นํ้ามันสารเสพติดของโลกมาจากไหน?

เรื่องเหนียว ๆเกี่ยวกับ “นํ้ามัน” ตอน นํ้ามันสารเสพติดของโลกมาจากไหน?


นํ้ามันมาจากไหน?

จงอย่าตอบว่ามาจาก “ปั๊มนํ้ามัน” เพราะแสดงว่าท่านคือผู้บริโภคที่แท้จริงหรืออย่าตอบว่ามาจาก “โรงกลั่น” นั่นจะทำให้ท่านกลายเป็นพวกประเภทพ่อค้าหรือตอบว่ามาจาก “บ่อนํ้ามันในตะวันออกกลาง” เพราะถูกเป๋งเลย แต่ท่านจะกลายเป็นพวกนักอุตสาหกรรมหรือพวกวิศวกร และแสดงว่าความรู้ของท่านจบลงที่นั่น

เรื่องเหนียว ๆเกี่ยวกับ นํ้ามัน

ถ้าคิดย้อนเวลาไปหาอดีต นํ้ามันก็เกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ตายทับถมกันมา นับร้อย ๆ ล้านปี แต่ที่นานที่สุดก็คงราว 600 ล้านปี เพราะนั่นคือยุคที่เรียกว่า แคมเบรียน (Cambrian) ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่า เกิดบิ๊กแบง (Big Bang) ทางชีววิทยา

เพราะก่อนยุคแคมเบรียน ซึ่งเรียกว่า ปรี- หรือ พรี-แคมเบรียน (Precambrian)ทั้งโลกก็มีแต่สัตว์ไร้กระดูก ประเภทแมงกะพรุน และสัตว์ชั้นตํ่ามาก ๆ ในไฟลัมแรก ๆ ซึ่งมีวิวัฒนาการน้อยหรืออยู่ในระยะต้น ๆ ประเภทสัตว์หรือพืชน้อยเซลล์ หรือมีเซลล์เดียว เช่น แบคทีเรีย สาหร่าย

แล้วพอถึงช่วงระยะเวลา 600 ล้านปีก่อน จู่ ๆ ก็เกิดมีพืชและสัตว์อุบัติขึ้นมามากมายหลายหลากชนิดบนโลก ซึ่งปรากฏจากหลักฐานทางฟอสซิลที่ค้นพบในปัจจุบัน

ต่อจากนั้นเป็นเวลาอีกหลายร้อยล้านปีกว่าจะถึงยุคไทรแอสสิก (Triassic) ยุคจูราสสิก (Jurassic) และตามด้วยยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคของไดโนเสาร์

วันดีคืนดีไดโนเสาร์ก็หายเรียบไปจากโลก เหลือแต่ฟอสซิลที่อยู่ในหินให้เราศึกษาและคาดเดาความเป็นไปของสัตว์โลกในยุคนั้น

มนุษย์ก็ช่างคิด จนปัจจุบันเราได้ทฤษฎีอุกกาบาตลูกยักษ์ กว้างราวครึ่งไมล์พุ่งชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน แรงระเบิดซึ่งคงเทียบได้กับระเบิดนิวเคลียร์หลายสิบลูกทำให้เกิดฝุ่นและหมอกควันหนาปกคลุมโลก โลกมืดลง เพราะฝุ่นควันบดบังแสงแดด ทำให้พืชซึ่งเป็นอาหารไดโนเสาร์ ไม่เจริญเติบโต และทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์กันหมดโลก เหลือแต่ญาติห่าง ๆ พวก จิ้งจก ตุ๊กแก แย้ ตะกวด ตัวเงินตัวทอง กิ้งก่า จระเข้ และมังกรโคโมโดในเกาะชวา เป็นต้น ที่หลงเหลือมีชีวิตรอดมาจนวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์เลื้อยคลานในปัจจุบัน

ในภาพยนตร์เรื่องดังของฮอลลีวูด เรื่อง “จูราสสิก ปาร์ก” หรือแปลความหมายว่า สวนสนุกจูราสสิก ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำโคลนนิ่งไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่จากยีนของไดโนเสาร์ที่อยู่ในเม็ดเลือดของไดโนเสาร์ที่ถูกเก็บไว้อย่างสมบูรณ์ โดยยุงที่ดูดเลือดไดโนเสาร์แล้วถูกยางไม้เคลือบไว้ เวลาผ่านไปกว่า 65 ล้านปี ยางไม้กลายเป็นอำพันซึ่งมีตัวยุงดึกดำบรรพ์พร้อมด้วยเลือดไดโนเสาร์อยู่ข้างใน

