ในโลกยุค “หักศอก” หรือ Disruption นั้น ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่สร้างจากความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ประเทศคงรักษาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่าง “เหนือชั้น” กว่าประเทศอื่น ๆ
กำลังคนที่เฉลียวฉลาด ขยันหมั่นเพียร และมีปัจจัยที่เหมาะสมเพียงพอในการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมจึงเป็นดัชนีที่ใช้บ่งชี้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหนึ่ง ๆ ได้เป็นอย่างดี
เมื่อลองดูจากภาพที่ผมยกมาข้างต้นก็จะเห็นพภาพสะท้อนสิ่งที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นได้เป็นอย่างดี ดูที่ประเทศที่มีอันดับกำลังคนที่เฉลียวฉลาดและเก่งฉกาจหรือ Talent อยู่ต้น ๆ ก็มักจะเป็นประเทศที่ระดับนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในระดับสูงเช่นกัน ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ออสเตรีย ฯลฯ
ที่น่าสังเกตคือเป็นประเทศในทวีปยุโรปเป็นหลักครับ
ในฐานะสมาชิกในชาติอาเซียนเราก็ยังพอจะภูมิใจได้ว่าสิงคโปร์เพื่อนบ้านเราติดอันดับ 10 ในปีนี้ ขึ้นมาสามอันดับจากปีที่แล้ว ในขณะที่มาเลเซียคงที่ อินโดนีเซียดีขึ้นสี่อันดับ ฟิลิปปินส์ดีขึ้นหกอันดับ ในขณะที่ประเทศไทยที่รักยิ่งตกไป 1 อันดับครับ
ในชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ดูจากข้อมูลในตารางนี้เราน่าจะอยู่ในอันดับที่ 4 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยห่างจากสิงคโปร์ 33 อันดับ มาเลเซีย 19 อันดับ และอินโดนีเซีย 2 อันดับ
ท่านเจ้ากระทรวง “มเหสี” โปรดทราบนะครับว่าอันดับของเราตกจากปีที่แล้วหนึ่งอันดับ และที่ทำให้ตกลงมีสองปัจจัยหลักคือ การลงทุนและการพัฒนา และความมีเสน่ห์ดึงดูดกำลังคนที่เฉลียวฉลาดเก่งฉกาจที่ว่านี้
เมื่อกำลังคนคุณภาพสูงสู้ชาติอื่นแม้แต่เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ ยังไม่ได้ ความหวังในการที่จะพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับให้พ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ไม่สมหวังแน่นอนครับ!!
ในบทความตอนที่แล้วได้พูดถึงประเด็นการวิจัยพัฒนาหลักเพื่ออนาคตของประเทศไทยจากการสนทนากับพี่ณรงค์ รัตนะ วศ. 09 ซึ่งได้มีโอกาสสนทนากันอีกครั้งก่อนเขียนบทความตอนนี้ เลยถือโอกาสเชื่อมโยงสิ่งที่ได้คุยกันกับการไปร่วมประชุมประจำปี Science and Technology for Society Forum (STS Forum) ที่เกียวโต และ Innovation for Cool Earth Forum (ICEF) ที่โตเกียวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเลยนะครับ
งาน STS Forum เป็นงานที่ผมพยายามไปร่วมประชุมทุกปีที่มีโอกาส เพราะเป็นการติดตามความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมและอนาคตของโลก ทั้งทางด้านสุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุข พลังงาน สิ่งแวดล้อม การศึกษา การวิจัยพัฒนา การพัฒนาอุตสาหกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาจากทั่วโลกกว่า 1400 คนมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดระยะเวลา 2 วันครึ่ง
ในส่วนของ ICEF จะลงลึกทางด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยมีการจัดทำแผนที่นำทางในประเด็นเทคโนโลยีที่สำคัญ และที่น่าสนใจมากที่สุด คือ การลงคะแนนจัดลำดับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและน่าจะใช้ประโยชน์ได้ในระยะเวลาอันใกล้ 10 อันดับ โดยผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1000 คนจากทั่วโลกเช่นเดียวกันครับ
งาน STS Forum จัดต่อเนื่องมาปีละครั้งทุกต้นเดือนตุลาคมเป็นปีที่ 16 แล้วครับ ผมมีโอกาสมาร่วมแทบจะทุกครั้งและเห็นความพยายามของ Mr. Koji Omi ที่แม้จะอายุล่วงเข้า 80 ปลาย ๆ แล้ว แต่ก็ยังทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเตรียมงานล่วงหน้าด้วยการเดินทางไปประเทศหลัก ๆ ในทวีปต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน สิงคโปร์ จีน ฯลฯ เพื่อเชิญผู้บริหารระดับสูงจากทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมงาน
