ระบบไฟฟ้าธนาคาร

ระบบไฟฟ้าธนาคาร


ธนาคารคือหน่วยธุรกิจที่ให้บริการออมเงินและให้สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ บริการบัตรเครดิต เบื้องหลังการให้บริการเหล่านี้ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ที่รู้จักกันในนาม ศูนย์คอมพิวเตอร์ (Data Center) ศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคารทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการ เช่น ประวัติส่วนตัว ยอดเงินคงเหลือในบัญชี การฝาก-ถอน-โอนเงิน การใช้สินเชื่อ รวมถึงการคำนวณดอกเบี้ยต่าง ๆ ทั้งส่วนที่เป็นเงินฝากและสินเชื่อ การทำงานของศูนย์คอมพิวเตอร์อยู่ในลักษณะ Real Time จากความสำคัญของศูนย์คอมพิวเตอร์ข้างต้น จะเกิดอะไรขึ้นหากในระหว่างที่เรากำลังฝากเงินผ่านตู้ฝากเงินอัตโนมัติ หรือ โอนเงินไปยังคู่ค้าแล้วศูนย์คอมพิวเตอร์หยุดการทำงานเพราะไฟฟ้าดับ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจสร้างผลกระทบอย่างมากมาย ดังนั้น ระบบไฟฟ้าสำหรับระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์คอมพิวเตอร์จึงต้องมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงอย่างมาก เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

โดยทั่วไประบบจ่ายไฟฟ้าสำหรับศูนย์คอมพิวเตอร์มีส่วนประกอบสำคัญ คือ

  1. แหล่งจ่ายไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ส่วนประกอบนี้รวมถึงส่วนรับไฟฟ้าแรงสูง (Ring Main Unit) หม้อแปลงซึ่งทำหน้าที่ในการปรับแรงดันจากระบบส่งจ่ายของการไฟฟ้า ให้เป็นแรงดันต่ำเพื่อจ่ายให้แก่ส่วนถัดไป
  2. แผงกระจายไฟฟ้าหลัก (Main Distribution Board, MDB) ทำหน้าที่รับไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าจากการไฟฟ้าและจ่ายให้แก่แผงกระจายไฟฟ้ารอง หรืออุปกรณ์ขนาดใหญ่
  3. แผงสวิตช์กระจายไฟฟ้า (Main Switch Board, MSB) เป็นแผงจ่ายไฟฟ้าหลักสำหรับศูนย์คอมพิวเตอร์
  4. แผงกระจายไฟฟ้า (Power Distribution Unit, PDU) เป็นแผงจ่ายไฟฟ้าย่อยซึ่งอยู่ใกล้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มากที่สุด
  5. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เป็นอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าสำรอง ที่สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง
  6. อุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง (Uninterruptible Power Supply, UPS) เป็นอุปกรณ์ที่มีแหล่งเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองสามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดช่วงในเสี้ยววินาทีที่ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขาดหายไป โดยทั่วไปใช้จ่ายไฟฟ้าในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะทำงาน

สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ได้ออกมาตรฐานดาตาเซนเตอร์สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดประเภทของระบบจ่ายไฟฟ้าแบ่งตามความต่อเนื่องในการจ่ายไฟฟ้าของแผงกระจายไฟฟ้าหลัก (Main Distribution Board, MDB) และแผงสวิตช์กระจายไฟฟ้าสำหรับศูนย์คอมพิวเตอร์ออกเป็น 5 ประเภท

ระบบไฟฟ้าประเภท 0

รับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเพียงแหล่งเดียว จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ศูนย์คอมพิวเตอร์ด้วยเส้นทางเดียว ไม่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องรองรับ มีเพียงเครื่องคุมค่าแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติอุปกรณ์ป้องกันเสิร์จและมีระบบต่อลงดินอย่างถูกต้อง ระบบไฟฟ้าประเภทนี้หากกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขาดหายไป หรือมีการบำรุงรักษาหม้อแปลง แผงกระจายไฟฟ้าจะต้องหยุดการทำงานของศูนย์คอมพิวเตอร์

