อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 3


โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)


อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอน 3

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับการเดินทาง และอยากนำมากล่าวถึงเป็นเกร็ดความรู้ แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้บ่อยครั้งในชีวิตจริง คือทำอย่างไรเราจะบอกขนาดของพื้นที่โดยประมาณได้ด้วยตาเปล่า ไม่เฉพาะในหน่วยเป็น “ไร่” แต่รวมถึงหน่วย “เอเคอร์(Acre)” และ”เฮกเตอร์ หรือ เฮกตาร์ (Hectare)” ด้วย

มีคำกล่าวหนึ่งที่ผมชอบมากคือ “เห็นมากกว่าที่เห็น” หรือ “ได้ยินมากกว่าที่ได้ยิน” สมัยทำงานใช้ทุน ก.พ. อยู่ที่การรถไฟฯ ผมเคยเป็นนายช่างคุมงานที่หัวลำโพง เห็นขบวนรถวิ่งเข้า-ออก รับส่งผู้โดยสารเดินทางท่องเที่ยวหรือไปทำงานวันละหลาย ๆ ขบวน ทราบอยู่ว่าตู้รถโดยสาร (ไม่รวมขอพ่วง) ของการรถไฟฯ ยาวโดยประมาณ 20 เมตร+/- เห็นว่ามีสัดส่วนสอดคล้องลงตัวได้กับหน่วยไร่ และเมื่อขยายการคำนวณออกไปพบว่ายังสามารถใช้กับหน่วยเอเคอร์และเฮกเตอร์ (หรือเฮกตาร์) ได้อีกด้วย ถึงแม้เอเคอร์จะเป็นหน่วยระบบอังกฤษ ไม่ใช่เมตริกก็ตาม

ผมจึงได้คิดวิธีกะประมาณขนาดที่ดินแบบง่าย ๆ ขึ้น ซึ่งพอสรุปได้ว่า (เน้นว่าโดยประมาณ) พื้นที่กว้างและยาวด้านละ 2 ตู้โดยสารรถไฟไทยจะมีขนาดเท่ากับ 1 ไร่ ถ้าด้านละ 3 ตู้ก็เป็น 1 เอเคอร์ และถ้าด้านละ 5 ตู้ก็คือ 1 เฮกเตอร์ เวลาเราไปเจอรถติดเครื่องกั้นมีขบวนรถไฟโดยสารผ่านมา ลองใช้เวลานั่งรอนั้นให้เป็นประโยชน์ ตั้งใจมองให้ “เห็นมากกว่าที่เห็น” สังเกตความยาวตู้รถโดยสาร แล้วจินตนาการจำโดยประมาณความยาวนั้นไว้ แค่เพียงคร่าว ๆ ก็พอ (คงไม่มีใครสามารถบอกได้พอดีว่า 20 หรือ 21 เมตร) แล้วนำมาใช้งาน

ปกติเวลาได้ยินหน่วยที่เป็นเอเคอร์หรือเฮกเตอร์ เรามักจะนึกภาพของจริงไม่ออกว่ามันควรจะขนาดสักแค่ไหน ต่อไปนี้คงง่ายขึ้นแล้ว และนี่ก็คือตัวอย่างของ “เห็นมากกว่าที่เห็น”…

  • “ตู้” ที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ หมายถึง “ตู้รถไฟโดยสารของไทย”
  • พื้นที่ 1 ไร่ คือ 400 ตารางวา หรือ 1,600 ตารางเมตร = 40 เมตร x 40 เมตร หรือคือพื้นที่กว้างและยาวด้านละ 2 ตู้
    [ตัวอย่าง: หากประมาณพื้นที่ด้วยสายตาได้กว้าง 3 ตู้ ยาว 5 ตู้ จะได้พื้นที่ = (3 x 5)/(2 x 2) = 15/4 = 3 เศษ 3 ส่วน 4ไร่ หรือ = 3 ไร่ 3 งาน] (ไม่ต้องไปเดินลุยนับก้าว ที่บางแห่งอาจทำได้ยากหรือไม่ได้)
  • พื้นที่ 1 เอเคอร์ คือ 4,840 ตารางหลา หรือโดยประมาณคือ 70 หลา x 70 หลา = 63 เมตร x 63 เมตร หรือคือพื้นที่กว้างและยาวด้านละ 3 ตู้
  • พื้นที่ 1 เฮกเตอร์ คือ 10,000 ตารางเมตร = 100 เมตร x 100 เมตร หรือคือพื้นที่กว้างและยาวด้านละ 5 ตู้
  • หากงงตัวเลขที่มานี้ ก็แค่เพียงจำง่ายๆไว้ใช้งานว่า “2-3-5 ตู้” สำหรับ “ไร่-เอเคอร์-เฮกเตอร์” ตามลำดับ และประยุกต์หาพื้นที่รวมในหน่วยต่าง ๆ ดังกล่าวตามตัวอย่างข้างต้น
ภาพแนวทางการประมาณขนาดพื้นที่เป็นไร่ เอเคอร์ หรือเฮกเตอร์ แบบง่าย ๆ ด้วยสายตา จากแนวคิด “เห็นมากกว่าที่เห็น” [ภาพเพื่อการศึกษา, เฉพาะตู้รถไฟโดยสาร จาก Google Images]

