การออมทางวัตถุกับการออมทางธรรมะ อย่างไหนดีกว่ากัน

ความมั่งมี ความจน ความสุข ขึ้นอยู่กับอะไรแน่ ตอนที่ 2 การออมทางวัตถุกับการออมทางธรรมะ อย่างไหนดีกว่ากัน


บทความฉบับที่แล้ว ผมได้พูดถึงเหตุผลและวิธีคิดของคนทั้ง 4 ประเภท ที่ใช้เวลาทำงานเท่ากัน แต่ได้ผลของงานต่างกัน เพราะคนแต่ละประเภทจะมีมุมมองและวิธีปฏิบัติงานแตกต่างกัน คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจะรู้จักใช้ “สติปัญญาของตนเองและผู้รู้มาช่วยคิดและทำงานร่วมกัน” ทำให้เวลาที่ใช้เท่ากันกับคนประเภทอื่น ๆ แต่ได้ผลงานมากกว่า นั่นก็คือ คนผู้นั้นจะมีรายได้มากกว่าคนประเภทอื่น ๆ

ความมั่งมีนั้น ส่วนใหญ่ต้องเริ่มต้นจากการมีรายได้มาก ๆ เมื่อเทียบกับรายจ่ายนั่นก็คือ มีเงินสะสมเหลือเก็บเมื่อหักค่า
ใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ซึ่งเราจะเรียกว่า “เงินออม”ส่วนเงินที่สะสมเหลือเก็บหรือเงินออม จะนำมาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ก็แล้วแต่ท่านว่าอยากจะลงทุนในรูปแบบใด ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบการออมได้หลายแบบ แต่ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว การออมแบ่ง ได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภท คือ

  1. การออมทางวัตถุ หมายถึง การสะสมเงินหรือสินทรัพย์ที่เหลือจากการใช้จ่ายแล้วนำมาลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ กันทั้งอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้ (สังหาริมทรัพย์) มีเงิน ทอง พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงินเงินฝากในสถาบันการเงิน หุ้นในบริษัทและหุ้นต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ รถยนต์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์คือทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ไม่ได้เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ตึกอาคารต่าง ๆ
  2. การออมทางธรรมะ หมายถึง การสะสมบุญ ผู้ออมหรือผู้ปฏิบัติธรรม จะสร้างบุญในรูปแบบต่าง ๆ กัน เป็นการลงทุนพัฒนาด้านจิตใจ ซึ่งผลตอบแทนจะได้ในรูปแบบของ “ความสุขสงบด้านจิตใจ” ทั้งนี้ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปในท้ายของบทความ

การออมทางวัตถุ คือ การสะสมเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือจากการใช้น้ำไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนทางด้านทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. การลงทุนในด้านการศึกษา หมายถึง การให้การศึกษาแก่ตัวเองและลูกหลานเพื่อให้มีวิชาความรู้ที่ทันสมัยทันโลก และสามารถนำมาประกอบวิชาชีพเพื่อทำงานและรับผิดชอบในตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เคยทำงานด้านวิศวกรรมมาหลายปี ถึงจุดหนึ่งก็ต้องเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจและการเงิน เพื่อสามารถเข้าใจการทำธุรกิจหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านการตลาด ต้นทุน การบริหารการจัดการและการบริหารด้านการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ ดังนั้นการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประกอบวิชาชีพเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวหรือเป็นผู้บริหารมืออาชีพ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ด้านการเงินและการตลาดทั้งสิ้น นับว่า เป็นการออมในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเราสามารถจะได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่คุ้มค่า

2. การออมในรูปแบบของกองทุน RMF เพื่อลดภาษีสำหรับหลาย ๆ ท่านที่มีรายได้มากและมีฐานการเสียภาษี
ที่แพงมาก การลงทุนในรูปแบบกองทุน RMF นั้นจะช่วยท่านประหยัดภาษีได้มาก เพราะนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายก่อนคิดฐานภาษีซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ก็สนับสนุนให้ประชาชนมีรูปแบบในการออมแบบนี้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินต่าง ๆ จะนำเสนอผลตอบแทนต่าง ๆ กัน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นดังนี้

2.1 กองทุนตราสารหนี้
2.2 กองทุนหุ้น
2.3 กองทุนลูกผสมระหว่างตราสารหนี้กับหุ้น

การลงทุนใด ๆ ก็ตาม จะมีเรื่องผลตอบแทนกับความเสี่ยงเป็นของคู่กัน กล่าวคือ ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตาม ผลตอบแทนต่ำ ความเสี่ยงก็ต่ำตาม

สำหรับ “ผู้ลงทุนที่มีอายุค่อนข้างมาก กว่า 45 ปี” ควรเลือกการลงทุนเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งจะได้ผลตอบแทนประมาณ 3-5% ต่อปี และมีความเสี่ยงน้อย

