เทคโนโลยีก้าวไกล...ประเทศไทยจะไปไหนกัน? (2)

เทคโนโลยีก้าวไกล…ประเทศไทยจะไปไหนกัน? (2)


พี่น้องชาวอินทาเนียที่รักทุกท่านครับ ในตอนที่แลล้วเราคุยกันเรื่องของบทสรุปจากการประชุมประจำปี Science and Technology forSociety Forum (STS Forum) ที่จัดที่เมืองโตเกียวต้นเดือนตุลาคมของทุกปี เราคุยสรุปกันไปหลายประเด็นแล้วเหลืออีก 3 ประเด็น ในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร และระบบการคมนาคมขนส่ง ว่ากันต่อเลยครับ

ในประเด็น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม นั้น ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นว่า ผู้ที่อยู่ในวงการวิจัยและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการเสนอทางออกเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สังคมเผชิญอยู่ได้ โดยจะเป็นการตัดสินใจแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูลความจริง โดยมีเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับนักการเมืองผู้กำหนดนโยบายการบริหารประเทศมีความคล่องตัวในการโยกย้ายหน่วยงานเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และผู้อยู่ในสาขาอื่น ๆ ทำงานร่วมกันได้ โดยที่มหาวิทยาลัยน่าจะมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นเวทีเชื่อมโยงดังกล่าว จะต้องมีนโยบายพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อป้องกันการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทางที่ผิด

ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมจะเป็นระบบที่เสริมสร้างให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมมนุษย์ได้ การปรับระบบการทำงานจาก Analog ไปสู่ระบบเชิงเลขหรือ Digitalization ซึ่งเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 จะมีผล กระทบต่อระบบนิเวศด้านนวัตกรรมอย่างมาก ดังนั้น มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งพัฒนาคนเพื่ออนาคตจะต้องปลูกฝังกรอบความคิด (Mind Set) ที่เหมาะสมให้แก่นักศึกษาและบัณฑิตเพื่อให้กล้าเสี่ยงสู่การทำนวัตกรรมต่าง ๆ และต้องระมัดระวังตื่นตัวต่อข่าวสารข้อมูลเท็จที่มีแพร่หลายอย่างมากมายในปัจจุบัน

ในประเด็นของ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร นั้นมีการพูดคุยเน้นหนักในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั้งใหญ่และเล็ก ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ต่างได้รับผลกระทบโดยทั่วหน้า ประเทศใหญ่ ๆ เช่น รัสเซียและสาธาณรัฐประชาชนจีน ต่างก็พยายามพัฒนา Platform ของตนเองขึ้นมา เพราะเชื่อว่าการพึ่งพาอาศัย Google, loS, Facebook ฯลฯ จะเกิดปัญหาในอนาคต ทั้งในเรื่องการอนุญาตให้ใช้งานจากสหรัฐอเมริกา และความปลอดภัยของการจัดเก็บหรือส่งถ่ายข้อมูลต่าง ๆ

แนวโน้มการใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลหรือ Big Data ในการนำมาวิเคราะห์เพื่อประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ มีเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิด Deep Learning, Machine Learning ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent-Al) ในที่สุด และ AI นี่เองที่เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านชีวการแพทย์ เกษตรกรรม ตลอดจนการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้ AI คือความโน้มเอียงหรือ Bias ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของข้อมูลและสัจธรรมที่ว่า ไม่มีข้อมูลใดเลยที่ไม่โน้มเอียง

ดังนั้น การที่จะประยุกต์ AI ที่เที่ยงธรรม แม่นยำ และโปร่งใสได้จำเป็นต้องหาทางกำจัดความโน้มเอียงออกไปจากกลุ่มของข้อมูลมหาศาลที่นำมาใช้ให้ได้

ประเด็นสุดท้ายจากการสรุปการประชุม 2 วันที่ผ่านมา คือ ระบบการคมนาคมขนส่ง สิ่งที่พูดคุยกันในหลายเวทีในเรื่องนี้ คือ การประยุกต์ระบบการเคลื่อนย้ายขนส่งที่มีประสิทธิภาพในด้านการเกษตรอาหาร และความมั่นคงยั่งยืนของแหล่งน้ำเพื่อความก้าวหน้าสู่ระบบการคมนาคมขนส่ง 4.0 ได้อย่างเหมาะสม

แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดที่สนใจคือการตัดไม้ทำลายป่าที่นำไปสู่การฟื้นฟูสภาพป่าในหลายพื้นที่ได้ด้วยการประยุกต์ระบบการเคลื่อนย้ายขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถนำมาแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผลต่าง ๆ