ความจริงต้นตระกูลเผ่าพันธุ์มนุษย์เพิ่งจะอุบัติขึ้นมาในโลกเมื่อไม่ถึง 3 ล้านปีเท่านั้น ห่างจากไดโนเสาร์นับหลายสิบล้านปี จนไดโนเสาร์กลายเป็นหินฟอสซิลไปหมดแล้ว บรรพบุรุษของมนุษย์ถึงได้เขย่งขาลงจากต้นไม้มาเดินบนดิน

ดังนั้น ภาพยนตร์ประเภทก๊องมนุษย์ถํ้ายุคดึกดำบรรพ์ถือไม้พลองวิ่งหนีไดโนเสาร์หรือเฟรดฟลิ้นสโตนขี่ไดโนเสาร์ไปทำงาน จึงขัดกับหลักฐานความจริงทางโบราณคดีธรณีวิทยาดึกดำบรรพ์ที่ว่า มนุษย์ไม่เคยอยู่ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ และมนุษย์ไม่เคยเจอกับไดโนเสาร์ นอกจากจะเจอกันในหนัง ซึ่งก็เป็นสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ของผู้สร้าง และเจอในพิพิธภัณฑ์ซึ่งไดโนเสาร์ได้กลายเป็นโครงกระดูกหินไปแล้ว

ดังนั้น นํ้ามันก็เป็นไฮโดรคาร์บอนที่กลั่นมาจากซากพืชซากสัตว์ที่ตายสะสมทับถมกันอยู่ใต้ดินนับร้อย ๆ ล้าน ๆ ปี

แต่ขอสรุปเพื่อให้เห็นเป็นมโนภาพ และเข้าใจง่าย ๆ ว่า “นํ้ามันก็มาจากไดโนเสาร์”!

นํ้ามันก็มาจากไดโนเสาร์

(ซึ่งไม่ได้ถูกทั้งหมด แต่ผมขอเลือกไดโนเสาร์เป็นตัวแทนซากพืชซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของนํ้ามัน)

ดังนั้น การที่นํ้ามัน ปตท. เอาตัวก็อตซิลลา มาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณานั้นถูกต้องแล้ว เพราะก็อตซิลลาก็คือไดโนเสาร์

สโลแกนที่ใช้อาจจะเป็น “จับไดโนเสาร์ใส่ถังพลังสูง” แต่ก็ออกจะล้าสมัยไปหน่อย เพราะไปลอกเลียนนํ้ามันยี่ห้ออื่นยี่ห้อหนึ่งซึ่งจับสัตว์ใส่ถังไปนานมากแล้ว

แต่ญี่ปุ่นอาจจะบอกว่าก็อตซิลลาไม่ใช่ไดโนเสาร์ เพราะเป็นตัวละครในจินตนาการที่ญี่ปุ่นคิดขึ้นมาเอง ต่อมาพอทางฮอลลีวูดของอเมริกาเอาเรื่องก็อตซิลลาไปทำเป็นภาพยนตร์ตอนใหม่ ญี่ปุ่นแทบช็อก เพราะก็อตซิลลาที่เคยตาโตอ้วนท้วนน่ารักกลายเป็นจิ้งจกกิ้งก่าไดโนเสาร์ที่ดุร้ายวิ่งไล่งับเฮลิคอปเตอร์ เสียภาพพจน์ก็อตซิลลาเกือบหมด

ก็ได้ ปตท. นี่แหละช่วยกู้ภาพพจน์ของก็อตซิลลากลับคืนมาได้บ้าง

ในนํ้ามันดิบ (Crude Oil) 1 บาร์เรล (Barrel) มีพลังงานอยู่ 6,000,000 บีทียู (British Thermal Units : Btu) หรือ 2,000,000 กิโลแคลอรี่ (Kilocalorie : kcal)

มนุษย์ผู้ชายหนัก 50 กิโลกรัม 1 คน ใช้พลังงานวันละประมาณ 3,000 กิโลแคลอรี่ ดังนั้น นํ้ามันดิบ 1 บาร์เรล สามารถคิดเทียบเป็นพลังงานงานที่ร่างกายมนุษย์ 1 คนใช้ไปได้ ในระยะเวลาเกือบ 2 ปี

เนื้อวัวถ้าเอาอย่างดีคือเซอร์ลอยน์สเต็ก (Sirloin Steak) ชิ้นขนาด 100 กรัม จะให้พลังงาน 125 กิโลแคลอรี่ หรือเนื้อ 1 กิโลกรัม จะให้พลังงาน 1,250 กิโลแคลอรี่

