174 ครั้ง ...การได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ส่งผลที่ดี ๆ แก่ตัวเองด้วย

174 ครั้ง …การได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ส่งผลที่ดี ๆ แก่ตัวเองด้วย


เปลี่ยน สกุลสุพิชญ์ วศ. 2517

ผมเข้าเป็นน้องใหม่ที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ครั้งนั้นคณะจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตในมหาวิทยาลัยโดยทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจัดหน่วยเคลื่อนที่ไปรับบริจาคที่ห้องประชุมของคณะ ปีละ 2 ครั้ง ภาคเรียนละ 1 ครั้ง ผมก็เข้าร่วมบริจาคเป็นครั้งแรกที่นี่เมื่อปี พ.ศ.2517 แต่จำวันที่ไม่ได้เพราะค้นหาบัตรผู้บริจาคโลหิตใบแรกไม่เจอ… จากนั้นก็ได้บริจาคโลหิตเรื่อยมา ทั้งในคณะวิศวฯ หรือตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่รุ่นพี่และเพื่อนบางคนให้ช่วยไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือญาติที่เจ็บป่วย

ตอนนั้นผมคิดเพียงว่าเป็นการทำบุญช่วยเหลือผู้ป่วยโดยที่เราไม่ต้องเสียเงิน ภายหลังจึงรู้ว่าการบริจาคเลือด ยังมีประโยชน์ต่อตัวของผู้บริจาคเองด้วย เนื่องจากการบริจาคเลือดช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกให้สร้างเม็ดโลหิตใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพมาหมุนเวียนใช้บำรุงร่างกาย เป็นการเปลี่ยนถ่ายเลือดเก่า เลือดใหม่ได้อย่างมีประโยชน์ และปลอดภัยที่สุด ส่งผลให้เลือดใหม่ที่ไปหล่อเลี้ยงตามร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใสยิ่งขึ้น

บริจาคโลหิต

เมื่อเราตั้งใจจะบริจาคเลือดเป็นประจำ แล้ว ก็ต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา ต้องระวังเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน ไม่เครียด เลยทำให้เรากลายเป็นคนที่มีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้ายอย่างมะเร็งน้อยกว่าคนที่ไม่เคยบริจาคเลือดด้วย

แน่นอนว่า เมื่อเราได้ทำอะไรดี ๆ เพื่อคนอื่น ย่อมมีความสุขใจ อิ่มเอมใจ ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจของเราเอง ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้ทำอะไรดี ๆ เพื่อสังคม ทำให้มีสุขภาพจิตดีตามไปด้วย

นอกจากนั้น ทางสภากาชาดไทยยังได้มอบเหรียญที่ระลึกในโอกาสที่บริจาคครบตามกำหนด เช่น เข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต 1, 7, 16, 24, 36, 48, 60, 72, 84, 96, 108 ครั้ง และเหรียญกาชาดสมนาคุณ 50 ครั้ง 75 ครั้ง 100 ครั้ง เป็นต้น ส่วนใหญ่ผมได้รับเข็มที่ระลึกจากเจ้าหน้าที่ ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ

วันที่ 25 มิถุนายน 2546
ผมได้ไปรับเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 (ครบ 100 ครั้ง) จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 19 สิงหาคม 2547
ผมได้ไปรับเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตครบ 108 ครั้งจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งเป็นเหรียญสุดท้ายที่มีการมอบให้ผู้บริจาคโลหิต

บริจาคโลหิต

ตอนที่ยังเรียนอยู่ที่คณะวิศวฯ ผมเคยไปบริจาคโลหิตที่โรงพยาบาลที่รุ่นพี่คนหนึ่งให้ช่วยไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือญาติที่เจ็บป่วย เมื่อทำงานแล้วเพื่อนคนหนึ่งเคยให้ไปบริจาคที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยเหลือญาติที่เจ็บป่วยเช่นกัน การได้บริจาคในกรณีฉุกเฉินเช่นนี้ ทำให้รู้สึกว่าโลหิตของเราได้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง รับรู้ได้ทันที

ถึงแม้การบริจาคของเราจะไม่ใช่การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยตรง เพราะโลหิตของเราคงไม่ได้เป็นหมู่โลหิตเดียวกับผู้ป่วย และกว่าโลหิตของเราจะถูกนำไปใช้ได้ ก็ต้องผ่านกรรมวิธีหลายอย่างใช้เวลาหลายวัน ไม่สามารถนำไปใช้ทันทีได้ แต่เป็นการช่วยโรงพยาบาลให้หาโลหิตมาทดแทนโลหิตที่โรงพยาบาลเบิกจากศูนย์บริการโลหิตไปใช้ได้ เพราะจนถึงเวลานี้โลหิตก็ยังคงขาดแคลน ไม่เพียงพอกับผู้ป่วย เนื่องจากจำนวนผู้บริจาคโลหิตยังมีไม่มากพอ

ปกติ ผมบริจาคโลหิตทุก 3 เดือนอยู่แล้ว แทบไม่มีโอกาสที่จะไปบริจาคให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นญาติกับคนที่เรารู้จัก เพราะเราก็ไม่รู้ว่าญาติของใครจะป่วยเมื่อไร จะตรงกับเวลาที่เรานัดบริจาคหรือไม่ เพราะฉะนั้น เราจึงควรบริจาคโลหิตเป็นประจำ เพื่อให้มีโลหิตเพียงพอต่อผู้ป่วยในทุกกรณี

จนถึงตอนนี้ผมบริจาคไปแล้ว 174 ครั้ง แต่ผมก็ไม่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องบริจาคโลหิตให้ได้กี่ครั้ง แต่ตั้งใจว่าจะบริจาคไปจนกว่าทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะไม่รับ เดิมทีคิดว่าเขาจะไม่รับเมื่ออายุครบ 60 ปี ตอนหลังถึงได้รู้ว่าเขาให้ผู้ที่บริจาคต่อเนื่องสามารถบริจาคได้จนถึงอายุ 70 ปี เมื่อลองคำนวณดูแล้ว ถ้าอายุครบ 70 ปีผมคงบริจาคได้เกือบ 190 ครั้ง …

บริจาคโลหิต

การบริจาคโลหิตเป็นเรื่องจำเป็น เพราะปัจจุบันยังไม่มีสารประกอบใดมาทดแทนโลหิตได้ ผู้ป่วยต้องการโลหิตทุกวินาที ยิ่งในสถานการณ์ “โควิด-19” ทำให้คนมาบริจาคโลหิตน้อยลง ผมและเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันที่นัดไปบริจาคพร้อมกันทุก 3 เดือน เห็นชัดเลยว่าคนมาบริจาคน้อยกว่าช่วงเวลาปกติมาก ทำให้โลหิตที่ปกติขาดแคลนอยู่แล้ว ก็ยิ่งขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุที่ต้องการโลหิต

โอกาสนี้ ผมจึงขอเชิญชวนให้น้อง ๆ ทั้งน้องใหม่ และน้องที่กำลังเรียน รวมทั้งน้องที่ทำงานแล้วที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี พร้อมใจกันมาบริจาคโลหิตเป็นประจำทุก 3 เดือน มาร่วมกันบริจาคให้มาก ๆ จนทำให้มีโลหิตเพียงพอต่อความต้องการ โดยสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หรือหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิตในพื้นที่ต่าง ๆ และโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save