โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)
อย่าเรียนอย่างเดียวต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 2
ในระหว่างเดือน ธันวาคม 2525 ถึง เมษายน 2526 ผมถูกส่งไปเป็นวิศวกรตรวจการสร้างรถสินค้า ที่การรถไฟฯได้สั่งซื้อจากบริษัทแดวู (Daewoo) ประเทศเกาหลีใต้ โรงงานผลิตอยู่ที่เมืองอันยาง (Anyang) อยู่ห่างไปทางใต้ของกรุงโซล (Seoul) ประมาณ 25 กม. ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูหนาวที่นั่น และอยู่ในยุคที่เกาหลีใต้ยังยากจน ไม่นำสมัยอย่างในปัจจุบัน ถ่ายรูปหันกล้องไปทางค่ายทหารไม่ได้ คนเกาหลีเดินทางออกนอกประเทศยากมาก ข้าวที่ทานมักมีลูกเดือยผสม หลังสี่ทุ่มโรงแรมที่พักประหยัดไฟปิดเครื่องทำความร้อน ในโรงงานมีเตาผิงไว้ให้เพียงไม่กี่จุด ฯลฯ ที่นี่เขาเข้มงวดในเรื่องการเข้า-ออก และความลับของบริษัทมากเช่นเดียวกับโรงงานผลิตส่วนใหญ่ทั่วไปในประเทศต่างๆ ไม่อนุญาตให้นำกล้องถ่ายรูปเข้าในตัวโรงงานโดยเด็ดขาด
คนที่นั่นขยัน อดทน และสู้งาน สิ่งที่น่าชื่นชมของเขาอย่างหนึ่งก็คือ การใฝ่หาความรู้ ช่วงพักกลางวันก็มีการเปิดเทปสอนภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาให้พนักงานฟังไปทานอาหารไป จากนั้นก็จะออกไปเล่นกีฬากันก่อนเริ่มงานต่อตอนบ่าย เวลาผมให้ความเห็นทางวิศวกรรมที่เคยเรียนรู้ ทำงาน และสอนตอนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาก็จะสนใจมาฟังและซักถาม จนคุ้นเคยกันดี
ภายในโรงงานมีสิ่งที่เป็นความรู้น่าจะนำมาถ่ายทอดให้คนไทยเราอยู่เต็มไปหมด ไม่ใช่แค่ด้านวิศวกรรม แต่รวมถึงการจัดการและบริหารฯลฯ รู้สึกเสียดายที่เขาห้ามถ่ายภาพ แต่ก็คิดหาทางอยู่ตลอดเวลาที่จะให้ได้ภาพความรู้ในโรงงานผลิตเหล่านั้นมา และอย่างถูกต้อง ไม่ใช่แอบขโมยถ่ายภาพ
เราจะมีประชุมเล็กบ้างใหญ่บ้างกันแทบทุกวัน วันหนึ่งมีจังหวะเหมาะจึงเสนอในที่ประชุมว่า ผมจะช่วยเอาประเด็นต่างๆที่เจอในโรงงานและน่าจะเป็นประโยชน์กับเขา มาบรรยายให้คนของเขาฟัง ในฐานะมุมมองจากคนภายนอก คล้ายกับที่เคยให้ข้อคิดมาตลอดในช่วงก่อนหน้านั้น เช่นประเด็นจุดควรปรับปรุงของกระบวนการผลิต และการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาความชำรุดต่างๆ ฯลฯ โดยได้นำภาพตัวอย่างจากที่ถ่ายทำไว้ที่การรถไฟไทยไปเป็นตัวอย่างบรรยายให้ฟังก่อนด้วยแล้ว แต่ถ้าจะให้บรรยายแล้วเข้าใจง่าย เห็นชัดขึ้น เกิดประสิทธิผลเต็มที่ ก็ควรเอาภาพของกรณีจริงที่เกิดขึ้นที่นั่นมาดูกันด้วยเลย ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ เขาต้องอนุญาตให้ผมนำกล้องเข้าโรงงานเพื่อถ่ายภาพที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นประโยชน์ โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าฟิล์ม ค่าอัดภาพ ผมจ่ายเองทั้งหมดและไม่คิดค่าสอน รวมถึงการไปบรรยายให้ที่ศูนย์วิจัยหลักของเขาด้วย แต่ภาพเหล่านั้นต้องเป็นของผม นำกลับบ้านได้