อยู่มาวันหนึ่ง มีเหตุให้ต้องเดินทางไปต่างประเทศอีก จึงได้มีโอกาสเรียนรู้หาประสบการณ์ทั้งในและนอกชั้นเรียนต่อ คือได้รับคำสั่ง (ด้วยเหตุผลบางประการ) ให้ไปสอบแข่งขันเพื่อชิงทุนรัฐบาลอังกฤษ ตามแผนโคลัมโบที่ให้ประเทศไทยมา 1 ทุน เพื่อไปดูงานที่ประเทศอังกฤษด้านการบริหาร (Administration) เป็นเวลา 1 ปี จัดสอบโดยกรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ เผอิญสอบได้จึงต้องไปรายงานตัวตามขั้นตอนที่บริติชเคาน์ซิล ซึ่งอยู่ที่สยามสแควร์

ขอใช้เวลาเล่ารายละเอียดเหตุการณ์ที่มีประเด็นน่าสนใจตรงนี้สักเล็กน้อย… ฝรั่งที่นั่นได้นัดวันมาสอบภาษาอังกฤษ จึงเถียงว่าทำไมต้องสอบอีก สอบผ่านของรัฐบาลไทยแล้ว เรียนและสอนหนังสือที่อเมริกามาแล้วด้วย เขาก็ไม่ยอม บอกว่าเป็นระเบียบ จึงถามไปว่า แล้วจะให้สอบอะไร เขาบอกว่าจบวิศวะก็ใช้ Technical Paper จึงตกลง แต่ที่ไหนได้ พอวันจริงแจกข้อสอบกลายเป็นภาษาอังกฤษทางสาขาสังคมวิทยา (Social Science) ซึ่งเราไม่เชี่ยวชาญ ต่างกับภาษาเทคนิคที่คุ้นและเดาเรื่องง่ายกว่า ก็ไปเถียงกับฝรั่งอีกว่า ไม่ได้ตกลงกันอย่างนี้ เขาบอกว่ายูจะสอบทางเทคนิคไปก่อนก็ได้ แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยมาสอบ Social Science Paper เพราะจะไปดูงานด้านการบริหาร

ที่จริงแล้วตอนนั้นก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะไปเท่าไร แต่เกรงใจต้นสังกัดเลยนั่งสอบ จำได้ว่านอกจากสอบพื้นฐานทั่วไปแล้ว ยังมีอ่านเรื่องเพื่อตอบคำถามอีกหลายบทความ ที่จำได้มี อาทิ เกี่ยวกับจิตวิทยานักโทษหญิง และให้เขียนเรียงความในหัวข้อ “หากท่านมีลุงเป็นผู้คุมอยู่ในคุก ท่านจะให้คำแนะนำลุงอย่างไร” แค่ให้เขียนเป็นภาษาไทยก็ฝืดแล้ว นี่เป็นภาษาอังกฤษอีก ปกติเวลาสอบผมมักชอบรีบทำแล้วออกก่อน แต่นี่ต้องใช้เวลาเต็มที่จนระฆังหมดยกสุดท้ายดังเลย ระหว่างนั้นก็ยังมีไปทะเลาะกับฝรั่งคนเดิมอีก เพราะในข้อสอบมีอ้างถึงภาพ แต่หาภาพนั้นไม่เจอ เขาก็ให้ไปทำข้ออื่นก่อน สักพักเดินมาบอกว่ามีการปรับแก้ข้อสอบจากเดิม แต่ลืมแก้ตรงนั้นให้สอดคล้อง สรุปว่าเถียงกับฝรั่งคนเดิมแบบเอาจริงเอาจังแต่อย่างสุภาพ ด้วยหลักการและเหตุผลตลอดช่วงเช้า

