สมศักดิ์ ประภาสพงศ์ วศ.2517

สมศักดิ์ ประภาสพงศ์ วศ.2517 จากวิศวกรก่อสร้างที่หันมาสร้าง “พืชแข็งแรง” ด้วยวิถีธรรมชาติ


สมศักดิ์ ประภาสพงศ์ หรือที่เพื่อน ๆ เรียกว่า “เป็ด” จบจากภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล ช่วงเป็นนิสิตก็เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม หรือ ATA ที่ก่อตั้งโดยอาจารย์ชาญชัย ลิมปิยากร ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล กับ อาจารย์โคทม อารียา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กิจกรรมหลัก ๆ ก็จะช่วยพัฒนาช่วยเหลือชุมชนในต่างจังหวัด หลังจากจบแล้วก็ยังร่วมกิจกรรมกับสมาคมเสมอ ๆ ทำให้มีความผูกพันกับวิถีชีวิตในชนบทมาตลอด

อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

คุณเป็ดก็เหมือนกับพี่น้องอินทาเนียหลายคนที่หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งก็ออกมาตั้งบริษัทเอง โดยเปิดบริษัทรับออกแบบ รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งธุรกิจก็เติบโตก้าวหน้าตามลำดับ จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 ธุรกิจทุกประเภทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนปิดกิจการไป นอกจากธุรกิจเจอวิกฤตแล้ว ร่างกายก็เจอวิกฤตเช่นกัน คือ เป็นโรควิตกกังวล นอนไม่หลับ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการของบริษัท ออริกา จำกัด

เมื่อปัญหาคลี่คลายก็เริ่มกลับมาคิดว่า ชีวิตวุ่นวายในเมืองหลวงไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริง สิ่งที่ทำให้มีความสุขคือการได้อยู่กับธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ทำสวนอย่างที่ชอบ

เมื่อตั้งใจแบบนั้นแล้วก็เริ่มมองหาสถานที่ที่เหมาะสม จนมาเจอเนินเขาแห่งหนึ่งในอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ที่เจ้าของเดิมใช้ปลูกสับปะรด พื้นดินเต็มไปด้วยสารเคมีตกค้าง แต่ด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน และไม่ห่างจากกรุงเทพฯ มากนัก จึงตัดสินใจซื้อที่แห่งนี้ท่ามกลางคำถามว่า…ที่ดินแห้ง ๆ แข็ง ๆ แบบนี้จะเอาไปทำอะไรได้ … แต่ด้วยความพยายามและเชื่อมั่นว่าทำได้ ปัจจุบัน คุณเป็ดทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็น “บ้าน” บ้านที่อุดมสมบูรณ์ มีทุกอย่างที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต และเป็นบ้านที่จะได้ใช้เวลากับคนที่มีความรักความชอบในสิ่งที่คล้าย ๆ กัน ถึงแม้บางเวลาอาจจะต้องกลับไปดูแลธุรกิจที่กรุงเทพฯ บ้าง แต่เวลาส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่นี่…“ก่องกานท์ คาเฟ่ และฟาร์มสเตย์

…ผมอยากให้ลูก ๆ ได้มาร่วมทำกิจกรรมที่นี่ ผมเลยสร้างเป็นบ้านพักสำหรับลูก ๆ หรือเพื่อนลูกมาหาก็จะค้างคืนได้สะดวก แล้วก็ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ไว้ทานเอง ตั้งชื่อว่า “ก่องกานท์” ตามชื่อลูกสาวคนเล็ก…..

…อาชีพวิศวกรเป็นอาชีพที่เป็นผู้เปลี่ยนธรรมชาติให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนนั้นมักจะเป็นการทำลายธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็ควรคืนอะไรสู่ธรรมชาติบ้าง…

พ.ศ. 2551 คุณเป็ดก็เริ่มพัฒนาปรับปรุงเนินเขาที่มีแต่หินดินกรวดโดยใช้วิธีธรรมชาติ นั่นคือ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิมก็ปล่อยไว้ แล้วปลูกเสริมต้นไม้ใหม่ ใช้ความรู้ความเข้าใจที่คลุกคลีกับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ รวมทั้งปรึกษากับผู้รู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง จนทำให้พื้นที่ 35 ไร่ในบริเวณนี้กลายเป็นป่าไม้สมบูรณ์ บรรยากาศร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชไม้นานาพันธุ์ พร้อมกับยังมีกิจกรรมมากมายไว้บริการให้แก่นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน

ก่องกานท์ คาเฟ่ และฟาร์มสเตย์

…ผมเริ่มเข้ามาปรับปรุงพื้นที่โดยใช้ศาสตร์หลาย ๆ ศาสตร์ สิ่งไหนที่ไม่รู้ก็ปรึกษากับผู้รู้ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เข้าร่วมกลุ่มกับเครือข่ายเกษตรกรที่ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย เกษตรไร้สารพิษ ได้ความรู้มาปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ระยะแรกก็ลำบากพอสมควร ก่อนจะสร้างบ้านหลังปัจจุบันก็ต้องอยู่บ้านหลังเล็ก ๆ ของเจ้าของเดิมไปก่อน ผมได้ใช้ความรู้ทางวิศวฯ มาปรับปรุงระบบนํ้าดื่มนํ้าใช้ให้สะอาดและเพียงพอ สร้างสะพานข้ามคลองเพื่อสะดวกแก่การทำงาน ปลูกต้นไม้เพื่อรักษาหน้าดินให้ชุ่มชื้น ปรับสภาพดินให้สมบูรณ์…

เติบโตตามธรรมชาติเพื่อเป็น “พืชแข็งแรง” ในที่สุด

ต่อมา คุณเป็ดได้ซื้อที่ดินเพิ่มที่ไม่ไกลจากที่เดิมนัก เป็นสวนผลไม้พื้นบ้าน ทั้งกล้วย ส้มโอ มะละกอ และผลไม้อื่น ๆ รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกพืชผักไทย ๆ และสวนผักสลัด “ก่องกานท์ฟาร์ม”…ผักของก่องกานท์ฟาร์มจะสด กรอบ ไม่มีสารตกค้าง อาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบสดใหม่จึงมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ของก่องกานท์ คาเฟ่ และฟาร์มสเตย์

ก่องกานท์ คาเฟ่ และฟาร์มสเตย์

….โดยปกติแล้วพืชพรรณธรรมชาตินั้นสามารถเติบโตไปเองโดยไม่ต้องให้มนุษย์ช่วยเหลือ มนุษย์อย่าเข้าไปฝืนหรือกะเกณฑ์ธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติควบคุมดูแลกันเอง สวนของผมจะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า เพราะสารเคมีเหล่านี้จะไปฆ่าจุลินทรีย์ในดิน ผมจะให้พวกเขาเติบโตตามธรรมชาติ ผัก ผลไม้ที่สามารถอดทนต่อศัตรูพืชได้จะเติบโตได้อย่างแข็งแรง เป็น “พืชแข็งแรง” ที่ให้ผลผลิตที่ปลอดภัย รสชาติเป็นธรรมชาติ….

พืชแข็งแรง” เป็นคำที่คุณเป็ดนิยามให้แก่พืชผักผลไม้และป่าไม้ในสวนแห่งนี้ พืชแข็งแรงเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ที่แข็งแรง เติบโตตามธรรมชาติ เราเพียงสร้างสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือการไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าหรือสารเคมี แต่ใช้สารชีวภัณฑ์หรือใช้หลักคิดของระบบนิเวศที่เป็นชั้น ๆ ในการควบคุมศัตรูพืช อาทิ จุลินทรีย์บางตระกูลจะกินจุลินทรีย์ที่เป็นตัวก่อโรค สูงขึ้นมาอีกระดับก็จะเป็นหนอนที่กินจุลินทรีย์บางตัว และแมลงปอหรือจิ้งหรีดก็จะกินหนอนอีกต่อหนึ่ง เป็นการรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศนั่นเอง

…สวนของเราเคยเจอปัญหาแมลงกัดกินแปลงผัก ผักเสียหายเกือบหมด แต่วิธีแก้ปัญหาของเราคือการยกพื้นขึ้นสูง หรือปลูกแบบกางมุ้ง แต่จะไม่ใช้วิธีใช้ยาฆ่าแมลง พืชผักอาจจะเสียหายไปบ้างก็ยอมรับได้ แต่ถ้ารุนแรงมาก ๆ ก็ต้องทำลายทิ้งไปเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้

…สิ่งสำคัญของพืชแข็งแรงที่ควรให้ความสำคัญมาก ๆ คือต้องมีนํ้าดี นํ้าที่เหมาะสม แดดที่เหมาะสม และปุ๋ยที่เหมาะสม ทางก่องกานท์ใช้ปุ๋ยหมักของเราเอง ที่ผ่านกระบวนการหมักจนได้ปุ๋ยที่มีจุลินทรีย์ที่เหมาะสมกับพืชผักของเรา…