เขาใช้เวลาหลายวันไปพิจารณากัน และในที่สุดก็แจ้งตอบตกลงตามเงื่อนไขที่ได้คุยกันไว้ ซึ่งเป็นในลักษณะ win-win ผมถ่ายภาพในโรงงานไว้มากมายหลายอัลบั้ม เอาไว้ใช้เป็นกรณีศึกษาในเรื่องของการผลิตทั้งที่นั่นและที่เมืองไทย เช่นในเรื่อง การศึกษาความเคลื่อนไหวและเวลาที่ใช้ของคนงานขณะทำงาน (Motion and Time Study) ฯลฯ ส่วนการสอนในเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Investigation) และการวิเคราะห์ความชำรุดทางวิศวกรรม (Engineering Failure Analysis) ให้กับวิศวกรของบริษัทแดวู ทั้งที่โรงงานในเมืองอันยาง และที่ศูนย์วิจัยของแดวู (Daewoo Research Center) ณ เมืองอินชอน (Inchon หรือ Incheon) นั้น ได้ใช้ข้อมูลจริงของที่นั่น และจากที่รวบรวมถ่ายทำไว้ที่การรถไฟไทยซึ่งนำติดตัวไปด้วยเผื่ออาจได้ใช้ประโยชน์ แล้วก็ได้ใช้จริงๆ ในการไปทำหน้าที่วิศวกรตรวจ (Inspection Engineer) ครั้งนั้น
บรรยายภาพ: ทำงานเป็นวิศวกรตรวจรถสินค้าซึ่งการรถไฟฯสั่งต่อ ที่โรงงานแดวู(Daewoo) เมืองอันยาง (Anyang) ประเทศเกาหลีใต้
ประโยชน์ที่ได้รับอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้เราคุยหรือขอความร่วมมือเรื่องงานกับวิศวกรของเขาได้ง่ายขึ้นมาก เพราะแทนที่จะคุยกันในฐานะผู้ซื้อกับผู้ขายอย่างเดียว แต่เปลี่ยนเป็นในรูปกึ่งครูกับศิษย์ด้วย ที่สนามบินวันกลับ ยังกลัวถูกยึดภาพ เพราะถ่ายไว้เยอะมาก แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร ยังคงเก็บภาพเหล่านั้นไว้อยู่จนถึงทุกวันนี้
ประสบการณ์และภาพประกอบที่ศึกษา ถ่ายทำ และรวบรวมไว้ ทั้งจากที่เกาหลี การรถไฟไทย และแหล่งต่างๆ ผมได้นำมาใช้งานที่เมืองไทยด้วยในฐานะผู้บรรยายหรืออาจารย์พิเศษอยู่หลายแห่ง เช่นที่วิศวจุฬา บัญชีธรรมศาสตร์ (ด้านบริหารอุตสาหการ) กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ และภาคเอกชน อาทิ ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย โรงงานน้ำตาลที่เพชรบูรณ์ บางบริษัทในเครือสหพัฒน์ฯ ฯลฯ รวมถึงทางด้านการแพทย์ คือที่ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลด้วย (ขอขยายความเพิ่มเติมประเด็นหลังสุดในย่อหน้าถัดไปนี้)
ในช่วงราวปีพ.ศ.2527 ผมที่ขณะนั้นเป็นภาคีราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ประเภทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (มี พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ เป็นประธาน และมีราชบัณฑิต อาทิ หลวงประสิทธิ์กลมัย หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ ศจ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล ศจ.ดร.ระวี ภาวิไล ฯลฯ) ได้ไปบรรยายเรื่อง”การวิเคราะห์ความชำรุดทางวิศวกรรม” ให้เหล่าราชบัณฑิตของสำนักฯ ฟังที่ราชบัณฑิตยสถาน โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ วัชรดุลย์ (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ซึ่งเป็นราชบัณฑิต และเป็นอาจารย์สาขาวิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ที่ศิริราชฯ นั่งฟังอยู่ด้วย ท่านเห็นว่าอาจสามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง การวิเคราะห์ความชำรุดทางวิศวกรรม กับแนวทางการวินิจฉัยและป้องกัน/รักษาทางด้านกระดูก จึงได้ขอให้ผมไปบรรยายพิเศษให้ที่ภาควิชาของท่าน เผื่อผู้เข้าฟังอาจนำแนวคิดแนวทางไปประยุกต์ใช้ประโยชน์อะไรได้
