วานิช นพนิราพาธ วศ.2529 Managing Director, Beca (Thailand) Company Limited

วานิช นพนิราพาธ วศ.2529 Managing Director, Beca (Thailand) Company Limited


บริษัท Beca เป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ มีพนักงานทั่วโลกกว่า 3,000 คน และ มีสำนักงานสาขามากกว่า 10 แห่งทั่วโลก รวมทั้งสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นการควบรวมกิจการกับบริษัท วอร์นส์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด

ผลงานของบริษัทในประเทศไทยที่น่าสนใจมีมากมาย เช่น FYI Center, Maha Nakhon, Satorn Square และล่าสุด Samyan Mitrtown เชิญพบกับบทสัมภาษณ์ชาวอินทาเนียรุ่นใหม่ที่พาตัวเองผ่านวิกฤต 3 ครั้งในแต่ละช่วงมาได้สำเร็จ วานิช นพนิราพาธ Managing Director, Beca (Thailand) Company Limited

ก่อนจะมาเรียนวิศวฯ จุฬาฯ …วิกฤตครั้งแรก

ผมเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระหว่างเรียนก็ทำกิจกรรมมากมาย อยู่วงดุริยางค์ อยู่ชมรมถ่ายภาพ ทำหนังสือรุ่น ไม่ได้ทุ่มเทกับการเรียนเท่าไร จนตอน ม.5 ถึงรู้สึกตัวว่าอีกเพียง 1 ปีต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว แต่เทอมนั้นเกรดก็ออกมาตํ่าสุดในชีวิตคือ 1.47 คิดไม่ออกว่า จะไปเรียนอะไรได้ นี่ถือว่าเป็นวิกฤตครั้งแรกในชีวิตเลย ตอนนั้นนั่งดูข่าวแล้วเห็นคุณหมอท่านหนึ่งออกรถไปช่วยรักษาผู้ยากไร้ เลยคิดว่าอยากลองสอบหมอ ถึงแม้ว่าโอกาสจะน้อยมาก ก็ตั้งใจอ่านหนังสือตอน ม.6 อย่างจริงจัง แต่ อ่านชีววิทยาเป็นวิชาสุดท้าย ตามคาดคือสอบติดวิศวฯ จุฬาฯ ที่เลือกเป็นอันดับ 2 นั่นก็เพียงพอที่จะสร้างความประหลาดใจให้แก่คนรอบข้างได้เป็นอย่างมากแล้ว

บรรยากาศตอนไปค่ายสร้างสะพานยุววิศวกรบพิธ 15 จังหวัดอุทัยธานี
บรรยากาศตอนไปค่ายสร้างสะพานยุววิศวกรบพิธ 15 จังหวัดอุทัยธานี
สะพานค่ายยุววิศวกรบพิธ 17 มี ดริน นพนิราพาธ Intania 71 ภรรยาอยู่ด้วย
สะพานค่ายยุววิศวกรบพิธ 17 มี ดริน นพนิราพาธ Intania 71 ภรรยาอยู่ด้วย

ชีวิตช่วงเรียนวิศวฯ เป็นอย่างไรบ้าง

สมัยเรียนผมเป็นนักกิจกรรมร่วมกับชมรมค่ายอาสาพัฒนาของคณะ ได้ออกค่ายยุววิศวกรบพิธ 15-18 คือไปทุกปี แล้วก็อยู่เกือบตลอด บางปีเปิดเทอมแล้วงานยังไม่เสร็จก็อยู่จนเสร็จ แล้วค่อยกลับมาเรียนช้ากว่าเพื่อน ๆ ไปเป็นอาทิตย์

เพื่อนกลุ่มระรื่น ในรูปจะมี ดร.ทวารัฐ ผอ. สนพ. และสุทธิพันธ์ วรรณวินเวทย์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลจุฬาฯ อยู่ด้วย
เพื่อนกลุ่มระรื่น ในรูปจะมี ดร.ทวารัฐ ผอ. สนพ. และสุทธิพันธ์ วรรณวินเวทย์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลจุฬาฯ อยู่ด้วย