ในระยะสี่-ห้าปีที่ผ่านมานี้ ยังได้อาศัยการจัดการประชุม STS ย่อย 1 วันในประเทศต่าง ๆ เพื่อรณรงค์งานหลักในเดือนตุลาคมให้มีผู้มาร่วมงานมากขึ้น มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยต่าง ๆ เช่น ประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประชุมหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (Chief Technology Officer-CTO) จากบริษัทชั้นนำ ประชุมประธานบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์ ประชุมประธานบัณฑิตยสภาวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ โดยมีผู้แทนจากนานาชาติเข้าร่วมในทุกการประชุม
ด้วยการลงทุนลงแรงขนาดนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจึงเพิ่มพูนจากหลักไม่กี่ร้อยคนในครั้งแรก ๆ สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นกว่า 1400 คนในปีนี้ครับ
น่าภูมิใจ (?) ไหมครับว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยมีจำนวนมากเป็นอันดับสามรองจากญี่ปุ่นเจ้าภาพและจีน เพื่อนบ้านคู่รักทางการค้าและคู่แค้นทางภูมิรัฐศาสตร์ของญี่ปุ่นนั่นแหละครับ
คนไทยที่มางานนี้ส่วนมากก็จะมาจากองค์กรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสถาบันอุดมศึกษาครับ จากภาคเอกชนก็มักจะมาจากเครือซิเมนต์ไทยและ/หรือ บมจ.ปตท. เป็นหลัก
เวลามีใครถามว่างานนี้สำคัญอย่างไร ผมเลยมักพูดเล่น ๆ ว่าเป็นงานเปิดตัวรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยครับ… เพราะเราเปลี่ยนรัฐมนตรีท่านใหม่มาร่วมงานทุกปี…. ปี พ.ศ. 2562 นี้ก็เป็นท่าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาร่วมงานและขึ้นร่วม Panel Discussions ในเย็นวันแรกของงานด้วยครับ
การประชุมสองวันครึ่งจะมาสรุปกันในเช้าของวันสุดท้าย โดยผู้แทนนานาชาติจากวงการต่าง ๆ กัน ผมขอนำเอาบทสรุปของปีนี้มาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้ครับ
เริ่มต้นจากประเด็นด้านพลังงาน ความรุนแรงและความถี่ของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนสัญญานเตือนให้ชาวโลกต้องเร่งพัฒนาสังคมจากการใช้พลังงานฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำหรือสังคมไร้คาร์บอน…….Low to Zero Carbon Society…. แต่ไม่มีทางออกใดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากการประสมประสานแนวทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมหลายทางเลือก เช่น การประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียนและการกักเก็บพลังงาน การใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซไฮโดรเจน การประยุกต์เทคโนโลยีชีวมวลในชนบท พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อความร้อนและไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในอาคารและภาคการขนส่ง เป็นต้น
ในประเด็นด้านการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี เวชภัณฑ์เพื่อการป้องกัน และวิศวกรรมจุลชีวภาพ จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันสรุปว่า การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน โดยรูปแบบการใช้ชีวิต กล่าวคือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การเป็นสมาชิกกลุ่มที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมหรือ Connected life และการบริโภคอาหารเครื่องดื่มที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด เพราะจะช่วยชลอการชราภาพและส่งเสริมการมีสุขภาพดีในช่วงสูงวัย การป้องกันเป็นปัจจัยสำคัญเท่าเทียมกัน ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบการใช้ชีวิตตามวิถีสุขภาพตั้งแต่ช่วงอายุยังน้อยและรักษารูปแบบการใช้ชีวิตที่เหมาะสมไว้ให้ได้ AI/IOT เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตรวจติดตามสุขภาวะ ประเด็นสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ Microbiome หรือ Genome ของจุลินทรีย์ทั้งหมดที่อาศัยในร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ การทำความเข้าใจจนถึงขั้นทำแผนที่ Genome ได้จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมองกลและการใช้ Big Data จะทำให้ “เวชภัณฑ์ตรงเป้า” หรือ Precision Medicine