ระบบไฟฟ้าประเภท 0

ระบบไฟฟ้าประเภท 1

รับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเพียงแหล่งเดียว จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ศูนย์คอมพิวเตอร์ด้วยเส้นทางเดียวมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง (UPS) อย่างละ 1 ชุด รองรับ ระบบไฟฟ้าประเภทนี้หากกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขาดหายไป ในเสี้ยววินาทีแรก UPS จะจ่ายกระแสให้แก่ศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อรอให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงาน และจ่ายไฟฟ้าแทนแหล่งจ่ายจากการไฟฟ้า แต่ถ้ามีการบำรุงรักษาหม้อแปลง แผงกระจายไฟฟ้าทั้งระบบจะต้องหยุดการทำงานของศูนย์คอมพิวเตอร์

ระบบไฟฟ้าประเภท 1

ระบบไฟฟ้าประเภท 2

รับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเพียงแหล่งเดียว จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ศูนย์คอมพิวเตอร์ด้วยเส้นทางเดียว แต่มี อุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง (UPS) มากกว่า 1 ชุดซึ่งสามารถทำงานทดแทนกันได้ (Redundancy) และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ชุด รองรับระบบไฟฟ้าประเภทนี้หากกระแสจากการไฟฟ้าขาดหายไป ในเสี้ยววินาทีแรก UPS จะจ่ายกระแสให้แก่ศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อรอให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงานและจ่ายกระแสแทนแหล่งจ่ายจากการไฟฟ้า หาก UPS ตัวใดตัวหนึ่งชำรุด UPS ที่เหลือจะจ่ายไฟฟ้าแทนได้อย่างเพียงพอแต่ถ้ามีการบำรุงรักษาแผงกระจายไฟฟ้าหลัก หรือแผงสวิตช์กระจายไฟสำหรับศูนย์คอมพิวเตอร์ จะต้องหยุดการทำงานของศูนย์คอมพิวเตอร์

ระบบไฟฟ้าประเภท 2

ระบบไฟฟ้าประเภท 3

รับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเพียงแหล่งเดียว แต่แยกแผงกระจายไฟฟ้าหลักออกเป็น 2 ชุด คือ ชุด A และ B โดยที่แผงกระจายไฟฟ้าหลัก A จะติดตั้งอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง (UPS) มากกว่า 1 ชุดซึ่งสามารถทำงานทดแทนกันได้ (Redundancy) และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ชุด รองรับส่วนแผงกระจายไฟฟ้าหลัก B จะเป็นแผงเสริมโดยจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ศูนย์คอมพิวเตอร์ทั้ง 2 เส้นทาง แต่เส้นทางหลักจะมาจากแผงกระจายไฟฟ้าหลักที่มี UPS โดยที่ตู้ใส่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่ละตู้จะรับไฟฟ้าจากแผงกระจายไฟฟ้า 2 แหล่งที่มาจากคนละเส้นทาง ระบบไฟฟ้าประเภทนี้หากกระแสจากการไฟฟ้าขาดหายไป ในเสี้ยววินาทีแรก UPS จะจ่ายกระแสให้แก่ศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อรอให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงานและจ่ายกระแสแทนแหล่งจ่ายจากการไฟฟ้า หาก UPS ตัวใดตัวหนึ่งชำรุด UPS ที่เหลือจะจ่ายไฟฟ้าแทนได้อย่างเพียงพอ สามารถทำการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าเส้นทางหลักได้โดยจ่ายไฟฟ้าผ่านทางเส้นทางเสริม แต่ในระหว่างนั้นจะมีความเสี่ยงหากไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขาดหายไป ศูนย์คอมพิวเตอร์จะหยุดการทำงาน