บรรยายภาพ: สอนการวิเคราะห์ความชำรุดของอุปกรณ์ในงานรถไฟ ให้กับวิศวกรของบริษัทแดวู ที่ Daewoo Research Center เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้
ภายหลังผมได้ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นภาคีราชบัณฑิตหลังจากเป็นอยู่หลายปี เนื่องจากได้เปลี่ยนงานจากที่การรถไฟฯ ไปร่วมบุกเบิกปิโตรเคมีที่มาบตาพุด ระยอง ไม่สะดวกที่จะมาประชุมหรือร่วมกิจกรรม ทำให้ต้องขาดบ่อยครั้ง เห็นว่าเป็นการไม่สมควร อีกทั้งมีคนรอที่ว่างกันอยู่มาก ถึงแม้จะเสียดายเพราะไม่ได้เข้าเป็นง่ายๆเลย คัดสรรอย่างมาก แต่โดยหลักการแล้วคิดว่าผมควรสละตำแหน่ง ตอนที่ผมเริ่มเข้าเป็นภาคีราชบัณฑิตนั้นอายุน้อยมากเพียงสามสิบต้น ๆ เท่านั้น
ขอปิดท้ายประสบการณ์ที่เกาหลี ด้วยเรื่องเบาๆ จากที่เคยไปทำงานที่นั่นมาหลายครั้ง ทั้งงานรถไฟที่บริษัทแดวู และงานปิโตรเคมีที่บริษัทแดลิม (Daelim) รวมถึงงานอดิเรกที่ได้ไปท่องเที่ยวทัศนาจรทั่วเกาหลี โดยเปลี่ยนมาคุยเรื่องสำเนียงภาษาเกาหลี ในคำว่า “อารีดัง” และ”อารีรัง” (Arirang) ที่เราอาจเจอในเพลงหรืออีกหลายแห่ง แล้วมาลองสันนิษฐานดูว่าที่จริงควรออกเสียงอย่างไร? …อย่าเพิ่งรีบตอบนะครับ
จากประสบการณ์ที่เกริ่นถึงข้างต้น ผมเคยสังเกตว่าทางตอนใต้ของเกาหลีหรือเกาหลีใต้ ออกเสียงคำ “Arirang” นี้ชัดเจนว่า “อารีรัง” อยู่มาวันหนึ่งเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว กลุ่มเพื่อนสนิทที่จุฬาจัดชวนไปเที่ยวทางตอนเหนือของเกาหลี เมื่อขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ สำเนียงบางคำที่ได้ยินจะต่างออกไปจากของทางใต้ ที่รู้สึกสะกิดใจต้องฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็คือ คำที่เทียบกับตัว “R” จะได้ยินคาบๆกันระหว่าง “ร-เรือ” กับ “ด-เด็ก” (หนักไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ค่อยแน่นอน) อย่างเช่นคำว่า “Arirang” ก็ไม่ “รัง” หรือ “ดัง” ซะทีเดียว ฟังได้ว่ามันกึ่งๆกัน แต่ในภาพรวมโดยเฉลี่ยแล้วจะค่อนมาทาง “ด-เด็ก” มากกว่า สำหรับสำเนียงทางเหนือ และ “ร-เรือ” สำหรับสำเนียงทางใต้
เมื่อศึกษาเหตุการณ์สมัยสงครามเกาหลี (2493-2496) พบว่าไทยเราได้ส่งทหารไปช่วยร่วมรบในสมรภูมิเกาหลีนี้แต่ต้นๆ มีช่วงหนึ่งที่กองกำลังสหประชาชาติซึ่งมีทหารไทยร่วมอยู่ด้วยสามารถตีบุกขึ้นเหนือไปได้จนเกือบถึงจีน ก่อนที่จะมีการเจรจาตกลงแนวพรมแดนกันในภายหลัง จึงขอสันนิษฐานว่า ทหารไทยผลัดแรกๆที่ไป คงได้รับอิทธิพลจากสำเนียงทางภาคเหนือของคาบสมุทรเกาหลีและจับสำเนียงที่สอดคล้องกับตัว “R” ไว้ได้ในลักษณะก้ำกึ่ง ระหว่าง “ร-เรือ” กับ “ด-เด็ก” แล้วใช้ต่อกันมา เป็นที่มาของการออกเสียง “Arirang” ว่า “อารีดัง” ไม่ “อารีรัง” เหมือนทางใต้ หรือ “อาดีดัง” ความต่างจึงไม่ควรเป็นเรื่องของการออกเสียงถูกหรือผิด แต่น่าจะเป็นว่าใช้ค่อนไปทางสำเนียงภาคไหนมากกว่าและนี่ก็เป็นเกร็ดความรู้นอกห้องเรียนอีกเรื่องหนึ่ง ที่ได้จากการสังเกตระหว่างเดินทางและท่องเที่ยว