เป็นจริงและค่าใช้จ่ายต่ำจนคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประเด็นต่อมาคือวิศวกรรมและนวัตกรรม การดำเนินตามบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสมของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในแต่ละประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมและนวัตกรรมของประเทศนั้น ๆ โดยภาครัฐต้องทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน (ผู้กำหนดความต้องการและผู้ใช้ผลลัพธ์จากการวิจัย พัฒนา วิศวกรรมและนวัตกรรม) เข้ากับบุคลากรในสถาบันการศึกษา(ซึ่งจะทำหน้าที่ในการแสวงหาและใช้องค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ให้ภาคเอกชนตลอดจนภาคสาธารณะต่าง ๆ) โดยต้องยึดประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นหลัก
แรงผลักดันให้เกิดการทำงานวิจัย พัฒนา นวัตกรรมและวิศวกรรมแบ่งได้สามประเภทหลักคือ แรงจากวิสัยทัศน์ แรงจากพันธกิจ และแรงจากความอยากรู้อยากเห็น
แรงจากวิสัยทัศน์มักจะมาจากภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมผู้ใช้งาน หรือจากภาครัฐที่มีผู้บริหารที่สายตายาวไกล เพราะจะเป็นการมุ่งเป้าหมายในระยะกลาง (3-5 ปี) จนถึงระยะยาว (มากกว่า 5-20 ปีขึ้นไป) พบได้ในประเทศที่พัฒนาทั้งหลาย ส่วนแรงจากพันธกิจมักเกิดในองค์กรวิจัยและพัฒนาภาครัฐ ในขณะที่แรงจากความอยากรู้อยากเห็นจะเกิดในสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่
แรงผลักดันทั้งสามแรงนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกันครับ ถ้าประสานให้ดีก็จะเกิดการทำงานแบบพหุภาคี ภาคเอกชน-ภาครัฐ-ภาคการศึกษา-ภาคสาธารณะ ทำให้เกิดดุลยภาพและความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้
มีการหยิบยกประเด็นความก้าวหน้าเรื่องหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ว่าเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นไม่ใช่เพื่อทดแทนคน แต่เพื่อเสริมขีดความสามารถของคนและทำให้มาตรฐานการครองชีพของคนดีขึ้น
ประเด็นสำคัญที่จะต้องทำงานร่วมกันในระดับชาติและระดับนานาชาติ คือ เรื่องของมาตรฐาน กฎเกณฑ์ การประเมินและให้ใบอนุญาตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานหุ่นยนต์ แนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลระดับชาติและระดับนานาชาติให้เพียงพอต่อการใช้งานและไม่ล่วงเกินสิทธิส่วนบุคคล แหล่งพลังงานสำหรับการทำงานกับข้อมูลจำนวนมากและปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ที่ทำงานเคียงคู่กับมนุษย์โดยอาศัยหลักวิชาที่สำคัญสามประการคือ Human Science, Cognitive Science, และ Neuro Physics
สุดท้าย จริยธรรม คือ สิ่งที่จะต้องยึดให้มั่นไว้เสมอเมื่อใดก็ตามที่มีการวิพากษ์เรื่องเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ก็ตาม
ในหัวข้อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่น่าเป็นห่วงกังวลคือ นับตั้งแต่การหยิบยกประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาพูดคุยกันในระดับนานาชาติโดยคณะผู้แทนนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ในขณะที่ประชากรโลกมีประมาณ 5200 ล้านคนนั้น ปัจจุบันประชากรเพิ่มเป็น 7500 ล้านคน (และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นกว่าหมื่นล้านคนในอีกสองถึงสามทศวรรษหน้า) แต่การใข้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มสัดส่วนจาก 12.5% ของพลังงานทั้งหมดเมื่อสามทศวรรษก่อน มาเป็นเพียง 15% เท่านั้น ผลลัพธ์ก็คือ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึง 70% ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส โดยมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 7 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100
นั่นก็หมายความว่าข้อตกลง ข้อกำหนด เป้าหมายหรือมาตรการต่าง ๆ ทั้งหลายในเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตกลงกันในระดับนานาชาติมิได้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจริงจัง
ผู้ร่วมประชุม STS Forum ในประเด็นนี้เห็นพ้องต้องกันว่าองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีอยู่แล้วค่อนข้างครบถ้วน