ประเด็นที่น่าสนใจปิดท้าย 2 ประการ คือ

  1. ผลกระทบที่คดไม่ถึงของเทคโนโลยี ที่เห็นได้ชัดคือเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้เกิดโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้เฉพาะตัว เช่น Tablet ที่เด็กอายุยังน้อย ๆ ได้ใช้งานอย่างแพร่หลาย เมื่อเด็กอายุ 2-3 ขวบ ก็ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้ก่อนที่จะหัดพูดได้ แล้วจะเรียนพูด อ่าน เขียน ได้อย่างไร? หรือปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เกิดติดตามมากับระบบบล็อกเชน การจัดการข้อมูลจำนวนมากหรือ Data Mining เป็นต้น
  2. การประชุม STS Forum ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากชาติอาเซียน 8 ชาติ หลายชาติยังอยู่ในระดับกำลังพัฒนา ประเด็นต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พูดคุยกันและมาตรการทั้งในเชิงนโยบายและภาคปฏิบัตินั้น ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศเหล่านี้สามารถจะเข้าใจว่าคืออะไร? หรือทำไม? แต่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่ชาติเหล่านี้ยังต้องการความช่วยเหลือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกตัวอย่างหนึ่งคือการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ C0P50 ที่เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างประเทศพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนา ข้อสรุปทั้งเชิงนโยบายและมาตรการปฏิบัติที่แต่ละประเทศต้องนำกลับไปดำเนินการนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทั้งในด้านผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ต่อไปเมื่อกลับไปสู่ประเทศของตนแล้ว

ตัวอย่างเช่น การทำให้เกิด Net Zero Building หรืออาคารที่พลังงานสุทธิเป็นศูนย์นั้น เป็นเรื่องที่ทุกประเทศเห็นประโยชน์ แต่ การนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างไรนั้น ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และทรัพยากร ซึ่งประเทศพัฒนาต้องยื่นมือออกไปเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ขาดแคลนปัจจัยเหล่านี้ เพราะนี่คือหนึ่งในปัญหาของโลกที่ประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาสำเร็จถ้าปราศจากความร่วมมือจากทุกประเทศทั่วโลก

ช่วงปิดท้ายของ Session การสรุปการประชุม STS Forum คือการเชิญตัวแทนนักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีรุ่นเยาว์ 2 คน หญิงหนึ่งจากออสเตรเลีย ชายหนึ่งจากอิสราเอล มากล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมในการประชุมครั้งนี้

Dr.Bercovici จาก Technion Israel Institute of Technology กล่าวว่าการทำวิจัยที่มีแรงผลักดันจากความอยากรู้ อยากเห็นหรือ Curiosity Driven Research ที่เป็นการทำวิจัยพื้นฐานแสวงหาองค์ความรู้นั้นเป็นการทำสิ่งที่เรียกกันว่า “Cool” หรือเท่ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดบาปอะไร เช่น การสกัดและเก็บโมเลกุลของสิ่งต่าง ๆ โดยยังไม่มีความคิดด้านการนำไปใช้ แต่อย่างน้อยที่สุดประโยชน์ที่ได้คือการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและสามารถนำไปถ่ายทอดแก่นักศึกษาที่เป็นเยาวชนรุ่นหลังได้

ประเด็นเรื่องที่คุยกันมากในการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วไปรวมทั้งที่นี่ด้วยคืออุณภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นหรือ  Global Warming เปรียบเสมือนกับการที่เรากำลังพากันวิ่งไปที่หน้าผา เมื่อถึงที่สุด ณ จุดนั้นแล้วเราจะทำอย่างไร?

แน่นอนที่สุด คือเราจะต้องพากันข้ามไปให้ได้ แล้วเราจะข้ามไปอย่างไร? จะกระโดดข้ามไปหรือจะสร้างสะพานข้ามไป? นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องร่วมกันคิดและวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้า

กล่าวโดยสรุป ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมจะต้องลงทุนมากขึ้นสำหรับการวิจัยพื้นฐาน โดยที่นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องร่วมมือกับนักอุตสาหกรรม ซึ่งการมีเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันแบบ ST Forum ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก

Koren Lee Waddell นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากสถาบันการศึกษาในออสเตรเลียกล่าวว่า มาคราวนี้ได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากในเรื่องความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันในปัจจุบันและอนาคต เพราะจักวาลเป็นสิ่งที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีใครหรือฝ่ายใดฝ้ายเดียวที่จะสามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด ต้องทำงานร่วมกันเพราะประเด็นปัญหาระดับโลกต้องให้ผู้มีความรู้ความสามารถทั่วโลกมาร่วมกันแก้ไขและพัฒนา การจะทำให้โลกของเราดีขึ้น พัฒนาไปในทางบวกมากขึ้น ต้องการความร่วมมือของทุกฝ่าย