ภาคบ่ายเป็นการสัมภาษณ์ เห็นผู้ที่เป็นคนสอบเราแล้วแทบเข่าอ่อน เพราะก็คือฝรั่งคนที่ลุยด้วยมาตลอดเช้านั่นเอง คุยกันสักพักจึงตัดสินใจต่อรองกับเขาว่า ปกติทุนดูงานไม่เห็นนานขนาดนี้ ถ้าจะใช้เวลา 1 ปีให้คุ้ม แทนที่จะดูงานอย่างเดียว ขอเรียน MBA ไปด้วยได้ไหม จบไม่จบไม่ว่ากัน (ตอนนั้นเรียน MBA ภาคค่ำที่บัญชีธรรมศาสตร์ใกล้จะจบอยู่แล้ว เหลืออีกไม่กี่วิชา) เขาขอใช้เวลาหารือกับทางอังกฤษก่อน แล้วก็เดินออกจากห้องไปสักพัก พอกลับเข้ามาก็บอกว่าไปตรวจข้อสอบแล้วเราผ่าน ทั้งที่ปกติต้องรอฟังผลสอบอีกหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ เข้าใจว่าเห็นเราเถียงกับเขาได้คงเรียนได้

ผ่านไปราวสัปดาห์เศษเขาก็แจ้งมาว่า ทางอังกฤษอนุมัติให้เรียน MBA ได้ แต่เราต้องแบ่งเวลาเพื่อดูงานหรือฝึกงานตามเงื่อนไขเดิมของทุนด้วย โดยทางทุนจะหาที่เรียนและออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด จึงได้ไปเรียนที่ University of Leeds ซึ่งเพิ่งเปิดสอน MBA เป็นรุ่นแรกพอดี… ไปถึงที่ Leeds ก็ถูกให้สอบภาษาอังกฤษอีกแม้จะรับเข้าเรียนแล้วก็ตาม เขาบอกว่าเพื่อช่วยนักเรียนต่างชาติทุกคนที่อังกฤษไม่ใช่ภาษาแรก โชคดีผ่านอีกเลยไม่ต้องเสียเวลาเพิ่ม

สิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างหนึ่งตรงนี้ก็คือ วัฒนธรรมฝรั่งเขาชอบให้เราแสดงความคิดเห็นและความมุ่งมั่นตั้งใจ ถกเถียงหรือแม้แต่บอกว่าเขาผิดก็ได้ถ้าพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริง ของเราถ้าไปเถียงอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าสัมภาษณ์จะผ่านไหม หรือที่ต่อรองขอเพิ่มเติมจะได้ไหม อย่างไรก็ตาม แต่ละวัฒนธรรมก็มีจุดอ่อนจุดแข็งของตน จึงควรใช้วิจารณญาณในการคัดสรรมาใช้ประโยชน์

ช่วงก่อนออกเดินทางไปประเทศอังกฤษในครั้งนั้นได้คิดว่า เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในงานวิชาชีพวิศวกรรมที่ทำอยู่ ควรดำเนินเรื่องขอปรับชั้นจาก “สามัญวิศวกร” ขึ้นเป็น “วุฒิวิศวกร” ให้เรียบร้อยจบไปก่อน ให้สามารถปฏิบัติและควบคุมงานได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเมื่อกลับมา ถ้าไม่รีบทำให้เสร็จก็อาจโอ้เอ้ไปเรื่อย ปรากฏว่าเวลางานโดยตรงที่นับรวมอย่างละเอียดแล้วยังไม่ครบตามเกณฑ์ในสมัยนั้นที่จะปรับขึ้นเลยได้ แต่เวลาอยู่ในเกณฑ์ที่จะสมัครสอบเลื่อนชั้นได้ จึงใช้วิธีสอบเอา โดยผ่านและได้ขึ้นเป็น “วุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล” เมื่อกลาง พ.ศ. 2526

ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ที่ได้รับเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526 ซึ่งในสมัยนั้นจะออกให้โดยคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ก.ว.) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโดยสภาวิศวกร ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542

