พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์

พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ นิสิตเก่าคณะวิศวฯ จุฬาฯ (วศ.2487) อดีตองคมนตรี … ปูชนียบุคคลแห่งวงการวิศวกรรมไทย


เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 เวลา 07.25 น. มีข่าวหนึ่งที่สร้าง ความตกใจและเสียใจให้แก่ชาวอินทาเนียมาก นั่นคือ การประกาศข่าว การถึงแก่อสัญกรรมของ พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ อดีต องคมนตรี และท่านเป็นนิสิตเก่าคณะวิศวฯ จุฬาฯ โดยเข้าศึกษาที่ คณะวิศวฯ จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. 2487 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (อ่านเรื่องราวของท่านได้ในช่วงท้ายบทความนี้)

ท่านเป็นหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญในการก่อตั้ง ชมรมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็น สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังปัจจุบัน

นอกจากนั้น ท่านยังให้การสนับสนุนกิจกรรมของคณะวิศวฯ และ สมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ อยู่เสมอ ซึ่งนิสิตเก่ามักจะเรียกท่านด้วย ความเคารพรักและศรัทธาว่า “พี่โด่ง” ท่านเองก็ให้ความรักและเอ็นดู รุ่นน้องทุกคน และมักจะมีข้อคิดดี ๆ มอบให้แก่ทุกคนเสมอ ๆ ครั้งหนึ่ง ท่านได้ให้โอวาทแก่น้อง ๆ ของท่านว่า “…วิศวกรอยู่ที่ไหนก็คือวิศวกร … ขอให้รักษาจรรยาบรรณของการเป็นวิศวกร เพราะการทำงานของเรา เกี่ยวพันกับชีวิตของคน หากเกิดความผิดพลาดอาจจะทำให้มีคน เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก…” นับเป็นแนวทางและข้อคิดที่ชาวอินทาเนีย ทุกคนควรตะหนัก รวมทั้งนำไปเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการทำงานด้วย เมื่อ พ.ศ. 2550 ท่านได้รับการประกาศเกียริตคุณเป็น “วิศวจุฬากิตติคุณ อาวุโสดีเด่น ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2550)” ด้วย

พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2469 ณ อำเภอทุ่งคา จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน ของหลวงบริหารสิกขกิจ และ จินดา สินธวานนท์ สมรสกับท่านผู้หญิง พึงใจ สินธวานนท์ มีบุตรธิดา 3 คน

ท่านสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาได้รับการ ประดับยศว่าที่ร้อยตรีจากโรงเรียนนายทหารสารวัตร ท่านเข้าศึกษา ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2487 หลังได้รับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (ไฟฟ้า) จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ท่านได้รับทุนการศึกษา MDAP ไปศึกษาต่อต่างประเทศ สาขา Communication Officer และ Technical Instructor Course

ด้านประวัติการทำงานนั้น ท่านเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งช่าง เครื่องบิน บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ใน พ.ศ. 2491 ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับฝูงทหารอากาศ สังกัดกรมทหารสื่อสาร ท่านรับราชการสังกัด กรมทหารสื่อสารเรื่อยมาจนได้รับยศสูงสุดเป็นนาวาอากาศตรี และ ใน พ.ศ. 2503 ได้ลาออกจากราชการทหารอากาศ เพื่อเข้าทำงานที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ขณะนั้นเป็นการไฟฟ้ายันฮี) ใน ตำแหน่งนายช่างไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

การทำงานของท่านเจริญก้าวหน้าตามลำดับ จนวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ท่านได้รับการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ งผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ว่าการคนที่ 2 ของ กฟผ.