สำหรับ “ผู้ลงทุนที่มีอายุยังน้อยคือต่ำกว่า 30 ปี” และต้องการผลตอบแทนสูง ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นได้ แต่ไม่ควรลงทุนเกิน 30-40% ของเงินออมของท่านที่มีอยู่

แต่สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนปานกลาง มีความเสี่ยงปานกลาง ก็ให้ลงทุนในกองทุนลูกผสมระหว่างตราสารหนี้กับหุ้น ทั้งนี้การออมเงินในรูปแบบการลงทุนใด ๆ ควรจะศึกษาหาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งมีสถาบันการเงินและสถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่งจัดอบรมให้ความรู้ด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ

3. การออมในรูปแบบของการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ บริษัทประกันชีวิตได้ออกแบบไว้สำหรับหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานอายุประมาณ 30-40 ปี โดยมีการจ่ายเบี้ยประกันด้านสะสมทรัพย์และประกันสุขภาพประมาณ 20 ปี ซึ่งก็จะมีรูปแบบของเงินชดเชยรายได้เมื่อต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และจ่ายคืนเมื่อครบกำหนดตามสัญญากรมธรรม์ เมื่อถึงตอนเราอายุ 45-50 ปี เราจะได้เงินคืนเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตอนอายุมาก สำหรับผู้เขียนนั้น ใน พ.ศ. 2554 จะได้รับคืนเป็นเงิน 750,000 บาท และส่วนของภรรยาที่ทำพร้อมกันจะได้รับคืน 750,000 บาท ใน พ.ศ. 2555 เช่นกัน ตอนทำงานใหม่ ๆ มีกำลังที่จะหารายได้มาก ๆ ก็ควรแบ่งส่วนหนึ่งมาทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์บ้าง อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันอย่างหนึ่ง ดังนั้น การออมเงินแบบทำประกันรูปแบบนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการออมเงินได้ ซึ่งในระยะยาว ตอนอายุมากก็จะมีเงินก้อนใหญ่ใช้ อาจมีบางท่านบอกว่าเก็บเงินไว้กับตัวเองก็ได้ ผู้เขียนก็เคยมีความคิดแบบนี้ แต่คนที่จะเก็บเงินจะต้องเป็นคนที่มีวินัยการเงินเข้มงวดจริง ๆ จึงจะเก็บเงินไว้ได้โดยไม่นำมาใช้ก่อนเวลา 20 ปี

สำหรับท่านที่มีรายได้ค่อนข้างมากและรับความเสี่ยงสูงได้ การออมในรูปแบบที่ลงทุนในหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ทั้งนี้ควรลงทุนไม่เกิน 40% ที่มีอยู่

ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สำหรับท่านที่มีรายได้ดีอย่างสม่ำเสมอ และมีเงินเหลือเก็บมากพอ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของการซื้อคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย บ้านหรือที่ดินที่มีศักยภาพ ก็เป็นรูปแบบการออมในระยะยาวรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ ควรจะศึกษาหาข้อมูลเรื่องราคาที่ดิน อัตราการเช่าและการสร้างสาธารณูปโภค การสร้างระบบขนส่งมวลชน เช่น แนวรถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถไฟลอยฟ้า

การออมเงินนั้น ขึ้นอยู่กับรายได้และรายจ่ายเป็นหลักใหญ่แต่มีผู้รู้และมีประสบการณ์ให้แง่คิดไว้ คือ “การตั้งเป้าหมายเงินออมไว้ก่อนใช้” ว่าจะออมเท่าไรในแต่ละเดือน แล้วค่อยทำบัญชีควบคุมรายจ่ายให้อยู่ในงบประมาณ แต่อย่าคิดว่าใช้ไปก่อน
แล้วเหลือเท่าไรแล้วค่อยเก็บ ถ้าทำแบบนี้ท่านจะไม่ค่อยเหลือเก็บเพราะไม่มีเป้าหมายการเก็บเงินและการออมอย่างชัดเจนว่า จะนำเงินไปลงทุนทำอะไร

ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “การออมเพื่อการศึกษา” มาเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2531 ผมและเพื่อน ๆ ร่วมกันเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ผมได้รับเด็กที่จบสายช่าง จบ ปวช. คนหนึ่งมาร่วมงาน เด็กคนนี้ขยันทำงานมาก และได้ขออนุญาตผมเลิกงานตอน 4 โมงเย็นเพื่อขอไปเรียนต่อ ปวส. ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งผมได้ให้การสนับสนุน เมื่อเขาทำงานสัก 2 ปี ก็มาขออนุญาตไปเรียนต่อปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหกรรม ที่สถาบันเดิมผมได้ให้การสนับสนุนเรื่องเรียนและช่วยเหลือเรื่องเงินไปบ้างเพราะเห็นว่าลูกน้องคนนี้ทำงานดีมาก และขยันมาก ต่อมาเขาก็มาขอเรียนต่อปริญญาโท MBA ที่นิด้าอีกในวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลา 2 ปี