การทำงานในค่ายต่างกับการทำงานบริษัท เพราะการทำงานกับเพื่อน ๆ ที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่า ๆ กัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของงานมากกว่าใคร ไม่มีใครให้เงินเดือนใคร ไม่มีใครตัดเงินเดือนใคร เครื่องมืออย่างเดียวที่ใช้ในการบริหารคนได้จริงคือใจล้วน ๆ บางคนอาจจะไปเรียนหนังสือไม่ทันเข้าคลาส 8 โมงเช้า แต่คนคนเดียวกันนั้น เขาสามารถตื่นมาทำอาหารเช้า ผูกเหล็กตีแบบหรือเทปูนได้เสมอ ๆ

กลุ่มระรื่นกราบแสดงมุทิตาจิตแด่คุณแม่ ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร มารดาของ ดร.ทวารัฐ ที่ทั้งกลุ่มได้เคยใช้บ้านเป็นที่ติวหนังสือ
กลุ่มระรื่นกราบแสดงมุทิตาจิตแด่คุณแม่ ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร มารดาของ ดร.ทวารัฐ ที่ทั้งกลุ่มได้เคยใช้บ้านเป็นที่ติวหนังสือ

ประสบการณ์ในการทำค่ายช่วยให้เราสามารถทำงานกับคนหมู่มากที่มีความเห็นหลากหลายได้ดี ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และมักจะพูดกับทุกคนเสมอว่า ในที่สุด แล้ว เราไม่ได้สร้างเพียงสะพาน เราสร้างคนที่มีจิตสำนึกด้วย ช่วงเรียนอยู่คณะอยู่กับกลุ่มโต๊ะ “ระรื่น” เป็นกลุ่มที่สนุกสนานเฮฮา แต่กลุ่มเราก็มีคนเก่ง ๆ อยู่ในกลุ่มหลายคน ซึ่งก็ช่วยติวให้เพื่อน ๆ จนเรียนจบได้ ติวเตอร์หลักคือ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร และ รศ. ดร.วิษณุ ทรัพย์สมพล ทั้ง 2 ท่านนี้ก็เป็นเพื่อนร่วมกลุ่มที่ทำซีเนียร์โปรเจ็กต์ด้วยกัน เพื่อนกลุ่มนี้ก็ยัง เหนียวแน่น และพบปะกันอย่างสมํ่าเสมอจนทุกวันนี้

กลุ่มทำซีเนียร์โปรเจ็กต์ ดร.วิษณุ และ ดร.ทวารัฐ
กลุ่มทำซีเนียร์โปรเจ็กต์ ดร.วิษณุ และ ดร.ทวารัฐ

กว่าจะมาเป็นวิศวกรโครงสร้าง

อาคาร MahaNakhon และ Satorn Square
อาคาร MahaNakhon และ Satorn Square

ผมเริ่มจากการเป็น วศ.29 หรือ Intania 70 จบวิศวโยธา ก็ทำงานหลายอย่าง แต่ไม่ได้ทำงานออกแบบเลย จนกระทั่งผ่านไป 3 ปีผมถึงได้กลับมาทำงานออกแบบ ต้องใช้ความรู้ที่เรียนมาจากห้องเรียนค่อนข้างมาก แต่ความสามารถในตอนนั้นใกล้เคียงกับวิศวกรจบใหม่ เพราะไม่ได้ทำงานด้านดีไซน์มา 3 ปี ก็ลืมไปเยอะ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรื้อฟื้นวิชาความรู้ ทำงานไปอ่านหนังสือไป ตกเย็นก็เอางานไปปรึกษาพี่ ๆ เพื่อน ๆ กลับบ้านก็หัดใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ว่างก็อ่านเท็กซ์บุ๊ก ทำแบบนี้อยู่ 1 ปีก็ตามคนอื่นทัน ทำแบบนี้ต่อจนปีที่ 2 ก็เริ่มแซงคนอื่น จนได้รับความไว้ใจส่งไปทำงานที่ สวิตเซอร์แลนด์ 3 เดือน

หลังจากกลับมาออกแบบต่อระยะหนึ่ง ก็ออกไซต์คุมงานสร้างสะพานพระราม 3 ในเวลานั้นรัฐบาลลอยตัวค่าเงินบาทพอดี เศรษฐกิจชะงัก สร้างสะพานเสร็จก็ตกงานอยู่พักหนึ่ง มาได้งานที่บริษัท Hyder Consulting จากอังกฤษ ทำได้ 2 ปี ทำงานออกแบบให้แก่โครงการในต่างประเทศ ก่อนที่บริษัทจะทนวิกฤติต้มยำกุ้งไม่ไหวและปิดตัวลง ว่างงานอีกครั้งเกือบปี ก่อนที่จะได้มาทำงานที่บริษัท วอร์นส์ แอสโซซิเอทส์

