ศาสตราภิชานพูลพร แสงบางปลา วศ.2500 นายกสมาคมวิศวกรหญิงไทยคนแรก

ศาสตราภิชานพูลพร แสงบางปลา วศ.2500 นายกสมาคมวิศวกรหญิงไทยคนแรก


ความเป็นมาของสมาคมวิศวกรหญิงไทย วิศวกรหญิงปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สมัยก่อนมีจำนวนน้อยมาก เริ่มจากรุ่นละ 1-2 คน 4-5 คน บางรุ่นไม่มีเลย ภายใน 40 ปีมีไม่ถึง 20 คน ก็เจอกันง่ายไม่ได้ทำเป็นสมาคม แต่ปัจจุบันเฉพาะจุฬาฯ มีมากกว่า 300 คน และยังมีจากสถาบันการศึกษาอื่นอีกด้วย จึงคิดว่าควรจะรวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะที่ต่างประเทศเขาก็มีสมาคมวิศวกรหญิงเกือบทุกประเทศแล้ว

เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1960 เช่น ที่อเมริกา อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น แม้แต่ที่อิหร่านก็ยังมี แต่ไทยเรายังไม่มี ทุกปีเขาจะมีการจัดประชุมนานาชาติ เพื่อนำวิศวกรหญิงจากทั่วโลกมาพูดถึงปัญหาของวิศวกรหญิงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เขาก็เชิญมาที่ประเทศไทยด้วยแม้เราจะไม่มีสมาคมก็ตาม

เมื่อ 12 ปีก่อน เราตั้งเป็นชมรมวิศวกรหญิงและช่วยกันทำงานโดยใช้เงินบริจาคกันเอง เช่น จัดไปดูงาน จัดสัมมนา ให้ความรู้เพื่อช่วยเหลือวิศวกรหญิงที่กำลังเรียนอยู่ และวิศวกรหญิงที่จบไปแล้ว ชมรมได้ไปเข้าร่วมประชุมนานาชาติ วิศวกรหญิงบ้างเป็นครั้งคราว แต่เมื่อเป็นสมาคมแล้วก็จะเข้าร่วมมีบทบาทอย่างเป็นทางการมากขึ้น โดยจะมีผู้รับผิดชอบอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ไทยเราน้อยหน้าชาติอื่น ๆ

สมาคมวิศวกรหญิงไทย

วัตถุประสงค์

สมาคมวิศวกรหญิงไทย (Thai Women Engineers Association : TWEA) ได้จดทะเบียนกับนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร กรมการปกครอง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี
  2. ส่งเสริมวิศวกรหญิงให้มีบทบาทด้านงาน วิศวกรรมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
  3. ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือวิศวกรหญิง ในด้านวิชาชีพและด้านสังคม
  4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ด้านวิชาชีพวิศวกรรมกับวิศวกรหญิง ต่างประเทศ
  5. จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคมและ สาธารณประโยชน์
  6. สมาคมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

สมาคมฯ ตั้งอยู่ ณ ตึกวิศวกรรมยานยนต์ชั้น 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขที่ 254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความอนุเคราะห์สถานที่ฟรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