นํ้ามันดิบ 1 บาร์เรล สามารถคิดเทียบเป็นพลังงานงานเท่ากับเนื้อวัว 1,600 กิโลกรัม หรือ 1.6 ตัน

ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่แบบน้อง ๆ ก็อตซิลลา คือ ไทแรนโนซอรัสเร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex) หรือ “ทีเร็กซ์” ที่วิ่งไล่งับรถในหนังจูราสสิกปาร์กตัวหนึ่งมีนํ้าหนัก 14,000 ปอนด์ หรือ 6,350 กิโลกรัม หรือ 6.35 ตัน

ถ้าเป็น Velociraptor หรือ “แร็ปเตอร์” ที่มีตัวเล็กลงหน่อย คือตัวขนาดเท่าคน มีนํ้าหนัก 250 ปอนด์ หรือ 113 กิโลกรัม

ดังนั้น ถ้าคิดอย่างหยาบ ๆ โดยสมมุติว่าเอาเนื้อไดโนเสาร์มาแทนเนื้อวัว ซึ่งแน่ล่ะมันจะต้องเหนียวกว่าเนื้อวัวอย่างมาก เพราะมันเคลื่อนไหวตลอด ซึ่งต่างกับวัวเซอร์ลอยน์สเต็กนุ่ม ๆ ที่เคี้ยวหญ้าเอื้อง ๆ และขอคิดนํ้าหนักเป็นเนื้อโดยตรงทั้งหมดไม่มีกระดูกและเครื่องใน

นํ้ามัน 1 บาร์เรล จะเท่ากับไดโนเสาร์แร็ปเตอร์ 14 ตัว! หรือว่าทีเร็กซ์ 1 ตัว จะให้นํ้ามันดิบได้ 4 บาร์เรล!

นํ้ามันที่ไดโนเสาร์และสัตว์โลกล้านปีทั้งหลายกลั่นให้เราได้ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยในทุกวันนี้ต้องใช้เวลาสะสมหมักหมมอยู่ใต้ดินเป็นเวลากว่าหลายร้อยล้านปี

แต่มนุษย์ยุคของเรากำลังจะใช้มันให้หมดไปในเวลาเพียง 2-3 ชั่วอายุคน หรือราวร้อยกว่าปีเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ปรากฏขึ้นมาบนโลกไม่ถึง 3 ล้านปีนั้นก็แสนจะสั้นเมื่อเทียบกับอายุขัยของโลก 4.5 พันล้านปี

ถ้าท่านกางแขนออกทั้ง 2 ข้าง และสมมุติว่าโลกเริ่มต้นที่ปลายนิ้วมือข้างซ้าย และเวลาปัจจุบันคือปลายนิ้วมือข้างขวา ถ้าท่านให้เพื่อนเอาตะไบเล็บถูเบา ๆ ที่เล็บนิ้วกลางข้างขวา

อุ๊บ! เพื่อนของท่านเพิ่งจะลบประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติออกจากโลกไปแล้ว!

และก็โปรดอย่าได้เข้าใจผิดว่า ความคิดที่ว่าไดโนเสาร์เกิดขึ้นมาในโลกนี้เพื่อจะได้กลายเป็นนํ้ามันให้เราได้ใช้

ซึ่งความคิดแบบนี้เป็น มิจฉาทิฏฐิ อย่างยิ่ง ซึ่งก็ทำนองเดียวกันที่ว่า วัวมันไม่ได้เกิดมาเพื่อกลายเป็น เซอร์ลอยน์สเต็ก เพราะอันนี้ก็ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของวัวที่เกิดมาในโลกนี้อย่างแน่นอน

ดังนั้น ก่อนเติมนํ้ามันทุกครั้งอย่าได้ลืมบุญคุณของไดโนเสาร์ เนื่องจากสมัยก่อนมนุษย์ไม่ได้รู้จักใช้นํ้ามัน เพราะยังไม่ได้ประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ได้แต่อาศัยแรงวัวแรงควายและแรงงานของสัตว์ เลยทำให้นํ้ามันไม่มีค่าอะไรมากมายนักในเชิงเศรษฐกิจ

มนุษย์จึงไม่ได้ให้คุณค่าแก่นํ้ามันดิบเท่าไรนัก และมนุษย์เราก็กลั่นนํ้ามันกันไม่เป็น