เขาเรียนจนจบปริญญาโทใน พ.ศ. 2549 วิศวกรคนนี้ช่วยงานและร่วมงานกับผมเป็นเวลา 18 ปี และเขาก็ย้ายไปร่วมงานกับบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผมได้ทราบข่าวว่าเขาได้รับเงินเดือนกว่าแสนบาทและมีรถประจำตำแหน่งเป็นรถโตโยต้า แคมรี่

ผมก็ดีใจกับลูกน้องคนนี้มาก ลูกน้องคนนี้เขาได้ “สะสมวิชาความรู้และประสบการณ์จากผมและจากการทำงานร่วมกัน” อีกทั้งยังได้เก็บเงิน โดยใช้หลัก “ออมเงินเพื่อการศึกษา” เพื่อศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา จนประสบความสำเร็จในชีวิตทำงานในระดับหนึ่ง ผมเองก็ได้ใช้ “หลักการออมเพื่อการศึกษา” เช่นกันผมเก็บเงินเพื่อเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาใน พ.ศ. 2532 การเรียน MBA นั้นทำให้ผมมีความรู้ด้านการตลาด บัญชี การเงิน และบริหารการจัดการ เมื่อผมเปิดบริษัทและทำธุรกิจผมจึงมีความรู้และเข้าใจในระบบบัญชีและการเงินทำให้สามารถบริหารบริษัทให้ก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า “การออมเพื่อการศึกษา” นั้นสำหรับตัวเราแล้ว เมื่อศึกษาเพิ่มเติมในแขนงวิชาต่าง ๆ ที่สนับสนุนการทำงานของเราแล้ว เราก็จะสามารถ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” และ “คุณค่าเพิ่ม”ให้แก่ตัวเราได้ แล้วท่านผู้อ่านมีความสนใจที่จะ “สร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่ม” ให้แก่ตัวเองโดยใช้หลักการออมนี้ท่านลองพิจารณาแนวทางนี้ดู

การออมทางธรรมะ การออมทางธรรมะ คือ การสะสมบุญ ซึ่งผู้ออมหรือผู้ปฏิบัติธรรมจะมีการสร้างบุญในรูปแบบต่าง ๆ เป็นการพัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจ ซึ่งจะมีผลตอบแทนเป็นความสงบสุขทางจิตใจและมีสมาธิมากขึ้น

การสร้างบุญบารมีในทางพุทธศาสนาคือการทำความดีเพื่อทำให้จิตใจสงบสุขและมีความสุขในระยะยาว ซึ่งเป็นการลงทุนในปัจจุบัน แต่จะมีผลในอนาคต ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนหรือการออมอย่างหนึ่ง

การสร้างบุญบารมีมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ

  1. การให้ทาน
  2. การถือศีล
  3. การเจริญภาวนา

1. การให้ทาน คือ การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตัวเราให้แก่คนอื่น โดยมุ่งหวังให้คนอื่นได้รับประโยชน์และมีความสุข ด้วยความเมตตาจิต

การให้ทานจะได้บุญมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการคือ

องค์ประกอบที่ 1 คือ วัตถุที่ให้ต้องบริสุทธิ์ วัตถุสิ่งของที่ตนสละให้เป็นทานนั้น จะต้องเป็นของบริสุทธิ์ซึ่งต้องได้มาจากการประกอบสัมมาอาชีพ ไม่ใช่เป็นของเบียดเบียนผู้อื่นมา เช่น ได้มาโดยทุจริต ลักทรัพย์ ยักยอกหรือปล้นชิงทรัพย์

องค์ประกอบที่ 2 คือ เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์ การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็คือเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่ ขี้เหนียว ความหลงใหลในสมบัติตน อันเป็นกิเลสหยาบ การให้ทานเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุข ด้วยความมีเมตตาธรรม ทั้งนี้เจตนาในการทำทานบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะให้บริสุทธิ์จริงจะต้องถึงพร้อมด้วยกัน 3 ระยะ คือ

  1. ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะให้ทานนั้น มีจิตใจเบิกบาน ยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สินของตนหรือไม่
  2. ระยะที่ลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังลงมือให้ทานนั้น ทำด้วยจิตใจที่ยินดีเบิกบาน ในทานที่ตนกำลังให้คนอื่นหรือไม่
  3. ระยะหลังจากให้ทานแล้ว เมื่อเราให้ทานไปแล้ว เราหวนคิดถึงทานที่ตนให้นั้น เรามีความสุข ยินดีมากน้อยเพียงไร
    ไม่ใช่กลับคิดเสียดาย ดังนั้น การจะได้บุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเจตนาที่บริสุทธิ์ทั้งก่อนทำและหลังทำ
    องค์ประกอบที่ 3 คือ เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์ คำว่าเนื้อนาบุญหมายถึงบุคคลที่ได้รับทานนั้น หากบุคคลที่รับทานเป็นผู้มีศีลธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็จะเกิดผลบุญมาก