มีรุ่นพี่ที่เคยสอนงานและนึกถึงเสมอ

ตอนที่ทำงานบริษัท ทักษิณคอนกรีต จำกัด ผมได้มีโอกาสรู้จักรุ่นพี่รุ่น 67 สองท่าน คือคุณสิทธิ ผลเจริญ และคุณกฤษณ์ ศาสตร์วัฒนโรจน์ ทั้ง 2 ท่านได้ให้ความสนิทสนม ช่วยสอนงานทางด้านวิศวกรรมและด้านอื่น ๆ จนผมออกมาทำกิจการ ทั้ง 2 ท่านก็ยังให้ความกรุณาสนับสนุนมาเป็นลูกค้าของบริษัทผมอีกด้วย จนถึงบัดนี้เวลาคิดอะไรไม่ออกก็ยังต้องขอคำปรึกษาท่านทั้ง 2 อยู่

วิกฤตที่สอง….ทำงานมาเกือบ 10 ปี สุดท้ายไม่มีอะไรเหลือ

ผมเคยเป็นพนักงานที่มีรายได้ดีมากทีเดียวในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะขยันทำงานมาก ผมมีความสุขกับการทำงานออกแบบมาก ทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทักษะในการทำงานพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ทำงานประจำได้ดี กลับบ้านก็มีงานส่วนตัว รู้แล้วว่าชีวิตนี้จะทำอาชีพนี้และจะต้องเป็นเจ้าของกิจการให้ได้ แต่ผมตัดสินใจผิดที่ไปกู้เงินซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อเก็งกำไร ต่อมาพอจะมีลูกก็ไปกู้ซื้อบ้านอีกหลัง ทำให้มีหนี้เยอะ ในขณะนั้นดอกเบี้ยอยู่ประมาณ 12% ก็พอที่จะผ่อนไหว แต่หลังจากเกิดวิกฤตต่าง ๆ ดอกเบี้ยเงินกู้ก็กระโดดไปถึง 20% งานส่วนตัวก็หายเกือบหมด งานบริษัทก็ไม่ค่อยดี โบนัส ก็ไม่มี เงินเดือนถูกตัดไป รายได้ลดลงสวนทางกับดอกเบี้ย แถมมีลูกเล็ก ทนผ่อนอยู่หลายปี ก่อนตัดสินใจเดินเข้าไปขอเจรจากับทางธนาคารให้โอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ไปเลย เริ่มจากบ้านแล้วก็คอนโดฯ คือทำงานมาเกือบ 10 ปี สุดท้ายไม่มีอะไรเหลือ เรียกว่า สิ้นเนื้อประดาตัวได้เลย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เที่ยวเตร่ ไม่ได้ฟุ่มเฟือย แต่พอได้เรียนบริหารฯ ถึงเพิ่งเข้าใจว่าเราทำผิดอะไร แต่เวลานั้นรู้สึกไม่กังวลเลย คิดว่ากลับมาได้แน่นอน เพราะคิดว่าตัวเองมีความสามารถแล้ว (แต่ตอนหลังถึงมารู้ว่ายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ) ไม่มีหนี้แล้ว พัฒนาความสามารถไปเรื่อย ๆ เพียงรอโอกาส

ควบตำแหน่งวิศวกรอาวุโส และหุ้นส่วนเจ้าของบริษัท

ตอนนั้น Warnes Associates เพิ่งก่อตั้งมาได้ 6 เดือน มีพนักงานเพียง 8 คน ผมก็อยู่ระหว่างการตั้งสำนักงานตัวเอง ไปลองสมัครงานในตำแหน่ง Associates คือตำแหน่งวิศวกรอาวุโส ได้สัมภาษณ์งานกับคุณ Geoff Warnes กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง อยากได้ผมไปร่วมงานมาก เพราะชอบประวัติ การทำงานและภาษาได้ แต่เงินเดือนที่ผมเรียกไปค่อนข้างสูงจนเขาลังเล ผมเลยขอเวลา 7 วันเพื่อกลับไปคิดข้อเสนอในการเป็นหุ้นส่วน โดยผมจะเอางานส่วนตัวที่ทำอยู่ในปัจจุบันและอนาคตเข้าบริษัท ผ่อนชำระค่าหุ้นโดยหักจากเงินเดือน การเจรจาสำเร็จลง ผมได้เป็น Director และถือหุ้นและมีอำนาจลงลายมือชื่อเท่าเทียมกัน