ที่ไม่ได้มีการลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหานั้นเพราะขาด “ความจริงใจทางการเมือง” หรือ Political Will และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สนับสนุนทรัพยากรจากประเทศที่ร่ำรวยสู่ประเทศที่ยากจนทั้งหลาย
แนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์คือภัยธรรมชาติที่มีอัตราความรุนแรงสูงขึ้นทั่วโลกทั้งไฟป่า พายุรุนแรง ฝนตกต่อเนื่อง ภัยแล้งยาวนาน การละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลก อุทกภัยที่ยาวนาน ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน อย่างรุนแรง ต้องเร่งรัดการควบคุมและการประยุกต์หรือ Mitigation and Adaptation และหากไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น จะต้องมุ่งสู่ Zero Carbon Society หรือสังคมปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีกเพียงสามทศวรรษเท่านั้น
ประเด็นต่อมา คือ ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นหัวข้อประจำต่อเนื่องในการประชุมครั้งนี้ตลอดมาตั้งแต่ครั้งแรก มีประเด็นย่อยที่น่าสนใจสามประการ คือ
1.รูปแบบการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศกำลังพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดียมีจำนวนบทความทางวิชาการตีพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เพราะระดับการศึกษาที่ดีขึ้น และมีการเสริมสร้างความร่วมมือภายในภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทวีปอาฟริกายังคงล้าหลังภูมิภาคอื่น ๆ อยู่มากในเรื่องการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในแง่นี้จีนและญี่ปุ่นได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือพัฒนาการศึกษาแนวของ STEM หรือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และ คณิตศาสตร์ให้อาฟริกาได้ยกระดับความสามารถของเยาวชนขึ้น สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ทั่วโลก คือ ปรากฏการณ์ “สมองไหล” จากประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่เหนือชั้นกว่าจึงดึงดูด “สมอง” หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไปจากภูมิลำเนาเดิม การแก้ไขต้องมุ่งให้เกิดการ “หมุนเวียนของสมอง” หรือ Brain Circulation สร้าง “สัมพันธภาพฐานวิทยาศาสตร์” หรือ Science Diplomacy ซึ่งเป็นประเด็นย่อยที่สองต่อมา
2.Science Diplomacy หรือ Science for Diplomacy คือการใช้การแบ่งปันองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (เทคโนโลยีและนวัตกรรม) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธุ์ที่ดีทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นแนวทางที่เสมือนการใช้ “พลังที่นิ่มนวล” (Soft Power) จากประเทศที่พัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีนในปัจจุบันก็เริ่มมีการใช้ยุทธวิธีนี้มากขึ้น วิธีการมีตั้งแต่การทำวิจัยร่วมและเสนอผลงานร่วมกัน การให้ทุนสนับสนุนการวิจัย การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ การบริจาคเครื่องมืออุปกรณ์ หรือการให้ทุนการศึกษา ที่ต้องระมัดระวังคือเจตนาเบื้องหลังการสร้างมิตรภาพแบบนี้จะต้องไม่ใช่เพื่อหวังผลประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศที่รับความช่วยเหลือในภายหลัง
3.นวัตกรรมทุกสิ่งอย่างล้วนมาจากประดิษฐกรรมทางวิทยาศาสตร์ แต่การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์พื้นฐานจะใช้ระยะเวลานาน และใช้งบประมาณมาก ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยพื้นฐานจนสามารถทำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์และ/หรือเชิงพาณิชย์ได้
ประเด็นถัดมาที่ยังเหลืออยู่อีกสามประเด็น คือ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคม เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการคมนาคมขนส่ง และปิดท้ายด้วยข้อคิดเห็นจากนักวิทยาศสาตร์และเทคโนโลยีรุ่นเยาว์ ตลอดจนข้อคิดจากการสนทนาซ้ำกับพี่ณรงค์ รัตนะนั้นขอยกยอดไปต่อตอนที่ 2 ในฉบับหน้านะครับ
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2562 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15