หัวใจของการพัฒนาประเทศคือต้องผูกการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐมาสู่การพัฒนาขีดความสามารถของ “คน” ไม่ใช่แค่จ่ายสตางค์ซื้อของ

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นสิ่งที่ท่านอาจารย์ประมวลพยายามผลักดันให้เกิดการใช้ระบบ “ออฟเซต” ที่จะส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสร้างขีดความสามารถในการออกแบบซ่อม สร้าง ไปจนถึงการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ในที่สุด ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหลักเป็น “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี” ในประเทศที่ออกแบบและผลิตเองไม่ได้ก็จะต้องเริ่มต้นแบบนี้แหละครับ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนบ้านเราก็เริ่มต้นอย่างนี้แหละครับ

จีนนั้นให้สหพันธรัฐเยอรมนีมาสร้างระบบรางให้ไม่นานก็สามารถพัฒนา ออกแบบ และสร้างรถไฟความเร็วสูงวิ่งติดต่อเชื่อมโยงได้ทั่วประเทศแถมยังส่งออกและมาขายให้แก่ประเทศไทยที่เริ่มต้นพัฒนาระบบรางก่อนจีนเป็น 100 ปี

ถ้าถามว่าจีนทำได้อย่างไร ก็เริ่มจากการออฟเซตให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางจากประเทศที่เจริญกว่า ใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่ออุดหนุนสร้างอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศ พัฒนาระบบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของระบบรางที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย พัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมระบบรางทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา และสร้างสถาบันพัฒนาระบบรางขึ้นภายในประเทศ

กลับไปที่ญี่ปุ่นที่เริ่มต้นพัฒนาระบบรางใกล้ ๆ กับประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อถึงเวลาที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งที่ 1 ก็มีรถไฟความเร็วสูงชินกันเซ็นที่ออกแบบและก่อสร้างเองได้แล้ว ญี่ปุ่นก็พัฒนาระบบนิเวศต่าง ๆ ของระบบรางเช่นเดียวกับที่จีนซึ่งตามมาทีหลังได้เดินตามรอยเท้าไปนั่นเองครับ ต่างกันตรงที่ญี่ปุ่นใช้เวลาเกือบ 70 ปี จากระบบรางธรรมดาสู่รถไฟความเร็วสูง ส่วนจีนใช้เวลาสั้นกว่าเพราะเรียนลัดได้เร็วกว่า ในขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยยัง “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” อยู่จนทุกวันนี้ครับ

ฟันธงกันไว้ตรงนี้ก่อนว่า เราไม่มีนโยบายอุตสาหกรรมที่กำหนดชัดเจนว่าเราจะพัฒนาอุตสาหกรรมอะไรเป็นหลัก และจะสร้างตั้งแต่ “ไม่มี” จน”มี” และส่งออกได้อย่างไร?

ที่จริงเราเคยมีการกำหนดอะไรหลาย ๆ อย่างในสมัยหนึ่ง เช่นเราจะเป็นดีทรอยต์แห่งเอเซีย (อุตสาหกรรมยานยนต์) เราจะเป็นครัวของโลก (อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร) หรือ การเริ่มต้นสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” เมืองแรกที่ภูเก็ต ในนามของ Phuket Digital Hub แต่เราไม่เคยมีการพัฒนาระบบออฟเซตที่ชัดเจน ไม่มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เอื้ออำนวยกับอุตสาหกรรมในประเทศ (เพราะซื้อของไทยไม่มีเงินทอน…?) มีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ไม่มีมาตรการและแนวทางที่สอดคล้องในการสร้างมาตรฐาน (ผลิตภัณฑ์) อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ไม่มีการกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาที่เหมาะสมสอดคล้องและจำเป็นแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมาย แต่ทำงานอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทางหรือจุดเน้นที่จะผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศอย่างถูกจุด

ผมคิดว่าเราจะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีจุดเน้นชัดเจนและเรามีจุดแข็งอยู่ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จากนั้นก็โยงมาที่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อกำหนดทิศทาง คณะ และสาขาวิชาที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมนั้น ๆ แล้วนำไปสู่การกำหนดแนวทางและหัวข้อการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่ตรงจุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อยกระดับให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ตลอดจนป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศและในประเทศ

สุดท้าย คือ ยุบรวมองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน หลอมรวมสร้างสถาบันที่ทำหน้าที่วิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นเกิดผลเป็นรูปธรรมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างแท้จริงครับ

นี่แหละครับ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม ที่จะเป็นทางรอดให้ประเทศไทยอย่างแท้จริง หวังว่าคงจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นะครับ และไม่ต้องตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานศึกษามาทำอะไรให้วุ่นวายเสียเวลานะครับ ดูและทำตามตัวอย่างจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ไต้หวัน สิงคโปร์ ที่เขาทำสำเร็จมาแล้วก็พอครับเชื่อผมเถอะ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save