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. นั้น พลอากาศเอกกำธน ได้สนองงานในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาตลอด และด้วยอัธยาศัยไมตรี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จึงได้รับความเคารพนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชาและ ผู้ปฏิบัติงานทุกคน

ภายหลังจากเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2530 ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และพระราชทานยศพลอากาศตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เพื่อสนองงานในเบื้องพระยุคลบาท และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศพลอากาศเอกเป็นกรณีพิเศษเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550

พลอากาศเอกกำธน เคยดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ มากมาย ทั้งตำแหน่งทางสังคมและตำแหน่งในวงการวิศวกรรมของประเทศ อาทิ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการสถาบันปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานเพื่อ เตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ ประธานสถาบัน วิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE) พ.ศ. 2521- 2523 และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 สมัย ใน พ.ศ. 2533-2534 และ พ.ศ. 2535-2536

พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์

พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการ ติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริอายุ 93 ปี สร้างความอาลัยแก่ครอบครัว ญาติสนิท ผู้ที่ให้ความเคารพนับถือท่าน รวมถึงชาวอินทาเนียทุกคน

(บทความชิ้นนี้คัดลอกจากหนังสือ “ร้อยปี ร้อยจิต วิศวกรรมศาสตร์” ซึ่งจัดทำขึ้นในวาระพิเศษ ครบรอบวันสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ 100 ปี เมื่อ พ.ศ. 2556 จัดทำโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ วศ.2487

ผมเข้าเรียนที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ พ.ศ. 2487 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยประกาศหยุดการเรียนการสอน ก็ต้องไปเรียนในต่างจังหวัด ในตอนนั้นมีให้เลือกเรียน 2 คณะ คือคณะวิศวฯ กับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่กำลังเป็นที่ต้องการ ผมเลือกเรียนวิศวฯ ตอนที่เข้าเรียนปี 1 ก็เรียนหนักพอสมควร ทั้งที่เราผ่านการเรียนที่โรงรียนเตรียมมาแล้ว ตอนสอบสัมภาษณ์ต้องสอบปากเปล่า ก็ถือว่ายาก แต่ก็ผ่านมาได้ รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ

ตอนเป็นปี 1 ก็มีพี่ ๆ คอยดูแลดี รุ่นพี่ก็ไม่ได้แสดงอำนาจอะไรกับเรา แต่จะให้ความเอ็นดู การที่ได้รับความรักความเอ็นดูจากรุ่นพี่ พอเราได้เป็นรุ่นพี่บ้างเราก็ให้ความเอ็นดูแก่น้อง ๆ ดูแลน้องให้ดี ไม่ได้ข่มเหงรังแกอะไร เราโตกว่าน้อง ๆ ก็ให้ความเคารพในฐานะเป็นพี่ ให้ความสำคัญเรื่อง Seniority ที่ว่าเด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ซึ่งเป็นธรรมเนียมไทย… แม้แต่ภารโรงกวาดพื้น ถูห้อง แม่ค้าขายกล้วยแขก เราก็เรียกลุง เรียกป้า เหมือนเป็นญาติกันหมด…

เรียกว่าการเรียนยุคที่ผมเข้ามาไม่มีปัญหา ในระบบสังคมของเรา ปี 2 ก็ดูแลปี 1 แต่รุ่นพี่ปี 3 จะไม่ค่อยเข้ามายุ่งเพราะต้องตั้งใจเรียน ปี 4 ถือเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องเตรียมออกสู่สังคมแห่งการทำงาน ก็จะวางตัวเป็นผู้ใหญ่ คอยดูแลอยู่ห่าง ๆ

ตอนนั้นผมยอมรับว่าพอเข้าวิศวฯ ได้ก็เห่ออยู่พอสมควร เพราะใคร ๆ ก็บอกว่าวิศวฯ เรียนยาก ผมเองเป็นคนเรียนไม่เก่งเท่าไร เรียนแต่พอผ่าน เวลาที่เหลือก็เอาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้รู้จักสนิทสนม กับเพื่อนคณะอื่น ๆ อาจจะมีขัดแย้งกับคณะวิทยาศาสตร์บ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงอะไร เป็นการหมั่นไส้กันของเด็กหนุ่ม ๆ ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องรุนแรง เพราะรู้จักกันหมดทั้งมหาวิทยาลัย …