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าพืชผักเป็น “พืชแข็งแรง”…

วิธีการสังเกตง่าย ๆ คือให้ดูที่ใบ ใบของพืชแข็งแรงจะเป็นสีเขียวมันเงาเหมือนเคลือบแว็กซ์ กิ่งก้าน ลำต้นจะผิวเนียนสวย หรือถ้าเป็นผักที่มีกลิ่น เขาก็จะให้กลิ่นหอมแรงเฉพาะตัวกว่าผักที่ใช้สารเคมี…

สถานปฏิบัติธรรม สวนบุษบา

เปิดสถานปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขสงบของจิตใจ

สวนบุษบา” เป็นส่วนหนึ่งของก่องกานท์ฟาร์มที่คุณเป็ดและภรรยาได้จัดสรรพื้นที่ตั้งสถานปฏิบัติธรรมขึ้น มีโรงเรือนปฏิบัติธรรม ห้องพัก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ จุดมุ่งหมายก็เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมร่วมกัน

…ผมเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์สุริยา มหาปฺญโญ (หลวงตา) วัดป่าโสมพนัส สกลนคร วันหนึ่งท่านได้มาเยี่ยมที่นี้ ท่านเห็นว่าที่แห่งนี้สงบเงียบ จึงปรารภว่าน่าจะสร้างสถานปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นแหล่งให้ผู้สนใจได้เข้ามาร่วมปฏิบัติธรรมรักษาจิตใจให้สุขสงบร่วมกัน ผมกับครอบครัวจึงสร้างสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร เราจะลดทุกข์ของเราได้อย่างไร… ปกติจะจัดปฏิบัติธรรมปีละครั้ง ครั้งละ 7 วัน แต่ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องงดไป… การปฏิบัติธรรมทำให้จิตใจสงบ สมองปลอดโปร่ง มีสมาธิ เมื่อจิตมีสมาธิก็ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ…

“Green Building”บ้านที่ประหยัดทั้งพลังงานและการก่อสร้าง

ดังที่กล่าวแล้วว่า คุณเป็ดร่วมในกิจกรรมกับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิต มีการศึกษา เผยแพร่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน หรือการนำผลิตภัณฑ์มาใช้ซํ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด กอปรกับทำงานในวงการออกแบบและรับเหมาก่อสร้าง ทำให้เห็นว่าการรื้อถอนหรือการก่อสร้างในแต่ละครั้งนั้น จะมีวัสดุเหลือใช้ที่ต้องทิ้งจำนวนมาก เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติโดยเปล่าประโยชน์ คุณเป็ดจึงมีแนวคิดนำวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณภาพดีมาก่อสร้างบ้านพักและร้านอาหาร เป็นการนำวัสดุมาใช้ซํ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

…ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าบ้านพักและส่วนที่เป็นร้านอาหารจะเป็นวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้าง หรือบางส่วนก็เป็นวัสดุที่ได้จากการรื้อถอน จะมีร่องรอยที่สังเกตได้ กระเบื้องที่ลายแตกต่างกัน หรือหน้าต่างที่กระจกกรองแสงเป็นคนละสี กรอบประตูที่ไม่เท่ากัน ผมเลยนิยามการก่อสร้างที่ว่าเป็น “Green Building” คือการนำวัสดุกลับมาใช้ซํ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด…

บ้านพัก

นอกจากนั้น ด้วยบรรยากาศโดยรอบที่เย็นสบาย คุณเป็ด จึงใช้หลักการออกแบบบ้านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เย็นสบายโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศ แต่อาศัยพลังงานจากธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำความเย็นและฟอกอากาศที่ดีที่สุด

…การออกแบบบ้านพักและร้านอาหาร ผมจะเน้นเรื่องการถ่ายเทอากาศให้รู้สึกสบาย ๆ ฝ้าเพดานและผนังจะใช้วัสดุที่มีแผ่นฉนวนกันความร้อนไม่ให้เข้ามาในอาคาร ตัวบ้านพักจะเป็นวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วนำมาใช้ซํ้า ส่วนร้านกาแฟนอกเหนือจากโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว ส่วนอื่น ๆ ก็เป็นวัสดุเหลือใช้ แต่น่าเสียดายที่ผมประเมินกระเบื้องว่าวที่ใช้มุงหลังคาผิด คิดว่าไม่พอ เลยต้องใช้ของใหม่ แต่เป้าหมายจริงอยากจะใช้ของเก่ามากกว่า…

อีกปัญหาหนึ่งของกิจการที่ให้บริการคือขยะ คุณเป็ดให้ความสำคัญแก่การจัดการขยะมาก โดยแบ่งการจัดการขยะเป็น 3 กลุ่ม คือ

