มะละกาวอล์ก เดินทำงท่องมรดกโลก ตอนที่ 1

มะละกาวอล์ก เดินทางท่องมรดกโลก ตอนที่ 1


ตื่นเช้าออกมาสูดอากาศหนาวเย็นจากระเบียงห้องพัก บน Cameron Highland ประเทศมาเลเซีย จิบกาแฟร้อน ๆ กับขนมปังอุ่น ๆ รอเวลาที่จะได้เดินทาง ล้อหมุน ตอนเวลา 08.00 น. นั่งรถตู้ลงจากที่ราบสูงคาเมรอน 50 กิโลเมตร จาก Tanah Rata ผ่าน Ringlet เป็นชุมชนสุดท้าย แล้วมาถึง Tapah เมืองแรกบนพื้นที่ราบ แวะเข้าไปกินบะหมี่ผัด และเกี๊ยวน้ำสไตล์กวางตุ้ง อร่อยมากแถมราคาแสนถูกที่ร้านริมถนน

ถ้าไม่ใช่คนพื้นที่ไม่มีทางรู้จัก รับประทานกันไป 5 ชาม จ่าย ไปเพียง 17 ริงกิต มีโกปี๊ร้อนและเค้กด้วย 1 ที่ งงกับราคาที่ เจ้าของร้านเรียกเก็บเพราะราคาถูกมาก ๆ เสร็จแล้วขับวนขึ้น ทางด่วน E3 ผ่านไป 156 กิโลเมตร ตรงเข้ากัวลาลัมเปอร์ ถึง เส้นวงแหวนต่อไปมะละกาอีก 160 กิโลเมตร

สมัยเรียนชั้นมัธยม ทุกคนคงจำได้ดีว่า มะละกาคือช่องแคบ ระหว่างมาเลเซียกับเกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) เป็นชื่อเมืองท่า สำคัญของมาเลเซีย การคมนาคมทางเรือจากฝั่งเอเชียใต้ อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป ข้ามไปฝั่งเอเชียตะวันออกไกล ญี่ปุ่น จีน และมหาสมุทรแปซิฟิก ต้องผ่านช่องแคบนี้เท่านั้น สายลม ตะวันออกกับสายลมตะวันตกมาบรรจบกัน ชัยภูมิจึงเหมาะกับ เรือจากอาหรับและอินเดีย สามารถล่องมาตามลมสินค้าตะวัน ตกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ใช้แล่นเรือของพ่อค้าจีนและพ่อค้าจากหมู่เกาะเครื่องเทศ (หมู่เกาะโมลุกกะ อินโดนีเซีย) ราวต้นศตวรรษที่ 16 มะละกา รุ่งเรืองมากในฐานะเมืองจัดเก็บสินค้า

“ย้อนกลับมาเรื่องของการไปเที่ยวในครั้งนี้ดีกว่า”

ช่วงเวลาเกือบบ่ายโมงแล้ว กดมือถือค้นหาร้าน ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาชานเมืองมะละกา จนได้นั่งซดน้ำซุป ใส ๆ กับบะหมี่เป๊าะเส้นหนาลวก โอเคเลยครับ เหลือบ เล็งเป็ดย่างร้านข้าง ๆ จะไปสั่งมาเสริม อ้าว “Sold Out” โชเฟอร์เลยพามานั่งกินหมูสะเต๊ะ (Satay) ต่อ หาร้านหมู ยากยิ่งกว่าเข็มในมหาสมุทรในมาเลเซีย เพราะคนส่วนใหญ่ เป็นมุสลิมจึงต้องกินสะเต๊ะไก่ สะเต๊ะเนื้อวัวมากกว่า แต่ที่ร้านนี้คนท้องถิ่นเชื้อสายจีนรู้จักกันดี เขาขายไม้ละ 0.90 ริงกิต ลูกค้ากินเต็มร้านแม้ใกล้เวลา 15.00 น. แล้ว น้ำจิ้มเกือบคล้าย ๆ บ้านเรา แต่หมูหมักผงกะหรี่น้อยไป ทั้งกลิ่นและสี อาจาดมีแต่แตงกวาและหอมแดงซอย ไม่มี พริกชี้ฟ้า แห้ง ๆ ไม่มีน้ำจิ้มหวานราดแบบคนไทยเรากิน ขนมปังปิ้งก็ไม่มี จานเคียงแกล้มด้วยข้าวหุงสุกปั้นแล้วหั่น ฝานเป็นชิ้นกลม ๆ แปลกจัง

“คนมะละกานี่กินแปลกหลายอย่างเลยแฮะ เหมือน ข้าวมันไก่ที่ปั้นข้าวเป็นลูกกลม ๆ ขนาดเท่าลูกปิงปอง ยังนึกประโยชน์ นึกคุณลักษณะพิเศษนี้ไม่ออก”