ส่วนการซ้อมเชียร์ก็ต้องซ้อมเสียงดัง ๆ เพราะมีแต่ผู้ชาย ก็ถือเป็นเรื่องสนุกสนาน แต่ผู้ที่เราต้องรำลึกถึงบุญคุณก็คือ อาจารย์ที่สั่งสอนพวกเรา ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ ท่านเป็นอาจารย์ที่ค่อนข้างเข้มงวด คุณหลวงอนุศาสตร์ คุณพระเจริญวิศวกรรม และอาจารย์ท่านอื่น ๆ ก็ช่วยสั่งสอนให้เรามีความรู้ ให้เราเป็นผู้ใหญ่ ให้มีความรับผิดชอบ บางคนขี้เกียจเรียนก็จะแอบบังตาครูหนีไปเที่ยวบ้างก็มี แต่ท่านก็อดทนสั่งสอนพวกเรามา…

พอขึ้นปี 2 ได้เป็นรุ่นพี่ที่ต้องดูแลน้อง ๆ เฟรชชี่ ก็ให้ความเอ็นดู โอบอ้อมอารีน้องอย่างที่เราเคยได้รับ สอนเขาในทางที่ถูกที่ควร การรับน้องก็มีดื่มน้ำสปิริตบ้าง ในพิธีรับน้องพวกรุ่นพี่ ๆ จะแบกคุณพระเจริญฯ ไปรอบ ๆ งาน พร้อม ๆ กับตะโกนว่า…
“พระเจริญวิศวกรรม เป็นหลักนำวิศวกร ช่วยชาติให้ถาวร วิศวกรจงเจริญ”

คุณพระเจริญฯ ท่านตัวใหญ่ เราก็กลัวท่านจะตก แต่ท่านก็ไม่ได้ว่ากระไร ปล่อยให้พวกเราแบกท่านไปรอบ ๆ งาน การรับน้องจะเป็นงานที่สนุกมาก อาจจะเพราะไม่มีผู้หญิง ก็แสดงความเป็นผู้ชายกันเต็มที่ ช่วงหลัง ๆ ถึงได้มีนิสิตหญิงมาเรียนมากขึ้น…

กิจกรรมในขณะนั้นนอกจากรับน้อง ก็มีแข่งกีฬา ผมได้รับหน้าที่เป็นปฏิคม จัดนิสิตไปเที่ยวบางปู จัดเต้นรำ ก็โดนค่อนขอดนิดหน่อยว่าเป็นนิสิตแต่จัดเต้นรำ ซึ่งเป็นงานของผู้ใหญ่ แล้วผมก็จัดแข่งขันว่ายน้ำ แต่คนที่ไม่ได้ลงแข่งจะแต่งชุดว่ายน้ำมาก็ได้ จัดออกร้านขายของ ก็เป็นเรื่องสนุกสนานกัน ถือเป็นเรื่องล้ำสมัยมากในสมัยนั้น

ส่วนเรื่องการเรียนการสอนก็เรียนยาก ผมไม่ใช่คนที่ได้คะแนนเป็นอันดับต้น ๆ ก็สอบผ่านไปกับเขาได้ คุณพระเจริญฯ ท่านเคยกล่าวว่า “พวกคุณต้องรู้จักเรียน… การเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ที่การทำงาน คุณต้องรู้จักนำความรู้ไปปรับใช้ เมื่อคุณทำงานก็ต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม” สิ่งเหล่านี้ผมได้จากคุณพระเจริญฯ ถึงแม้ผมจะเรียนไม่เก่ง แต่ก็ได้แนวคิดหลาย ๆ อย่างจากการเป็นนิสิตวิศวฯ…