สมาคมวิศวกรหญิงไทย

กิจกรรมที่วางแผนไว้

  1. กิจกรรมหลักที่สมาคมวางแผนไว้มีดังนี้ จะนัดประชุมปีละ 6 ครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง ปัจจุบัน มีวิศวกรหญิงเป็นสมาชิกแล้วราว 30 คน ค่าสมาชิกปีละ 100 บาท เป็นค่าแรกเข้าเพื่อทำบัตร หลังจากนั้น อาจบริจาคเพิ่มได้ตามสมัครใจ มีรุ่นพี่บริจาคไว้แล้ว ราว 2 แสนบาท เพื่อจัดกิจกรรมฟรี เช่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยรุ่นพี่จะมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับนิสิตอาจช่วยแก้ปัญหาไม่มีเงิน ไม่สบาย มีปัญหาการเรียน เมื่อจบแล้วอยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการงาน เช่น มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าที่เป็นผู้ชาย
  2. จะช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของวิศวกรหญิง ซึ่งตอนเรียนอาจเหมือนผู้ชาย แต่เมื่อจบแล้วก็ต้องรู้จักแต่งตัวให้สวยงามแบบผู้หญิงบ้าง เช่น แต่งหน้า ทาปาก ใส่ส้นสูง มีมารยาทเรียบร้อยชวนมองได้ด้วย คือจะให้เราทั้งแกร่ง เก่ง และสวย
  3. จะทำงานเพื่อสังคม เช่น ช่วยตอนน้ำท่วม บริจาคของใช้ ให้ทุนการศึกษาตามโรงเรียน บริจาคเพื่อซ่อมแซมและสร้างวัด
  4. จะไปตามโรงเรียนเพื่อแนะแนวตามโรงเรียนมัธยม ให้เด็กผู้หญิงที่จะจบมาเรียนวิศวฯ มากขึ้น แต่ก็มีน้อย และอาจารย์ผู้สอนก็ไม่ค่อยสนใจ เด็กก็กลัวไม่อยากมาเรียน กลัวเจอแต่ผู้ชาย เพราะเดิมมีแต่สาขาหนัก ๆ เช่น โยธา ไฟฟ้า เครื่องกล แต่ปัจจุบันมีหลายสาขา เช่น คอมพิวเตอร์ เคมี สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้หญิงทำได้ดีกว่า เพราะเราอดทนกว่าผู้ชาย ก็จะมีผู้หญิงสนใจมาเรียนวิศวฯ เพิ่มขึ้น
  5. จะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างให้มากขึ้น เช่น การจัดทำ Website, Facebook : TWEA by WE Thai

เรียนวิศวฯ

ข้อแนะนำส่งท้าย

ถึงแม้จะไม่เป็นวิศวกรหญิงก็มาเป็นสมาชิกสมทบของสมาคมได้ ผู้ชายก็มาได้ เราจะจัดสัมมนาเรื่องต่าง ๆ ที่อาจสนใจก็มาร่วมด้วยได้ เราไม่ขัดข้อง เช่น เรามีวิศวกรหญิงที่ทำงานกับนาซ่า ทำงานบนแท่นขุดเจาะ ทำวิจัยจนได้รับ สิทธิบัตร ซึ่งก็เคยมาบรรยายในงานสัมมนาที่จัดไปแล้ว ล่าสุดมีการสาธิตการนุ่งผ้าไทยแบบต่าง ๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมาก

ศาสตราภิชานพูลพร แสงบางปลา

สุดท้ายอาจารย์ยังเล่าให้ฟังถึงการวางตัวในฐานะที่เป็นนิสิตหญิงคนเดียวในคณะวิศวฯ จุฬาฯ รุ่นบุกเบิกเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้วว่า …

เราจะไม่นึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงเลย เวลาผู้ชายเฮทำอะไรเราก็เฮทำด้วย เช่น เขาเตะตะกร้อเราก็ร่วมด้วย เวลาเรียนเราไม่สบาย มีปัญหาเรื่องเฉพาะของผู้หญิง พวกผู้ชายก็ไม่ร่วมรับรู้ เราก็ต้องทำตัว เข้มแข็งแบบผู้ชายตลอด แต่ปัจจุบันอาจารย์กลายเป็นผู้หญิงไทยนุ่งผ้าถุงตามรอยยอดนิยม เพราะขาหักจึงนุ่งแต่กระโปรงยาวแล้วกลายมาเป็นนุ่งผ้าถุงไทยจนทุกวันนี้ และยังได้รับรางวัลในฐานะกุลสตรีไทยดีเด่นมาแล้วด้วย แต่อาจารย์ยํ้าว่า วิศวกรหญิงควรแต่งตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ เช่น จะต้องไปปีนป่ายตรวจงานก็ควรนุ่งกางเกงให้รัดกุม แต่เวลาออกงานก็นุ่งผ้าถุงสวยแบบไทยได้ด้วย

วิศวฯ จุฬาฯ

สรุปว่าวิศวกรหญิงไทยเราควรเตรียมตัวให้ เก่ง สวย รวย ดี นะออเจ้า….

ถึงแม้สมาคมวิศวกรหญิงไทยเพิ่งจะเริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน แต่ด้วยความตั้งใจและทุ่มเทของกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง ก็เชื่อมั่นได้ว่าสมาคมฯ จะเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2561 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save