บางครั้งการค้นพบทางออกในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต้องอาศัยโชคแต่โชคจะเกิดขึ้นกับจิตใจที่เตรียมพร้อมแล้วเท่านั้น โดยต้องไม่เกรงกลัวในการที่จะทำผิดพลาด…แต่ต้องกล้าคิด กล้าทำ

เพราะ “ความหวัง” เสมือนกับ “การพูดคุย” เป็นสิ่งที่ยังไม่เพียงพอ เราต้องมุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติไปสู่ผลสำเร็จ

ประวัติศาสตร์ของความเจริญรุ่งเรื่องของมนุษยชาติ คือประวัติศาสตร์ของการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษยชาติเราทุกคนมารวมกัน ณ ที่นี้ ก็เพื่อร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่นั่นเอง

ช่วงสุดท้ายของการประชุม เป็นพิธีปิดโดยตัวแทนของคณะกรรมการจัดงานมาร่วมกันกล่าวสรุปการประชุมในภาพรวมด้วยหัวข้อ “การพัฒนาและความยั่งยืนเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ” โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • การทำให้เกิดความยั่งยืนนั้นเราจะต้องไม่ใช้ผืนดินและทะเลเป็นที่รองรับขยะต่าง ๆ เพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงในอัตราเร่ง การสร้างความยั่งยืนเป็นบรรทัดฐานที่สูงยิ่งซึ่งจะต้องฟื้นฟูความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมต่อความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยปราศจากการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าทั้งหลาย
  • ประชากรโลกในปัจจุบันมีจำนวน 7,700 ล้านคน แต่เทียบแล้วเล็กกว่าผงธุลีในจักรวาล เรามีการประชุม COP 21 ที่ปารีสเมื่อไม่ถึง 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากการประชุมที่มีการประกาศสัตยาบรรณเกี่ยวโตเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าสถิติรอบ 4 ปีใด ๆ ในอดีต ในขณะที่ประชากรเพิ่มสูงขึ้น 82 ล้านคน ในที่ผ่านมาซึ่งใกล้เคียงกันทุก ๆ ปีตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า เราไม่ได้ทำตามคำมั่นที่ให้กันไว้ทั้งในเรื่องการควบคุมจำนวนประชากรและการจำกัดและลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เราไม่มีเวลาที่จะเสียอีกต่อไปแล้ว ต้องเร่งกระตุ้นความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น Australian University ร่วมกับภาคเอกชนกำลังทำโครงการ Solar Station 25 GW ที่สามารถสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าของประเทศออสเตรเสียทั้งประเทศได้ หรือ Alibaba Platform ของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นเวทีกลางในการเชื่อมโยระหว่างภาครัฐกับภาคอกชนในการสร้างสรรค์การเจริญเติบโตทางธุรกิจ เป็นเสมือนทางลัดในการติดต่อสื่อสารระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
  • การทำให้เกิดความยั่งยืนเป็นเสมือนแนวปฏิบัติหลักของสังคมโลก และถือเป็นหลักปฏิบัติในการทำวิจัยพัฒนาทุกด้านและยังสามารถเป็นหัวข้อสำหรับการวิจัยพัฒนาอีกด้วย หัวข้อของการวิจัยพัฒนาเพื่อความยั่งยืนนั้นควรเป็นหัวข้อที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยขององค์กรที่ให้ทุนทุกแห่ง

หลังการประชุมสัมมนาประจำปี STS Forum 2 วันครึ่งที่เกี่ยวโต ผมเดินทางไปโตเกียวเพื่อร่วมการประชุมสัมมนาประจำปี Innovation on Cool Earth Forum หรือ ICEF ถ้าจะแปลแบบไทย ๆ คือ “การประชุมนวัตกรรมเพื่อโลกเย็น ” ปีนี้เป็นครั้งที่ 6ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี Shinso Abe เป็นเจ้าภาพเช่นเคย และมีโปรแกรมรวม 2 วัน โดยจัดในวันที่ต่อจาก STS Forum มีพิธีเปิดในเช้าวันรุ่งขึ้น

ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า งาน STS Forum นั้นจะคุยกันในเชิงนโยบาย แนวคิด หรือมาตรการเป็นหลัก ในขณะที่ ICEF นั้นจะลงลึกในชิงเทคนิคและแนวทางในการปฏิบัติเป็นหลัก ทำให้ผู้ที่ชอบด้านเทคนิคจะมาร่วมประชุม ICEF มากกว่า STS Forum

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตคือผู้สนับสนุนเงินทุนในการจัดประชุมหรือสปอนเซอร์ซึ่งทาง STS Forum จะมีองค์กรทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนมากมาย ในขณะที่สปอนเซอร์ของ ICEF นั้น นอกจากภาครัฐคือ NEDO หรือ New Energy and Industry Development Organization ของกระทรวง METI แล้ว ก็จะเป็นภาคเอกชนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น Toyota

