สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ วศ.2520 นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วาระปี พ.ศ. 2561-2562

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ วศ.2520 นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วาระปี พ.ศ. 2561-2562


สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประวัติการก่อตั้งมายาวนานกว่า 39 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ซึ่ง ในขณะนั้นยังเป็นชมรมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ เป็นประธานชมรม คนแรก จากนั้นชมรมก็ได้เปลี่ยนเป็นสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเป็นคนแรก

สมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ เติบโตแข็งแรงขึ้นตามลำดับ โดยมีคณะกรรมการสมาคมฯ ปรับเปลี่ยนหมุนเวียนอาสาเข้ามาบริหาร สมาคมฯ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาสมาคมฯ ให้เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่น เป็นศูนย์กลางของนิสิตเก่าคณะวิศวฯ จุฬาฯ ทุกคน และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ตำแหน่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญคือ นายกสมาคมฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการสมาคมฯ ที่เลือกโดยสมาชิก นายกสมาคมฯ และ คณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ จะมีวาระการทำงาน 2 ปี

ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาชิกได้เลือกคณะกรรมการชุดใหม่แทนชุดเดิมที่ทำงานจนครบวาระภายใต้การนำของ สรัญ รังคสิริ วศ.2518 นายกสมาคมฯ เพื่อเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งเพื่อให้การบริหารสมาคมฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผลจากการเลือกตั้งดังกล่าว ปรากฏว่า สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ วศ.2520 ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ถือเป็น นายกสมาคมสมัยที่ 18 ของสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2560

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ วศ.2520 จบการศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี เป็นบุคคลที่นิสิตเก่าคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเพิ่งได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น “วิศวจุฬาดีเด่น ครั้งที่ 15 ประจำปี 2560” เมื่อปลายปีที่ผ่านมานี่เอง จึงเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า สุพัฒนพงษ์ เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และพร้อมทำงานเพื่อพัฒนาสมาคมฯ ให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ปัจจุบัน สุพัฒนพงษ์ ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรชั้นนำของประเทศ ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ครบวงจร ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ASEAN มีคุณภาพการบริหารงานและมาตรฐานระดับโลก ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจและคุณภาพชีวิตคนไทย ให้ความสำคัญแก่ความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อยอดไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ความรู้สึกในการได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ

ผมรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญ และความรับผิดชอบของนิสิตเก่าคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสกลับมาช่วยและตอบแทนคณะวิศวกรรมศาสตร์ของเรา ผมระลึกอยู่เสมอว่า คณะฯ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จใน อาชีพ และมีความมั่นคงมาถึงทุกวันนี้ และจะใช้ความพยายาม มุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างเต็มที่ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ให้บรรลุเป้าประสงค์

แผนการทำงานและโครงการที่จะดำเนินการในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ

แผนการทำงานจะยึดหลักสานต่อโครงการดี ๆ จากคณะกรรมการ ชุดเดิม โดยมุ่งมั่นที่จะขยายผลกิจกรรมดี ๆ ของสมาคม คณะ และนิสิตปัจจุบันให้เข้าถึงเครือข่ายนิสิตเก่าให้มากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกที่สมัครมาแล้วประมาณ 3,000 คน ซึ่งคิดเป็นเพียง 10% เท่านั้นของนิสิตเก่าทั้งหมด ยังมีนิสิตเก่าอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าร่วมหรือรับทราบกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมฯ จึงเห็นว่า ประธานรุ่นจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญและเข้มแข็งที่สามารถช่วยสื่อสารให้เข้าถึงนิสิตเก่าได้มากขึ้น