มะละกาวอล์ก เดินทำงท่องมรดกโลก ตอนที่ 1

วันนี้เป็นวันเสาร์

วางโปรแกรมค่ำคืนนี้จะไป เดินเตร่ถนนคนเดิน Jonker Street ที่มีเฉพาะคืนวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์เท่านั้น ก้าว ข้ามแม่น้ำมะละกา ห่างจาก ดัตช์สแควร์ไม่ถึง 100 เมตร แหล่งขายของกิน ขนม ของฝาก เพียบเลย

มาถึงมะละกาช่วงบ่ายแก่ ๆ หลังเช็กอินโรงแรมยังมีแรงเหลือเฟือ จัดกระเป๋าและของเข้าท่ีแล้วรอเวลาให้แสงแดดอ่อนคล้อยสักบ่าย 4 โมงเย็นกว่า แนะนำให้ออกไปเดินชมเมือง เป้าหมายวันนี้คือเนินเขามะละกา โดยเริ่มต้นที่เชิงเขา ทางขึ้นเนินมีอาคารสีขาว สังเกตเห็นหลังคามีโดมสีทองคล้ายสุเหร่าหรือมัสยิด สถานที่นี้มาเลเซียใช้เป็นที่ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2500 หยุดเช็กอินถ่ายรูปสัก 2-3 แชะ แล้วเดินตรงไปที่ประตูซานดิเอโก้ ป้อมเมืองเก่าซ้ายมือ ค่าเข้าฟรีครับ หลับตานึกย้อนอดีตสมัยโปรตุเกสบุกยึดครองเมืองมะละกา ป้อมปราการนี้เสมือนด่านป้องกันเมืองมะละกายาวนานกว่า 150 ปี จนกระทั่งฮอลันดาบุกรุกยึดครอง เมืองมะละกาได้ใน พ.ศ. 2184 ฮอลันดาก็ได้ซ่อมแซมกำแพงเมืองและป้อมปราการนี้ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จนกระทั่งในภายหลังเมืองมะละกาได้ถูกครอบครองโดยอังกฤษ ผู้ปกครองเกาะปีนังส่ง กัปตันวิลเลียม ฟาร์คูฮาร์ มาทำลายป้อมปราการแห่งนี้เพื่อป้องกันการอ้างสิทธิ์ครอบครองดินแดนของฮอลันดา แต่ภายหลังโดนสั่งระงับ จึงเหลือเพียงประตูแห่งนี้เท่านั้น

มะละกาวอล์ก เดินทำงท่องมรดกโลก ตอนที่ 1

ข้อมูลเสริม:

มะละกาถูกล่าเป็นอาณานิคมมาโดยตลอด เคยรุ่งเรืองที่สุดในยุคสมัยของสุลต่านแห่งมะละกา ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึง ค.ศ. 1511 จากนั้นก็ถูกครอบครองโดยโปรตุเกสตั้งแต่ ค.ศ. 1511-1641 ตามด้วยดัตช์ ใน ค.ศ. 1641-1795 และอังกฤษ ใน ค.ศ. 1795-1941 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าครอบครองในระยะเวลาอันสั้นช่วงระหว่าง ค.ศ. 1941-1945 และอังกฤษได้กลับเข้ามาครอบครองอีกครั้ง ใน ค.ศ. 1945-1957 จนกระทั่งมาเลเซียได้ประกาศอิสรภาพ ใน ค.ศ. 1957

บนเนินเขาคือที่ตั้งของโบสถ์เซนต์พอล ซึ่งปัจจุบันนี้เหลือเพียงผนัง ไม่มีหลังคา ถูกสร้างใน ค.ศ. 1521 โดยกัปตันเรือชาวโปรตุเกส เดิมชื่อ “Nosa Senhora” หรือ Our Lady of the Hill 120 ปีต่อมาใน ค.ศ. 1641 พอถึงยุคพวกดัตช์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น St. Paul และใช้โบสถ์แห่งนี้ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกันก็สร้าง โบสถ์แดงแห่งมะละกา “Christ Church Melaka” ให้เป็นโบสถ์ของชาวดัตช์ 100% บริเวณเชิงเขาด้านล่างก็คือดัตช์สแควร์ในปัจจุบัน