ดังนั้น ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมพบว่า แนวเนื้อหาในการประชุมก็มีแนวโน้มเอียงไปทางสปอนเซอร์อยู่ไม่น้อยทีเดียว เช่น ในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อ 5 ปีก่อนก็เป็นการเปิดตัวรถยนต์ Toyota Mirai ซึ่งเป็นรถยนต์ใช้เซลล์เชื้อเพลิงที่มีก๊าซไฮโดรเจนเป็นพลังงานในการขับเคลื่อน

ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 5 เป็นต้นมา ใน Session แรก ๆ จะเริ่มมีกรพูดถึงบทบาทของสถาบันการเงินในการสนับสนุนเงินกู้เพื่อลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่เรียกง่าย ๆ ว่า Green Finance ดังนั้นเพื่อการสนับสนุนมาตรการในการลดโลกร้อนนั้น ผู้ที่ทำโครงการมาขอกู้เงินลงทุนจะต้องแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอในโครงการที่จะกู้เงินดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือไม่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

แนวโน้มในปัจจุบันมีการนำเสนอแบบฟอร์มให้บริษัทต่าง ๆ ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปฏิบัติการของตนเองอีกด้วยโดยมีการนำเสนอรายงานในการประชุมครั้งนี้ว่าสถาบันการเงินใหญ่ ๆทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการทำ Green Finance มากขึ้น
สองประเด็นหลักที่เป็นจุดเด่นของการประชุม ICEF คือการให้ผู้เข้าร่วมประชุมลงคะแนนจัดลำดับเทคโนโลยีและ/หรือนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือชิงนโยบาย 10 หัวข้อที่มีผลกระทบในการลดโลกร้อนได้มากที่สุด และการจัดทำแผนที่นำทางหรือ Roadmap เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในด้านต่าง ๆ

ในปีที่ 6 นี้เป็นแผนที่นำทางในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากการทำความร้อนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีการระบุแนวปฏิบัติ 4 ประการ คือ การประยุกต์ใช้ก๊าชไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง การประยุกต์ใช้ชีวมวลเพิ่มขึ้น การประยุกต์ใช้พลังานไฟฟ้า และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ หรือเพื่อการนำไปใช้งานต่อไป ที่เรียกย่อ ๆ ว่า CCUS หรือ Carbon Capture, Utilization, Sequestration

ที่เล่ามาทั้งหมดทั้ง 2 ตอน คือรายงนการไปร่วมประชุมประจำปีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกียวโตและโตเกียวในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การพูดคุยต่อเนื่องกับพี่ณรงค์ รัตนะ วศ.09 ในฐนะของพวกเราที่เคยมีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนายกระดับขีดความสามารถทางวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

เราค่อนข้างเป็นห่วงอนาคตของประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการปฏิรูปกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตั้งขึ้นมาจากความมุ่งมั่นของ คุณดำรงค์ ลัทธพิพัฒน์ ที่หวังจะเห็นเมืองไทยก้าวหน้าพัฒนาอย่างรวดเร็วและมั่นคงด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระทรวงนี้มีการปฏิรูปและเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง จนกลายมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ในปัจจุบัน

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดได้แก่

  1. ทำอย่างไรจะกำหนดและมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่ประเทศไทยผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่น มลพิษในอากาศจากฝุ่นควัน น้ำท่วมน้ำแล้งน้ำเสีย ขยะพลาสติกในดินและในทะเล อุบัติเหตุจากการจราจรที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 ราย และบาดเจ็บกว่า 30,000 รายต่อปื
  2. ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของไทยในจำนวนที่เพียงพอและทำงานร่วมกันเป็นทีมมุ่งแก้ไขปัญหาหลักของชาติ
  3. ทำอย่างไรจึงจะอาศัยมาตรการการจัดซื้อ จัดหาสินค้าเทคโนโลยีจกต่างประเทศมาสร้างขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีนั้น ๆ ขึ้นใช้เองภายในประเทคได้ เช่น การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ การจัดซื้อจัดหาระบบโทรคมนาคม 5G, 6G… การจัดซื้อจัดหาระบบรางและรถไฟความเร็วสูง

โดยส่วนตัวแล้ว พี่ณรงค์และผมยังเชื่อมั่นว่าเรามีทางออกและคำตอบต่อปัญหาสำคัญ 3 ประการที่ยกมาข้างต้น

แต่ที่เราเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือเราไม่แน่ใจว่าท่านผู้บริหารในคณะรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวง อว. จะเห็นทางออกหรือคำตอบหรือไม่? หรือ…ที่ร้ายกว่านั้นคือ … เห็นปัญหาสำคัญทั้ง 3 ประการนี้หรือไม่…


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save