สำหรับโครงการใหม่ ๆ ที่จะดำเนินการเพิ่มนั้น จะเน้นให้เข้าถึงทั้ง 3 ภาคส่วน คือ นิสิตปัจจุบันและคณะ-นิสิตเก่า-สังคม เช่น โครงการ Mentorship Program ที่จะเน้นการแบ่งปันประสบการณ์ ทัศนคติในการทำงานจาก “รุ่นพี่นิสิตเก่า” เพื่อเตรียมความพร้อมของ “รุ่นน้องนิสิตปัจจุบัน” สำหรับการเริ่มต้นเข้าสู่โลก การทำงาน ชีวิตจริงในอุตสาหกรรมตามสาขาวิชาวิศวกรรมแต่ละสาขา
โครงการ Field Trip ที่จะเป็นการสร้างประสบการณ์ทัศนศึกษาให้แก่อาจารย์และนิสิตตามสาขาแต่ละสาขาของอุตสาหกรรรม อาทิเช่น เทคโนโลยีดิจิทัล ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สื่อสารและโทรคมนาคม การจัดเวทีเสวนาต่าง ๆ จะเน้นหัวข้อเสวนาที่เป็นที่สนใจของภาคสังคม

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสานต่อโครงการจากคณะกรรมการ ชุดเดิมหรือโครงการใหม่ ๆ ก็ตามจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสมาคมฯ สามารถเข้าถึงจำนวนสมาชิกได้มากขึ้นและได้รับการตอบรับเข้าร่วมจากนิสิตเก่าสูงขึ้น

โครงการที่จะสานต่อจากคณะกรรมการชุดเดิม

โครงการจากคณะกรรมการชุดเดิม ไม่ว่าจะเป็นงานสมาชิกสัมพันธ์ งานวิชาการหรืองานหารายได้ซึ่งเป็นโครงการที่ดีอยู่แล้วจะดำเนินการต่อ สิ่งที่เพิ่มเติมคือการสร้างเครือข่ายให้มากขึ้นเพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมฯ เข้าถึงสมาชิกนิสิตเก่าได้มากขึ้น รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วม ตลอดจนการได้รับความคิดเห็นจากสมาชิกมากขึ้น กล่าวคือ เน้นการเป็น Two-Way Communication ให้มากขึ้นเพื่อได้รับความคิดเห็นดี ๆ ในการพัฒนาสมาคมฯ ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปนั่นเอง

สิ่งที่จะฝากถึงสมาชิกสมาคมฯ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน

ผมอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของความเข้มแข็งของเครือข่ายสมาชิกสมาคม นิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านวิศวกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศและมีจำนวนนิสิตเก่าที่จบการศึกษาไปแล้วมากกว่า 30,000 คน ทำงานในทุกสาขาอาชีพวิศวกรรม และเป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจและห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของประเทศ
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทุกมิติ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีวิศวกรรม รูปแบบการทำธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นเดียวกัน การที่จะเข้าใจผลกระทบในเรื่องใหม่นี้อย่างลึกซึ้งและนำไป ปรับใช้ได้ ต้องช่วยกันแบ่งปันความรู้และช่วยกันระดมความคิดอย่างรอบคอบ ทำกัน คนเดียว เก่งคนเดียวแบบเดิม ๆ ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเรา จะต้องร่วมมือกับสมาคมในกิจกรรมดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่าย นิสิตเก่า คณะ และนิสิตปัจจุบัน ตลอดจนให้แก่ประเทศเพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

อินทาเนีย วศ.2520

หลักการทำงานที่ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด

ระยะเวลา 2 ปีของวาระการทำงาน เป็นระยะเวลาที่ไม่ยาว การทำงานจึงต้องมี เป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้ มีความท้าทายและเป็นที่เข้าใจตรงกัน เมื่อลงมือทำ ต้องทำจริงจัง ทำกันเป็นทีม ไว้วางใจและรับฟังซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกของสมาคม เพื่อใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการทำงานของสมาคมให้ดียิ่งขึ้น

จากความมุ่งมั่นตั้งใจดังกล่าวจึงเชื่อมั่นได้ว่า สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพัฒนาขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เป็นปึกแผ่น และสามารถดำเนินกิจกรรมทุกอย่างได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2561 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save