การพยายามเป็นสิ่งสำคัญ ท้อได้แต่อย่าถอย
|
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล วศ.38 รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน และอาจารย์ประจำภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นศาสตราจารย์หนุ่ม ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 5 (คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม) และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับของสังคม เมื่อเร็ว ๆ นี้อาจารย์ยังได้รับรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่งประจำปี พ.ศ.2563 สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมของสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลอีกด้วย
…วันนี้เราจะมาพูดคุยกับอาจารย์ถึงชีวิตนักเรียนทุนและการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “อาจารย์โอ” …
อาจารย์โอ เกิดที่จังหวัดลพบุรี เรียนจบชั้นประถมก็เข้ามาเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ รุ่น 114 หรือ “รุ่นฟ้าคำราม” ใครสงสัยว่าทำไมต้อง “ฟ้าคำราม” ต้องไปสอบถามส่วนตัวกันเอง..
เรียนที่สวนกุหลาบได้ 5 ปี ก็สอบเทียบเข้าคณะในฝันคือวิศวฯ จุฬาฯ โดยเลือกเรียนทางด้านสิ่งแวดล้อมตามความสนใจส่วนตัว
…ตอนผมกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงนั้นประเทศไทยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าร้ายแรงและหลากหลายปัญหา ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม มลพิษอากาศ หรือปัญหาขยะ แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงการแแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนหรือการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหา… ผมเลยตัดสินใจเรียนภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อมตามที่สนใจ
หลังเรียบจบก็เริ่มทำงานที่บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง พร้อม ๆ กับสมัครเรียนต่อไปด้วย พอทาง ก.พ. เปิดสอบก็ไปสอบแล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส
อาจารย์โอ ใช้เวลาในการเรียนที่ฝรั่งเศส 4 ปีครึ่ง ได้ปริญญาโท 2 ใบ และปริญญาเอก Laboratoire d’Ingénierie des Procédés de l’Environnement, Génie des Procédés Industriels (Industrial) แต่ชีวิตการเป็นนักเรียนทุนไม่ได้สวยหรู เรียกว่าต้องใช้ทั้งความอดทนและใจสู้กันเลยทีเดียว
…การพยายามเป็นสิ่งสำคัญ ท้อได้แต่อย่าถอยเพราะโอกาสไม่ได้มีมาบ่อย ๆ… คติประจำใจของศาสตราจารย์หนุ่มผู้นี้
…ใน 2 ปีแรกที่ฝรั่งเศส เป็นอะไรที่ยากที่สุดในชีวิตผมแล้ว… ถามว่าท้อไหมก็ต้องมีบ้างครับเพราะว่าในตอนที่ไปผมไม่ได้ภาษาฝรั่งเศสเลย ไหนจะต้องห่างบ้านห่างเมืองอีก (ขึ้นเครื่องบินครั้งแรกในชีวิต) แล้วผมยังเป็นต่างชาติคนเดียวในคลาสเรียน ทุกอย่างเป็นภาษาฝรั่งเศสหมดทั้งการเรียน การพูดคุย ยืมเลคเชอร์ของเพื่อนมาดูก็ยังเป็นภาษาฝรั่งเศส
แต่ด้วยใจนักสู้ ในที่สุดก็ได้คะแนนสอบติด Top 10 ของห้องเมื่อจบการศึกษา ในขณะที่ชีวิตส่วนตัวก็เรียกได้ว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว
..ชีวิต 4 ปีกว่า ๆ ที่ฝรั่งเศสทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตหลายอย่าง ที่สำคัญคือได้เป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนี้เป็นความภาคภูมิใจกับผมมาก ๆ เรียกว่านอกจากดูแลตัวเองแล้วก็ต้องคอยบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบตัวเพื่อเป็นการสร้างมิตรไมตรีที่ดี รวมถึงทำงานเพื่อนักเรียนไทยทุกคน
…ผมสอนเด็กและรุ่นน้องนักเรียนไทยเสมอว่า โอกาสนั้นไม่ได้มาบ่อย ๆ แต่ถ้าโอกาสมาแล้วก็จะต้องพยายามทำสิ่งนั้นให้เต็มที่เราจะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง…
หลังเรียนจบก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวฯ แต่ไม่ใช่แค่เป็นอาจารย์เท่านั้น ยังรับหน้าที่อื่น ๆ มากมายซึ่งล้วนสร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมให้ส่วนรวม อาทิ รายการวิทยุ Envi insider by ดร.โอ เจ้าของ Facebook page เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา และจัดทำ 5 รายวิชาผ่าน Chula MOOC ที่เปิดฟรีสำหรับคนไทยทุกคน เป็นต้น
โครงการหนึ่งที่อาจารย์พยายามผลักดันเต็มที่เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขคือ โครงการ Sensor for All นวัตกรรมตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน
ผมเป็นหัวหน้าโครงการ Sensor for All ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 คำว่า For All มี 3 เป้าหมาย คือ 1.All Countries ติดทั่วประเทศ 2.All People Engagement ต้องให้ประชาชนสามารถเข้ามาโครงการได้ และ 3.All Parameters ต้องสร้างประโยชน์ที่มากกว่าการวัดค่าฝุ่นให้ได้ ในอนาคตตัวเซ็นเซอร์จะไม่ได้วัดค่าแค่ฝุ่น เรากำลังต่อยอดและพัฒนาให้สามารถวัดค่าเสียง ค่าคุณภาพอากาศอื่นๆ เป็นการพัฒนาและต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมของคนไทยเอง….
ที่ผ่านมามีหลาย ๆ หน่วยงานให้การสนับสนุน โครงการ Sensor for All แต่ด้วยเป้าหมายว่าใน พ.ศ. 2564 จะต้องติดตั้งให้ได้ 500 จุดทั่วประเทศ จึงต้องได้รับการสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง
ผู้ที่สนใจสนับสนุนโครงการติดต่อไปได้ที่ กองทุนนวัตกรรมวิศวฯ จุฬาฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย เลขที่ 405-4-13788-7 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 02-218-7850 หรือ 080-228-4148
…โครงการได้พัฒนาทั้งเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน เพื่อขยายผลไปสู่การสร้างการรับรู้รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบหนังสือ บอร์ดเกม และอีกหลากหลายช่องทาง เพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้องของสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยมีข้อมูลที่เกิดจริงจากการสนับสนุน และยังเป็นการรวมทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างแท้จริง…
นอกจากโครงการนี้แล้ว อาจารย์โอ ยังมีผลงานหนังสือ บทความวิจัย และบทความวิชาการอีกมากมาย….
สุดท้ายนี้ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล วศ.38 กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากจะฝากเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ 2 เรื่อง
เรื่องแรก คือการคว้าโอกาสและลงมือทำ เมื่อมีโอกาสแล้วจงอย่าทิ้งแต่จงทำให้สำเร็จและทำให้สุดความสามารถ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง
เรื่องที่ 2 คือการเรียนรู้ ต้องเรียนรู้ให้มาก ๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องที่ถนัด แต่เป็นการเรียนรู้สิ่งรอบตัว และไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญเพียงด้านเดียว การเรียนรู้หลาย ๆ ด้านนั้นเปรียบเหมือนการสร้างเสริมประสบการณ์ให้แก่ตัวเองนั่นเอง