01

ขยะมีพิษ อาทิ หลอดไฟฟ้า สายไฟฟ้า จะส่งให้แก่ทางเทศบาลนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง
02

ขยะพลาสติก ก่อนนำไปเผาทำลาย จะต้องผ่านการคัดแยกพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลได้ออกมาก่อน ที่เหลือจึงจะเผาทำลายในเตาเผาที่อยู่ในบริเวณของก่องกานท์เอง
03

ขยะเศษอาหาร ขยะเศษอาหาร ทั่วไปจะนำไปเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ส่วนเศษอาหารที่มีรสจัดจะนำไปหมักให้กลายเป็นดินแล้วนำมาใช้ประโยชน์ในสวน

พื้นที่ในเขตจังหวัดราชบุรีมักจะประสบปัญหาขาดนํ้าในหน้าแล้ง คุณเป็ด จึงใช้วิชาความรู้ทางวิศวกรรมปรับปรุงระบบการบริหารจัดการนํ้าเพื่อการบริโภคและเพื่อการเกษตร มีทั้งการขุดบ่อนํ้าเพิ่มเติม สร้างถังเก็บนํ้า และใช้นํ้าอย่างประหยัดและรู้คุณค่า

…ในสวนผักผมใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการปั๊มนํ้าขึ้นมาใช้รดนํ้าผักและอุปโภคบริโภคด้วย แต่สัดส่วนยังน้อยเพราะลงทุนสูง แต่คิดว่าอนาคตคงใช้มากขึ้น…

กายาฟู้ด

กายาฟู้ด” เป็นโรงงานแปรรูปพืชผักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกองกานท์ คาเฟ่ และฟาร์มสเตย์ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การดำเนินการต้องเลื่อนออกไป คาดว่าเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติก็จะเริ่มดำเนินการได้ นอกจากจะแปรรูปสินค้าของฟาร์มเองแล้ว ยังรับแปรรูปให้แก่กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายอีกด้วย เป็นการสร้างงานให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คงจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจแน่นอน

นอกจากพื้นที่ที่เป็นบ้านพัก ร้านอาหาร และสวนผักผลไม้แล้ว คุณเป็ดได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีกแปลงหนึ่ง เป็นพื้นที่ติดกับอ่างเก็บนํ้าวังปลาช่อน มีทิวทัศน์สวยงามมาก บริเวณโดยรอบเป็นสวนผลไม้ มีทั้งเงาะ ลำไย ทุเรียน และได้เปิดพื้นที่ให้กางเต็นท์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการพักผ่อนแบบใกล้ชิดกับธรรมชาติ หรือถ้ามาเป็นกลุ่มต้องการความเป็นส่วนตัวมาก ๆ ก็จะมีบ้านพักไว้บริการเช่นกัน

ชีวิตปัจจุบันของ คุณเป็ด อาจจะน่าอิจฉาสำหรับหลาย ๆ คนที่ได้ทำตามความฝันสำเร็จ ได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศดี ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ คุณเป็ดบอกว่าต้องฝ่าฟันไม่น้อย ใช้ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ ดังนั้น ใครที่คิดว่าในอนาคตจะมาทำเกษตร ขอยํ้าเลยว่า ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ต้องมีรายได้ทางอื่นด้วย เพราะรายได้จากกิจการเช่นนี้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายแน่นอน

…หากพี่ ๆ น้อง ๆ สนใจทำการเกษตรแบบผมที่ไม่มีการใช้สารเคมี ทำให้พืชเป็น “พืชแข็งแรง” ผมยินดีมากที่จะถ่ายทอดบทเรียนของการที่จะมาเริ่มต้นชีวิตในชนบทให้แก่ทุกคน หรือใครอยากมาเที่ยวพักผ่อนที่ก่องกานท์ คาเฟ่ & ฟาร์มสเตย์ ก็ยินดีต้อนรับเช่นกัน มีกิจกรรมหลายอย่างที่ร่วมทำกันได้ทั้งครอบครัว ขับรถจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง 2 ชั่วโมง สนใจเรื่องไหนผมยินดีนำชม หวังว่าจะได้ต้อนรับพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวอินทาเนียทุกคนครับ หรือใครที่อยู่ใกล้หรือไปเที่ยวเชียงใหม่ก็มีวิศวกรที่ทำเกษตรแนวเดียวกับผมคือ อาจารย์ชินวร ชวสินธุ์วศ.2539 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวอินทาเนียท่านใดสนใจ สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้เช่นกันครับ…


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save