ภาษาไทย ใครว่าไม่สนุก

ภาษาไทย ใครว่าไม่สนุก ตอนที่ 2 สงครามพยัญชนะ


พยัญชนะไทยในปัจจุบันมีในตำรา 44 ตัว เรียงลำดับจาก ก (ไก่) ถึง ฮ (นกฮูก) แต่ถ้าเราไปดูที่แผงแป้นพิมพ์หรือคีย์บอร์ดของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว จะพบว่ามีเพียง 42 ตัวเท่านั้น เพราะตัว ฃ (ฃวด) และ ฅ (ฅน) ที่มีรอยหยักอยู่ข้างบนนั้นได้เลิกใช้ไปแล้วโดยปริยาย ในอดีตมี ผู้รัก (และผู้รักษ์) ภาษาไทยบางท่าน อย่างเช่น ประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนผู้มีชื่อเสียงของไทย ได้พยายามรณรงค์ให้คนไทยนำตัว ฅ (ฅน) กลับมาใช้ แต่ดูหมือนว่าความพยายามของท่านผู้นี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และเมื่อสิ้นท่านไปแล้วดูเหมือนจะไม่มีใครสานต่อเรื่องนี้อีก อย่างไรก็ตาม เมื่อราวกลางปีนี้ได้มีผู้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง โดยได้กล่าวถึงตัว ฅ นี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ กล่าวว่า ฅ แบบมีรอยหยักนี้ไม่ควรใช้ในคำว่า ฅน แต่ควรใช้เขียนคำว่า ฅอ เท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ‘ฅอคนไม่ใช่คอฅน’ บทความนี้ยังมีข้อความที่ถูกใจนายยวนอยู่ตอนหนึ่ง คือ ตอนที่ผู้เขียนบทความสันนิษฐานว่า การที่มีคนเขียนคำว่า ฅน ด้วยตัว ฅ ที่มีรอยหยักนั้นคงเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ ค แบบไม่มีรอยหยัก อย่างที่ใช้เขียนคำว่า ควาย พูดง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องการให้คนกลายเป็นควายนั่นเอง ก็น่าฟังอยู่เหมือนกัน

กลับมาเข้าเรื่องพยัญชนะ 44 ตัวต่อไป มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พยัญชนะไทยมีลักษณะพิเศษอยู่หลายประการคือ ตัว ก และตัว ธ เป็นพยัญชนะเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่ไม่มีม้วนหัว

• พยัญชนะที่ต่างกันเฉพาะการม้วนหัว (หรือไม่มีหัว) มีเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้ คือ ก-ถ-ภ, ข-ฃ, ม-ฆ, ช-ซ,ท-ฑ และ ร-ธ
• พยัญชนะที่ต่างกันเฉพาะสันบน ได้แก่ ด กับ ต และ ค กับ ฅ
• พยัญชนะที่ต่างกันเฉพาะที่หางหรือที่ฐาน มีเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้ ข-ช, ฃ-ซ, ฌ-ญ-ณ, ฎ-ฏ, บ-ป-ษ-น,ผ-ฝ, พ-ฟ-ฬ, ล-ส, จ-ฐ และ อ-ฮ

ประวัติความเป็นมาของพยัญชนะไทยที่เชื่อถือได้นั้น มีอยู่ในตำราภาษาไทยบางเล่ม (อย่างเช่นหนังสือ หลักภาษาไทย ของอาจารย์กำชัย ทองหล่อ) พอสมควรแล้ว ท่านที่สนใจโปรดไปหาอ่านเอง แต่ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือนิทานชาวบ้านฉบับคนยวน ซึ่งมีผู้แต่งขึ้นมาอธิบายถึงความคล้ายและแตกต่างกันของพยัญชนะไทยที่กล่าวถึงข้างบนนี้ว่า แต่เดิมพยัญชนะไทยมีลักษณะไม่ครบเป็น 44 ตัว ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต่อมาเกิดการทะเลาะวิวาทกัน กลายเป็นสงครามย่อย ๆ ในระหว่างพยัญชนะตัวต่าง ๆ ผลจากการต่อสู้กันด้วยอาวุธปรากฏว่า ตัว ภ บางตัวถูกฟันหัวขาด กลายเป็นตัว ก และบางตัวถูกตีหัวหักไพล่ไปอยู่ข้างในกลายเป็นตัว ถ พยัญชนะ ร บางตัวถูกตีจนหัวยืดออก กลายเป็นตัว ธ บางตัวในพวกของพยัญชนะ ข, ม, ช และ ท ถูกตีหัวแตก กลายเป็นตัว ฃ, ฆ, ซ และ ฑ ตามลำดับ พยัญชนะ ค และ ด บางตัวถูกตีสันหลังยุบ กลายเป็นตัว ฅ และ ต บางตัวในพวกพยัญชนะ ช, ป, ฝ, ฟ, ส และ ฮ ถูกฟันหรือถูกตีที่หาง ทำให้หางขาดหรือบิดงอกลายเป็นตัว ข, บ-ษ, ผ, พ-ฬ, ล และ อ ตามลำดับ บางตัวในพวกของพยัญชนะ ญ และ ฎ ได้รับความกระทบกระเทือนที่ส่วนล่าง กลายเป็นตัว ฌ-ฏ ตามลำดับ นอกจากนี้ ตัว ฐ และ ป บางตัวถูกทำร้ายทั้งที่ส่วนบนและส่วนล่างจนรูปร่างผิดเพี้ยน กลายเป็นตัว จ และ น สำหรับตัว ต นั้น ในภายหลังเมื่อแก่ตัวขึ้นก็ปรากฏว่าบางตัวขาพิการ กลายเป็นตัว ฒ ไป นิทานเรื่องนี้ ถ้าท่านไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ (หรือไม่งั้นก็จ่ายเงินสดมาเลย)