จากนั้นไม่นานในปีเดียวกันก็ต้องออกเดินทางไปเรียน MBA ที่อังกฤษ (ตอนนั้นจบปริญญาเอกทางวิศวะมาก่อนหลายปีแล้วจากอเมริกา) และในช่วงท้ายได้ไปดูงานฝึกงานด้านบริหารการลงทุนที่ Samuel Montagu ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็น Investment Bank ในเครือ Midland Bank

ผมได้จัดวันออกเดินทางให้ตรงกับของคณะผู้ใหญ่กระทรวงคมนาคมที่ไปประชุม เพื่อจะได้เรียนรู้และหาประสบการณ์พร้อมไปด้วย เผอิญได้มีโอกาสติดตามคณะฯ ไปร่วมรับประทานอาหารเย็นกับประธานการรถไฟอังกฤษ ปรากฏว่าคุยกันถูกคอดีมาก และโดยเฉพาะเมื่อท่านทราบว่าผมก็เป็นคนรถไฟ ก่อนจากกันท่านได้พูดแหย่ว่า อีกไม่กี่วันทุกคนก็จะกลับเมืองไทยกันหมดแล้ว เหลือแต่ยูที่ต้องอยู่ต่ออีกเป็นปี อย่างนี้น่าจะมีบัตรฟรีรถไฟไว้ใช้จะได้เดินทางไปไหนมาไหนสะดวก

ตอนแรกก็คิดว่าเขาพูดล้อเล่นสนุก ๆ แต่ส่งมาให้จริง ๆ และเป็นบัตรที่พิเศษมาก พร้อมกับจดหมายแนบในกรณีที่การ์ดรถต้องการตรวจละเอียด แต่ก็ไม่เคยมีมาขอดูสักครั้ง

บัตรโดยสารรถไฟของ British Rail ที่ผมได้รับ และได้ใช้ขณะเรียน MBA อยู่ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ประเทศอังกฤษนี้ เป็นบัตรที่นั่งชั้น 1 นั่งฟรีทั่วประเทศสหราชอาณาจักร ใช้ได้ทุกสถานี และไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทำให้นอกจากเรียนแล้ว ยังได้เที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ เห็นประเทศ และสัมผัสกับวัฒนธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่นั่นอย่างกว้างขวาง คือไม่ได้เรียนอย่างเดียว แต่เที่ยวด้วย ทั้งบัตรและจดหมายผมยังเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึก

ภาพบัตรโดยสารรถไฟ ที่นั่งชั้น 1 ฟรีทั่วประเทศสหราชอาณาจักร ของ British Rail ที่ได้ใช้ขณะเรียน MBA อยู่ที่ Leeds University Business School อังกฤษ ใช้ได้ทุกสถานี และไม่จำกัดจำนวนครั้ง

เวลามีคนถามผมถึงงานอดิเรกว่าสะสมอะไร ผมก็จะตอบว่า “สะสมประสบการณ์ท่องเที่ยวเดินทาง” มันนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตได้มาก เช่น ในการเจรจาต่อรองและจัดการข้ามวัฒนธรรม (Negotiation and Cross-Cultural Management) บัตรฟรีนี้ทำให้ผมได้เที่ยวทั่วเกาะอังกฤษ แต่ต้องเที่ยวคนเดียวเพื่อน ๆ ไปด้วยไม่ได้เพราะค่าโดยสารรถไฟชั้น 1 แพงมากถ้าต้องจ่ายเอง

ที่จริงแล้วผมควรใช้คำว่าสหราชอาณาจักร (United Kingdom) มากกว่า เพราะไปทั่วทั้งอังกฤษ สก๊อตแลนด์ เวลส์ แล้วข้ามไปไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ในภายหลังด้วย เส้นทางที่ไปแล้วก็จะระบายสีไว้บนแผนที่รถไฟแล้วเปลี่ยนเส้นทางใหม่ไปเรื่อย ๆ ไปจนสุดแผ่นดินทางใต้ที่เรียกว่า Land’s End และสุดแผ่นดินทางเหนือที่ John O’Groats แล้วนั่งเรือโดยสารที่ลำไม่ใหญ่นักข้ามช่องแคบทางตอนเหนือสุดของเกาะอังกฤษ ที่น้ำเชี่ยววมาก ไปจนถึงและค้างคืนที่หมู่เกาะออร์คนีย์ (Orkney Islands) อีกด้วย

