วิถีชีวิตยุคใหม่แพร่ขยายไปทุกวงการ แม้แต่วงการศึกษาที่การเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ “หักศอก” หรือ Disruption เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก
ผมจำได้ว่าเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนตอนผมกลับจากการศึกษาต่อมาเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ มีการรณรงค์กันให้เลิกการเรียนการสอนแบบ “ป้อน” ให้นักเรียนนักศึกษา มีการรณรงค์ “หักช้อน” อาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจะได้เลิกป้อนกันเสียที
ผ่านมาแล้วเกือบ 40 ปี ผมเชื่อว่าการสอนแบบป้อนยังคงมีอยู่ต่อไป แม้ว่าจะมีระบบแปลกใหม่ต่าง ๆ เสริมเข้ามามากมาย เช่น Active Learning, Flip Classroom, Child Center, MOOC (Massive Open Online Course) ฯลฯ แต่ตราบใดที่การ “ป้อน” ทำกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก หรือตั้งแต่ชั้นอนุบาลประถมศึกษาเรื่อยมาจนมัธยมศึกษาแล้ว…
มาถึงมหาวิทยาลัยก็สายเสียแล้วละครับ…นั่นคือ การ “ป้อน” ก็ยังอยู่ต่อไปอีกนาน
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ “หักศอก” เกิดขึ้นได้ในวงการศึกษา นั่นคืการเรียนการสอนกลายเป็นระบบ “On X….” หรือ On …..สารพัด เช่น On-Air, Online, On-Demand, On-Hand, On-site ซึ่ง On หลังสุด คือ On-site หรือสอนที่ห้องเรียนนั้นทำได้ยากหรือถึงกับทำไม่ได้เลยเพราะปัญหาโรคระบาด
ระบบการเรียนที่ใช้กันมากที่สุดจึงเป็นการสอนผ่านระบบโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Zoom, Microsoft Team, etc. โดยผู้เรียนและผู้สอนกระจัดกระจายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ผู้เรียนผู้สอนอยู่ห่างกันคนละมุมโลกก็ยังสามารถสื่อข้อมูลการเรียนการสอนถึงกันได้ครับ
ถามว่าได้ผลเท่ากับการเรียนในห้องเรียนไหม?
ผมสรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าผู้สอนลงแรงสองเท่า ได้ผลเพียงครึ่งเดียวครับ
อุปสรรคสารพัด ตั้งแต่ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ของนักเรียนนักศึกษา ความไม่เสถียรของวงจรการสื่อสารในตำแหน่งแห่งที่ต่าง ๆ กัน และ/หรือผู้ให้บริการวงจรสื่อสารแตกต่างกัน ตลอดไปจนถึงสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนตก ไฟดับ ฯลฯ
สมาธิของผู้เรียนและผู้สอนเองก็เป็นอุปสรรค การเรียนการสอนที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการทำ (แทบ) ไม่ได้เลย
และแล้วท่านผู้อาวุโสในวงการศึกษาจากมหาวิทยาลัยใหญ่สองแห่งก็เสนอความเห็นว่า ควรหยุดการเรียนการสอน 1 ปี เมื่อสถานการณ์โรคระบาดควบคุมได้จึงเปิดการเรียน “ในสถานที่” ที่ได้ผลมากกว่า
ผมเป็นคนที่ไม่ชอบการเรียนการสอนแบบออนไลน์อย่างยิ่ง เพราะเชื่อตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเคยมีพระราชดำรัสไว้ว่า แม้เทคโนโลยีจะดี แต่ไม่สามารถทดแทนคนสอนคนได้โดยตรง เพราะเทคโนโลยีนั้นมีสี แต่ไม่มี “สัน”….
นั่นหมายความว่า “คนสอนคน” ต่อหน้าต่อตาตรง ๆ จะดีที่สุด
แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการหยุดการเรียนการสอน 1 ปีจนกว่าโรคระบาดจะควบคุมได้
เพราะ…ใครจะรับประกันได้ว่าโรคระบาดจะควบคุมได้ภายใน 1 ปีข้างหน้า? ถ้าควบคุมไม่ได้ จะให้หยุดต่อไปอีกหรืออย่างไร?
ทางแก้ปัญหาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับระบบออนไลน์ แทนการยกเอาการสอนในห้องเรียนมาจับใส่ระบบ Zoom, Team, ฯลฯ ซึ่งได้ผลน้อยแน่นอนครับ
ที่แน่ ๆ และผมอยากจะตั้งคำถามกลับไปก็คือ ปรัชญาการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นหมายความว่าอย่างไรครับ?
ใช่ว่าจะต้องหยุดเมื่อพบอุปสรรคหรือหาทางก้าวข้ามไปให้ได้เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ดีที่สุดกันแน่?
ที่มา: ภาพ
https://pixabay.com/photos/a-book-read-college-student-4126483/
https://pixabay.com/photos/online-course-teacher-training-4668930/