จากประสบการณ์ของนายยวน พบว่าพยัญชนะคู่ไหน ๆ ก็ไม่ดังเท่าตัว ส (เสือ) กับ ล (ลิง) ในทัศนะของคนยวนแล้ว เสือ (คือตัว ส) ก็คือลิง (หรือ ล) ที่ถูกต่อหางให้ และในทางกลับกันลิงก็คือเสือหางขาดนั่นเอง สมัยที่นายยวนยังเป็นนักเรียนอยู่นั้นเคยทำการบ้านส่งครูเช่นเดียวกับเพื่อน ๆ ร่วมชั้นเรียนคนอื่น ๆ จำได้ว่าครูมีกล่องใส่การบ้านที่ตรวจเสร็จแล้วไว้ที่หน้าห้องพักครูเพื่อให้นักเรียนไปรับการบ้านคืนโดยไม่ต้องรอพบครู บนฝากล่องนั้นครูเขียนบอกไว้ว่า “เลือกหยิบไปเฉพาะของตัวเอง” ต่อมาไม่นานก็มีนักเรียนเชื้อสายยวนคนหนึ่งไปต่อหาง ล ลิงให้กลายเป็น ส เสือ ทำให้คำสั่งของครูกลายเป็น “เสือกหยิบไปเฉพาะของตัวเอง” ครูได้พยายามสืบหานักเรียนมือบอนคนนั้น แต่ก็ไม่สามารถสืบรู้ได้ว่าเป็นใครแม้จนกระทั่งทุกวันนี้

เพื่อนของนายยวนคนหนึ่งชื่ออะไรไม่ขอบอก จะบอกแต่เพียงว่าเขามีนามสกุล สีลารัชต์ และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้านงานอาชีพ ถึงขั้นที่ได้รับเชิญให้ไปพูดในที่ชุมชนบ่อยครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง พิธีกรที่เชิญท่านขึ้นไปพูดได้อ่านนามสกุลของท่านผิดไปเป็น ลีลารัชต์ เมื่อท่านก้าวขึ้นไปพูดแนะนำชื่อแซ่ของท่าน ท่านก็เลยตัดพ้อว่า พิธีกรได้เปลี่ยนชื่อครอบครัวของท่านจากเสือไปเป็นลิงเสียแล้ว ปรากฏว่าเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้เป็นอย่างดี

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ได้มีผู้แต่งเพลงเสือกับลิงขึ้นมาร้องกันเล่นเพื่อความสนุกและส่งเสริมความสามัคคีในกลุ่มนักเชียร์กีฬา สมัยที่นายยวนยังเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง รุ่นพี่เคยติวเพลงเสือกับลิงนี้ให้ร้อง ซึ่งนายยวนยังจำได้จนกระทั่งบัดนี้ จึงขอถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้นำไปร้องเล่นบ้างโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ใด ๆ เพลงนี้ประกอบด้วยเนื้อสั้น ๆ แต่อาศัยการเปลี่ยนคำไปเรื่อย ๆ ทำให้เพลงทั้งหมดยาวเท่าไรก็ได้ เริ่มต้นเพลงดังต่อไปนี้

ลิงก็จับมือเสือ เสือก็จับมือลิง จับกันไม่เบื่อ ลิงจับมือเสือ เสือจับมือลิง

ต่อไปก็เปลี่ยนคำบางคำเสียใหม่ เพื่อให้เนื้อเพลงเปลี่ยนไปเล็กน้อย เช่น ลิงก็จับหางเสือ เสือก็จับหางลิง จับกันไม่เบื่อ ลิงจับหางเสือ เสือจับหางลิง ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ไปตามปฏิภาณของคนนำร้อง จนกว่าจะถึงตอนจบ ซึ่งจะลงท้ายด้วยคำร้องว่า

ลิงนุ่งกางเกงเสือ เสือนุ่งกางเกงลิง นุ่งกันไม่เบื่อ ลิงนุ่งกางเกงเสือ เสือนุ่งกางเกงลิง

ทีเด็ดของเพลงก็อยู่ตรงตอนท้ายสุดนี้เองแหละครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.มงคล เดชนครินทร์ (ราชบัณฑิต)

ปรับปรุงจากบทความเรื่อง “ภาษาไทยใครว่าไม่สนุก” ใน นิตยสารสาระสราญ
ปีที่ 1 ฉบับที่ 2, กันยายน พ.ศ. 2540-ปีที่ 2 ฉบับที่ 16, ธันวาคม พ.ศ. 2541


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save