ก่อนกล้าจะโต…แกร่ง


ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว

บทกลอนเปรียบเปรยชีวิตบัณฑิตจบใหม่ที่โด่งดังของคุณวิทยากร เชียงกูล ซึ่งพอจะตีความหมายได้ว่า เรียนจบแล้วไม่ได้อะไร นอกจากกระดาษ (ใบปริญญาบัตร) เพียงแผ่นเดียว

ใครที่เคยได้ยินหรือรู้จักบทกลอนนี้ หลายคนอาจชื่นชมและชื่นชอบ เพราะรู้สึกว่า ช่างกระทบกระเทียบได้ถูกอกถูกใจเหลือเกิน… แต่ถ้าเติบโตผ่านกาลเวลามา 50 ปี อย่างพวกเรา จะรู้ว่าอาจต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิศวฯ จุฬาฯ ฝันให้ไกล ต้องไปให้ถึง

สำหรับชีวิตนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ คงไม่มีอะไรกดดันไปกว่า “เรียนจบแล้วจะไปเรียนต่อคณะอะไร ที่มหาวิทยาลัยไหน” เพราะนั่นหมายถึงความภาคภูมิใจของพ่อแม่และหลักประกันอนาคต

โดยเฉพาะเมื่อ 50 ปี ก่อนที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง คณะที่เปิดสอนยังไม่หลากหลายเหมือนทุกวันนี้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐจึงถือเป็นเรื่องที่ยากและแสนท้าทาย มีอัตราการแข่งขันสูงลิบ และผู้ที่จะพิชิตชัยในสมรภูมิสุดโหดนี้ได้ก็ต้องเป็นเด็กที่เรียนดีมากในระดับแถวหน้าของโรงเรียน

นิสิต จุฬาฯ

แค่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ก็นับว่าเก่งมากแล้ว ยิ่งเป็นคณะที่มีคะแนนสูง ๆ โดยเฉพาะคณะยอดนิยมตลอดกาลอย่างคณะแพทยศาสตร์ หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ และแถมยังเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยแล้ว แทบไม่ต้องบอกเลยว่าพ่อแม่ ญาติพี่น้อง วงศาคณาญาติ และเจ้าตัวเองจะมีความภาคภูมิใจมากมายขนาดไหน เพราะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากโดยไม่อายใครว่าลูกหลานของเราเก่ง “ระดับหัวกะทิของประเทศ

นิสิต จุฬาฯ

นึกย้อนกลับไป ยังแทบไม่อยากเชื่อว่า “เราทำได้” ทั้งภูมิใจ ดีใจ และรู้สึกโชคดีที่สุดที่ได้เข้ามาเรียนในคณะนี้ เพราะไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า นอกจากพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าแล้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืออีกหนึ่งผู้มีพระคุณสูงสุดที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดัน หล่อหลอม เจียระไน ให้เราเติบโตอย่างเข้มแข็ง สง่างาม “เป็นเรา” ที่องอาจและภาคภูมิอย่างทุกวันนี้

นาทีที่ยิ่งใหญ่…ก้าวแรกในจุฬาฯ

มองย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน แม้ภาพความทรงจำหลายอย่างเริ่มจะลางเลือน แต่ความรู้สึกในวันนั้น วันที่ก้าวเข้ามาในรั้วจุฬาฯ ในฐานะ “นิสิตใหม่” ยังฝังแน่นอยู่ในความทรงจำ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่างกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกินในความรู้สึกของพวกเรา จนรู้สึกเหมือนตัวหดเหลือนิดเดียว ตัวตึกเรียน หอประชุม สนามหญ้า ล้วนแต่ดูงดงาม เข้มขลัง น่าเกรงขาม โดยเฉพาะหลังคาตึกเทวาลัยที่เป็นเอกลักษณ์ของจุฬาฯ ปราสาทแดงที่เคร่งขรึม รายล้อมด้วยต้นจามจุรีที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความสงบร่มเย็น

องค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นจุฬาฯ ทั้งสถานที่ ประวัติการก่อตั้ง สัญลักษณ์พระเกี้ยวน้อยที่ประดับอยู่บนชุดนิสิตของพวกเรา ล้วนแต่งามสง่า น่าภาคภูมิใจ
แม้ความยิ่งใหญ่ของจุฬาฯ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนตัวหดเหลือนิดเดียว แต่ในร่างกายที่เหมือนหดเล็กลงนั้น หัวใจกลับคับพอง

วันนั้นเป็นวันที่เด็กจากทั่วทุกสารทิศเกือบ 400 ชีวิตที่อาจจะเคยทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขันกันมาแต่ชาติปางไหน โคจรมาพบกันครั้งแรก บางคนอาจเลือกมาเรียนที่นี่เพราะชอบคิดคำนวณ บ้างชอบเครื่องยนต์กลไก บ้างก็เลือกเรียนเพราะเป็นค่านิยมในยุคนั้นว่า คนเรียนเก่ง เรียนดี ต้องสอบเข้าที่นี่ได้ บ้างก็หวังว่าการเข้าเรียนวิศวฯ จุฬาฯ จะเปลี่ยนชีวิต เพราะเป็นเครื่องการันตีอนาคตได้ว่าจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคง รายได้ดี มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังเรียนจบ หรือบางคนอาจไม่ได้มีความชอบหรือความใฝ่ฝันใด ๆ เลย แต่เลือกเรียนเพียงเพราะอยากตามใจพ่อแม่ หรือเรียนตามญาติพี่น้อง แต่ไม่ว่าทุกคนจะเลือกเรียนด้วยเหตุผลอะไร สุดท้ายเราก็ได้มาลงเรือลำเดียวกัน

แต่ก่อนที่จะซาบซึ้งกับมหาวิทยาลัยและภาคภูมิใจในตัวเองไปมากกว่านี้ เราก็ถูกเบรกอารมณ์อย่างกะทันหันด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่

เพียงแค่เท้าก้าวเหยียบเข้าไปในเขตคณะ รุ่นพี่ก็เข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังกวาดต้อน เอ๊ย… ต้อนรับเราให้ไปรวมกันที่ใต้ถุนศาลาพระเกี้ยว และกล่าวโอวาทต้อนรับด้วยเสียงอันชวนขวัญหนีดีฝ่อ เหมือนจะเป็นการตัดไม้ข่มนามว่า “เข้ามาเรียนที่นี่ อย่าริอ่านแข็งข้อกับรุ่นพี่” พวกเราถูกรับน้องอย่างอบอุ่น (จนร้อน ๆ หนาว ๆ) ตั้งแต่วันแรกที่มารายงานตัวเลยทีเดียว

และในวันนี้เช่นกัน เราก็ได้รู้จักกับท่านอาจารย์ที่น่าเคารพรักที่สุดท่านหนึ่งในชีวิตการเป็นนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ นั่นคือ ท่านศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ ที่ออกมาทักทายนิสิตใหม่อย่างพวกเรา และให้โอวาทเตือนสติพวกเราว่า…

“อย่าเพิ่งภาคภูมิใจมากจนเกินไปที่สอบเข้าติดที่วิศวฯ จุฬาฯ ที่สำคัญกว่านี้คือ ต้องเรียนให้จบเพื่อไปทำตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม และที่สำคัญต้องไม่ทำตัวให้เป็นภาระสังคม”

โอวาทของอาจารย์ในวันนั้น… เรายังจำได้แม่นยำจนถึงวันนี้


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ เรื่องเล่าชาวอินทาเนีย คัดลอกจากหนังสือ 50 ปี วิศวจุฬาฯ 2511


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save