ช่วงแรก ๆ ของการทำงานบริษัทฯ ก็มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องตามปกติของบริษัทใหม่ ๆ ได้รับเงินเดือนบ้างไม่ได้รับบ้าง ซึ่งถ้ายังผ่อนอะไรอยู่แบบเมื่อก่อนก็คงทำ ไม่ได้ แต่โดยภาพรวมคือบริษัทก็เติบโตแบบก้าวกระโดด จากที่มีกันอยู่เพียง 8 คน กลายมาเป็น 40 คน ภายใน 5 ปี แล้วเพิ่มมาเป็น 70 กว่าคน ในปีที่ 10 ทั้ง ๆ ที่ระหว่างนั้น ก็มีเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดขึ้นหลาย ๆ อย่าง

บริษัทเติบโตได้ด้วยใช้แนวคิดในการแยกสาขาความเชี่ยวชาญ

ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมเห็นว่าบริษัทไทยขนาดเล็ก วิศวกรต้องทำงานให้ได้หลากหลาย เช่น วิศวกรโครงสร้าง ก็จะออกแบบฐานราก ห้องใต้ดิน ระบบระบายนํ้า เสาเข็ม และอื่น ๆ ได้ทั้งหมด ในขณะที่โครงการที่ทำร่วมกับบริษัทจากต่างประเทศ งานแต่ละอย่างจะมีผู้เชี่ยวชาญ ในแต่ละสาขามาจัดการ หรืออย่างน้อยก็มาให้คำปรึกษาอย่างครบถ้วน แต่บริษัทเล็ก ๆ จะทำแบบนั้นไม่ไหว เราเลือกที่จะวางโครงสร้างของบริษัทฯ เพื่อให้เติบโตเป็นบริษัทใหญ่ในอนาคต

Warnes ใช้แนวคิดในการแยกสาขาความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ออกมา ผลงานในช่วง แรก ๆ คือโครงการบนพื้นที่ลาดชันในจังหวัดภูเก็ต งานก็ไม่ได้ใหญ่มาก แต่ใช้วิศวกรครบทุกสาขา เช่น ใช้วิศวกรปฐพีกลศาสตร์ออกแบบการขุดดิน วิศวกรการทางออกแบบการตัดถนนซิกแซ็กขึ้นเขา วิศวกรแหล่งนํ้าออกแบบการระบายนํ้าไม่ให้เกิดการกัดเซาะผิวดินและ กักเก็บนํ้า วิศวกรโครงสร้างออกแบบเฉพาะตัวอาคารเท่านั้น ไม่ต้องไปทำทุกอย่างแบบที่บริษัทคู่แข่งเขาทำกัน ถึงแม้ว่าต้นทุนค่าออกแบบเราจะสูงกว่า แต่ได้ผลงานที่ออกมาโดดเด่นและ ได้รับการแนะนำต่อเป็นจำนวนมาก งานในภูเก็ตเราน่าจะมีมากกว่า 100 โครงการ

ต่อมาเราก็เริ่มได้งานในสมุยและกรุงเทพฯ และขยายไปทำอาคารสูงซึ่งเป็นงานถนัดของผมอยู่แล้ว ยิ่งทำก็ยิ่งสูงขึ้น จนมาถึงวันที่เราออกแบบอาคารสูงที่สูงกว่าที่มีใครเคยทำในประเทศ และมีโอกาสร่วมงานกับบริษัททำอาคารสูงระดับโลกหลายบริษัท