บางครั้งนั่งรถไฟชั้น 1 จากลีดส์เข้าลอนดอน ระยะทางประมาณ 320 กิโลเมตร หรือจากกรุงเทพฯ เกือบถึงจังหวัดพิจิตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งถึง 3 ชั่วโมง แล้วแต่ขบวนจอดมากจอดน้อย เพียงเพื่อไปหาอาหารจีนทานที่ไชน่าทาวน์โซโหแล้วนั่งกลับลีดส์ ได้ไปดูฟุตบอล เช่น ที่สนาม Old Trafford ของ Manchester United รวมถึงเอฟ.เอ.คัพนัดชิงชนะเลิศที่สนาม Wembley ใช้วิธีรอซื้อตั๋วจากคนที่มาเร่ขายหน้าสนามตอนฟุตบอลใกล้จะเริ่มแข่ง ราคาจะลดลงเกือบเท่าหน้าตั๋ว (มิฉะนั้นจะแพงกว่าหลายเท่าตัว) เพราะหลังการแข่งก็หมดค่าแล้ว ทีม Everton ได้แชมป์โดยชนะ Watford ที่ตอนนั้นเป็นของนักดนตรีชื่อดัง Elton John 2 : 0 โชคดีได้ตั๋วที่นั่งใกล้ที่แจกรางวัล ไม่ไกลจาก Elton John นัก วันรุ่งขึ้นยังไปร่วมแห่ถ้วยทางรถไฟจนถึงเมืองปลายทางอีกด้วย

ระหว่างเรียน MBA ที่ลีดส์ จำเป็นต้องแทรกด้วยเงื่อนไขเดิมของทุนที่ได้ต่อรองกันไว้ คือต้องแบ่งเวลาเพื่อไปดูงานหรือฝึกงาน (ที่แยกเป็นคนละส่วนกับหลักสูตรที่เรียน) ด้วย ในภาพเป็นการดูงานผลิตรถบัส 2 ชั้น เช่นที่ใช้เป็นรถประจำทางวิ่งในกรุงลอนดอน ยี่ห้อ Leyland ที่โรงงานของบริษัท British Leyland ซึ่งนอกจากได้เห็นกระบวนการแต่ละขั้นตอนของการผลิตแล้ว ยังได้มีโอกาสลองขับรถดังกล่าวไปรอบบริเวณ เป็นโอกาสดีที่ได้ประสบการณ์ไปอีกแบบหนึ่งด้วย

ผมจะเลือกเรียนเลี่ยงวันศุกร์หรือวันจันทร์แล้วใช้เสาร์อาทิตย์ควบ เพื่อสะพายเป้ออกเที่ยวแทบทุกสุดสัปดาห์ที่ไม่มีกิจกรรมพิเศษ มีขนมปังและน้ำติดเป้ไว้เสมอ รวมถึงงานหรือการบ้านที่ต้องทำส่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์เขียนรายงาน แล้วไปหา Bed & Breakfast ไว้นอนเพราะถูกหน่อย หลังจากนั้นก็ออกเที่ยวคนเดียว อีกอย่างที่จะมีติดตัวเสมอคือเข็มทิศ กันเดินวนไปมาในที่ที่ไม่คุ้นแล้วหลงทิศ บางแห่งเดินไปได้สักพักเริ่มดูเปลี่ยว ต้องยอมถอยกลับแล้วเดินอ้อม มีอันตรายได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองใหญ่ ๆ ต้องหัดสังเกตรอบด้านและรอบคอบ

ได้ประสบการณ์ที่คุ้มกับคำว่า “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย”…

ถึงจะเที่ยวแต่ก็ไม่ให้การเรียนเสีย ใช้วิธีทำการบ้านบนรถไฟ เพราะชั้น 1 เขาจะมีโต๊ะทำงานให้ เช่น ในวิชาการเงิน (Finance) บางครั้งอาจารย์ให้รายงานประจำปีของบริษัทหนึ่งมา แล้วให้วิเคราะห์วิจารณ์ว่าควรจะซื้อหุ้นของบริษัทนี้ไหม สิ่งที่ผมมักจะทำส่งคือใช้ข้อมูลที่ให้มา และสมมุติข้อมูลที่น่าจะเป็นในลักษณะต่าง ๆ ที่ไม่ได้ให้มา แล้วเสนอความคิดแตกแขนงออกไปเหมือนกิ่งก้านต้นไม้ ทำให้อาจารย์เห็นทุกมุมหรือทุกแนวที่อาจเป็นไปได้ แล้วสรุปว่าในความเห็นเราเป็นแนวไหนหรือกิ่งก้านไหน ซึ่งอาจารย์ชอบมาก ให้ Excellent เป็นประจำ คนอื่นมักจะทำรายงานในลักษณะมีโจทย์แค่ไหนก็ใช้ข้อมูลที่ให้มาแค่นั้นแล้วสรุปตอบ… ชั่วโมงสุดท้ายก่อนวันสอบ อาจารย์ประกาศในห้องว่า ถ้าสหัสจะไม่เข้าสอบวิชา Finance ของท่านก็ได้ ยกเว้นให้ 1 คน