มะละกาวอล์ก เดินทำงท่องมรดกโลก ตอนที่ 1

บริเวณด้านหน้าของโบสถ์เซนต์พอล จะพบกับรูปแกะสลักหินอ่อนสีขาว นักบุญ ฟรานซิส เซเวียร์ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1952 สังเกตดี ๆ ที่รูปแกะสลักนักบุญฟรานซิส เซเวียร์ “St. Francis Xavier” นั้นมือขวา ขาด บางบันทึกระบุว่าหักเพราะต้นไม้ใหญ่ บริเวณนั้นล้มทับใส่จนหักลง อีกหลาย บันทึกก็บอกต่อ ๆ กันว่าโดนขโมยตัดไป อินเดีย ไปวาติกัน ไม่รู้จะเชื่อใครดี… มโน กันจัง เหมือนบ้านผมเลย ประวัติศาสตร์ เยอะ บันทึกแยะ

ขึ้นไปยืนดื่มด่ำกับวิวเมือง 360 องศา ในโมเมนต์พระอาทิตย์ตกดิน โชคดีวันนั้น ฝนไม่ตก ฟ้าใสแดดสว่างให้ได้ภาพสวย ทั้งฝั่งแผ่นดิน ผืนดินถมทะเลใหม่และ ช่องแคบมะละกา ประทับใจครับ ขาลง เดินไปที่ฝั่งบันไดตรงข้ามหน้ารูปปั้น ถึง ถนนด้านล่างให้เลี้ยวขวาตรงไป 700-800 เมตร เห็นคนเดินพลุกพล่าน นั่นล่ะใช่เลย

มะละกาวอล์ก เดินทำงท่องมรดกโลก ตอนที่ 1

“ดัตช์สแควร์” ที่นี่คือชุมทางทั้งรถเมล์ประจำทาง เรือล่องแม่น้ำ รวมทั้งรถสามล้อตกแต่งแฟนซี ที่เปิดเพลงกระหึ่มเสียงดังน่าหนวกหูก็จอดที่นี่ รถสามล้อนำเที่ยวที่วิ่งกันขวักไขว่ คนท้องถิ่น เรียกว่า Trishaw สามล้อที่นี่หน้าตาก็คล้าย ๆ สามล้อถีบเมืองไทย แต่จะโดดเด่นกว่าก็ตรงที่ แต่ละคันประดับประดาด้วยดอกไม้พลาสติกสีสดใส ตกแต่งตามสไตล์คนถีบ บางคนหวานหน่อย ก็จะจัดดอกไม้เป็นรูปหัวใจ บ้างก็เป็นรูปดาวห้าแฉกหกแฉก บางคันราวกับบัลลังก์ดอกไม้ ก็มิปาน บางคันขโมยตุ๊กตาบาร์บี้ของลูกมาตกแต่ง มีหลายคันที่มีเครื่องเสียงแต่งมาพร้อม เปิดเพลงดังมาแต่ไกล เพลงส่วนใหญ่เน้นคึกคักจังหวะเร้าใจ ฟังภาษาไม่ค่อยออก สลับไปมา น่าจะภาษามลายู ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ แต่ที่คุ้นหูชัดเจนและเปิดวนกันหลายรอบบ่อยที่สุด จนร้องคลอพอได้คือ กังนัมสไตล์

มะละกาวอล์ก เดินทำงท่องมรดกโลก ตอนที่ 1

ไฮไลต์ของเมืองมะละกาอยู่ ณ จุดนี้ มองไปรอบ ๆ จะเห็นทั้งหอนาฬิกา อาคารโบราณ สีแดง น้ำพุและโบสถ์ Christ Church หรือที่คนไทยเรียกกันว่าโบสถ์แดง ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1753 เพื่อทดแทนโบสถ์เซนต์พอล ด้านขวาติดกันคือตึก Stadthuys ก็ศาลากลางนั่นแหละ ผู้ว่าการสมัยดัตช์ปกครองใช้ที่นี่เป็นสำนักงาน มองไปด้านซ้ายมือก็คือแม่น้ำมะละกาที่ไหล ลงสู่ทะเล ถ้าเดินข้ามสะพานไปก็จะพบถนนคนเดิน Jonker Street ที่นี่ปิดดึก 4-5 ทุ่ม แต่ ในวันธรรมดาแผงขายของปิด เงียบเหงา มีแต่ร้านค้าตึกแถวเปิดเท่านั้น สำหรับค่ำคืนแรกที่ มะละกา แค่มองวิวร้านค้าบ้านเรือนสไตล์ซิโนโปรตุกีส ป้อมปราการและโบสถ์หลังเก่า ๆ ก็… “ตกหลุมหลงรักมะละกาแบบไม่คาดคิดมาก่อน”

ติดตามอ่านตอนที่ 2 ต่อในฉบับหน้า Assalamualaikum


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2566 คอลัมน์ เที่ยวกับอินทาเนีย (Journey & Yummy) โดย สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save