โครงการ SAMYAN MITRTOWN
โครงการ SAMYAN MITRTOWN

จาก Warnes ไป Beca

เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว บริษัท Beca ได้เข้ามาแนะนำตัวและยื่นข้อเสนอในการควบรวมกิจการ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตพร้อม ๆ ไปกับงานที่ได้รับก็ยากและซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนพนักงานก็ต้องมากขึ้น ต้องมีมืออาชีพมาวางแผนด้านงานบุคลากร ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย อีกทั้งทีมงานก็ใหญ่ขึ้นจนมีความเสี่ยงว่า หากไม่มีงานในประเทศมากพอแล้วจะเอางานที่ไหนมาเลี้ยงพนักงาน การที่มีเครือข่ายระดับนานาชาติก็เป็นทางเลือกที่มั่นคงขึ้น แต่ก็กังวลในความเป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งขณะนั้นผมกำลังมีปัญหาทางสุขภาพด้วย ในที่สุดเราเลือกที่จะขายหุ้นทั้งหมดใน Warnes ให้แก่ Beca และนำเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้น Beca ที่ประเทศนิวซีแลนด์ บริษัท Beca ใช้เวลาปีเศษในการตรวจสอบกิจการทั้งทางวิศวกรรมและความโปร่งใสในการบริหารงาน ตลอดจนส่งผมไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล ในประเทศนิวซีแลนด์จนผ่านเงื่อนไข ทำให้ การผนวกกิจการสำเร็จได้ด้วยดีใน พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2560 ผมก็ได้รับตำแหน่ง Managing Director

วิกฤตที่สาม …

ก่อนป่วยกับถ้วยรางวัลจากกอล์ฟ
ก่อนป่วยกับถ้วยรางวัลจากกอล์ฟ

เมื่อประมาณต้น พ.ศ. 2555 ชีวิตกำลังสบาย ๆ ก็ได้รับการติดต่อจากเพื่อนสนิทที่จบวิศวฯ จุฬาฯ ด้วยกันคนหนึ่งนัดกินข้าว ซึ่งก็นัดกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่คราวนี้ดูรีบ ๆ หลังกินข้าวเสร็จเพื่อนก็เล่าให้ฟังว่ากำลังจะเข้ารักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก คงไม่ได้เจอหน้ากันหลายเดือน ผมก็ให้กำลังใจและอวยพรขอให้รักษาหาย

หลังจากนั้น 4-5 เดือน ผมก็พบว่าตัวเองมีต่อมนํ้าเหลืองอักเสบที่คอ ไปตรวจก็พบว่าเป็นโรคเดียวกัน จึงได้ติดต่อเพื่อนคนนี้เพื่อขอคำแนะนำและได้มารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เหมือนกัน เครื่องฉายรังสีเครื่องเดียวกันปรึกษาแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติตัวกับเพื่อนคนนี้มาโดยตลอด การรักษาก็ทรมานตามปกติของการรักษาโรคมะเร็ง มีทั้งการฉายรังสีเกือบทุกวันไป เดือนครึ่ง แล้วทำคีโมสลับกับพักฟื้นไปอีก 3 เดือน

ระหว่างการรักษาก็ได้ยินข่าวว่า โรคมะเร็งของเพื่อนได้ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นและเสียชีวิตในอีก 3 เดือนต่อมา ผมก็ได้ไปร่วมงานศพเพื่อนด้วยสภาพที่โทรมมากจากการได้รับคีโมครั้งสุดท้าย ผมก็ร่วงเยอะ เพื่อน ๆ ที่เจอกันในงานศพก็มาให้กำลังใจผมว่าหายแน่ ๆ สลับกับการให้กำลังใจ ญาติเพื่อนที่เพิ่งเสียชีวิตจากโรคเดียวกัน แต่ตอนนั้นมันคิดได้แล้ว เลยไม่ได้กลัวเท่าไร

หลังจากตรวจพบแล้ว สิ่งแรกที่ผมทำคือเขียนพินัยกรรมกับทำบัญชีทรัพย์สินให้ติดตามได้โดยง่าย ค่อย ๆ สะสางสิ่งที่ค้างคาไปทีละเรื่อง เช่น เอาของที่ยืมมาไปคืน ทวงของจากคนที่ยืมไปกลับมา จัดเตรียมกรมธรรม์ประกันชีวิตให้คนข้างหลังยุ่งยากน้อยที่สุด คือเตรียมเอกสารเคลมกรณี เสียชีวิตรอไว้เลย