สมัยก่อนก็ใช้ต้มเอาแล้วตักใส่ไหไปขาย เหมือนกับที่ มะกะโท ลูกเขยพระร่วง ก่อนเข้าวังก็มีอาชีพต้มนํ้ามันดินขายเอาไปเป็นนํ้ามันตะเกียง และสมัยก่อนก็ไม่มีตะเกียงเจ้าพายุ คงใช้จุดด้วยไส้เส้นด้ายธรรมดาแบบที่พวกเราในปัจจุบันใช้จุดกันตามโต๊ะกินข้าวเพื่อเป็นเครื่องประดับ ไม่ได้ใช้ในการให้แสงสว่างเหมือนดังที่ใช้กันในสมัยโบราณ

พวกคาวบอยที่ค้นพบนํ้ามันยุคแรก ๆ ในอเมริกาก็เหมือนกับ มะกะโท คือต้มนํ้ามันเอาไปขายใช้จุดตะเกียง

เนื่องจากมันมีเยอะมากก็เลยมีคนพยายามเอาไปใช้อย่างอื่นด้วย เช่น เอามาทำนํ้ามันนวดตัว และลองเอามากินเป็นยาด้วย โดยใส่ขวดขายก็มี ทำเป็นยาดองด้วย เรียกว่านํ้ามันงู หรือ Snake Oil

ต่อมาการต้มนํ้ามันก็รู้จักการเอาฝามาครอบเพื่อดักจับไอของนํ้ามันที่ระเหยขึ้นมาเป็นนํ้ามันใส แรงดี จุดไฟติดง่าย ต่อมาขยายฝาออกไปเป็นปล่อง ซึ่งต่อมากลายเป็นหอกลั่นที่มาครอบไว้เรียกว่ากลั่นตามลำดับส่วน ซึ่งก็เพิ่งจะคิดค้นกันเมื่อต้นศตวรรษที่แล้วนี่เอง

และตัวการที่ทำให้เกิดการบริโภคใช้นํ้ามันกันอย่างมากในโลกจนแทบจะกลายเป็นสารเสพติดก็คือรถยนต์

ซึ่งรถยนต์ก็เพิ่งจะมาแทนรถม้าเมื่อต้นศตวรรษที่แล้ว หลังจากที่มีการคิดค้นเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือที่เรียกว่า Internal Combusion Engine

หลังจากนั้นเป็นต้นมา รถยนต์ก็บูมสุดขีด คาวบอยอเมริกันที่เคยควบม้ายุคนี้ก็หันมาขับรถพิกอัปกันหมดแล้ว

แล้วปัจจุบันก็ยังมีคาวบอยเมืองกรุงที่ตอนวันหยุดสุดสัปดาห์ต้องทำเท่เอารถ SUV ไปขับในที่ที่ไม่ใช่ถนนในชนบทเพื่อให้ชีวิตตื่นเต้นออกรสซาติ

ประเทศอเมริกากว้างใหญ่ไพศาล ผู้คนจะไปไหน ๆ ก็ต้องขับรถยนต์ไป

ประเทศไทยก็ติดนิสัยในการใช้รถมาจากอเมริกา จนปัจจุบันเราต่างก็ใช้รถยนต์บริโภคนํ้ามันกันเป็นว่าเล่น ทั้ง ๆ ที่ประเทศเราไม่มีนํ้ามัน

แม้แต่ปัจจุบันนี้มนุษย์เองก็ยังไม่ได้ให้คุณค่าแก่นํ้ามันกันสักเท่าไรนัก เพราะถือเสมือนว่าเป็นของที่ได้มาเกือบจะฟรี

สงสารไดโนเสาร์ที่มนุษย์ทุกวันนี้ไม่มีใครเคยนึกถึงคุณค่าของมัน มันคงต้องขอบคุณอุกกาบาตที่มายังโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนเพื่อว่าจะได้ไม่ต้องอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์

และถ้าอุกกาบาตลูกนั้นไม่มายังโลกล่ะ?ป่านนี้พวกลูกหลานเหลนโหลนของไดโนเสาร์คงขับยานอวกาศกันปร๋ออยู่รอบ ๆ สุริยจักรวาลบนยานแบบสตาร์เทร็กนะซิ!

อ่านต่อฉบับหน้าตอน เจ็ดดรุณี ผู้ครองโลกด้วยนํ้ามัน


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ เก็บมาฝาก โดย ว่าที่ร้อยตรีสมชาย วสันตวิสุทธิ์ วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save