“การศึกษา” VS “ทฤษฎี”

“การศึกษา” VS “ทฤษฎี”


ทฤษฎี หรือ Theory ที่เหมือนเรื่องไกลตัว แท้จริงแล้วใกล้ตัวเราอย่างยิ่ง เกือบทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้องล้วนต้องอาศัยทฤษฎีไม่ว่าเพื่อการนำไปใช้ผลิตสินค้าออกมาขาย เพื่อการออกแบบระบบบริหาร หรือแม้แต่เพื่อหาวิธีในการดูแลลูกหลานของเราเอง

หลายคนบอกไม่จริง ตั้งแต่เกิดมาจนจะตายอยู่แล้ว ยังไม่เห็นได้รู้จักเลยสักทฤษฎีใครที่รู้สึกเช่นนั้นก็ไม่แปลกครับ เพราะทฤษฎีเป็นเหมือนฉากหลังก่อนที่จะให้กำเนิดเป็นผลหรือเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์พืชฝังอยู่ใต้ดินที่มองไม่เห็น แต่เราก็ได้กินผลของมันจากต้นบนดิน

หากอยากจะพูดถึงชีวิตแบบปลอดทฤษฎีจริง ๆ ก็คงต้องย้อนอดีตไปตั้งแต่ก่อนจะมีหลักวิชาการ หรือก่อนจะมีนักวิชาเกินออกมามีบทบาทในสังคม ในยามที่บรรพบุรุษพวกท่านอยู่ และเติบโตมาได้โดยไม่ต้องอาศัยทฤษฎี

แต่การบอกว่าไม่มีทฤษฎีไม่ใช่หมายความว่า พวกท่านไม่มีความรู้นะครับ บรรพบุรุษเรามีความรู้มากมายมหาศาลเกินกว่าที่เราคิดไว้เยอะ ท่านเก็บผ้าที่ตากก่อนฝนจะตกได้โดยไม่ต้องพึ่งการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ท่านปลูกพืชผักเจริญสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยจากวิชาเคมี ท่านเดินเรือหาปลาได้โดยไม่ต้องพึ่งโชนาร์นำทาง

ความรู้เหล่านี้สะสมและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ดำรงอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับความรู้นั้น ชุมชนชายทะเลก็มีภูมิรู้เรื่องประมงชุมชนชาวเขาก็มีความรู้เรื่องป่า ชุมชนชาวเมืองก็มีความรู้เรื่องค้าขายแต่มาเดี๋ยวนี้เรามีการจัดการความรู้ มีการรวบรวม ทดสอบ พัฒนาองค์ความรู้จนออกมาเป็นทฤษฎีให้ชนรุ่นหลังได้นำไปใช้ ฟังดูน่าจะดีแต่เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไม ทำไปทำมาดูเหมือนทฤษฎีทั้งหลายกลับไม่สามารถสู้กับภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ได้ โดยเฉพาะในแง่การใช้งานจริง

นั่นเพราะวิชาการสมัยใหม่เป็นการเรียนแบบแยกส่วน ซึ่งอาจทำให้ดูมีสาระละเอียดลึกซึ้ง แต่เมื่อนำมาใช้ในชีวิตจริง ที่มีองค์ประกอบแวดล้อมอีกมาก ทฤษฎีนั้นจึงทำงานไม่สำเร็จ และหากนึกให้ดีอาจเห็นว่าต้นทางแห่ความล้มเหลวในการเรียนนั้น เริ่มกันมาตั้งแต่ “วัตถุประสงค์” และ “เป้าหมาย” ของการเรียนเลยทีเดียว

ถามว่าเราเรียนเพื่ออะไร “เรียนเพื่อรู้” หรือ “เรียนเพื่อใช้” คำตอบนั้นชัดเจนว่า เราย่อมต้องเรียนเพื่อนำไปใช้งาน แต่สิ่งที่ระบบการเรียนยุคนี้สอน กลับพาเด็ก ๆ ไปเรียนเพื่อ (สอบวัด) ความรู้ หรือเพื่อใบปริญญา ซึ่งไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนนำไปใช้งานจริงได้ เช่นนี้เด็กยิ่งเรียนยิ่งช่วยตัวเองไม่ได้ ยิ่งคิดไม่เป็น ยิ่งใช้ชีวิตไม่ถูก ขณะที่เป้าหมายของการเรียนยุคนี้ก็เป็นไปเพื่อการ “หาเงิน” มิใช่เรียนไปเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างประสบกับความสุขที่แท้

จะปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มที่จะกล้าเชื่อว่า ทฤษฎีจำนวนมากหรือเกือบทั้งหมดที่ผลิตหลักสูตรการ์ศึกษาเช่นนี้ขึ้นมานั้นยังไม่เหมาะสมนัก โดยเฉพาะทฤษฎีที่ว่า

เงิน” = “ความสุข

หากไม่กล้ารื้อฐานความรู้ ความเชื่อเดิมนี้ทิ้ง จะปฏิรูปการศึกษาอีกกี่รอบก็ช่วยไม่ได้ครับ แล้วถ้าไม่เอาการศึกษาแบบที่ใช้กันอยู่ จะเอาการศึกษาแบบไหน?