ในสมัยนั้นนิสิตที่จะเรียนจบใน 4 ปี มีน้อยมาก รุ่นผมตอนสอบเข้าเกือบ ๆ 200 คน เรียนจบประมาณ 60 คน บางคนก็ถูกส่งไปเป็นทหาร บางคนก็ไปเป็นเสรีไทย พอกลับมาก็เรียนไม่ต่อเนื่อง ตกกันเยอะมาก บางคนเรียนเก่งแต่ไม่ชอบเข้าเรียนก็ตกหรือต้องเปลี่ยนอาชีพก็มี ที่รู้จักกันดีก็ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ เรียนรุ่นเดียวกันแต่เขาเรียนไม่จบ คนที่เรียนไม่จบนี่ไม่ใช่ว่าเรียนไม่เก่งแต่อาจจะหลงระเริงกับการทำกิจกรรมอื่น ก็เลยสอบตก

ชีวิตตอนเป็นนิสิตก็มีแต่เรื่องสนุกสนาน แต่เหตุการณ์ที่ประทับใจเกิดขึ้นตอนจบไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมาที่คณะ เพราะเพื่อน ๆ ยังไม่จบหลายคน เวลาคณะวิศวฯ มีปัญหาก็จะไปช่วยไกล่เกลี่ย คณะวิศวฯ ของเรามีข้อดีคือ เมื่อทำผิดก็จะรับว่าทำผิด ก็ให้ไปขอโทษเขาก็คืนดีกันได้

มีเหตุการณ์หนึ่งที่ถือว่าร้ายแรงพอสมควร …กว่าจะไกล่เกลี่ยได้ก็ต้องพูดคุยกันนาน…

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นพิธีรับน้อง คณะบัญชีเขาก็แห่ธงไปตามคณะต่าง ๆ พอผ่านมาทางคณะวิศวฯ มีใครไม่ทราบไปฉีกธงเขาซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงทีเดียว ไม่มีใครรับว่าเป็นคนทำผมก็เลยบอกแก่น้อง ๆ ว่า สิ่งที่น้อง ๆ ผิดคือ เมื่อมีแขกผ่านบ้านเรา แล้วเราไม่ดูแลความปลอดภัยของเขา ปล่อยให้มีคนมาฉีกธงของเขา เพราะฉะนั้นเราต้องรับผิดชอบ เราไม่ได้รับว่าฉีกธงแต่ยอมรับว่าเราไม่ดูแลให้ดี ปล่อยให้มีคนมาฉีกธงของเขาในบ้านเรา ต้องไปขอโทษเขา …

ในครั้งแรกคณะบัญชีก็จะไม่ยอม ก็ไกล่เกลี่ยว่าถ้าเดินขบวนต่อทั้ง ๆ ที่ธงถูกฉีกแบบนั้นจะทำให้ได้รับความเห็นใจจากคนทั้งมหาวิทยาลัย คณะบัญชีถึงได้ยอม เป็นเหตุการณ์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของผมมาตลอด

ผมเองถึงแม้จะจบไปแล้วก็ยังมีแวะเวียนมาที่คณะอยู่เรื่อย ๆ ได้ทำงานกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ เมื่อก่อนบริเวณตรงข้ามตึก 3 จะเป็นห้องบิลเลียด พวกเราก็ชอบไปอยู่ที่นั่น บางครั้งมีปัญหากันบ้างก็ไกล่เกลี่ยกันไป อาจจะเพราะเกรงใจกัน คุยกันแบบตรงไปตรงมาทำให้แก้ปัญหาได้ในหลาย ๆ เรื่อง

เมื่อก่อนนั้นงานวิศวส่วนใหญ่จะต้องไปทำงานต่างจังหวัด เวลาไปทำงานในจังหวัดไหนก็แล้วแต่ ก็ได้พี่ ๆ ที่ไปอยู่ก่อนแล้วช่วยดูแล ช่วยสอนการวางตัว การทำงานร่วมกับคนหมู่มาก การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน คนที่ทำงานกับเราด้วยตำแหน่งอาจจะน้อยกว่าเรา แต่เขามีประสบการณ์มากกว่า ดังนั้น ถ้าอะไรที่เราไม่รู้ก็ถามเขาได้ อะไรที่ไม่รู้ก็ต้องบอกว่าไม่รู้ …