ระบบไฟฟ้าประเภท 3

ระบบไฟฟ้าประเภท 4

รับไฟฟ้าจากการไฟฟ้า 2 สถานีจ่ายไฟฟ้าย่อมมีแผงกระจายไฟฟ้าหลัก เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง แผงสวิตช์กระจายไฟฟ้าและแผงกระจายไฟฟ้าอย่างละ 2 ชุดที่แยกอิสระจากกัน และจ่ายไฟฟ้าเข้าศูนย์คอมพิวเตอร์พร้อมกัน โดยที่ตู้ใส่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่ละตู้จะรับไฟฟ้าจากแผงกระจายไฟฟ้า 2 แหล่งที่มาจากคนละเส้นทางระบบไฟฟ้าประเภทนี้หากกระแสจากการไฟฟ้าขาดหายไปในเสี้ยววินาทีแรก UPS แต่ละฝั่งจะจ่ายกระแสให้แก่ศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อรอให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงานและจ่ายกระแสแทนแหล่งจ่ายจากการไฟฟ้าในแต่ละฝั่ง หาก UPS ตัวใดตัวหนึ่งชำรุด UPS ที่เหลือจะจ่ายไฟฟ้าแทนได้อย่างเพียงพอ เมื่อมีการบำรุงรักษาแผงกระจายไฟฟ้าหลักหรือแผงสวิตช์กระจายไฟฟ้าฝั่ง A แผงกระจายไฟฟ้าหลัก B จะจ่ายไฟฟ้าแทนได้ทั้งหมดทันที

ระบบไฟฟ้าประเภท 4

ศูนย์คอมพิวเตอร์จึงไม่หยุดการทำงานศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคารรุ่นเก่าซึ่งก่อสร้างในช่วง พ.ศ.2540 หรือก่อนหน้านั้น หากเทียบกับมาตรฐานดาตาเซ็นเตอร์สำหรับประเทศไทยของ วสท ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้ระบบจ่ายไฟฟ้าประเภทที่ 2 ซึ่งเหมาะกับการให้บริการด้านธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ในระบบธนาคารในอดีต ซึ่งเวลาเปิดทำการของธนาคารคือจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 8.30 ถึง 15.30 น. ดังนั้น ระหว่างไม่มีการทำธุรกรรมต่าง ๆ จึงสามารถปิดระบบภายในศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อทำการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าของระบบจ่ายไฟฟ้าได้ แต่ด้วยพฤติกรรมการทำธุรกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนไปมีการทำธุรกรรมในรูปแบบ Online เพิ่มขึ้น ระยะเวลาในการให้บริการเปลี่ยนเป็นการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดจึงทำให้การปิดระบบของศูนย์คอมพิวเตอร์ที่จ่ายไฟฟ้าด้วยระบบจ่ายไฟฟ้าประเภทที่ 2 เพื่อทำการบำรุงรักษาอุปกรณ์หลักของระบบจ่ายไฟฟ้าทำไม่ได้อีกต่อไป

เพื่อให้สามารถบำรุงรักษาระบบจ่ายไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพ โดยไม่กระทบกับการให้บริการและจ่ายไฟฟ้าได้ แม้มีอุปกรณ์บางส่วนชำรุด ระบบจ่ายไฟฟ้าศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคารที่เหมาะกับการให้บริการธุรกรรมในปัจจุบันอย่างน้อยจะต้องเป็นประเภทที่ 3 และดีที่สุดคือประเภทที่ 4 หรืออาจอยู่กึ่งกลางระหว่างประเภทที่ 3 กับ 4 คือ รับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเพียงแหล่งจ่ายเดียวอย่างประเภทที่ 3 แต่แยกแผงกระจายไฟฟ้าหลัก เครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง และแผงสวิตช์กระจายไฟฟ้า อย่างละ 2 ชุดที่แยกอิสระจากกัน และจ่ายไฟฟ้าเข้าศูนย์คอมพิวเตอร์พร้อมกันอย่างประเภทที่ 4 ซึ่งทำได้ง่ายกว่าและเร็วกว่าที่จะทำประเภทที่ 4 อย่างเต็มระบบ เนื่องจากการรับไฟฟ้าจากสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย 2 สถานี ใช้ระยะเวลาและเงินลงทุนที่สูงกว่า และยังสามารถใช้ในการปรับปรุงศูนย์คอมพิวเตอร์ที่มีระบบจ่ายไฟฟ้าของศูนย์คอมพิวเตอร์ประเภทที่ 2 ได้ด้วย แต่จะต้องกำหนดขั้นตอนในการทำ งานที่ละเอียดเพื่อลดความเสี่ยงในระหว่างการปรับปรุงอย่างมาก


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เก็บมาฝาก โดย จงพจน์ จิวรววิวัฒน์ วศ.31


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save