กำเนิดชนชาติไทย ปฐมบทแห่งความเป็นไทย

กำเนิดชนชาติไทย ปฐมบทแห่งความเป็นไทย (ตอนที่ 1)


เกริ่นนำ

เรื่องการศึกษากำเนิดชนชาติไทย และกำหนดว่า ใครเป็นบรรพชนของชาติไทย เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด อย่างเป็นระบบที่มีแบบแผน ไม่ใช่การเชื่อใครอย่างเลื่อนลอยว่า ใครจะมาเป็นบรรพชนของชาติอย่างง่าย ๆ ได้ เพราะเรื่องบรรพชนของชาตินี้เป็นเรื่องสำคัญ และทุกชาติต่างก็มีความภาคภูมิใจในบรรพชนของตน

กำเนิดชนชาติไทย…ปฐมบทแห่งความเป็นไท
หนังสือเรื่อง “กำเนิดชนชาติไทย…ปฐมบทแห่งความเป็นไทย” เรียบเรียงโดย พระรุ่งเรือง ปภสสโร วศ.18 (ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์)

ในสมัยก่อนคนไทยเราเชื่อว่า ฝรั่งต่างชาติมีความรู้ความสามารถมากกว่าคนไทยเรา เราจึง “เชื่อตามฝรั่ง” กันเป็นส่วนใหญ่ โดยขาดการพิจารณาโดยแยบคาย เพราะเห็นว่าพวกฝรั่งนั้นมีความเจริญ แต่ความจริงแล้ว ที่ฝรั่งเจริญได้นั้นมิใช่เพราะความเป็นฝรั่งต่างชาติ แต่เป็นเพราะการมีหลักคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ จึงสามารถพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ให้มีความเจริญนั่นเอง ดังนั้น การมีหลักคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของคนในชาติให้มีความเจริญ มิใช่เชื่อตามกันมา แต่คิดไม่เป็น ดังเช่น ปัญหาของสังคมในปัจจุบัน

โดยส่วนตัวแล้ว อาตมาได้เคยเป็นผู้บริหารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติมาก่อน และได้เคยรู้จักนักวิชาการฝรั่งที่มีชื่อเสียงระดับโลก และได้เคยทำงานในองค์กรข้ามชาติขนาดใหญ่ ต้องบริหารงานกับฝรั่งและคนชาติต่าง ๆ นับหมื่นคนมาแล้ว ก็มิได้เห็นว่า พวกฝรั่งจะมีความพิเศษมากหรือฉลาดกว่ามนุษย์เราทั่วไปที่ไหน ฝรั่งก็คิดผิดได้ โดยเฉพาะถ้ามีเจตนาพิเศษแอบแฝงแล้ว ฝรั่งก็เป็นคนเจ้าเล่ห์คนหนึ่งเท่านั้นเอง ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เรารู้ทันฝรั่งเขาหรือไม่ เพราะที่ฝรั่งเขามีความเจริญนั้นก็เป็นเพราะการรู้คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มิใช่เพราะเป็นฝรั่ง คนไทยเราจึงควรที่จะเรียนรู้วิธีคิดอ่านอย่างมีหลักการวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ

ดังนั้น ในโลกปัจจุบัน เรื่องการมีข้อมูลและการมีความรู้อย่างเป็นหลักการและระบบนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ผู้ใหญ่ไทยก็ต้องเรียนรู้เพื่อจะได้สอนเด็ก ๆ ได้อย่างถูกต้องเสียที ประกอบกับปัจจุบันเมื่อโลกมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยกันอย่างกว้างขวาง ข้อมูลใหม่ ๆ จึงมีขึ้นมากมาย ดังนั้น อาตมาจึงอยากแนะนำว่า คนไทยเราสมัยใหม่ก็ควรมีความรู้ ศึกษาวิเคราะห์หาความจริงเรื่องกำเนิดชนชาติไทย มิได้ด้อยไปกว่านักวิชาการฝรั่งเศสโบราณที่ไหนหรอก

ในการศึกษาวิจัยต่าง ๆ นั้น เมื่อได้ศึกษาแล้วก็ต้องมีข้อสรุปด้วยหลักการเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้ถึงที่สุด และถ้าไม่สามารถสรุปได้ ก็ต้องบอกได้ว่า ยังขาดอะไร และต้องทำอะไรต่อให้ชัดเจน เพื่อให้หาข้อสรุปอันเป็นที่ยุติได้ ทั้งนี้ใครไม่เห็นด้วยอะไร ก็ต้องสามารถโต้แย้งด้วยหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง เรื่องกำเนิดชนชาติไทยนี้ จึงต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ อย่าปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังคั่งค้างให้ลูกหลานเราอีกต่อไป

ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงแนะนำเรื่องเมื่อฟังแล้วก็อย่าเชื่อโดยทันที แต่ต้องพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงให้ถี่ถ้วนก่อนใน กาลามสูตรความว่า

เมื่อสมณพราหมณ์มีหลายพวก หลายลัทธิต่างล้วนยกย่องลัทธิของตนและตำหนิลัทธิของผู้อื่นนั้น เราตถาคต บอกว่า

  1. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุที่ได้ฟังตาม ๆ กันมา
  2. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่า ได้ประพฤติกระทำตาม ๆ กันมา
  3. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่เล่าลือกันกระฉ่อน
  4. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่ามีกล่าวอ้างในตำราหรือคัมภีร์
  5. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่ามีเหตุผลในทางตรรกะ
  6. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่ามีการอนุมาน
  7. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่ามีการตรึกไปตามอาการ
  8. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่เข้ากับความคิดของตนเอง
  9. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่าผู้พูด หรือต้นตอของเรื่องราวน่าเชื่อถือ
  10. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุว่าผู้พูดเป็นครูของเรา

ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ประจักษ์ด้วยตนเองว่าธรรมทั้งหลายเหล่าใดเป็นอกุศล เมื่อนั้นท่านจงทิ้งธรรมเหล่านั้นเสีย และเมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล เมื่อนั้นท่านจงยอมรับเอาธรรมเหล่านั้นเถิด

นอกจากนี้ พระพุทธองค์ก็ยังทรงตำหนิเรื่องการยึดติดในความเชื่อที่เชื่อตามกันมา และไม่เปิดใจรับฟังเรียนรู้ความจริงใหม่ ๆ ด้วยใจเป็นธรรม ใน กาปฐิก-
สูตร ความว่า ในสมัยหนึ่ง พราหมณ์กาปฐิกะได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ คัมภีร์โบราณอันศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า -คำกล่าวในคัมภีร์นี่เท่านั้นคือธรรม สิ่งอื่นนอกจากนี้ล้วนเป็นอธรรม ไม่เป็นความจริง-
พระองค์จักกล่าวในเรื่องนี้อย่างไร”

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ในบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายนั้น มีบุคคลใดเพียงคนหนึ่งคนใดหรือ ที่อาจยืนยันอธิบายถึงคำกล่าวอ้างนี้ด้วยตนเองได้ว่าคำกล่าวเหล่านี้เท่านั้นคือเป็นธรรม สิ่งอื่นนอกจากนี้ล้วนเป็นอธรรม คือไม่เป็นความจริงหรือไม่”

พราหมณ์ตอบว่า “ไม่มี พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์จึงตรัสถามต่อไปว่า

“ถ้าเช่นนั้น แม้อาจารย์ของอาจารย์นั้น นับถอยหลังไปถึง 7 ชั่วคน หรือแม้กระทั่งบุคคลผู้รจนาคัมภีร์แต่ดั่งเดิม จะยืนยันอธิบายถึงการที่ตนเองได้รู้ และได้เห็นด้วยตนเองว่า นี่เท่านั้นคือธรรม สิ่งอื่นนอกจากนี้ล้วนเป็นอธรรมไม่เป็นความจริงหรือ”

พราหมณ์ตอบว่า “ไม่มี พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์จึงทรงสรุปเป็นคำสอนถึงปัญหาของการเชื่อตามกันมา โดยขาดการวิเคราะห์และพิสูจน์ในความเชื่อที่เข้าใจว่าเป็นความจริง แล้วก็อ้างกันสืบต่อมา ดังมีความว่า

“ถ้าเช่นนั้น นี่ย่อมเป็นประดุจบุรุษตาบอดยืนเรียงแถว ต่างยึดจับบุรุษที่อยู่เบื้องหน้า บุรุษคนแรกมองไม่เห็น คนที่อยู่ตอนกลางในแถวก็มองไม่เห็นแม้คนสุดท้ายก็มองไม่เห็นเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนก็เชื่อตามกันมาเป็นลำดับ เปรียบประดุจแถวของบุรุษตาบอดนั่นเอง บัณฑิตผู้กล่าวสรุปว่า นี่เท่านั้นคือธรรม สิ่งอื่นนอกจากนี้แล้วล้วนเป็นอธรรม ไม่เป็นจริงจึงไม่เป็นการสมควร บุรุษผู้ยึดติดในความเชื่อเช่นนี้ เป็นการยึดติดเป็นพันธนาการ และดูแคลนธรรมอื่น ๆ ว่าตํ่าต้อยนั้นไม่ควร”

จะเห็นได้ว่า หลักการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นการเปิดกว้างรับฟังข้อเสนอต่าง ๆ แต่เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็อย่าเพิ่งด่วนเชื่อในทันที ต้องสืบหาความเป็นจริง และพิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งเสียก่อน แล้วจึงค่อยยอมรับข้อเสนอหรือสมมุติฐานต่าง ๆ นั้นเป็นลำดับ เรื่องราวทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการกำเนิดชนชาติไทยที่ได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคมนั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกับความเชื่อในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์แล้วสังคมไทยก็เชื่อตามฝรั่งกันมา เพราะเห็นว่าเป็นพราหมณ์ผู้มีความรู้แล้วยังมีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ทั้งนี้เพราะคนไทยในยุคสมัยนั้นก็ยังมิได้มีใครเดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ เหล่านี้ และก็ไม่เคยได้อ่านบันทึกหรือจดหมายเหตุของจีนมาก่อน ดังนั้น จะทำการอันใดก็ต้องอาศัยฝรั่งเศสให้มาเป็นพราหมณ์ผู้รู้ให้มาช่วยคิดอ่านเป็นสำคัญ นอกจากนี้ สังคมไทยก็ยังไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากดังเช่นในปัจจุบันอีกด้วย แค่มีฝรั่งมาบอกว่าชนชาติไทยมาจากอัลไต ก็เชื่อกันทันที ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้กันมาก่อนว่าเทือกเขาอัลไตนั้นอยู่ที่ไหน และผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นหน้าตาอย่างไร ดูเหมือนคนที่จะมาเป็ยบรรพบุรุษไทยได้หรือไม่ ก็ไปนับถือเขาว่าเป็นบรรพบุรุษไทยไปเสียแล้ว และนี่จะเรียกว่ามีสติปัญญาได้อย่างไร ขาดทั้งสติ ขาดทั้งปัญญาอย่างสิ้นเชิง


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2564 คอลัมน์ เก็บมาฝาก โดย พระรุ่งเรือง ปภสฺสโร วศ.18


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save