ผมกลัวตายอยู่แวบเดียว ก่อนจะคิดออกว่า รักษาไม่หายก็ตาย รักษาหายก็ต้องตายด้วยโรคอื่นหรือเหตุอย่างอื่นอยู่ดี แต่จะช้าหรือจะเร็ว ดังนั้นเราไม่ควรกลัวตาย เพราะตายแน่ทุกคน แต่เราก็ไม่ต้องรีบตาย เตรียมความพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวันแล้วก็ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์ให้ได้ ตอนนั้นร่างกายผมโทรมมาก เนื่องจากการฉายรังสีบริเวณลำคอทำให้เกิดแผลและกินอาหารไม่ได้ ในที่สุดต้องเจาะท้องเพื่อต่อท่อฟีดอาหาร พอ คีโมรอบหลังก็มีผลข้างเคียงทำให้ปากคอพองไปหมด คลื่นไส้อาเจียนบ่อย ๆ นํ้าหนักก็ลดลงจาก 74 กิโลกรัม เหลือ 58 กิโลกรัม ผอมมากสำหรับคนสูง 180 เซนติเมตร รวมเวลารักษาและพักฟื้นร่วม 8 เดือน

แล้วสุขภาพกลับมาดีอีกครั้งได้อย่างไร

ช่วงพักฟื้นอยู่ที่บ้านรู้สึกอึดอัดมากเพราะทำอะไรก็ไม่สะดวก ต้องมีคนคอยช่วย จึงพยายามออกกำลังกายเบา ๆ พอเริ่มเดินได้ ก็ออกไปตีกอล์ฟ จากการป่วยเลยได้สิทธิ์ ในการใช้รถกอล์ฟส่งถึงกรีนได้เลย แทบ ไม่ต้องเดินเพราะถือว่าเสมือนเป็น “ผู้สูงอายุ” ปรากฏว่า เล่นไปได้สิบกว่าหลุมก็หน้ามืด ต้องเลิก

หลังจากนั้นไม่กี่วัน พี่วูดดี้ ธนพล ศิริธนชัย Intania 68 CEO ของบริษัท Goldenland ให้คนมาชวนไปวิ่งงาน Satorn Square Vertical Run ซึ่งต้องวิ่ง 2 กิโลเมตร ตามด้วยวิ่งขึ้นตึกสาทร สแควร์ 40 ชั้น ก็ตอบรับไปทันที เพราะอยากวิ่ง ขึ้นตึกที่ตัวเองได้ทำ แล้วก็เริ่มซ้อมวิ่งด้วย ตัวเองในหมู่บ้าน มีเวลาซ้อมเพียงเดือนเดียว กะว่าวันจริงไม่ไหวที่ชั้นไหนก็เลิก

จบ Osaka Marathon กับครอบครัว
จบ Osaka Marathon กับครอบครัว

เริ่มซ้อมวันแรกวิ่งช้า ๆ เกือบเดิน ได้ระยะ 1 กิโลเมตร ซ้อมแทบทุกวันเป็นเวลา 1 เดือนก็สามารถวิ่งได้ 5 กิโลเมตร รู้สึกดีใจมาก เพราะก่อนป่วยผมก็ไม่เคยวิ่งได้ จบ 40 ชั้นได้แบบสบาย ๆ หลังจากนั้นผมก็เริ่มวิ่งอย่างต่อเนื่องจนวิ่งได้เอง 10 กิโลเมตร แล้วก็วิ่งงาน 10 miles ก็จบได้อีก จึงเริ่มมอง เป้าหมายต่อไปที่ฮาฟมาราธอน 21 กิโลเมตร แล้วในที่สุดก็สำเร็จฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตร ประมาณ 2 ปีหลังจากจบการรักษา

ตอนจะไปมาราธอนนี่ซ้อมหนักมาก เวลาก็ไม่ค่อยมี เพราะกลับมาทำงานเต็มเวลาแล้ว เลยซ้อมวิ่งจากที่ทำงานตรงถนนราชดำริ กลับบ้านแถวย่านประชาชื่น ระยะทาง 20 กิโลเมตร ให้คนขับรถเอารถกลับไปจอดที่บ้าน บางวันรถติดมาก วิ่งถึงบ้าน ก่อนรถด้วย การวิ่งฟูลมาราธอนนี่ผมถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะสามารถชวนลูกชายและภรรยาออกมาวิ่งด้วยกันได้ โดยผมกับลูกลงฟูลมาราธอน ส่วนภรรยาลงระยะ 8.8 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ไปลองปั่นจักรยาน ลองไตรกีฬา แต่ไม่ค่อยชอบ ตอนนี้เลยโฟกัสที่วิ่ง 10 กิโลเมตรให้เร็วที่สุด ตอนนี้ทำได้ 56 นาทีเศษแล้ว แล้วก็เริ่มยกนํ้าหนักสร้างกล้ามเนื้อไปด้วย ขณะเดียวกันก็ยังเล่นกอล์ฟต่อไปหลังป่วยก็ยังได้ถ้วยมาเพิ่มอีก 2 ใบ