ก่อนตอบลองย้อนไปดูถึงที่มาของการศึกษาก่อนสักนิดดีไหมครับ

ศึกษา” ที่เราเรียกกันจนชินหูนั้นรากเดิมมาจากคำว่า “สิกขา” หรือถ้าให้เต็มก็คือ

“สิกขา 3” อันประกอบด้วย สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา หรือศีล สมาธิ ปัญญา ที่ชาวพุทธเราคุ้นเคยกันดีนั้นจะมีการะบุเป้าหมายอย่างชัดเจนเป็น 3 ระดับ คือการศึกษา

  • เพื่อประโยชน์ปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ
  • เพื่อประโยชน์ภายหน้า เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ และ
  • เพื่อประโยชน์อย่างยิ่งคือ นิพพาน อันเรียกว่า ปรมัตถะ

ส่วนเริ่มตันคือศีลหรือความเป็นปกตินั้นก็ยังมีการแยกที่ตัวผู้เรียนอีก 2 กลุ่มคือ อาคาริยะ คือศีลสำหรับผู้ที่ครองเรือน เช่น ศีล 5 กับอนาคาริยะ คือศีลสำหรับผู้ที่ไม่มีเรือน บรรพชิต ผู้บวช ลำดับต่อมาคือจิตตสิกขา คือสมาธิ คือการศึกษาอบรมจิตให้สงบจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสิ่งที่ปิดกั้นสมาธิ 5 ข้อ คือ

  1. กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในวัตถุที่น่ารัก น่าพอใจ
  2. พยาบาท ความไม่พอใจ โกรธแค้น มุ่งทำลาย
  3. ถิ่นมิทธะ ความง่วงงุน
  4. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
  5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

และขั้นสุดท้ายปัญญาสิขา คือการศึกษาให้รู้ถึงเหตุและผลตามความจริง ที่เรียกว่า สัมมัปปัญญา (ส่วนรู้ผิดเรียกว่า มิจฉาปัญญา นอกจกนี้ยังมีการแยกประเภทความรู้ออกเป็นอีก 3 ประเภทคือ ความรู้ที่เกิดจากการฟัง การอ่าน เรียกว่า สุตมัยปัญญา ความรู้ที่เกิดจกการคิด พิจารณา เรียกว่า จินตามัยปัญญา และความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้ง เรียกว่า ภาวนามัยปัญญา

เห็นไหมครับว่าเมื่อย้อนไปดูแล้วจะพบว่าปราชญ์ของเราท่านแจกแจงไว้อย่างงดงามยิ่ง เริ่มตั้งความชัดเจนในการสิกขาว่า คือการนำไปใช้ ไม่ใช่เพื่อเกียรติบัตรใด ๆ ต่อด้วยการกำหนดระดับเป้าหมายคือประโยชน์ของการสิกขานั้นว่า ต้องการประโยชน์ในระดับใด จึงได้แนวทางที่เหมาะแก่กลุ่มผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ที่จะเข้าสู่หลักสูตรที่ไล่ไปตั้งแต่พื้นฐานเตรียมความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ ค่อย ๆ พัฒนาลำดับขั้นความรู้ไปจนถึงจุดสูงสุดซึ่งก็คือปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริง อันจะนำมาซึ่งความผาสุกของผู้ศึกษาอย่างแท้จริง

แต่ที่สำคัญคือการสิกขานี้ ไม่ได้มีผลลัพธ์เป็นเงิน ซึ่งตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ผิดว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับความสุข แต่ตัดตรงเข้าสู่เครื่องมือที่แท้ที่จะนำสุขมาให้ นั่นคือ “การวาง” “การละ” การไม่ยึดมั่น ถือมั่น

ศึกษาแล้วให้ได้เช่นนี้ ถึงจะได้ประโยชน์จริง

เป็นหลักสูตร เป็นวิชาที่เรียนแล้วนำไปปฏิวัติตัวเองได้จริง


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา วศ.28

ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา : ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร MIT Sloan Executive Education Program ในหัวข้อ Blockchain Technologies: Business Innovation and Application ติดตามได้ที่ wmw.Kid-mai.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save