2. การรักษาศีล คือการดูแลตนเองให้อยู่ในข้อปฏิบัติที่เหมาะสมและเคร่งครัดตามฐานะและเพศภาวะ เช่น คนธรรมดาก็รักษาศีล 5 ผู้รักษาศีลเคร่งครัดอย่างสามเณรหรือแม่ชีก็รักษาศีล 8, 10 แต่ถ้าเป็นพระภิกษุซึ่งเป็นบรรพชิตเพศ ต้องรักษาศีล 227 ข้อ การรักษาศีลช่วยทำให้กิเลสตัณหาของผู้รักษาศีลลดลง

การรักษาศีลในทางพุทธศาสนาถือว่าได้บุญมากกว่าการให้ทาน การรักษาศีลนั้นมุ่งที่จะ “รักษากายและวาจา” ให้อยู่ในระเบียบและข้อปฏิบัติที่เหมาะสมและดีงาม เพื่อทำให้กิเลสตัณหาลดลงเท่านั้น

3. การภาวนา มุ่งเน้นที่ “รักษาจิตใจ” และซักฟอกจิตใจให้บริสุทธิ์และสงบสุข ซึ่งจะเป็นหนทางที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถ ฝึกจิตใจและฝึกสมาธิ วิปัสสนาต่อไป การเจริญภาวนาเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด ซึ่งเป็นแก่นแท้ในพุทธศาสนา แบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ

  1. สมถภาวนา คือ การทำสมาธิ
  2. วิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญปัญญา

สมถภาวนา คือการทำจิตใจให้เป็นสมาธิหรือเป็นฌานการทำจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่อารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปอารมณ์อื่น ๆ

การทำสมาธิจะทำให้จิตใจสงบนิ่ง ส่วน วิปัสสนาภาวนาคือการทำให้จิตสงบนิ่งแล้วใช้จิตใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรม
ทั้งหลาย สิ่งที่เป็นอารมณ์อย่างเดียวของวิปัสสนาคือ “ขันธ์ ๕” ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ดังที่กล่าวมาข้างต้น การสร้างบุญบารมีนั้น เป็นการลงทุนในระยะยาว “การให้ทาน” เพื่อทำให้ผู้ปฏิบัติมีความโลภน้อยลงมีความคิดที่จะช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น โดยรู้จักฝึกจิตใจด้วยการเสียสละทรัพย์สินสิ่งของช่วยเหลือผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็รู้จักดูแลตนเองให้อยู่ในข้อปฏิบัติที่ดีงามและเหมาะสม ทั้งด้านร่างกายโดยการรักษาศีล ๕ และดูแลจิตใจให้สงบนิ่งด้วยสมถภาวนานั่งสมาธิวิปัสสนา

การออมทางธรรมะนั้น มุ่งเน้นที่จะให้ผู้ออมหรือผู้ปฏิบัติค่อย ๆ “สะสมการทำบุญและเจริญภาวนานั่งสมาธิทีละน้อย เพื่อพัฒนาจิตใจของผู้ออม” ในปัจจุบัน เพื่อผลของ “จิตใจที่สงบนิ่ง มีสมาธิและมีความสุข” ในอนาคต

ผลของการสะสมเงินทองที่ท่านออมทางวัตถุนั้น เมื่อถึงวาระหนึ่งแล้ว การออมทางวัตถุก็อาจจะหมดสิ้นไปตามสังขารและวาระสุดท้ายของเจ้าทรัพย์สินนั้น ๆ แต่ “การออมทางธรรมะ” คือ “การสร้างบุญ” ของท่านนั้น เมื่อวาระสุดท้ายของท่าน ผลของการสร้างบุญโดยประกอบคุณงามความดีและช่วยเหลือผู้คนแล้ว ไม่มีวันสิ้นสลายไปไหน เพราะว่ามันจะอยู่ในใจของผู้คนที่ท่านช่วยเหลือคนเหล่านั้นและอยู่ในจิตใจของคนทั่วไป แล้วท่านผู้อ่านละครับท่านคิดว่าควรจะออมทางวัตถุดีหรือจะออมทางธรรมะดี หรือว่าจะออมทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน เพื่อท่านจะได้มีทรัพย์สินใช้เพื่อความสุขทางร่างกายและมีผลของบุญที่ท่านสร้าง เพื่อความสุขทางด้านอารมณ์และจิตใจ ท่านเท่านั้นครับจะเป็นผู้เลือกในการออมครั้งนี้


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย พิสิฐชัย ปัญญาพลังกูล วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save