เกร็ดภาษา ข้อสังเกต และความรู้ ที่ได้จากการท่องเที่ยวเดินทาง ยังมีอีกหลายเรื่องที่ได้พบเจอ ข้องใจสงสัย แล้วพยายามหาคำตอบ เช่นทำไมคำว่า “United States” เติม “s” แต่ “United Kingdom” ไม่เติม”s” ทั้งที่มีการควบรวม หรือ Unite เกิดขึ้นทั้งสองแห่ง เป็นประเด็นคล้ายความต่างในเรื่องสำเนียงภาษาของทั้งสองชาตินี้ หรืออย่างไร? มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมต้องเดินทางไปอังกฤษบ่อยมากแทบจะเดือนเว้นเดือน เพื่อประชุมและประสานงานด้านปิโตรเคมีที่ทำอยู่ตอนนั้น ได้รู้จักกับผู้ร่วมงานทางโน้นจนคบกันเป็นเพื่อน เป็นชาวสก็อตแต่เก่งภาษาอังกฤษมาก ผมจะถามเขาในข้อสงสัยเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเสมอ ซี่งก็ได้คำตอบที่ชัดเจนทุกครั้ง เราตกลงกันสนุกๆแต่เอาจริงว่า ทุกๆ 10 คำถามผมต้องเลี้ยงกาแฟพร้อมของว่างทานเล่นเขา 1 ครั้ง มีคำถามเดียวที่เขาบอกว่าไม่เคยสังเกตมาก่อนและตอบไม่ได้ ก็คือที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ แต่ก็จะไปหาคำตอบให้เพราะก็อยากรู้เช่นกัน ในที่สุดเขาก็ได้คำตอบมา ทราบว่าอุตส่าห์ไปประสานถามหน่วยงานราชบัณฑิตสถานของที่นั่น (The Royal Institution of Great Britain) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน คำตอบที่ผมได้รับฟังมาเป็นดังนี้…
สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับ “Kingdom” หรือ “ราชอาณาจักร” คือต้องมี “King/Queen” ในกรณีนี้เมื่อมีการนำเอา ดินแดน/ราชอาณาจักร ต่างๆมาควบรวมเข้าด้วยกันเป็นประเทศสหราชอาณาจักรแล้ว ปรากฏว่าเหลือเพียง England “แห่งเดียวเท่านั้น” ที่ยังมี King/Queen (โดยทรงทำหน้าที่เป็นพระประมุขของทั้งประเทศ) คำว่า “United Kingdom” จึงไม่เติม “s” แต่หากวันใดราชอาณาจักรเดิม เช่น Scotland กลับมามี King/Queen ใหม่ด้วย ก็จะทำให้มีมากกว่าหนึ่งราชอาณาจักรขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักร คำว่า United Kingdom ก็จะต้องเติม “s” เป็น “United Kingdoms” ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทุกรัฐมี “ผู้ว่าการรัฐ” หรือ “Governor” รวมทั้งองค์ประกอบอื่นที่เมื่อมาควบรวมเข้าด้วยกันหรือ “Unite” กันเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว “รัฐ” หรือ “State” ทั้งหลายนั้น ก็ยังคงสภาพเป็น State ให้เห็นอยู่ คำว่า “United States” จึงต้องเติม “s” อย่างไรก็ตามหากฟังมาผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
… อ่านต่อได้ใน ตอนที่ 3 …
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 1
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 2
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 3
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 4
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 5 (จบ)
- “ครบรอบ 46 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน และ 30 ปีแห่งจีน-อาเซียน” โดย สหัส บัณฑิตกุล
- ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ
- ไปดูเขาทำเหมืองพลอยกันที่ศรีลังกา
- “อดีตคณบดีวิศวจุฬา ที่ผมได้เคยทำงานใกล้ชิด… ศ.พิเศษฯ, ศ.อรุณฯ, ศ.ชัยฯ”
- การสอนและสร้างวิศวกร: แนวคิดจากประสบการณ์ สู่แนวทางในอนาคต
- มารู้จักปรมาจารย์ท่านหนึ่งในสาขา Thermodynamics (วิชาปราบเซียนของเครื่องกล)