MBA ที่อังกฤษสมัยนั้น (ปี พ.ศ. 2526) ยังมีเปิดไม่มากแห่ง มหาวิทยาลัยลีดส์ก็เพิ่งเปิดเป็นปีแรกหรือรุ่นแรก เงื่อนไขตอนนั้นคือต้องทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี และต้องเขียนวิทยานิพนธ์ด้วย ผมเลือกทำวิทยานิพนธ์ทางบัญชีต้นทุนและการเงิน (Cost Accounting and Finance) เพราะคิดว่าเป็นสาขาที่อยากเรียนรู้ และโยงเข้ากับงานช่างได้อย่างดีโดยตรง พื้นฐานวิศวะน่าจะช่วยได้มาก เช่น ในการแยกกระจายต้นทุน (Cost Allocation) เนื่องจากไม่ใช่เป็นเพียงการเทียบบัญญัติไตรยางค์ หากรู้เทคนิคด้วยจะช่วยได้มาก ส่วนวิชาบัญชีโดยตรงนั้น ตอนฝึกลงบัญชีปรากฏว่าซ้ายขวาไม่เคยตรงกันได้เลย ผมได้อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นท่านที่สอนผมในวิชาบัญชี

ระหว่างทำวิทยานิพนธ์พบว่าหากใช้ Mathematics ในรูปของ Matrix เข้ามาช่วยวิเคราะห์และอธิบายในส่วนของ Cost Variance และ Price Variance จะทำได้ง่าย สั้น และชัดเจนดีมาก จึงได้ใช้วิธีดังกล่าว ซึ่งเท่าที่ทราบยังไม่มีใครใช้กัน

ได้เขียนเนื้อหาจนจบส่งเล่มเป็นดราฟท์แรกให้อาจารย์ ปรากฏว่าท่านชอบใจมากเพราะเป็นแนวใหม่ในแขนงนี้ ประจวบกับเผอิญตรงกับจะมีประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพอดี ท่านจึงนำเข้าและผ่านให้จบด้วยดราฟท์แรกนี้เลย ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้นไม่ถึงปี เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าจบเป็นคนแรกของรุ่น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง และเพราะมหาวิทยาลัยเพิ่งเปิดหลักสูตร MBA นี้เป็นรุ่นที่ 1 ก็จะ… “เป็น MBA คนแรกของ University of Leeds” นี้

เวลาไปธุระที่ประเทศอังกฤษ ผมมักจะหาโอกาสแวะไปเยี่ยม Professor Keith Maunders (ขออนุญาตเอ่ยนาม) อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สมัยเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ในภาพเป็นตัวท่านและภรรยา ท่านมีลูกที่เคยมาช่วยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้แก่โรงเรียนในบ้านเราตามโครงการความร่วมมือฯ อยู่ 1 ปีเต็ม โดยผมช่วยประสานและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในประเทศไทยให้ น่าเสียดายที่ตัวอาจารย์เพิ่งจากไปเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563

เมื่อจบกลับมาแล้วก็จะมาเก็บ MBA ที่บัญชีธรรมศาสตร์ ซึ่งขอพักการเรียนที่เรียนตอนค่ำหลังเลิกงานนไว้ เหลืออีกไม่กี่วิชาก็จะจบแล้ว… ท่านคณบดีเรียกไปพบแล้วบอกว่า ลาออกเถอะ มาช่วยกันสอนดีกว่า จึงเลิกเรียนแล้วไปช่วยเป็นอาจารย์พิเศษอยู่หลายปี

… อ่านต่อได้ใน ตอนที่ 4 …


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save