การทำงานที่ต่างจังหวัด ต้องไปคลุกคลีกับคนงาน ทำให้ทราบว่าเพราะอะไรพี่ ๆ ถึงให้เราหัดดื่มเหล้า คนต่างจังหวัดนั้นพอทำงานเสร็จก็ชอบดื่มเหล้า ถ้าใครดื่มเก่งก็ได้รับความนับถือ การดื่มเหล้าถือเป็นการเข้าสังคมของคนต่างจังหวัดนั่นเอง

ในเวลานี้วิศวกรคนไทยมีปัญหาหลายด้านที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยเฉพาะการที่ไม่สามารถเซ็นรับรองงานได้ ต้องให้วิศวกรต่างชาติมาเซ็น ทั้งที่เป็นนงานที่เราทำมากับมือ และวิศวกรไทยบางคนก็เก่งกว่าต่างชาติด้วยซ้ำไป… แต่เมื่อกฎระเบียบกำหนดไว้แบบนั้นก็ต้องดำเนินการตามนั้น เลยกลายเป็นการกีดกันความสามารถ ตัดโอกาสก้าวหน้าของวิศวกรคนไทย

การแก้ปัญหานี้ต้องร่วมมือกันในหลาย ๆ องค์กร และต้องเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันการศึกษา เพิ่มมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นที่เชื่อถือของรัฐบาลและประชาชน ต้องเป็นตัวของตัวเอง หากจำเป็นต้องมีปัญหาหรือขัดแย้งกับผู้มีอำนาจก็ต้องทำไม่เป็นเครื่องมือของใคร มีความซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณของความเป็นวิศวกรที่ต้องคำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าสิ่งที่ตนเองจะได้ ต้องภูมิใจในเกียรติของเรา …

พวกเราต้องร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งให้สถาบันเกี่ยวกับวิศวกร ทั้ง วสท. และสภาวิศวกร เมื่อใดที่พวกเราให้ความเห็นหรือเข้าไปมีบทบาทในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรก็ได้รับความเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ …

จะต้องมีเหตุการณ์ที่ประชาชนหรือองค์กรต่าง ๆ ต้องการคำแนะนำหรือชี้แนะจากวิศวกร เขาต้องคิดถึงเราก่อน ถ้าประชาชนรู้สึกว่ามีที่พึ่งก็จะทำให้เกิดความมั่นใจ ความขัดแย้งก็จะหมดไปด้วย

สำหรับคณะวิศวฯ จุฬาฯ ที่สถาปนาครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2556 หวังว่าคณะจะมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่วิศวกรของไทย ต้องสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยให้มากขึ้น การศึกษาวิจัยของเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากมาย หรือต้องเกี่ยวข้องกับคนทั้งโลก แต่เป็นงานวิจัยที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ ให้แก่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องก็เพียงพอแล้ว

การศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัยนั้น นอกจากจะสร้างผลงานให้แก่คณะ ให้แก่ทีมงานแล้ว ยังช่วยให้อาจารย์ไม่ต้องไปรับงานพิเศษภายนอก เพราะมีรายได้ที่เพียงพอ เมื่อไม่ต้องกังวลในเรื่องอื่นๆ ก็สามารถทุ่มเทให้แก่ศิษย์ได้อย่างเต็มที่ … เมื่ออาจารย์ดูแลใกล้ชิด และศิษย์มีความตั้งใจจริง คุณภาพของบัณฑิตที่จบไปก็จะดีขึ้น แสดงถึงศักยภาพของคณะอีกทางหนึ่ง


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2562 คอลัมน์ สายสัมพันธ์อินทาเนีย โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save