หลังป่วย กับฮาฟมาราธอนครั้งแรก 2 ชั่วโมง 15 นาที
หลังป่วย กับฮาฟมาราธอนครั้งแรก 2 ชั่วโมง 15 นาที

เชื่อว่าการออกกำลังกายด้วยการวิ่งให้ผลดีมาก

คือการวิ่งนี่มันง่ายมาก ใส่รองเท้าเดินออกหน้าประตูบ้านก็วิ่งได้เลย ไม่ต้องมีคนมาสอน ทุกคนก็วิ่งเป็นหมด ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ลดโอกาสการ กลับมาเป็น แต่ก็ไม่ได้แปลว่ายิ่งวิ่งมากโอกาสหายจะมากตามไปด้วย ผมวิ่ง มาก ๆ ก็เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมากกว่า อยากพึ่งตัวเองได้ จะได้ดูแลคนอื่นและไม่เป็นภาระ แต่พอวิ่งได้แล้วนี่ใจจะร้อน เห็นทางโล่ง ๆ เดินไม่เป็น วิ่งเลย วิ่งได้ทุกที่ เช่น ในสนามบินได้เกตไกล ๆ ก็วิ่งเลย เวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่มีที่จอดรถ ก็วิ่งจากบริษัท ไปเลย 2 กิโลเมตร เหงื่อซึม

อยู่กับมะเร็งมากี่ปีอาการตอนนี้เป็นอย่างไร

ผมเพิ่งไปตรวจรอบ 5 ปีหลังการรักษา ซึ่งถือเป็นรอบสุดท้าย ผลทางการแพทย์ ก็ถือว่าได้จบการเฝ้าระวัง ไม่น่าจะกลับมาเป็นอีก แต่ในประวัติศาสตร์ก็เคยมีคนกลับมาเป็นตอนปีที่ 7 คือทางการแพทย์มะเร็งไม่มีคำว่าหายขาด ปัจจุบันนี้รู้สึกว่าแข็งแรงกว่าก่อนป่วยมาก ๆ ทำอะไรได้หลาย ๆ อย่างที่เมื่อก่อนทำไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ค่อยเหนื่อย ดู ๆ แล้วการเป็นมะเร็งกลายกลับเป็นเรื่องดีมากกว่าไม่ดี

เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ทั้งหมดบ้าง

ทั้ง 3 เหตุการณ์มันคล้าย ๆ กัน คือปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายเกิดแล้ว ทางเดียวที่จะแก้ไขคือ เราต้องพยายามให้มีประสิทธิภาพที่สุด ในเวลาที่เหลือผมเข้า วิศวฯ จุฬาฯ ได้เพราะผมยอมรับว่าความรู้ยังไม่พอ แล้วมองไปข้างหน้า และพยายามให้ดีที่สุดกับเวลาที่เหลืออยู่ ฟื้นฐานะกลับมาได้เพราะผมยอมรับว่าตัดสินใจผิด ปรับเปลี่ยนวิธีการแล้วเริ่มใหม่ กลับมาแข็งแรงได้เพราะรู้ว่าตัวเองอ่อนแอ แล้วมองไปข้างหน้าว่า เราจะทำอะไรให้มันดีขึ้นได้บ้าง คนเราอาจแพ้พลาดหรือโชคร้ายได้ก็แค่ทบทวนตัวเองว่าทำอะไรผิด ทบทวนความสามารถตัวเองว่ายังขาดอะไร แล้วพัฒนาตัวเอง หรือเปลี่ยนวิธีการให้ถูก ทุกคนมีโอกาสเสมอ แต่เฉพาะคนที่พร้อมเท่านั้นที่จะคว้าโอกาสได้


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2561 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save